แบรนด์ ปาป้า เปเปอร์ ปรับตัวผ่านวิกฤติที่เกิดขึ้น ด้วยการตั้งสติ ตั้งทีมงานหาจุดอ่อนจุดแข็งทั้งภายในและภายนอกองค์กร แล้วนำข้อมูลทั้งหมดมาประกอบการตัดสินใจว่าจะดำเนินการต่อยอดธุรกิจต่อไปอย่างไร
ธนากร สุภาษา ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ซิมพลิ เด็คคอร์ จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายกระดาษจากใยธรรมชาติ แบรนด์ ปาป้า เปเปอร์ กล่าวว่า ตนเองเป็นรุ่นที่ 2 ที่มาต่อยอดธุรกิจของคุณพ่อที่ส่งออกสินค้าจากกระดาษสา โดยทำเป็นกระดาษที่เป็นแผ่น แต่ตนเองเห็นว่ากระดาษสาสามารถไปต่อยอดได้อีกหลายอย่าง จึงตั้งบริษัท ซิมพลิ เด็คคอร์ ซึ่งเป็นบริษัทดีไซน์ ในปี 2545 คอนเซ็ปต์ในปีแรกๆ ที่ทำ คือนำกระดาษมาทำเป็นของตกแต่งแบบเรียบง่าย
ในชีวิตที่ผ่านมา เจอวิกฤติในการทำธุรกิจ 4 ครั้ง ครั้งแรก บริษัทคุณพ่อเจอผลกระทบวิกฤติต้มยำกุ้งปี 2540 ได้รับผลกระทบเรื่องค่าเงินบาท ครั้งที่สอง เมื่อตนเองตั้งบริษัทในปี 2545 ก็เจอวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ในปี 2551 ลูกค้ายุโรปก็งดการสั่งซื้อ และได้รับผลกระทบเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนจากการรวมค่าเงินเป็นยูโร ครั้งที่สาม เจอน้ำท่วมกรุงเทพฯ ปี 2554 ลูกค้ารายใหญ่ของบริษัทก็หายไป เพราะโรงงานโดนน้ำท่วมต้องหยุดชะงักไป และครั้งที่สี่ เจอโควิด-19 ในปี 2563 ซึ่งเป็นวิกฤติที่ใหญ่ที่สุดแล้ว และมีผลกระทบค่อนข้างเป็นวงกว้าง
ในวิกฤติ 3 ครั้งก่อน สิ่งที่คุณพ่อสอนมาตลอดก็คือตั้งสติ เราเป็นผู้นำองค์กรจะไม่มีสติไม่ได้ เพราะเราจะต้องดูหลายๆ ด้าน จะต้องดู 360 องศา ดังนั้นต้องเรียกสติกลับมาก่อน เสร็จแล้วต้องตั้งทีม เพราะถ้าเราทำงานคนเดียว เราจะไปในทิศทางที่ไม่ชัดเจน เมื่อตั้งทีมแล้ว เราก็หาข้อมูลว่าในภาวะนี้มีจุดแข็งจุดอ่อนอะไร
การหาจุดแข็งจุดอ่อนภายในองค์กร เราใช้เครื่องมือของ SWOT ส่วนจุดแข็งจุดอ่อนภายนอกใช้ PESTEL ดูว่าภาครัฐให้โอกาสอะไร มีโอกาสอะไรทางสังคม ทางสิ่งแวดล้อม แล้วก็มาที่เรื่องการบัญชี เอาตัวเลขมาดูแนวโน้มเรื่องกระแสเงินสดว่าเรายังไปต่อได้หรือไม่ ธุรกิจเรายังทำกำไรได้หรือไม่ในภาวะอย่างนี้ เมื่อเราได้ข้อมูลทั้งหมดก็นำมาตัดสินใจว่า เราจะไปต่อยอดการตลาดอย่างไร เราจะไปบีทูซี บีทูบี หรือบีทูจี เราก็มาเลือกกัน ตนเองจึงผ่านพ้นวิกฤติมาได้ 3 ครั้ง ซึ่งแต่ละครั้งก็ท้าทายไม่น้อยเลยทีเดียว
ธนากร กล่าวว่า ก่อนเจอวิกฤติโควิด-19 ในปีนี้ ปีที่แล้วเราก็โดนดิสรัปชั่น ซึ่งตนเองมองว่าโควิดเป็นตัว Booster ให้เราต้องปรับตัวให้เร็วขึ้น เป็นเหมือนสัญญาณที่มาเตือนว่าจะทำธุรกิจแบบเดิมไม่ได้แล้ว โดยตนเองเข้าร่วมกับสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) จะสมัครเข้าโครงการ National Awards ทุกปี ซึ่งเป็นเหมือนกับการตรวจสุขภาพบริษัท ที่จะมีหน่วยงานภาครัฐมาวินิจฉัยว่าด้านการตลาดเราอ่อนตรงไหน ด้านผลิตเราอ่อนตรงไหน การเก็บข้อมูลองค์กร กระบวนการจัดเก็บองค์ความรู้ แม้กระทั่งการตั้งแผนฉุกเฉินหรือแผนป้องกันความเสี่ยง
