Imagine Thailand Movement เปิดพื้นที่ให้ศิลปินแห่งชาติ ปราชญ์ และปัญญาชน ร่วมขับเคลื่อนสังคม สร้างพื้นที่สร้างสรรค์สำหรับเยาวชนเพื่อลดปัจจัยเสี่ยง ให้เยาวชนมีโอกาสเรียนรู้และพัฒนาต่อยอด สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ ทำให้เกิดการสืบสานศิลปะ วัฒนธรรม และภูมิปัญญาท้องถิ่นต่อไป
ดร.อุดม หงส์ชาติกุล ผู้ก่อตั้งห้องปฏิบัติการทางสังคม (ประเทศไทย) และผู้นำการขับเคลื่อน Imagine Thailand Movement กล่าวว่า ห้องปฏิบัติการทางสังคม หรือ Social Lab คือ กระบวนการทางสังคมที่เราต้องการสร้างพื้นที่ให้กับคนที่มีส่วนได้เสียในสังคม ร่วมกันขับเคลื่อนสังคมไทยในแนวคิดเรื่องของ Imagine Thailand Movement เนื่องจากสังคมไทยมีประเด็นปัญหาที่เป็นความท้าทายเกิดขึ้นมากมาย
จึงอยากจะชวนคนไทยทุกๆ คน มาร่วมกันขับเคลื่อน Imagine Thailand Movement ด้วยกัน โดยร่วมกันตอบคำถามสำคัญ 2 ข้อ คือ 1. ท่านอยากเห็นสังคมไทยเป็นอย่างไร 2. ท่านอยากเห็นเยาวชนไทยเป็นอย่างไร เมื่อได้คำตอบแล้วก็อยากจะชวนมาร่วมกันทำอะไรบางอย่างที่ท่านสามารถเริ่มได้ด้วยตัวเอง เพื่อทำในสิ่งที่ท่านต้องการอยากจะเห็น
ตอนนี้สังคมไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมอายุยืน เรากำลังจะมีคนที่อายุเกินกว่า 60 ปี เป็นจำนวน 1 ใน 4 ของประชากรของประเทศ ซึ่งคนเหล่านี้ยังมีกำลัง มีความพร้อม มีประสบการณ์ มีความรู้ ความสามารถ ที่สำคัญบุคคลเหล่านี้มีความรัก หวงแหน และอยากเห็นสังคมไทยเจริญงอกงามต่อไป ทาง Social Lab: Imagine Thailand Movement จึงจัดทำโครงการ ศิลปินแห่งชาติ ปราชญ์ ปัญญาชน สร้างพื้นที่สร้างสรรค์สำหรับเยาวชนเพื่อลดปัจจัยเสี่ยง เพื่อเปิดพื้นที่ให้ผู้รู้เหล่านี้มาร่วมกันขับเคลื่อนสังคม
โดยประเด็นที่ชวนมาร่วมกันขับเคลื่อนในครั้งนี้คือเรื่องของเยาวชนไทยที่จะต้องเติบโตขึ้นต่อไปในสังคมไทย สิ่งที่เขากำลังเผชิญอยู่ทุกวันนี้ก็มีปัจจัยเสี่ยงในหลายๆ ด้าน เราจึงชวนท่านผู้รู้ และเยาวชน มาร่วมแลกเปลี่ยนกัน มาร่วมเรียนรู้ซึ่งกันและกัน อาจเรียกว่าการเรียนรู้ข้ามศาสตร์ ข้ามศิลป์ ทำให้เกิดความสัมพันธ์ระหว่างผู้เข้าร่วม มีความร่วมมือบางอย่างเกิดขึ้น เปิดใจที่จะเรียนรู้ข้ามศาสตร์กัน และต่อจากนี้ก็คงจะร่วมกันสร้างสรรค์สิ่งดีๆ เพื่อที่จะขับเคลื่อนสังคม ช่วยกันสร้างสังคมสุขภาวะต่อไป
สำหรับเยาวชนรุ่นใหม่บางส่วนที่มองว่าเรื่องศิลปะวัฒนธรรม ภูมิปัญญาท้องถิ่นเป็นเรื่องล้าหลังนั้น ดร.อุดม กล่าวว่า การที่จะทำให้เยาวชนเหล่านั้นเห็นคุณค่าในสิ่งเหล่านี้ ก็ต้องเปิดโอกาสให้เขาได้เข้ามาเรียนรู้จากท่านผู้รู้ ปราชญ์ ศิลปินต่างๆ เมื่อเขาได้เรียนรู้ เขาก็จะเห็นถึงคุณค่า ซึ่งแน่นอนว่าไม่ใช่เยาวชนทุกคนจะมาสนใจเรื่องนี้ในคราวเดียว แต่จุดเริ่มต้นจะมีส่วนสำคัญมาก
ในตอนเริ่มต้นอาจจะมีเยาวชนกลุ่มเล็กที่มาร่วมเรียนรู้ก่อน สิ่งสำคัญคือเราต้องเปิดโอกาสให้เขาเรียนรู้อย่างลึกซึ้ง และมีพื้นที่ที่จะให้เขาพัฒนา ศึกษากับปราชญ์ผู้รู้อย่างต่อเนื่อง สิ่งต่างๆ เหล่านี้จะทำให้เกิดการเรียนรู้ในวงที่กว้างขึ้น ก็จะเกิดการสืบสานในระยะยาวต่อไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเห็นคุณค่าแล้ว เยาวชนคนรุ่นใหม่เขาจะมีความคิดดีๆ และสามารถที่จะไปพัฒนาต่อยอดได้ สิ่งเหล่านี้จะนำมาซึ่งมูลค่าทางเศรษฐกิจ และตัวเศรษฐกิจเองจะทำให้เกิดการเรียนรู้และพัฒนาอย่างต่อเนื่อง สุดท้ายแล้วก็จะเกิดการสืบทอดสืบสานศิลปะ วัฒนธรรม ภูมิปัญญาท้องถิ่นต่อไป
“คุณค่าของศิลปะ วัฒนธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งวัฒนธรรมประจำท้องถิ่น ความรู้ต่างๆ ของปราชญ์ ของผู้รู้เหล่านี้ มีคุณค่ามหาศาลทางด้านเศรษฐกิจ เรามีโมเดลที่เรียกว่าเป็นการสร้างสรรค์ในการสร้างมูลค่าทางด้านเศรษฐกิจให้กับสินค้าและบริการ โดยมีขั้นตอนดังนี้ 1. การสืบค้น หาให้เจอว่าแก่นหรือรากของคุณค่าของศิลปะและวัฒนธรรมเหล่านั้นอยู่ที่ไหน 2. เรียนรู้ ให้เห็นถึงคุณค่าของสิ่งต่างๆ เหล่านั้น 3. นำมาพัฒนาต่อยอด เพื่อที่จะมาเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าและบริการได้” ดร.อุดม กล่าว
ทุกวันนี้สังคมไม่ว่าสังคมไทย หรือสังคมโลก เราพัฒนาทางด้านเทคโนโลยีกันไปเยอะ ทำให้มนุษย์ทุกวันนี้โหยหาคุณค่าที่แท้จริงของการเป็นมนุษย์ รวมถึงคุณค่าของศิลปะประจำท้องถิ่นต่างๆ เพราะฉะนั้นหากเราใช้กระบวนการสืบค้น เรียนรู้ และพัฒนาต่อยอด เพื่อที่จะเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าและบริการที่เรามีอยู่ ตรงนี้จะสามารถสร้างคุณค่า สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้อย่างมากมาย
และที่สำคัญกว่าโมเดลเรื่องการสร้างมูลค่าให้กับสินค้าและบริการ อีกหนึ่งเรื่องที่จะได้ตามมาคือ การที่เรารู้คุณค่า และเห็นคุณค่าของศิลปะวัฒนธรรมดั้งเดิมของพวกเรา จะทำให้เกิดการสืบสาน สืบทอด ศิลปะวัฒนธรรมเหล่านั้นด้วย ทำให้สิ่งต่างๆ เหล่านั้นยังคงอยู่ต่อไป และมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเรื่องนี้ในมุมของเศรษฐกิจคือเรื่องที่สำคัญ ที่จะทำให้มีการสืบสาน สืบทอดภูมิปัญญาประจำถิ่นอย่างต่อเนื่องต่อไป @