“โจ ไบเดน”นั่งผู้นำสหรัฐ ไทย ได้/เสีย อะไรบ้าง?

ถ้า “โจ ไบเดน” ชนะได้เป็นประธานาธิบดีสหรัฐ นโยบายด้านเศรษฐกิจน่าจะไม่เปลี่ยนแปลง ประเทศไทยยังคงถูกตัด GSP เพื่อแก้ปัญหาขาดดุลการค้า สงครามการค้ายังคงเดินหน้าต่อ แต่ไม่รุนแรงเหมือนสมัย “โดนัลด์ ทรัมป์” ทำให้บรรยากาศการค้าการลงทุนมีเสถียรภาพมากขึ้น

รศ.ดร.อาชนัน เกาะไพบูลย์ ผู้อำนวยการ The International competitiveness Research Cluster ( CRC) และอาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า หาก “โจ ไบเดน” จากพรรคเดโมแครต ชนะเลือกตั้งได้เป็นประธานาธิบดีสหรัฐคนใหม่ คิดว่านโยบายหลายๆ ด้านคงมีการเปลี่ยนแปลง เช่น นโยบายต่างประเทศ และนโยบายเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะ Climate Change หรือ การเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ

รศ.ดร.อาชนัน เกาะไพบูลย์

แต่สิ่งที่คิดว่าน่าจะไม่เปลี่ยนแปลงมากนัก คือ นโยบายที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจ โดยเฉพาะเศรษฐกิจการค้าระหว่างประเทศ โดยดูจากกรณีสงครามการค้ากับจีน กรณีเรื่อง Huawei ทั้งพรรครีพับลิกันและเดโมแครตมีเสียงไปในทิศทางเดียวกัน และคิดว่าไบเดนคงไม่เปลี่ยนตัว “โรเบิร์ต ไลท์ไฮเซอร์” ผู้แทนการค้าสหรัฐ (USTR) คนปัจจุบัน คงใช้คนนี้ต่อ เพราะฉะนั้นนโยบายเรื่องนี้น่าจะไม่เปลี่ยนแปลง แต่อาจเปลี่ยนแปลงรูปแบบไปบ้าง

สงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐ เป็นส่วนหนึ่งของการพยายามแก้ปัญหาขาดดุลการค้าของสหรัฐ เพราะฉะนั้นสงครามการค้ายังคงเดินหน้าต่อ แต่อาจไม่เดินและรุนแรงอย่างในสมัยทรัมป์ ซึ่งประเทศไทย และประเทศอื่นๆ น่าจะมีส่วนเกี่ยวข้องไปด้วย ล่าสุด เดือนที่ผ่านมา ผู้แทนการค้าสหรัฐมองว่าเวียดนามแทรกแซงค่าเงิน ขณะนี้กำลังใช้มาตรา 301 ไต่สวนอยู่ เพราะเวียดนามเป็นประเทศที่เกินดุลการค้ากับสหรัฐมากที่สุด และแทบจะไม่ซื้อของจากสหรัฐเลย

รศ.ดร.อาชนัน กล่าวว่า สหรัฐเดินนโยบายเพื่อลดการขาดดุลการค้าของตัวเอง และเริ่มจี้ไปที่แต่ละประเทศมากขึ้น ซึ่งประเทศไทยก็โดนเรื่องตัดสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (GSP) 231 รายการ เพราะเราไปกีดกันเนื้อหมูเขาที่ใช้สารเร่งเนื้อแดง เขาก็เลยตอบโต้เรา ดังนั้นแม้ว่าจะมีการเปลี่ยนประธานาธิบดี แต่ทิศทางนโยบายลักษณะ America First หรือรัฐชาตินิยมทางเศรษฐกิจก็ยังคงดำเนินต่อเนื่องไป ในลักษณะใช้มาตรา 301 อย่างที่ใช้กับเวียดนาม และทางหนึ่งที่เชื่อว่าสหรัฐอาจทำได้ คือใช้ผ่านข้อตกลงเขตการค้าเสรี (FTA) ต่างๆ

การที่ไทยถูกตัด GSP 231 รายการ เป็นเหมือนสัญญานให้ไทยต้องเตรียมตัวสำหรับรายการที่เหลือ เพราะสหรัฐคงจะดำเนินการต่อในระยะต่อไป เพื่อพยายามที่จะลดการขาดดุลการค้า ดังนั้นรัฐบาลต้องรู้สึกตื่นตัวว่าเราควรจะทำอย่างไร และควรจะเปลี่ยนอย่างไรเพื่อรองรับสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

ส่วนนโยบายเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม ถ้าไบเดนได้เป็นประธานาธิบดี ก็คงจะดำเนินการในเรื่องนี้ เพราะฉะนั้นประเทศไทยจำเป็นต้องยกระดับมาตรการเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม เพื่อไม่ให้สหรัฐนำมาเป็นอีกแนวทางหนึ่งในการกีดกันทางการค้า เราจำเป็นต้องเตรียมความพร้อมในเรื่องนี้และต้องทำให้เร็วขึ้น

