DR Biz & กฎใหม่จัดซื้อจัดจ้าง ต่อลมหายใจ SME ได้อย่างไร?

ภาพจาก www.bot.or.th

โครงการ DR Biz ของ ธปท. ช่วยเอสเอ็มอีที่มีเจ้าหนี้หลายรายให้ดำเนินธุรกิจต่อไปได้ หลังได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ด้านกระทรวงการคลังเตรียมออกกฎกระทรวง ให้หน่วยงานรัฐจัดซื้อจัดจ้างพัสดุจากเอสเอ็มอีไม่ต่ำกว่า 30%

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ร่วมกับสมาคมธนาคารไทย สมาคมธนาคารนานาชาติ และสมาคมสถาบันการเงินของรัฐ เปิด“โครงการ DR BIZ การเงินร่วมใจ ธุรกิจไทยมั่นคง” เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่มีเจ้าหนี้สถาบันการเงินหลายราย วงเงินรวม 50 – 500 ล้านบาท ซึ่งเกิดจากผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ทำให้มีปัญหาเรื่องสภาพคล่อง และปัญหาการชำระคืนหนี้

เนื่องจากลูกหนี้มีเจ้าหนี้หลายรายและรูปแบบสัญญาต่างกัน ธปท.จึงกำหนดแนวทางขึ้นมาเพื่อให้สถาบันการเงินต่างๆ หาข้อยุติเรื่องนี้ โดยให้ลูกค้าหรือลูกหนี้เอสเอ็มอีทั้งหลายยังดำเนินการต่อไปได้ หรือรักษาการจ้างงานไว้ให้ หรือถ้าใครยังมีความสามารถก็อาจเติมสภาพคล่องเงินกู้เพิ่มเติมเข้าไปได้ ให้ผ่านช่วงที่รายได้หยุดชะงักหรือซบเซาในช่วงที่มีการระงับการเดินทาง หรือต้นทุนการดำเนินงาน ความเสี่ยงต่างๆ ที่สูงขึ้น ถ้าใครหาข้อยุติไม่ได้ ก็เดินทางไปที่ศูนย์รับร้องเรียนเกี่ยวกับเรื่องลูกหนี้ได้ ธปท.รับที่จะเป็นผู้ประสานงานเรื่องนี้ให้

สำหรับการให้สินเชื่อเดิมอาจคำนึงถึงการรวมหนี้บางประเภทเข้ามาด้วย เพื่อให้สถาบันการเงินมั่นใจได้ว่าการดำเนินงานนั้นอยู่ภายใต้ความเสี่ยงที่เป็นประโยชน์ทั้งกับเจ้าหนี้และลูกหนี้ ถ้าสถาบันการเงินได้พูดคุยกับผู้ประกอบการมากเท่าไร สถาบันการเงินก็จะได้ลดความเสี่ยง ส่วนผู้ประกอบการก็ดำเนินธุรกิจต่อไปได้ในช่วงนี้ ซึ่งมีทั้งขยายเวลา ลดดอกเบี้ย หรือเอาส่วนที่ค้างอยู่ไปแขวนไว้ก็ได้ เพราะปกติการปรับปรุงโครงสร้างหนี้มีแนวทางที่จะทำประมาณ 10 กว่าแนวทางด้วยกัน เพื่อให้ธุรกิจเดินต่อไปได้

ส่วนการขอสินเชื่อใหม่จากโครงการ DR Biz ผู้ประกอบการจะต้องให้ความร่วมมือ โดยพื้นฐานคือต้องสุจริต เปิดเผยข้อมูลที่เป็นประโยชน์กับการคาดการณ์ หรือข้อมูลที่จะช่วยเหลือว่าธุรกิจมีความเสี่ยงเท่าไร อย่างไร การเปิดเผยข้อมูลจะเป็นประโยชน์ต่อทั้งสองฝ่าย เพราะการจะให้ธนาคารปล่อยกู้ใหม่เพิ่ม ธนาคารก็ต้องมั่นใจว่าผู้ประกอบการอยู่ในสภาพที่ชำระหนี้ได้ในระยะยาว สถาบันการเงินบางแห่งขยายไป 8 ปี บางแห่ง 10 ปี ทั้งนี้ คิดว่าโควิด-19 จะกระทบอย่างน้อย 2-3 ปี ดังนั้น จะต้องร่วมมือกันถึงจะฟันฝ่าตรงนี้ไปได้

ในส่วนของงบประมาณใหม่ที่รัฐบาลใช้จัดซื้อจัดจ้างในหน่วยงานราชการ หรือเอามาบริการสาธารณะนั้น ขณะนี้สำนักงบประมาณ และกรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง กำลังจะออกกฎกระทรวงขึ้นมาเพื่อที่จะส่งเสริมการจัดซื้อจัดจ้างพัสดุจากเอสเอ็มอีที่ขึ้นทะเบียนและเข้าระบบของสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) โดยใช้เงินงบประมาณไม่น้อยกว่า 30% ของงบประมาณที่มีอยู่

แล้วให้หน่วยงานที่เป็นเจ้าของงบประมาณรายงานเข้า ครม.ให้ทราบว่า ที่กำหนดไว้ 30% มีการดำเนินงานคืบหน้าเท่าไร อย่างไร ในแต่ละครั้งที่รายงาน หรือในแต่ละปีที่ได้รับงบประมาณไป เป็นการติดตามประเมินผล เพราะรัฐบาลเอาจริงเรื่องนี้มาก

และในกรณีที่มีการประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ แล้วพบว่าผู้เสนอราคาที่เป็นเอสเอ็มอี เสนอราคาสูงกว่าราคาต่ำสุดของผู้เสนอราคารายใหญ่ไม่เกินกว่า 10% ก็สามารถตัดสินให้เอสเอ็มอีชนะได้ แต่ต้องอยู่ในกฎระเบียบราคากลางของทางราชการด้วย

ทั้งนี้ มาตรการต่างๆ ที่รัฐบาลออกมาเพื่อพยายามลดค่าใช้จ่ายของผู้ประกอบการ ดังนั้นจึงมีโอกาสเยอะมาก ถ้าจะเริ่มธุรกิจใหม่ที่เรียกว่าสตาร์ทอัพ หรือเริ่มธุรกิจใหม่ที่ใช้บริการต่างๆ ที่เอามาแทนการท่องเที่ยวแบบเก่าก็สามารถดำเนินการได้  @

 

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *