การทำเกษตรอินทรีย์ให้เติบโตอย่างมั่นคงยั่งยืน จะต้องไม่เอาเรื่องเงินเป็นที่ตั้ง ต้องพึ่งพาตนเองให้ได้ตามแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง ต้องมีความมั่นคงในแนวคิด มีความอดทน และมีความสุขกับเรื่องที่ทำ
ปริญญา พรศิริชัยวัฒนา กรรมการผู้จัดการ รังสิตฟาร์ม และกรรมการในคณะกรรมการพัฒนาเกษตรอินทรีย์แห่งชาติ กล่าวว่า เริ่มทำเกษตรอินทรีย์ประมาณ 30 ปีที่แล้ว เพราะเห็นว่าอาหารเป็นปัจจัยสำคัญต่อสุขภาพ และความต้องการอาหารออร์แกนิกในตลาดโลกช่วงนั้นกำลังเติบโต ประกอบกับมีหลักแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงรัชกาลที่ 9 จึงเห็นว่าต้องทำออร์แกนิกฟาร์มมิ่งในตอนนั้น
เมื่อลงมือทำก็เจออุปสรรค ตั้งแต่เรื่องที่คนในสังคมยังไม่รู้จักว่าออร์แกนิกคืออะไร เรื่องสิ่งแวดล้อมที่ล้วนมีความเสี่ยงจากการปนเปื้อน ทั้งทางน้ำ ทางดิน ทางอากาศ ความกังวลที่เรายังไม่มีความรู้ลึกซึ้งในช่วงที่เริ่มทำ เรื่องความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับระบบเทรดและผู้บริโภค ล้วนเป็นอุปสรรคพื้นฐานที่จะต้องผ่านให้ได้
เรื่องเกษตรอินทรีย์ เป็นเรื่องที่เป็นความมั่นคงอย่างยั่งยืน เพราะฉะนั้นวิธีที่จะเดินไปยาวๆ เรื่องที่หนึ่ง จะต้องไม่เอาเรื่องเงินเป็นที่ตั้ง ถ้าเราคิดว่าทำแล้วต้องมีกำไร เห็นไปไม่ถึงฝั่งสักราย เรื่องที่สอง ต้องพึ่งพาตนเองให้ได้ตามแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง เรื่องที่สาม จะต้องมีความมั่นคงในแนวคิด อดทน และสำคัญที่สุดคือจะต้องมีความสุขกับเรื่องที่ทำ เพราะจะเป็นแรงให้เราสามารถเดินฝ่าฟันอุปสรรคต่างๆ ไปได้
สำหรับมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ มีการกำหนดให้ผู้ที่ผลิตเกษตรอินทรีย์ต้องทำแนวเขตป้องกันไม่ให้การปนเปื้อนเข้ามาทางดิน ทางน้ำ ทางอากาศ ซึ่งปริญญารู้สึกว่าไม่เป็นธรรมอย่างมาก เพราะคนที่ใช้สารเคมีกลับกลายเป็นคนที่ไม่ต้องรับผิดชอบอะไร แต่คนที่ทำเกษตรอินทรีย์กลับต้องไปทำแนวป้องกันการปนเปื้อน ขณะนี้กำลังร้องเรียนอยู่ว่า ทำไมไม่ให้คนที่ใช้สารเคมีป้องกันไม่ให้สารเคมีเล็ดลอดออกมา ซึ่งน่าจะเป็นธรรมมากกว่า เรื่องเหล่านี้เราอาจมองข้ามไป ทำให้เกษตรกรที่อยากทำเกษตรอินทรีย์มองเห็นอุปสรรคตั้งแต่ต้น และเป็นประเด็นที่ถกกันอยู่ว่าน่าจะเป็นความรับผิดชอบของใคร
ก่อนหน้านี้ ประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรอินทรีย์มาก่อนทั้งประเทศ 100% แต่เราไปสนับสนุนเรื่องใช้สารเคมีเข้ามาในภาคเกษตร จนกลายเป็นกระแสหลักไปแล้ว ส่วนคนทำเกษตรอินทรีย์ต้องมาหาความรู้ใหม่ เพราะทำไม่เป็นแล้ว ก็เลยยังมีคนทำเกษตรอินทรีย์น้อยอยู่ แต่ก็มีการขยายวงเพิ่มขึ้น คิดว่าคงจะมีการสนับสนุนให้เติบโตต่อไป
เรื่องการสร้างความเชื่อมั่นให้ผู้บริโภคนั้น ถ้าผู้บริโภคเชื่อว่าผู้ผลิตรู้จริงว่ากำลังทำเกษตรอินทรีย์ด้วยความรู้ ประกอบกับผู้บริโภคมีความเชื่อมั่นในคำพูดหรือการกระทำของเกษตรกรคนนั้น ไม่ต้องมีใครรับรอง ผู้บริโภคก็ตัดสินใจซื้อได้เลย เรื่องนี้จึงขึ้นอยู่กับตัวเกษตรกรค่อนข้างมาก
ในระบบเกษตรอินทรีย์ ไม่ว่าจะผลิตพืช ปศุสัตว์ หรือประมง จะประกอบด้วยศิลปะ วิทยาการ และหลักปรัชญา ถือเป็นหัวใจของการทำเกษตรอินทรีย์เลยว่า เราต้องรู้ 3 เรื่องนี้ พอเรารู้ 3 เรื่องนี้แล้ว เราก็ต้องรู้จักพืชที่เราจะผลิต รู้จักรักษาสมดุล รู้จักดิน รู้จักพืช แล้วก็ลงมือทำ พอเราทำเรื่องอะไรที่เรารู้จริง การถ่ายทอดของเราเป็นวิทยาศาสตร์ คนฟังเขาก็รับรู้ มีเหตุมีผลพอที่จะเชื่อถือได้ และถ้าเขาสามารถจะเข้าไปพิสูจน์ทราบได้ในแปลงพื้นที่ผลิตด้วย เขาก็จะเห็นประจักษ์ด้วยสายตาว่า สิ่งที่เราพูด กับสิ่งที่เป็นอยู่นั้นเป็นความจริง นี่คือความเชื่อมั่นที่ผู้บริโภคยอมรับ
ปัจจุบันสินค้าเกษตรอินทรีย์มีราคาสูง เพราะเป็นนิชมาร์เก็ต ผลิตในปริมาณที่ไม่มาก ถ้าผู้บริโภคหันมาทานเกษตรอินทรีย์เยอะขึ้น มีดีมานด์มากขึ้น ก็จะทำให้ต้นทุนต่อหน่วยถูกลง ราคาก็จะถูกลงตามไปด้วย ประกอบกับเรื่องการแข่งขัน เกษตรกรที่เขามีความสามารถที่จะผลิตด้วยความชำนาญแล้ว ถ้าราคาสูงอยู่ การลดราคาแข่งขันในตลาดก็จะเกิดขึ้นเอง เป็นธรรมชาติของตลาด ทั้งนี้ การบริโภคอาหารอินทรีย์ถือเป็นการลงทุนเพื่อสุขภาพ
ปริญญา กล่าวว่า รังสิตฟาร์มไม่ได้ทำไซส์ใหญ่ เพราะเราไม่ได้เอาเงินเป็นตัวตั้ง และยังเป็นตลาดโอทูโอ หรือ หรือออนไลน์ทูออฟไลน์ หมายความว่าเรามีกลุ่มที่เป็นนิช แล้วก็มีกลุ่มลูกค้าอยู่ในไลน์กลุ่มในออนไลน์ แล้วก็มีออฟไลน์ อยู่ที่เซ็นทรัลชิดลม กับเซ็นทรัลพระราม 9 ที่จะเห็นเอาท์เล็ตของรังสิตฟาร์ม มีทั้งออร์แกนิกสลัดบาร์ และออร์แกนิกจุ๊ยซ์บาร์ รวมทั้งเอาท์เล็ตที่ขายผักจากฟาร์ม และกลุ่มสมาชิกที่ร่วมดำเนินงานเรื่องเกษตรอินทรีย์ด้วยกัน
สำหรับมาตรฐานที่จะสร้างความเชื่อมั่นให้ผู้บริโภคนั้น มี 2 ส่วนที่สำคัญ เรื่องแรกคือหัวใจของมาตรฐาน ก็คือหลักการเกษตรอินทรีย์ซึ่งเหมือนกันทั่วโลก ประเทศไทยก็เขียนมาตรฐานเดียวกับทุกประเทศ และส่วนที่สองคือข้อกำหนดเงื่อนไขในมาตรฐาน ซึ่งมาตรฐานของประเทศไทยไม่ได้ด้อยกว่าประเทศอื่น และเราอย่าไปมองว่ามาตรฐานของต่างประเทศสูงกว่าของเรา เพราะการเขียนมาตรฐานจะอยู่บนความเป็นสากลอยู่แล้ว
ถ้าผู้ผลิตทำตามเงื่อนไขภายในข้อกำหนด มีหัวใจของเกษตรอินทรีย์สมบูรณ์ในกระบวนการผลิต ผู้บริโภคก็เชื่อถือได้ ส่วนตรารับรองมาตรฐานนั้นเป็นเรื่องการสื่อสารระหว่างผู้บริโภคที่ไม่รู้จักผู้ผลิต เพราะฉะนั้นจึงต้องมีการตรวจรับรองโดยหน่วยงานบุคคลที่สาม เพื่อจะรับรองว่าเป็นผลิตภัณฑ์อินทรีย์ ส่วนจะเป็นมาตรฐานของประเทศไหน ก็เป็นเงื่อนไขของแต่ละประเทศ เวลาที่เราจะเอาสินค้าไปขายที่ประเทศเขา เราก็ต้องปฏิบัติตามกฎหมายที่เขาบังคับใช้
ผู้บริโภคที่จะเลือกซื้อผลิตภัณฑ์อินทรีย์ ถ้าผู้บริโภคไม่รู้จักผู้ผลิต ก็ต้องดูว่ามีฉลากมาตรฐานรับรองผลิตภัณฑ์ว่าเป็นอินทรีย์หรือไม่ เพื่อเป็นหลักฐานประจักษ์ในการตัดสินใจเลือกซื้อ ส่วนผู้บริโภคที่ยังอาจกังวลอยู่ ถ้าเป็นไปได้ก็ให้ไปดูความเป็นมาของผู้ผลิต และถ้ามีโอกาสไปดูที่ฟาร์มได้ก็จะยิ่งดี @