ซึ่งภาครัฐกับเอกชนต้องทำงานร่วมกันอย่างจริงจัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวันนี้เราเกิดโควิด-19 เราต้องการหา Engine ของ Growth ถ้าเราทำได้ก่อนคนอื่น มันหมายถึงโอกาสที่มากกว่า ต้องมองเรื่องนี้ให้ชัดด้วย อย่ามองเรื่องกีดกันอย่างเดียว ถ้าเราปรับตัวให้ดี ทำให้เข้ากับสิ่งแวดล้อม จะทำให้เราโตได้เร็วขึ้น แล้วตรงนี้จะเป็น Engine ที่มาช่วยฟื้นเศรษฐกิจจากโควิด-19 ด้วย

รศ.ดร.อาชนัน กล่าวว่า ในยุคทรัมป์ สหรัฐถอยตัวเองออกไปจากเอเชียและอาเซียน แต่ในยุคไบเดนน่าจะเห็นความร่วมมือมากขึ้น ในแง่เศรษฐกิจ คิดว่าสหรัฐอาจกลับเข้ามา และอาจพยายามทำ FTA กับประเทศในภูมิภาคนี้ บางคนเชื่อว่าเมกาจะขอกลับเข้าร่วมความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนเศรษฐกิจภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก (CPTPP)

ทั้งนี้ สหรัฐจะเข้าร่วม CPTPP หรือไม่นั้นไม่ใช่ประเด็นสำคัญ แต่ประเด็นใหญ่คือ FTA ที่สหรัฐจะเข้าไป จะต้องเป็น FTA ที่สหรัฐสามารถมีอิทธิพลและกำหนดกติกาเพื่อเป็นประโยชน์แก่สหรัฐได้ ตรงนี้เป็นอีกประเด็นหนึ่งที่ไทยต้องตั้งรับให้ดี เพราะถ้าสหรัฐเข้ามาและเรียกร้องในเรื่องเหล่านี้ เราต้องกำหนดท่าทีการเจรจา

ที่สำคัญคือเราต้องระวังอย่าไปเจรจาเป็นทวิภาคีกับสหรัฐ เพราะเราเล็กกว่าเขาเยอะ คงสู้กับเขายาก และจะถูกกดดันอย่างมหาศาล เราต้องเจรจาในนามอาเซียน ต้องบาลานซ์ให้ดีระหว่างอาเซียน กับจีน ญี่ปุ่น เกาหลี อย่าง RCEP หรือ ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค และอีกข้างหนึ่งเราก็บาลานซ์กับสหรัฐ แต่อย่าฉีกอาเซียนออกจากกัน อย่างที่ทำใน CPTPP เราต้องรวมกันแล้วพยายามคุย กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศต้องเตรียมตัวให้ดี เพราะเรื่องพวกนี้คงจะกดดันเข้ามาเรื่อยๆ

รศ.ดร.อาชนัน กล่าวสรุปว่า ถ้าประธานาธิบดีสหรัฐมีการเปลี่ยนแปลง นโยบายเศรษฐกิจการค้าระหว่างประเทศ ประเทศไทยไม่น่าจะได้ประโยชน์ และอาจเสียหายเล็กน้อย เนื่องจากการที่สหรัฐพยายามแก้ปัญหาดุลการค้า เขาจะพยายามส่งออกมาหาเรามากขึ้น และนำเข้าจากเราน้อยลง ก็คงกระทบบ้าง แต่ไซส์ตรงนี้ไม่น่าจะเยอะเท่าไร อาจมีลดลงบ้าง ส่วนทางอ้อมคือ บรรยากาศการค้าการลงทุนจะมีเสถียรภาพมากขึ้น เราจะไม่รู้สึกว่าเราจะเห็นภูมิภาคที่มีความขัดแย้งกรณีพิพาทที่พร้อมจะเกิดสงครามขึ้นมา บรรยากาศแบบนี้ทำให้การค้า สามารถทำได้ดีขึ้น ฟื้นตัวได้ดีขึ้น โดยเฉพาะจากโควิด-19

สุดท้ายเราคงต้องลดการพึ่งพาตลาดสหรัฐ กลยุทธ์ในระยะปานกลาง เราน่าจะหาตลาดส่งออกอื่นเพื่อทดแทน ตลาดเล็กๆ ตลาดอื่นๆ อย่างแอฟริกา ตะวันออกกลาง เราก็ยังส่งออกได้ไม่เต็มที่ รัฐน่าจะพยายามทำตรงนี้ให้มากขึ้น ช่วยเอกชน พยายามลดภาระให้เอกชนในการเปิดตลาดใหม่ๆ อย่างน้อยเพื่อทำให้เราป้องกันความเสี่ยงที่จะเกิดกับเราในอนาคตได้

@

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *