“Digital Identity” ทำให้การทำธุรกรรมเกิดได้เร็วขึ้น ไม่จำเป็นต้องไปยืนยันตัวตนต่อหน้า มีความปลอดภัย
ทำให้เศรษฐกิจหมุนเร็วขึ้น จีดีพีมีโอกาสจะเติบโตมากขึ้น เศรษฐกิจประเทศขยายตัวมากขึ้น
ปกรณ์ ลี้สกุล CEO, Founder บริษัท ฟินีม่า จำกัด กล่าวว่า Digital Identity คือ การยืนยันตัวตนบนโลกดิจิทัล ซึ่งก่อนจะมีอินเตอร์เน็ต มีคอมพิวเตอร์ เรายืนยันตัวตนด้วยเอกสารในการทำธุรกรรมต่างๆ ใช้บัตรประชาชน ใบขับขี่ พาสปอร์ต ถ่ายสำเนา แล้วทำการยืนยันความเป็นเจ้าของด้วยการลงนามลายเซ็น ที่เรียกว่าเซ็นสำเนาถูกต้อง
เมื่อเข้าสู่ยุคอินเตอร์เน็ต ก็เปลี่ยนจากเอกสารเป็นการใช้บางอย่างในการยืนยันว่าเราเป็นคนคนนั้นจริงๆ ที่รู้จักกันโดยทั่วไปก็คือ ยูสเซอร์เนมกับพาสเวิร์ด ใช้แสดงตัวตนบนโลกออนไลน์ในช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมา แต่บางครั้งก็ถูกแฮก ทำให้เป็นปัญหาใหญ่ว่าถ้าจะทำธุรกรรมที่สำคัญจริงๆ แค่ยูสเซอร์เนมกับพาสเวิร์ดเพียงพอหรือไม่ และกลายเป็น Global Agenda ของโลกว่าคำว่า Digital Identity จริงๆ คืออะไรกันแน่
ทำให้มีแนวคิดต่างๆ เกิดขึ้นมามากมาย แบบเดิมคือใช้ยูสเซอร์เนมกับพาสเวิร์ด มีแบบ Centralized และขยับเป็น Sharing ซึ่งแบบ Sharing ที่เห็นภาพง่ายๆ ก็คือเราสามารถเข้าเน็ตฟลิกซ์ได้โดยกดปุ่มเฟซบุ๊กล็อกอิน แล้วก็จะสามารถครีเอทแอคเคาท์ได้เลยในเน็ตฟลิกซ์ หรือจะไปสู่ระยะไกลคือทำให้การใช้เอกสารหายไป กลายเป็น Digital Identity ได้จริง ซึ่งแนวคิดนั้นก็คือ Self-Sovereign Identity
ปกรณ์ กล่าวว่า เมื่อมีการทำ Digital Identity เต็มรูปแบบแล้ว ถ้ามีธุรกรรมเกิดขึ้น เราจะมั่นใจว่าทุกธุรกรรมที่เกิดขึ้นบนโลกอินเตอร์เน็ตเกิดจากบุคคลนั้นจริงๆ ไม่ใช่คนอื่นเอายูสเซอร์เนมและพาสเวิร์ดของเขาไปใช้ ขโมยความเป็นตัวตนของเขาไป ซึ่งสิ่งนี้จะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อมีระบบป้องกันรักษาความปลอดภัย ทำให้ธุรกรรมที่เกิดขึ้นเชื่อถือได้ โดยที่ไม่ต้องเดินทางมาแสดงตัวตนต่อหน้า ไม่ต้องใช้สำเนาบัตรประชาชน ลดการใช้กระดาษ ทำให้เกิดธุรกรรมอีกมากมาย ซึ่งกฎหมายก็เริ่มออกมารองรับการเซ็นสัญญาและการเซ็นลงนามบนโลกออนไลน์แล้ว
การที่เมืองไทยยังยืนยันตัวตนโดยใช้เอกสารเป็นส่วนใหญ่นั้น เนื่องจากมีคนเข้าใจพื้นฐานเรื่อง Digital Identity ไม่มาก ส่วนใหญ่จะเข้าใจเรื่องดิจิทัล อินฟราสตรักเจอร์ อย่างไรก็ตาม เมืองไทยเรามีการขยับและปรับตัวพอสมควรในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ซึ่งจะได้ยินโปรเจกต์เกี่ยวกับ Identity เกิดขึ้นพอสมควร ไม่ว่าจะเป็น เอ็นดีไอดี โมบายไอดี เฮลธ์ไอดี ก็มีการพัฒนาเรื่องพวกนี้พอสมควร
การเก็บข้อมูล Identity แบบกระจายศูนย์ หรือ Decentralized Digital Identity หรือ แนวคิด Self-Sovereign Identity ถ้าแปลตรงตัวคือการคืนอำนาจอธิปไตยในอัตลักษณ์ตัวเองให้กับประชาชน ถ้าเรามีอำนาจอธิปไตยในอัตลักษณ์ตัวเอง ก็แปลว่าไม่มีใครมาใช้อำนาจนี้ได้ ต้องเป็นเราคนเดียวเท่านั้น
ซึ่งคีย์เพลเยอร์สำคัญที่นำไปสู่ Self-Sovereign Identity ของโลกได้ คือ โทรศัพท์มือถือ เนื่องจากมีคุณสมบัติ มีพื้นที่ปลอดภัยอยู่ในโทรศัพท์มือถือ และเราสามารถสร้างสิ่งที่เรียกว่า คีย์พิเศษ ตัวย่อคือ พีเคไอ (พับลิค คีย์ อินฟราสตรัคเจอร์) เวลาเราทำอะไรก็จะสามารถพิสูจน์ได้ว่ามาจากโทรศัพท์มือถือเครื่องนี้จริงๆ
“สิ่งที่จะเกิดขึ้นคือ ต่อไปเวลาเราจะเซ็นธุรกรรมโอนเงิน ไม่ใช่แค่การกดปุ่มซับมิต ทุกครั้งที่เรากดปุ่มซับมิต เราจะเอากุญแจเซ็นคำสั่งโอนเงินเซ็นลงไป แล้วส่งไปให้เซิร์ฟเวอร์รับ หรือปลายทางรับ พอเขาอ่านแล้วว่า มันมีซิกเนเจอร์ของคุณ แปลว่าอนุมัติให้โอนเงินได้ แต่ถ้ามันไม่ใช่ ก็ไม่มีใครโอนเงินออกจากกระเป๋าเงินออนไลน์ของคุณได้ ก็จะปลอดภัยมากขึ้น ใช้งานง่ายขึ้น เพราะการเซ็นโอนเงินอาจจะกลายเป็นการสแกนคิวอาร์เหมือนพร้อมเพย์ก็ได้ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นเบื้องหลังจะมีความปลอดภัยมากกว่านั้น”
ปกรณ์ กล่าวว่า ถ้าประเทศไทยทำให้ธุรกรรมเกิดเร็วได้ขึ้น สิ่งที่จะเกิดขึ้นต่อเศรษฐกิจก็คือเงินจะหมุนเร็วขึ้น รอบของเศรษฐกิจก็จะวิ่งเร็วขึ้น จีดีพีก็มีโอกาสที่จะเติบโตมากขึ้น เศรษฐกิจประเทศไทยก็จะขยายมากขึ้น เทคโนโลยีเหล่านี้จะมีส่วนไปช่วยลดการทุจริตได้ด้วย @