จากไร่เล็กๆ สู่ “เพชรในตม” กาแฟปาปัวนิวกินี

แม้เป็นชาติเกิดใหม่ตั้งอยู่ในหมู่เกาะนิวกินี เกาะที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก อยู่ทางเหนือของออสเตรเลีย ทางตะวันตกของหมู่เกาะโซโลมอน

แต่ปาปัวนิวกินี จัดว่าเป็นน้องใหม่ที่มาแรงและฮอตมากๆ ในฐานะแหล่งปลูกกาแฟอันเป็นสุดยอดพืชเศรษฐกิจที่แปรรูปไปเป็นเครื่องดื่มยอดนิยมของชนชาวโลก

ปาปัวนิวกินีมีชื่อเสียงเรื่องความหลากหลายของสายพันธุ์กาแฟไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าแหล่งปลูกกาแฟดังๆ ของโลก ไม่ว่าจะเป็นโซน แอฟริกาตะวันออก, ละตินอเมริกา หรือ เอเชีย ด้วยสภาพภูมิประเทศที่เต็มไปด้วยเทือกเขาขนาดใหญ่ แทรกด้วยภูเขาไฟจำนวนมาก ดินจึงอุดมไปด้วยแร่ธาตุ แถมตั้งอยู่ในเขตลมมรสุมอีกต่างหาก…ดินดี น้ำดี อากาศดี จึงเป็นที่ชื่นชอบของกาแฟอาราบิก้ายิ่งนัก

เศรษฐกิจของปาปัวนิวกินี พึ่งพาการส่งออกกาแฟ ภาพ:Emir Alsancak from Pexels

เห็นรายชื่อของสายพันธุ์กาแฟของที่นี่แล้ว ถึงกับต้องยกนิ้วโป้งกดไลค์รัวๆ ให้เลย  มีทั้งกาแฟอาราบิก้าสายพันทิปปิก้าอย่าง “จาไมก้า บลู เมาเท่น” จากเกาะจาไมก้า, พันธุ์ “อารูชา” จากแทนซาเนีย และพันธุ์ “เคนท์” จากอินเดีย  รวมไปถึง “เบอร์บอน” สายพันธุ์ที่กลายพันธุ์ตามธรรมชาติมาจากพันธุ์ทิปปิก้า นับเป็นแหล่งรวบรวมกาแฟสายพันธุ์เด่นๆ ของโลกเลยก็ว่าได้

เป็นประเทศที่มีความหลากหลายทางเชื้อชาติ ภาษา และวัฒนธรรมมากที่สุดของโลกประเทศหนึ่ง ประกอบด้วยชนเผ่าต่างๆ กว่า 700 เผ่า แต่ละเผ่าต่างคนต่างอยู่ การเดินทางไปมาหาสู่กันลำบากมาก เพราะพื้นที่เป็นภูเขาสูงสลับซับซ้อนซึ่งยากแก่การเข้าถึง ขณะที่ระบบคมนาคมและระบบพื้นฐานต่างๆ ยังล้าสมัยอยู่มาก เนื่องจากพื้นที่ส่วนใหญ่ยังไม่ได้รับการพัฒนา จึงเป็นอุปสรรคสำคัญในการติดต่อทางการค้าและการลงทุน รวมไปถึงการเข้าถึงแหล่งปลูกกาแฟด้วย

ปาปัวนิวกินี อีกแหล่งปลูกกาแฟชั้นดีของโลก ภาพ: Rodrigo Flores on Unsplash

ที่นี่ปลูกกาแฟกันเป็นไร่ขนาดเล็ก มีชนพื้นเมืองเป็นเจ้าของ ปลูกร่วมไปกับพืชเศรษฐกิจอื่นๆ เรียกกันว่า “สวนกาแฟ” บ้านหนึ่งๆ ก็มีกาแฟประมาณ 100 ต้น การดูแลก็ปล่อยให้ธรรมชาติเป็นผู้เลี้ยงเอาเอง เพราะมีดินดี น้ำดี เป็นตัวช่วยอยู่แล้ว ไม่ต้องใส่ปุ๋ย นี่คือ “กาแฟออร์แกนิค” โดยธรรมชาติ เมื่อถึงเวลาเก็บเกี่ยวผลเชอรี่กาแฟสีแดงสุกปลั่ง ก็เก็บรวบรวมกันมาทั้งผลสุกและผลยังไม่สุกเต็มที่ ก่อนส่งไปให้โรงคั่วกาแฟอีกต่อ กระบวนการผลิตยังเป็นรูปแบบเดิมๆ ไม่มุ่งเน้นคุณภาพของกาแฟเท่าที่ควร ทั้งที่มีกาแฟสายพันธุ์ดีอยู่เต็มประเทศ

ผู้ปลูกกาแฟรายเล็กครองสัดส่วนถึง 90% ในปาปัวนิวกินี ภาพ: Austin Park on Unsplash

เปรียบไปก็เสมือน “เพชร” น้ำดีที่อยู่ใน “โคลนตม” ยังไม่ได้แสดงความสวยงามออกมาได้เต็มที่  ภายใต้เงื้อมเงาของอดีตดินแดน “มนุษย์กินคน” แห่งนี้

แต่เรื่องนี้ก็ไม่พ้นความสามารถของ “นักล่ากาแฟ” ที่สังกัดแบรนด์ยักษ์ใหญ่ข้ามไปได้ เข้าบุกเข้าไป “ควานหา” กาแฟสายพันธุ์ดีราคาถูก เอามาขัดสีฉวีวรรณเสียใหม่ นำความรู้และเทคนิคการทำกาแฟทั้งระบบมาใช้ ก่อนนำออกจำหน่ายทั้งแบบสารกาแฟและเมล็ดกาแฟบรรจุถุง นักธุรกิจสายกาแฟจำนวนไม่น้อยเข้าไปตั้งโรงงานคั่วกาแฟเพื่อส่งออก ตลาดหลักก็ได้แก่ เยอรมนี, ออสเตรเลีย, ญี่ปุ่น, สหรัฐ และอังกฤษ

แบรนด์กาแฟพิเศษ (Specialty Coffee) ของบ้านเรา ก็นำเข้ากาแฟปาปัวนิวกินีมาคั่วเพื่อจำหน่ายกันหลายเจ้าหลายแบรนด์ด้วยกัน ในสนนราคาที่จับต้องได้ทีเดียว

โปรโฟล์กาแฟที่นี่ เด่นตรงกลิ่นรสฉ่ำผลไม้เปรี้ยวเมืองร้อน บอดีกลมกล่อมไม่หนักไป ใครที่ชื่นชอบความสดชื่นของผลไม้ ต้องลอง!

โซนปลูกกาแฟของปาปัวนิวกินีอยู่บริเวณเทือกสูง ภาพ: eGuide Travel

ไร่กาแฟที่มีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับ ส่วนใหญ่มีลูกหลานสายพันธุ์จาไมก้า บลู เมาเท่น ปลูกอยู่ตั้งแต่เริ่มแรก  เช่น  Papua New Guinea Bebes เน้นกาแฟออร์แกนิค, Sigri Estate จากหุบเขาวาห์กิ, Papua New Guinea Kunjin, Kimel Estate, Baroida Estate และ Carpenter Estates ของตระกูลคาร์เพนเตอร์ ผู้เล่นรายใหญ่เพียงไมกี่รายในตลาดกาแฟปาปัวนิวกินี ซึ่งครอบครองไร่ Sigri Estate อยู่ด้วย

เหตุใดกาแฟดีๆ จึงไปรวมกันอยู่ที่ปาปัวนิวกีนี ทั้งๆ ที่กาแฟนั้นไม่ใช่พืชถิ่นของโซนโอเชียเนียและแถบถิ่นอื่นใดในโลก จะมีก็แต่ทวีปแอฟริกาเท่านั้น ที่กาแฟเติบโตเองตามธรรมชาติในฐานะพืชพื้นเมือง ก่อนที่จะกลายมาเป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญของโลกยุคปัจจุบัน

แต่ก็มักจะมีการเข้าใจผิด เข้าใจคลาดเคลื่อนกันเป็นประจำว่า กาแฟจากปาปัวนิวกินี เป็น กาแฟอินโดนีเซีย ด้วยอาจเป็นเพราะ “สถานที่ตั้ง” ก็ได้ที่ก่อให้เกิดความสับสนขึ้น เนื่องจากปาปัวนิวกินีเป็นประเทศที่ตั้งอยู่ทางตะวันออกของเกาะนิวกินี ส่วนทางตะวันตกของตัวเกาะเป็นดินแดนจังหวัดปาปัวและจังหวัดปาปัวตะวันตกของประเทศอินโดนีเซีย หรือจิเรียน จายา ในอดีต

แน่นอนแม้ไม่ใช่ประเทศเดียวกัน แต่ก็เคยรวมเป็นผืนแผ่นดินเดียวกัน ก่อนถูกแยกจากกันด้วยเส้นแบ่งอาณาเขตเมื่อมหาอำนาจชาตินักล่าอาณานิคมเดินทางมาถึงพร้อมอาวุธที่เหนือกว่าชนพื้นเมือง ในศตวรรษที่ 19 เกาะนิวกินีถูกตัดแบ่งออกเป็น 3 ส่วน เนเธอร์แลนด์ยึดซีกตะวันตก เยอรมันปกครองฝั่งตะวันออกตอนบน ส่วนอังกฤษครอบครองตะวันออกตอนล่าง

กระสอบบรรจุกาแฟจากไร่ Sigri Estate พร้อมส่งออกไปต่างประเทศ ภาพ: www.facebook.com/sigricoffee

ทั้งปาปัวนิวกินีและจังหวัดของอินโดนีเซีย ต่างก็มีพื้นที่ปลูกกาแฟเช่นเดียวกัน แถมยังมีอะไรหลายๆ อย่างคล้ายกันอีกด้วย อาทิ ใช้กรรมวิธีแบบเปียก (Wet Process) ในขั้นตอนการแปรรูปกาแฟ และทำไร่กาแฟใต้ร่มเงาไม้ใหญ่ ซึ่งการปลูกรูปแบบนี้ ผลกาแฟจะสุกช้า แต่เมล็ดกาแฟก็มีช่วงเวลาในการสะสมธาตุอาหารได้มากขึ้น ทำให้กาแฟมีกลิ่นหอมตามธรรมชาติและรสชาติเข้มข้นซับซ้อน

แหล่งปลูกกาแฟที่สำคัญในปาปัวนิกินีอยู่บนเทือกเขากลางประเทศที่ทอดยาวติดต่อกันแบ่งออกเป็น 3 โซนหลัก คือ กับ  “Eastern Highland”, “Western Highland” และ  “Central Highland” โดยโซนเทือกเขาด้านตะวันออกนั้น มีเมือง “ไคนันตู” เป็นศูนย์กลาง ก่อนที่จะมีการส่งกาแฟเข้าไปยังบรรดาโรงคั่วในเมือง “โกโรค่า” ซึ่งอยู่ไม่ไกลกันนัก ส่วนด้านตะวันตก มีเมือง “เมาท์ ฮาเก้น” เป็นศูนย์กลางของโซน ขณะที่โซนเทือกเขาตอนกลาง มี “ชิมบู” เป็นเมืองกาแฟที่สำคัญ

แบรนด์กาแฟเจ้าหนึ่งจากเมาท์ ฮาเก้น นี้เอง มีการโฆษณาว่าเป็นผู้ผลิตกาแฟผงสำเร็จรูปแบบออร์แกนิคเป็นเจ้าแรกของโลก 

การปลูกและวิธีแปรรูปกาแฟของปาปัวนิวกินี ได้รับการผลักดันจากอังกฤษในยุคสมัยที่ปกครองพื้นที่ทางภาคตะวันออกของเกาะนิวกินี อังกฤษได้นำเมล็ดพันธุ์กาแฟจากดินแดนโพ้นทะเลที่อยู่ภายใต้การปกครองขอตนเอง ทั้งจากจาไมก้า,แทนซาเนีย และอินเดีย เข้าไปในนิวกินีซีกตะวันออก อาศัยแรงงานชนพื้นเมืองลงมือปลูกเป็นไร่กาแฟขนาดใหญ่ พร้อมกับนำวิธีแปรรูปกาแฟแบบเปียกหรือสีเปียก มาจากแทนซาเนีย ซึ่งการแปรรูปด้วยวิธีนี้ ให้รสชาติกาแฟที่สะอาด, เด่นชัด และชุ่มฉ่ำจากรสเปรี้ยวผลไม้  มากกว่ากาแฟที่แปรรูปด้วยวิธีการอื่น

ปัจจุบัน ไร่กาแฟขนาดเล็กของปาปัวนิวินี ยังคงใช้วิธีหมักกาแฟตามรูปแบบของเคนยา บางแห่งยังมีเจ้าเครื่องกะเทาะเปลือกกาแฟรุ่นเก่ายี่ห้อ “แม็คคินนอน” ของอังกฤษประจำการอยู่ ซึ่งเครื่องรุ่นนี้ถูกลำเลียงไปใช้ยังแหล่งปลูกกาแฟในอาณานิคมที่อังกฤษเข้าไปยึดครอง ออกแบบเพื่อใช้ในระดับอุตสาหกรรมกาแฟขนาดเล็ก เพื่อแยกเปลือกและเนื้อออกจากตัวเมล็ด 

สถาบันวิจัยกาแฟปาปัวนิวกินี ให้ข้อมูลว่า ต้นกาแฟถูกนำเข้ามาปลูกยังเกาะนิวกินีในส่วนที่อังกฤษปกครองอยู่มาตั้งแต่ปลายศตวรรษที่ 19  ในจุดที่เรียกว่า ท่าเรือมอร์สบี เป้าหมายคือส่งกาแฟเข้าไปยังตลาดออสเตรเลีย แต่ต้องรอคอยจนถึงช่วงปีค.ศ. 1920 การผลิตในเชิงพาณิชย์จึงเริ่มเป็นรูปเป็นร่างขึ้น

และก็เป็นในช่วงปีค.ศ.1926-1927  เมล็ดกาแฟพันธุ์จาไมก้า บลู เมาเท่น ชุดแรกๆ ก็เดินทางมาถึง และถูกนำไปปลูกในพื้นที่ “Western Highlands” บริเวณที่เรียกว่า “หุบเขาวาห์กิ” ปัจจุบันลูกๆ หลานๆ ของกาแฟพันธุ์นี้ก็งอกงามเติบโตบนภูเขาสูงอย่างมีคุณภาพ กลายมาเป็นกาแฟที่ได้รับความนิยมมากที่สุดตัวหนึ่งของปาปัวนิวกินี

ในระยะตั้งไข่ของอุตสาหกรรมกาแฟนั้น เจ้าของไร่กาแฟส่วนใหญ่ถ้าไม่ใช่ชาวยุโรปก็เป็นชาวออสเตรเลีย ขณะที่ลูกจ้างภายในไร่ก็คือชาวพื้นเมือง มีการสร้างโรงคั่วกาแฟขึ้นมาตามแหล่งปลูกต่างๆ เพื่อส่งออก ต่อมาในทศวรรษที่ 1980 การผลิตกาแฟในปาปัวนิวกินีเริ่มเข้าสู่ภาวะตกต่ำ เจ้าของไร่ประสบปัญหาหนี้ล้นพ้นตัว ไร่กาแฟแทบทั้งหมดจึงพลัดมือจากรายใหญ่ไปสู่รายย่อยอย่างชาวพื้นเมือง

…ไม่แน่ใจว่าเป็นเพราะไม่มีเงินจ่ายค่าแรงเลยจ่ายเป็นไร่กาแฟแทนหรือไม่  แต่เหตุการณ์นี้ก็ทำให้ในปัจจุบัน ชาวไร่รายเล็กๆ เป็นผู้ครองส่วนแบ่งตลาดกาแฟในประเทศถึง 90% ของปริมาณการผลิตโดยรวม

กาแฟจากไร่ Kimel Estate วางขายบนเว็บ vailcoffee.com

เหมือนเกลียวคลื่นทยอยซัดเข้าหาฝั่งครั้งแล้วครั้งเล่า… หลายปีต่อมา ผู้เล่นรายใหม่จากตะวันตกก็กระโดดเข้ามาสู่ตลาดกาแฟอีกครั้ง พร้อมกับเงินลงทุน ความรู้  และระบบการเทสกาแฟที่มีมาตรฐาน รวบรวมเมล็ดกาแฟจากชาวไร่ เข้าสู่กระบวนการผลิตและแปรรูปที่มีประสิทธิภาพ  ปลุกปั้น “เพชรในตม” ให้ส่องแสงเรืองรองสว่างขึ้น ส่งผลให้อุตสาหกรรมกาแฟปาปัวนิวกินีพุ่งขึ้นถึงสุดสูงสุดในปีค.ศ. 1998  กินส่วนแบ่งถึง 13% ของตัวเลขการส่งออกทั้งหมด แต่ถึงกระนั้น เมื่อเทียบกับการผลิตกาแฟของทั้งโลกแล้ว กลับมีส่วนแบ่งราว 1% เท่านั้น

ปัญหาน่าหนักใจที่ต้องเผชิญก็คือ ระบบสาธารณูปโภคที่ยังขาดการพัฒนา และการลักลอบ “ขโมย” เก็บเมล็ดกาแฟตามไร่ตามสวน ซึ่งประเด็นหลังนี้เป็นปัญหาใหญ่ เพราะสร้างความเสียหายให้กับผู้ผลิตกาแฟรายใหญ่ๆไม่ต่ำกว่า 50% ของผลผลิตในแต่ละปี  นอกจากนั้น  บรรดาเจ้าของไร่ขนาดเล็กก็ยังขาดทักษะด้านการแปรรูปอยู่มาก

ด้วยกระบวนการผลิตที่ยังขาดประสิทธิภาพนี้เอง ทำให้โปรไฟล์กาแฟมีความแตกต่างกันออกไป ไม่มีรสชาติและกลิ่นที่เป็นมาตรฐาน

เพื่อยกระดับคุณภาพของกาแฟ จึงเกิดความร่วมมือกันขึ้นระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนของปาปัวนิวกินี เพื่อเพิ่มมูลค่าและขับเคลื่อนธุรกิจกาแฟให้ก้าวไปข้างหน้า ผ่านทางการถ่ายทอดองค์ความรูสู่เจ้าของไร่ขนาดเล็กโดยตรง ตั้งแต่กระบวนการผลิต แปรรูป การทำตลาด เรียกว่าครบวงจรจากต้นน้ำยันปลายน้ำ รวมไปถึงทักษะการบริหารจัดการธุรกิจ ตามหลัก “ปลูกเอง” “แปรรูปเอง” และ “ขายเอง”

ความเคลื่อนไหวล่าสุดของความร่วมมือนี้นั้น ก็คือ สหกรณ์ผู้ปลูกกาแฟปาปัวนิวกินีซึ่งมีสมาชิกอยู่ในราวหนึ่งแสนคนกับหน่วยงานส่งออก-นำเข้ากาแฟของสหรัฐที่ชื่อค๊อฟฟี่ แปซิฟิก้า จุดประสงค์อยู่ที่การพัฒนาการแปรรูปกาแฟในเชิงลึก เพื่อให้เจ้าของไร่รายเล็กมีโอกาสส่งออกและนำเข้ากาแฟเพื่อนำมาคั่ว และเพื่อการขายปลีก ตอบสนองกระแสคลื่นกาแฟลูกที่สามที่มีกาแฟพิเศษเป็นตัวชูโรง

เห็นแบรนด์กาแฟหลายเจ้าโฆษณาว่า ใครอยากลิ้มชิมรสกาแฟจาไมก้า บลู เมาเท่น ในราคาสบายกระเป๋า ก็ต้องลองกาแฟปาปัวนิวกีนี ลูกหลานเจ้าจาไมก้า บลู เมาเท่น สโลแกนนี้…ใช่หรือไม่ ก็ต้องลองดูกันเองครับท่านผู้อ่าน


facebook : CoffeebyBluehill

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *