ธุรกิจสื่อ..ในยุคสังคม “แบ่งขั้ว-เลือกข้าง”

ภาพจาก Facebook : Thai News Pix

ในยุคที่สังคมมีการ”แบ่งขั้ว-เลือกข้าง” สื่อต้องรักษาความยุติธรรม วิพากษ์วิจารณ์อย่างสร้างสรรค์ พยายามอยู่ในกรอบของสังคมให้มากที่สุด ส่วนการที่สื่อเลือกข้างถือว่าไม่ผิด ตราบเท่าที่ยังอยู่ในกรอบของกฎหมาย แต่อาจมีผลกระทบต่อธุรกิจได้

นิมิตร หมดราคี ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท 124 คอมมิวนิเคชั่นส คอนซัลติ้ง จำกัด กล่าวว่า ปัจจุบันสื่อกระแสหลักเปลี่ยนไปจากในอดีตเยอะมาก เพราะพฤติกรรมการบริโภคข่าวสารของผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงไป ผู้บริโภคข่าวบางส่วน ผันตัวเองมาเป็นนักข่าว เปิดสำนักข่าวเอง ผ่านทางเครือข่ายสังคมออนไลน์ หรือทางโซเชียล อีกทั้งสื่อยังถูกดิสรัปต์จากเทคโนโลยี ทำให้การทำงานบนแพลตฟอร์มเก่า การทำงานแบบเดิมๆ ไม่สามารถตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค และสร้างผลตอบแทนทางธุรกิจได้เพียงพอ

นิมิตร หมดราคี

ผู้ประกอบธุรกิจสื่อกระแสหลักต้องเตรียมตัวให้พร้อมว่าจะสามารถยืนหยัดและปรับตัวให้เข้ากับกระแสการเปลี่ยนแปลงได้มากน้อยเพียงใด ตอนนี้ผู้บริโภคข่าวทุกคนต้องการความเร็ว ต้องการข่าวด่วนในการรับสาร ส่วนความถูกต้องอาจมีความสำคัญน้อยลงไป ข้อมูลทุกอย่างที่อยู่ในมือพร้อมที่จะกดแชร์และแสดงความคิดเห็นไปยังกลุ่มต่างๆ ผ่านเครือข่ายออนไลน์ ซึ่งผู้ที่จะชนะในเกมต่อไปก็คือใครที่มีคอนเทนต์ดีกว่า เพราะเรื่องราวเนื้อหาเป็นสิ่งสำคัญ ให้เนื้อหาถูกใจบริบทของสังคมก็จะเป็นผู้ชนะ

สิ่งหนึ่งที่ต้องยอมรับก็คือ สื่อก็คือธุรกิจ เจ้าของสื่อก็ต้องทำธุรกิจเพื่อให้ได้ผลกำไร ถ้าไม่ได้กำไรก็จะมีปัญหากับผู้ถือหุ้น อย่างไรก็ตาม ตนเองเชื่อว่าสื่อต้องเลือกข้างได้ แต่ต้องทำให้เนียน ให้พองาม ไม่ใช่ชัดเจนจนสังคมรับไม่ได้ ก็จะส่งผลกระทบต่อธุรกิจ และการทำงานของคนที่อยู่ในสื่อด้วย

อย่างในต่างประเทศ สื่อก็มีการเลือกข้างทั้งนั้น แต่จะมีการแบ่งเส้นชัดเจนว่า กองบรรณาธิการก็ดูแลเรื่องข่าวไป ส่วนการตลาดก็มีหน้าที่ขายโฆษณาไป โดยที่เขามีกฎกติกาที่จะต้องปฏิบัติชัดเจน ว่าอะไรคือข่าว อะไรต้องขาย ในประเทศไทยก็มีกฎกติกาเช่นเดียวกัน

แต่สื่อต่างประเทศจะไม่สนับสนุนฝ่ายที่ตัวเองเชียร์อย่างไม่ลืมหูลืมตา สังเกตได้จากรณีประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ให้ข่าวโจมตีคู่แข่งโดยที่ไม่มีหลักฐานสนับสนุนเพียงพอ ฟ็อกซ์ นิวส์ซึ่งเชียร์ทรัมป์ ก็ไม่ทำข่าวรวมถึงการที่สถานีโทรทัศน์ เอบีซี, ซีบีเอส และเอ็นบีซี ยุติการถ่ายทอดสดการแถลงข่าวของทรัมป์ เนื่องจากมีการพูดเท็จหลายเรื่อง ซึ่งไม่แน่ใจว่าสื่อไทยจะกล้าทำแบบนั้นหรือไม่

“ประเทศไทยถือเป็นประเทศระดับต้นๆ ของโลกที่มีการใช้โซเชียลมีเดียอย่างกว้างขวาง เราเสพข่าวทางมือถืออย่างบ้าคลั่ง บางครั้งเราไม่ได้สนใจว่าถูกต้องหรือเหมาะสมหรือไม่ สนใจเพียงว่ามันเร็วหรือเปล่า สะใจหรือเปล่า แล้วเราก็แชร์ต่อกันไป อันนี้น่ากลัวมากทีเดียว เพราะสิ่งเหล่านี้จะทำอะไรก็แล้วแต่ ต้องดูว่ามันอยู่ภายใต้กรอบกฎหมายและกติกาของสังคมหรือเปล่า” นิมิตร กล่าว

นิมิตร กล่าวถึงการที่สื่อเลือกข้างว่า เจ้าของสื่อรู้อยู่แล้วว่าธุรกิจจะเดินได้ต้องมีเม็ดเงิน มีผลประโยชน์ของธุรกิจเข้ามา เพราะฉะนั้นการจะเลือกข้างไม่ได้ผิด ตราบเท่าที่ยังอยู่ในกรอบของกฎหมาย แต่การทำงานก็จะยากขึ้น ถ้าไม่มีการสื่อสารที่ชัดเจน คนที่ไปทำงานก็จะลำบาก แต่ถ้ามีการสื่อสารชัดเจนว่าเราเชียร์ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด ก็จะทำให้สังคมจับได้ และมองเห็นความจริง ซึ่งก็จะมีผลกระทบกับธุรกิจเหมือนกัน

“สำหรับคำพูดที่ว่าสื่อต้องเป็นกลางนั้นถูกต้อง แต่คำว่าเป็นกลางก็ขึ้นอยู่กับว่าใครมอง เป็นเรื่องของนานาจิตตัง แต่ตราบใดที่เราไม่ทำให้มันชัดเจนเกินไป ทำให้คนพอรับกันได้ สังคมอยู่กันได้ ก็น่าจะโอเค อย่าไปเอาเป็นเอาตายกันนักหนาเลย และถ้าเจ้าของสื่อยังคิดว่า ตนเองเลือกข้างอย่างเดียวเลย ไม่เปลี่ยน ไม่ทำอะไรทั้งนั้น จะไปในทิศทางนี้ ผลสุดท้ายความเชื่อมั่น ความศรัทธาจากผู้อ่าน ผู้ชม ก็จะหายไป และจะถูกสังคมลงโทษไปเอง”

ปัจจุบันผู้บริโภคสื่อรู้เท่าทันสื่อมากขึ้น หรืออาจรู้มากกว่าสื่อ และเลือกบริโภคในสิ่งที่เขาอยากจะชม อยากจะเชื่อ และอยากจะฟัง ซึ่งสื่อกระแสหลักจะเสนอข่าวไม่ทันสื่อโซเชียล เพราะสื่อกระแสหลักต้องมีการเตรียมการ ต้องใช้เวลา ขณะที่สื่อโซเชียลสามารถแชร์ข่าวออกไปได้ทันทีและตลอดเวลา โดยไม่มีการจำกัดเงื่อนไขของเวลา ดังนั้น ผู้เสพสื่อต้องระมัดระวัง เพราะความเร็วทำให้เกิดความผิดพลาดได้ นอกจากนี้ ยังมีเฟกนิวส์ และมีไอโอ (Information Operation) ซึ่งก็คือการเผยแพร่ความคิดและความเชื่อของฝ่ายเรา ให้กลุ่มเป้าหมายได้รับทราบ และทำให้เกิดความคิดความเชื่อคล้อยตามความประสงค์ของฝ่ายเรา

สำหรับหลักที่ผู้บริโภคสื่อควรเลือกในการเสพสื่อนั้น นิมิตร กล่าวว่า สำหรับตนเองที่เลือกปฏิบัติอยู่ก็คือ จะอ่านข่าวสารจากหลายๆ สื่อพอสมควร แล้วมาประเมินเองว่า สิ่งที่เราได้อ่าน ได้ชม ได้ทำความเข้าใจนั้นมีเหตุผลหรือไม่ ซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญ เราไม่สามารถใช้อารมณ์ในการตัดสินใจได้ ถ้าตัดสินใจผิดพลาด ก็จะมีผลเสียกับใครคนใดคนหนึ่ง หรืออาจมีผลเสียกับตัวเราเองด้วย เพราะมีกฎหมายบังคับใช้อยู่ และไม่ยุติธรรมกับคนอื่น ถ้าเราไปแสดงความเห็นกับเขาด้วยข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง ดังนั้นคนในสังคมจะต้องมีหน้าที่รับผิดชอบด้วยกัน ในการเสพสื่ออย่างระมัดระวัง

การปฏิบัติตัวของสื่อในสังคมที่มีการแบ่งขั้ว เลือกข้างนั้น เนื่องจากสังคมแบบเลือกขั้ว เลือกข้าง จะไม่มีวันหายไปจากโลก เพราะเจ้าของสื่อก็คือมนุษย์ ผู้เขียน ผู้ผลิตเนื้อหาก็คือมนุษย์ แต่เรามีกฎกติกามารยาทของสังคมที่เราจะต้องปฏิบัติตาม ซึ่งจะสามารถทำได้ระดับหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถทำได้ทั้งหมด เพราะฉะนั้นการอยู่ร่วมกันในบริบทของสังคมไทย จะต้องทำใจทุกอย่าง อย่างที่พระท่านว่า ทุกอย่างเป็นสิ่งสมมติทั้งนั้น อย่าไปยึดติด ทำในสิ่งที่ต้องทำในวันนี้ให้ดีที่สุด ส่วนอนาคตถ้าเราทำวันนี้ให้ดีที่สุดแล้ว มันก็ดูแลอนาคตให้เราเรียบร้อยเอง

บทบาทของสื่อที่ควรจะเป็นในยุคที่มีการแบ่งขั้ว เลือกข้าง ก็คือ สื่อต้องรักษาความยุติธรรมให้ได้ วิพากษ์วิจารณ์อย่างสร้างสรรค์ พยายามอยู่ในกรอบของสังคมให้มากที่สุด ขณะที่ภาพลักษณ์แบรนด์ของสื่อแต่ละสำนักนั้นค่อนข้างชัดเจน สามารถบอกถึงที่มาที่ไปและแนวนโยบายว่าเป็นอย่างไร

แต่สิ่งที่มีความสำคัญเท่าๆ กับหัวของสื่อ หรือเจ้าของค่าย ก็คือ พวกคอลัมนิสต์ เพราะผลงานที่แต่ละคนผลิตชิ้นงานออกมา ไม่ว่าจะเป็นผู้เขียน หรือเป็นผู้ดำเนินรายการ มีคอนเทนต์ที่จะทำให้แฟนๆ ติดตาม แต่ถ้าทำงานออกมาแล้ว ปรากฏว่าภาพไม่เป็นที่ยอมรับของสังคม เนื่องจากไม่ค่อยอยู่กับร่องกับรอย หรือเอนไปทางใดทางหนึ่งอย่างชัดเจน สื่อก็เอน เจ้าของก็เอน คอลัมนิสต์ก็เอน ชุดความคิดออกมาเหมือนกัน ไปในทิศทางเดียวกันแบบนี้ ภาพของสื่อก็จะมีคนชอบเฉพาะพวกเดียวกันเท่านั้น แต่คนอื่นเขาก็คงไม่เห็นด้วย เพราะฉะนั้นภาพลักษณ์สำคัญที่สุด ตราบใดที่สื่อยังสร้างความศรัทธา ความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคสื่อได้ สื่อก็จะสามารถอยู่ได้   @

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *