เคเบิลทีวีและทีวีดาวเทียม เรียกร้อง กสทช.เคารพคำตัดสิน หากศาลปกครองสูงสุดตัดสินยืนตามศาลปกครองกลาง เรื่องการเรียงช่อง อย่าออกกติกาใหม่ที่จะทำให้ช่องดาวเทียมและเคเบิลยังคงเสียเปรียบทีวีดิจิทัลต่อไป ต้องปล่อยให้ช่องเคเบิล ช่องดาวเทียม และทีวีดิจิทัล เกิดการแข่งขันโดยเสรีและเป็นธรรม
วิชิต เอื้ออารีวรกุล ประธานกรรมการบริหาร กลุ่มบริษัท เจริญเคเบิลทีวี จำกัด กล่าวว่า ปัจจุบันคนไทยรับชมโทรทัศน์ผ่านทาง 3 ช่องทาง คือ เสาก้างปลา คือทีวีภาคพื้นดิน หรือระบบดิจิทัลที่รับชมแบบฟรีทีวี ผ่านทีวีดาวเทียม และผ่านเคเบิลทีวี ซึ่งทั้ง 3 โครงข่ายก็แข่งกันอยู่ ถ้าประชาชนจะเลือกชมช่องทางไหนมากกว่า เรตติ้งดีกว่า ช่องทางนั้นก็จะได้ประโยชน์จากการหารายได้จากค่าโฆษณา
สำหรับกลุ่มช่องทีวีดิจิทัล โดยหลักจะต้องเผยแพร่บนโครงข่ายทีวีภาคพื้นดินระบบดิจิทัลเท่านั้น แต่หลังจากรัฐเปิดประมูลไปแล้ว ช่องทีวีดิจิทัลอยากจะได้คนดูเยอะๆ จึงต้องการไปออกในโครงข่ายดาวเทียมและโครงข่ายเคเบิลด้วย คณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) จึงออกกฎหมายมาบังคับให้โครงข่ายดาวเทียมและเคเบิลจะต้องเอาช่องทีวีดิจิทัลไปออกบนโครงข่ายของตัวเองด้วย ทำให้ช่องทีวีดิจิทัลสามารถเผยแพร่ได้ในทุกโครงข่าย ทำให้มีคนดูเยอะ รายได้จากค่าโฆษณาก็จะเยอะ ส่วนช่องดาวเทียมและช่องเคเบิลจะมีคนดูน้อยกว่า ก็จะได้ค่าโฆษณาน้อยกว่า
ช่องดาวเทียมและช่องเคเบิลก็อยากได้ทีวีดิจิทัลมาออกอากาศอยู่แล้ว เพียงแต่ กสทช.บังคับว่าต้องเอาตำแหน่งช่องที่ 1-36 เท่านั้นในการออกอากาศทีวีดิจิทัล ซึ่งเป็นตำแหน่งที่ดีกว่าและได้เปรียบในการแข่งขันหารายได้จากโฆษณา ช่องดาวเทียมกับช่องเคเบิลเห็นว่าไม่ยุติธรรม จึงไปฟ้องศาลปกครอง
ศาลปกครองกลางใช้เวลาพิจารณา 4 ปี มีคำตัดสินว่าการที่ กสทช.ออกกฎบังคับให้โครงข่ายเคเบิลกับดาวเทียมต้องเอาช่องทีวีดิจิทัลไปเผยแพร่บนโครงข่ายของตัวเองในตำแหน่ง 1-36 นั้น ไม่ชอบด้วยกฎหมาย กสทช.จึงอุทธรณ์ ประมาณปลายปีนี้ถึงจะทราบผลการพิจารณาของศาลปกครองสูงสุด
ส่วนที่กลุ่มทีวีดิจิทัลระบุว่าถ้าศาลปกครองสูงสุดตัดสินยืนตามศาลปกครองกลาง กลุ่มดาวเทียมกับเคเบิลจะย้ายตำแหน่งช่องทีวีดิจิทัลออกไปหมดนั้นไม่เป็นความจริง กลุ่มเคเบิลและดาวเทียมไม่มีเจตนาจะย้ายตำแหน่งช่องทีวีดิจิทัล เพราะช่องพวกนี้เปิดมา 4 ปีแล้ว ชาวบ้านเคยชินแล้ว แต่ประเด็นของเรามีเพียงแค่ตำแหน่งช่องที่ 1-36 ที่ กสทช.ออกกฎบังคับให้กลุ่มทีวีดิจิทัลใช้นั้น ทุกวันนี้มีช่องรายการออกอากาศเพียง 19 ช่องเท่านั้น อีก 17 ช่องเป็นจอดำ
สิ่งที่กลุ่มดาวเทียมกับเคเบิลต้องการก็คือช่องที่ว่างเป็นจอดำ เราอยากเอาช่องลิขสิทธิ์ดีๆ ที่เราซื้อมา ไปใส่ไว้ในตำแหน่งช่องเหล่านั้น เพื่อให้ชาวบ้านสามารถเปิดช่องที่ 1-36 ได้ทุกช่องโดยที่ไม่จอดำบนเคเบิลกับดาวเทียม และการที่ช่องอยู่ในตำแหน่งต้นๆ ก็เป็นตำแหน่งที่ดี คนดูก็จะเยอะ รายได้จากโฆษณาก็จะเยอะขึ้น เรื่องนี้เป็นการเอาประชาชนมาอ้างว่าจะสับสนเรื่องช่อง แต่ความจริงแล้วเป็นเรื่องการแย่งผลประโยชน์ทางธุรกิจเรื่องโฆษณา เรื่องเรตติ้งเท่านั้น
ถ้าศาลปกครองสูงสุดตัดสินยืนตามศาลปกครองกลาง ก็จะทำให้ดาวเทียมกับเคเบิลสามารถจัดเรียงช่องได้เอง สามารถปรับเปลี่ยนตำแหน่งช่องของทีวีดิจิทัลไปอยู่ตำแหน่งไหนก็ได้ ทำให้ทีวีดิทัลเกรงว่าจะโดนย้ายตำแหน่งช่อง ทำให้คนดูน้อยลง ค่าโฆษณาก็จะน้อยลง จึงไปร้อง กสทช.ว่าถ้าเป็นแบบนี้เขาจะเสียหาย กสทช.จึงเตรียมจะออกกฎกติกาใหม่ เพื่อบังคับให้ดาวเทียมกับเคเบิลยึดตำแหน่งช่องเหมือนเดิม
คือ ช่อง 1-10 ให้เคเบิลกับดาวเทียมใช้ได้ แต่มีเงื่อนไขว่าช่อง 1-10 ของเคเบิลกับดาวเทียม จะต้องไม่เป็นช่องที่ไปแข่งขันกับช่องทีวีดิจิทัล ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว ไม่มีอะไรที่จะไม่ใช่คู่แข่ง เพราะทุกอย่างแข่งกันหมด ไม่ว่าจะเป็นรายการข่าว ช่องหนัง วาไรตี้ กีฬา ส่วนตำแหน่งช่องทีวีดิจิทัลจะไม่เปลี่ยนแปลง ยกเว้น ช่อง 5 ช่อง 11 และช่องไทยพีบีเอสที่จะเปลี่ยน
วิชิต กล่าวว่า เคเบิลทีวีลงทุนเองเป็นหมื่นล้าน ทำไมเราถึงไม่มีสิทธิใช้ตำแหน่งช่อง 1-36 ทำไมต้องให้ไปใช้ช่องที่ 37 เป็นต้นไป การที่เราถูกยึดช่องดีๆ ไป ทำให้เราไม่สามารถสร้างความแตกต่างให้ประชาชนเห็นว่า ช่องเราก็มีรายการดีๆ ถ้าเราได้ช่องต้นๆ ชาวบ้านก็จะเห็น และสมัครเป็นสมาชิกจ่ายค่ารายเดือนให้เรา เราก็จะไม่ถูกดิสรัปต์
ส่วนแพลตฟอร์มต่างชาติ อย่างไลน์ทีวี เน็ตฟลิกซ์ กูเกิลทีวี พวกนี้เป็นแพลตฟอร์มที่มาแข่งกับเราโดยตรง แต่แพลตฟอร์มพวกนี้ กสทช.คุมไม่ได้ ไม่ต้องมาเรียงช่องเหมือนเรา พวกนั้นก็เลยมาดิสรัปต์เราหมดเลย ขณะที่ดาวเทียมและเคเบิล กสทช.เข้ามาคุม สถานะตอนนี้เหมือนเราถูก กสทช.ออกกฎกติกาออกมาบังคับเรา เพื่อให้ทีวีดิจิทัลได้เปรียบ แต่เราเองก็ถูกกลุ่มต่างประเทศเข้ามาชกเราฝ่ายเดียว ผลของกติกา กสทช.ที่ทำให้เราเสียเปรียบอยู่แล้ว ก็ยิ่งเสียเปรียบมากขึ้น วันนี้เคเบิลท้องถิ่นที่เราทำ จากเดิมมีประมาณ 350 ราย วันนี้เหลือไม่ถึง 200 ราย ต้องปิดตัวไปเพราะแข่งขันไม่ไหว
สิ่งที่เราอยากขอร้องจาก กสทช. อย่าออกกติกาใหม่แบบที่กำลังจะออกมา เพื่อทำให้ช่องดาวเทียมและเคเบิลยังคงเสียเปรียบช่องทีวีดิจิทัลต่อไป กสทช.ควรปล่อยให้เกิดการแข่งขันโดยเสรีและเป็นธรรม และต้องเคารพคำตัดสินของศาลปกครองสูงสุด ส่วนใครจะสู้ได้ หรือสู้ไม่ได้ ภายใต้กติกาที่เป็นธรรม ก็ถือเป็นเรื่องของธุรกิจ อย่าให้เขาอยู่ไม่ได้ เพราะกติกาที่เข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นการเฉพาะ ซึ่งช่องดาวเทียมและช่องเคเบิลเป็นผู้ประกอบการรายเล็กระดับเอสเอ็มอี แต่กลุ่มทีวีดิจิทัลเป็นกลุ่มเจ้าสัวที่ติด 1 ใน 10 ของประเทศทั้งนั้น @