เมื่อเราเข้าโครงการนี้เวลาเราเจอวิกฤติ เหมือนเรามีกระเป๋ายาอยู่เป็นชุดเบื้องต้น เพื่อเป็นวัคซีนมาฉีดให้เราผ่านพ้นได้ และ ซิมพลิ เด็คคอร์ มีแผนฉุกเฉินอยู่แล้ว เราไม่ได้ทำสินค้าประเภทเดียว นอกจากสินค้าเป็นงานแฮนดี้คราฟท์ งานแฮนด์เมดแล้ว เรายังมีเครื่องสำอาง หน้ากากกันไวรัสกันฝุ่น ตอนนี้เราเป็นผู้ผลิตเส้นใยกระดาษให้กับอุตสาหกรรมต่างๆ ในประเทศไทยที่ต้องใช้เส้นใยจากกระดาษด้วย
สำหรับหน้ากากอนามัยเป็นเรื่องของจังหวะที่ตนเองพัฒนาตัวกระดาษมาสก์หน้า ที่ปกติเป็นกระดาษผสมพลาสติก แต่เราทำเป็นกระดาษเส้นใยธรรมชาติ แล้วมาเจอวิกฤติโควิด-19 หน้ากากขาดแคลน จึงทำหน้ากากให้พนักงานใช้ และบุคลากรทางการแพทย์มีความต้องการใช้ในช่วงนั้น ตนจึงเย็บหน้ากากไปบริจาค
ทำให้เกิดไอเดียทำแมส เพราะชุมชนเป็นผู้ผลิตกระดาษ ตนเอามาเย็บแล้วเอาไปแจก พอทำอย่างนี้ก็มีการจ้างงานในชุมชนเกิดขึ้น ในภาวะวิกฤติที่มีโควิด-19 ชุมชนก็ยังมีงานทำอยู่ ถึงแม้จะน้อยลง แต่ก็ยังอยู่ได้ ซึ่งเป็นที่มาคอนเซ็ปต์ของเราคือ “ชุมชนอยู่ได้ เราอยู่ได้” ในการทำหน้ากาก ตนก็ไม่รู้ว่าในด้านธุรกิจจะสำเร็จหรือไม่ แต่เชื่อว่าสำเร็จในด้านของชุมชน ในด้านสิ่งแวดล้อม ถือว่ากำไรแน่นอนในด้านนี้
สำหรับหน้ากากตอนนี้ติดตามได้ในเฟซบุ๊กของบริษัท ชื่อ กระดาษสา PAPA PAPER CRAFT และใน E-Marketplace แพลตฟอร์มของ SME D Bank ตอนนี้เรากำลังทำเว็บไซต์สำหรับหน้ากากโดยเฉพาะ น่าจะเสร็จกลางเดือนตุลาคมนี้ หน้ากากของเราได้ส่งทดสอบมาตรฐานหลายหน่วยงาน ในประเทศ เราได้ผลแลปจากมหาวิทยาลัยแม่โจ้แล้ว ส่วนต่างประเทศ ตอนนี้เราส่งไปตรวจแลปในไต้หวันและฮ่องกง น่าจะได้ผลแลปประมาณเดือนพฤศจิกายนนี้
บริษัท ซิมพลิ เด็คคอร์ ได้รับรางวัล SME National Awards ในปี 2560 2561 และ 2563 ซึ่งในการทำธุรกิจ เรามีความมุ่งมั่น และมีเป้าหมาย หรือสิ่งที่เราเรียกว่า วิสัยทัศน์ พันธกิจ และเป้าหมาย ตัวรางวัลเป็นสิ่งที่ตอกย้ำ และทำให้เรามั่นใจว่ามาถูกทางแล้ว รางวัลนี้เป็นกำลังใจที่ดีสำหรับผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ที่เรามีความตั้งใจสู้ในทุกสภาวการณ์ เราได้รางวัลนี้มาก็ดีใจมาก เป็นรางวัลที่ตนขอยกให้กับทีมงาน รวมทั้งชุมชน และหน่วยงานต่างๆ ที่ทำให้เกิดรางวัลนี้ขึ้นมา
ธนากร กล่าวว่า บริษัทเป็นผู้ส่งออกตั้งแต่ปี 2546 ตนเองมองภาพเรื่องการขยายองค์กรในอนาคต จากสินค้าที่เป็น OEM ตอนนี้เป็น ODM ตนเองก็อยากส่งออกในนามแบรนด์ของเรา และถ้าเป็นไปได้ เราก็อยากขยายธุรกิจในเรื่องของเยื่อกระดาษให้เติบโตขึ้น มองในด้านของการร่วมทุนและการเข้าตลาดหลักทรัพย์ด้วย แต่ที่เราจะไม่ทิ้งเลยก็คือเราจะเป็นบริษัทที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม เราจะรักษาสิ่งแวดล้อม และช่วยชุมชนไปเรื่อยๆ ตราบเท่าที่เรามีแรง และเรายังอยู่ตรงนี้
ปาป้า เปเปอร์ คราฟ์ เราปรับตัวตลอดเวลา ไม่มีวิกฤติเราก็ปรับ การเป็นผู้ประกอบการต้องไม่หยุดปรับตัว เพราะธุรกิจคือการปรับตัว และการแข่งขันไม่จำเป็นต้องแข่งกับคนไทยด้วยกัน แต่ให้จับมือคนไทย จับมือทุกภาคส่วน พัฒนาไปด้วยกัน แล้วไปแข่งกับประเทศอื่น สุดท้ายอย่าลืมหน่วยงานภาครัฐ 2 หน่วย คือ SME D Bank และ สสว. เพราะตนเองไม่สามารถมาถึงจุดนี้ ถ้าไม่มีการสนับสนุนจากภาครัฐ ขอทุกคนมีกำลังใจ มีสติ แล้วจับมือก้าวไปด้วยกัน อย่าเดินไปคนเดียว @