รวมหนี้ ..ช่วยเหลือลูกหนี้ดีอย่างไร?..แก้หนี้เสียได้แค่ไหน?

ภาพจาก https://www.bot.or.th

ธปท.ออกมาตรการ”รวมหนี้” ช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ช่วยลดภาระการชำระหนี้ โดยที่ไม่เสียประวัติข้อมูลเครดิต และสามารถขอสินเชื่อเพิ่มเติมเพื่อเพิ่มสภาพคล่องได้อีก

มงคล ลีลาธรรม กรรมการธนาคารออมสิน และประธานกรรมการบริหาร สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) กล่าวว่า มาตรการล่าสุดของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ออกมาเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการรายย่อย หรือบุคคลรายย่อยที่มีหนี้บุคคล และหนี้ธุรกิจต่างๆ ซึ่งเกิดจากผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 ด้วยวิธีการ“รวมหนี้”

โดยใช้ธนาคารที่ตัวเองมีสินเชื่อบ้านเป็นหลัก ใครที่มีหนี้บ้าน หนี้บุคคล หนี้บัตรเครดิตต่างๆ รวมอยู่ในธนาคารเดียวกัน สามารถขอ“รวมหนี้” คือเอาหนี้ทั้งบ้านและบัตรเครดิตมารวมกัน แล้วขยายระยะเวลาผ่อนชำระ ให้ดอกเบี้ยน้อยลง เพราะดอกเบี้ยบ้านไม่แพง ราวๆ 5% กว่า ขณะที่ดอกเบี้ยบัตรเครดิตอยู่ที่ 16%

ถ้าเอาหนี้บัตรเครดิตมารวมหนี้กับบ้าน จะทำให้ดอกเบี้ยถูกลง เพราะดอกเบี้ยจะลดลงเท่ากับดอกเบี้ยตามสัญญาของการกู้บ้าน แล้วจำนวนงวดก็อาจให้ผ่อนน้อยลงตามความสามารถของการชำระหนี้ เป็นความพยายามเพื่อให้ทั้งหมดไม่เป็นหนี้เสีย ซึ่งหนี้บัตรเครดิตถ้าเสียไปแล้ว เป็นเอ็นพีแอลไปแล้ว ก็ยังเข้าโครงการนี้ได้ แต่หนี้บ้านจะต้องไม่เป็นเอ็นพีแอล ซึ่งทั้งหนี้บ้านและหนี้ต่างๆ ที่จะเอามารวมกันนั้น ต้องอยู่ภายใต้ผู้ให้บริการสถาบันการเงินเดียวกัน

ยกตัวอย่างเช่น ท่านมีบัตรเครดิตวงเงิน 1 แสนบาท พอพ้นมาตรการชะลอการจ่ายหนี้ ก็ต้องชำระ ถ้าใช้เต็มวงเงิน 1 แสนบาท ก็ต้องชำระ 10,000 บาทต่อเดือน ส่วนหนี้บ้าน 1 ล้านบาท ถ้าผ่อน 30 ปี จะผ่อนราวเดือนละ 6,000 บาท แต่ถ้าเอาหนี้บ้านกับหนี้บัตรเครดิตมารวมกัน ท่านจะจ่ายหนี้บัตรเครดิตแค่เดือนละ 600 บาท จากเดิมที่ต้องผ่อนเดือนละ 10,000 บาท เมื่อเอาหนี้บ้านและหนี้บัตรเครดิตรวมกัน คือ 1.1 ล้านบาท ท่านก็จะผ่อนเพียง 6,600 บาท จากเดิมต้องผ่อน 16,000 บาท ทำให้เหลือเงินสดที่จะช่วยบรรเทาสภาพคล่องภายในครัวเรือนในช่วงโควิด-19 ได้

มงคล กล่าวว่า มาตรการนี้ถือเป็นการกู้ยืมปกติ ไม่ทำให้ประวัติการค้างชำระเสีย และในส่วนที่ประหยัดเงินไป ก็สามารถไปกู้ยืมธนาคารอื่นๆ ของรัฐได้เพิ่มเติม 1 แสนบาทด้วย เสียค่าผ่อน 1,600 บาท โดยที่ประวัติจะไม่เสีย แม้เดิมบัตรเครดิตจะเสียแล้ว แต่เมื่อเอามารวมหนี้กับหนี้บ้านที่ไม่เสีย ก็สามารถเข้าถึงสภาพคล่องในเงินทุนใหม่ของธนาคารได้อีก

มาตรการนี้ไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมต่างๆ กับธนาคาร ยกเว้นรายการที่ต้องไปดำเนินการที่มีค่าธรรมเนียมที่กรมที่ดิน หรืออากรแสตมป์ เพื่อช่วยเหลือให้ผู้ประกอบการ หรือสินเชื่อครัวเรือนต่างๆ ให้รวมหนี้แล้ว และไม่ถือว่าผิดสัญญาที่มีการชำระก่อนล่วงหน้า ไม่ต้องจ่ายเบี้ยปรับการชำระหนี้ก่อนกำหนด (prepayment fee) ผู้ที่สนใจสามารถแจ้งความประสงค์เข้าร่วมมาตรการที่ธนาคารที่ตัวเองมีสินเชื่อบ้านอยู่เป็นหลัก แล้วมีสินเชื่ออื่นกับธนาคารนั้นกี่สัญญา ก็สามารถรวมได้ทั้งหมด ใช้ได้ทั้งธนาคารรัฐ และธนาคารเอกชนทั่วไป ภายใต้ผู้ให้บริการสถาบันการเงินและผู้ประกอบการอยู่ในกลุ่มเครือเดียวกัน

ข้อดีของมาตรการนี้มี 3 ข้อ คือ 1. เมื่อท่านมีภาระการผ่อนหนี้ครัวเรือนอยู่หลายทางด้วยกัน และอาจไม่สามารถชำระหนี้ได้ ก็จะต้องรวมหนี้ให้เจ้าหนี้เหลือน้อยที่สุด เพื่อให้การเจรจาหรือการขอผ่อนปรนเรื่องการปรับโครงสร้างหนี้เป็นประโยชน์มากขึ้น โดยจะเอาหนี้บ้านเป็นหลัก เพราะหนี้บ้านมีสินเชื่อที่เป็นหลักประกันให้กับธนาคาร ส่วนสินเชื่อบุคคล เป็นสินเชื่อที่อัตราดอกเบี้ยสูงและความเสี่ยงสูง เพราะไม่มีหลักประกัน การที่เอาหนี้ที่มีหลักประกันกับหนี้ที่ไม่มีหลักประกันมารวมกันแล้ว สถาบันการเงินก็จะได้รับประโยชน์ตรงที่มีการเฉลี่ยความเสี่ยงมาที่หลักประกัน

2. จะทำให้ดอกเบี้ยของผู้กู้จะลดลง จำนวนงวดในการผ่อนชำระก็ลดลง ความเสี่ยงของสถาบันการเงินก็ลดลงเช่นกัน เพราะฉะนั้น ประโยชน์จะเกิดกับทุกฝ่าย ทั้งสถาบันการเงินและตัวผู้กู้ โดยเฉพาะการเอาหนี้เสียของบัตรเครดิตมาพึ่งพิงกับสินเชื่อบ้านที่ยังไม่เสีย ทำให้ประวัติของผู้กู้ไม่เสียจากกรณีโควิด-19 ซึ่งเรื่องนี้มาจากการที่มีผลกระทบทันทีจากรายได้ จากการที่เราปิดประเทศ เอกชนหลายคนถูกกระทบจากมาตรการของรัฐ ทำให้อาจตกงาน หรือรายได้ลดลงอย่างมาก

3. กรณีที่เราจะขอสินเชื่อเพิ่มเติม ในกรณีที่ธุรกิจจำเป็นต้องหาเงินกู้เพิ่ม กรณีนี้ก็สามารถให้เงินกู้เพิ่มเติมได้ เพื่อรักษาสภาพคล่อง หรือรักษาธุรกิจต่อไปได้

มงคล กล่าวว่า มาตรการ”รวมหนี้” เป็นมาตรการที่สมาคมธนาคารไทย สถาบันการเงินของรัฐ และ ธปท. พยายามอย่างยิ่งที่จะให้ลูกหนี้รายย่อยทั้งหลายปรับโครงสร้างหนี้ครัวเรือน หรือหนี้ธุรกิจบวกหนี้ครัวเรือน เพื่อที่จะสามารถประคองตัวเองในภาวะเศรษฐกิจถดถอย อำนาจซื้อไม่มี หรือถูกเลิกจ้างงาน ดังนั้นขอให้ทุกคนศึกษามาตรการเหล่านี้ และเข้าไปพูดคุยกับสถาบันการเงินหลักที่ท่านใช้สินเชื่อบ้านอยู่ แล้วขอให้เขาทำตัวเลขดู แล้วมาพิจารณาข้อดีข้อเสีย หรือถ้ามีข้อสงสัยใด ธปท.ก็มีศูนย์ให้คำปรึกษา หรือรับร้องเรียนกรณีไม่ได้รับความเป็นธรรม  @

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *