เลือกเสพสื่ออย่างไร ในยุคสื่อเลือกข้าง!

ในยุคที่สื่อเลือกข้าง ผู้บริโภคจะต้องรู้เท่าทันสื่อ แยกแยะได้ระหว่างรายการข่าว รายการเล่าข่าว รายการวิเคราะห์ข่าว เพราะผู้ประกาศข่าวหรือพิธีกร อาจใส่อคติ หรือ Hate Speech ลงไป ส่วนสื่อจะเป็นกลางหรือไม่ ยังสำคัญไม่เท่าสื่อจะต้องเสนอความเป็นจริงและต้องมีความเป็นธรรม

ดร.สิขเรศ ศิรากานต์ นักวิชาการอิสระด้านสื่อดิจิทัล และสื่อใหม่ กล่าวว่า เวลานี้อยู่ในช่วงเวลาสำคัญของการเปลี่ยนแปลงทางยุคสมัย สื่อเองเป็นส่วนหนึ่งของสังคมก็ถูกกระบวนการดิสรัปชั่น ทั้งในแง่การประกอบกิจการ และในแง่เทคโนโลยี ส่งผลให้สื่อมีวิถีหรือวิธีการทำงานในรูปแบบใหม่ ผนวกกับในรอบปีที่ผ่านมา เรามีเรื่องวิกฤติโควิด-19 ทำให้สื่อและสังคมกำลังจะปรับสู่วิถีใหม่ในการประกอบกิจการ

ดร.สิขเรศ ศิรากานต์

สื่อก็เป็น New Normal ในรอบปีที่ผ่านมา เราจะเห็นผลกระทบในวงกว้างมาก สื่อมีการปิดตัว มีการชะงักในกระบวนการการผลิต หรือมีการเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับแพลตฟอร์มภูมิทัศน์ของสื่อ ตอนนี้เราเข้าสู่ยุค 5จี ซึ่งเรื่องความไว นอกจากจะให้คุณแล้วก็อาจให้โทษเกี่ยวกับการทำงานของสื่อเหมือนกัน เพราะความไวก่อให้เกิดความเสียหายในการกระจายเฟกนิวส์ หรือข้อมูลที่อาจไม่ถูกต้องนัก

สำหรับประเด็นสื่อเลือกข้าง หรือสื่อควรทำหน้าที่ด้วยความเป็นกลางนั้นอาจเป็นข้อถกเถียงที่สังคมต้องช่วยกันตอบ แต่เรื่องความเป็นกลาง ก็ยังสำคัญน้อยกว่าสื่อจะต้องเสนอความจริง และสื่อจะต้องมีความเป็นธรรม ในรอบทศวรรษที่ผ่านมา เราอาจมีการล้ำเส้น โดยใส่อคติในเนื้อของการรายงานข่าวจนมากเกินไป

ผู้ประกาศหรือพิธีกรจะใส่อคติของตัวเองเข้าไป หรือมากไปกว่านั้นก็คือมี Hate Speech (คำพูดที่สร้างความเกลียดชัง) มีการเล่าข่าวเหมือนนิยาย ณ วันนี้ ผู้บริโภคแยกแยะได้หรือไม่ว่ารายการไหนเป็นรายการข่าว วิเคราะห์ข่าว เล่าข่าว หรือกลายเป็นนิยายข่าว ขยี้ข่าว โดยใช้อารมณ์ท่าทางของผู้ประกาศหรือพิธีกรเข้ามาร่วม

“ถามว่าสื่อจะเป็นกลางได้จริงหรือไม่ เป็นคำถามที่สังคมต้องช่วยกันตอบ ขณะเดียวกันสื่อต้องมีความเป็นธรรม ไม่ว่าสื่อหรือโทรทัศน์ช่องนั้นจะนิยม มีความชื่นชอบ มีทัศนคติ มีแนวทาง ปรัชญา อุดมคติอย่างไรก็แล้วแต่ เช่น การเลือกแขกรับเชิญ หรือการเปิดโอกาสให้แขกรับเชิญ หรือแม้การรายงานข่าว ไม่ใช่เบ้ไปทางใดทางหนึ่งในการโจมตีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง แต่ไม่ได้เปิดโอกาสให้อีกฝ่ายหนึ่งมาชี้แจงแถลงไขข้อเท็จจริงเลย เป็นสิ่งที่แสดงออกได้ชัดเจนว่า จริงๆ แล้วความเป็นกลางอาจเป็นข้อถกเถียง แต่ความเป็นธรรม ความยุติธรรม หรือการนำเสนอข้อมูลข้อเท็จจริงเป็นสิ่งที่มีความสำคัญมาก บางทีอาจมากกว่าความเป็นกลางด้วยซ้ำไป”

ดร.สิขเรศ กล่าวว่า สำหรับสื่อที่เลือกข้างอย่างชัดเจนโดยที่ไม่มีความเป็นธรรม ในช่วงนั้นอาจมีรายรับ มีรายได้ มีเรตติ้งดีมาก แต่พอการเมืองพลิกผัน เราจะเห็นสื่อบางสื่อ บางหัว บางแบรนด์ บางช่อง ล้มหายตายจากไป ดังนั้นสื่อจะต้องยืนหยัดในหลักการของสัจนิยม คือ ต้องยืนหยัดในความถูกต้อง ในความเป็นจริง ในความเป็นธรรม มีความเที่ยงตรง และมีความซื่อสัตย์ในวิชาชีพ

อย่างไรก็ตาม เราไม่สามารถบอกได้ว่าสื่อไม่อิงกับทุน เพราะองค์กรของสื่อก็ต้องการทุน แต่เราควรจะรณรงค์ในการทำงานของสื่อ ระหว่างกองบรรณาธิการ กับเจ้าของและนายทุน จะต้องหาจุดที่สมดุล เพื่อให้การปฏิบัติงานของกองบรรณาธิการเป็นอิสระจากกลุ่มทุนและการเมืองได้อย่างไร เราต้องกลับมายืนหยัดบนเส้นทางของตัวเอง บนจรรยาบรรณของตัวเอง มันไม่ใช่เรื่องการต่อสู้หรือไม่ต่อสู้กับระบบทุนนิยม แต่มันเกี่ยวกับการที่เราสมยอมและเรามีศักดิ์ศรีมากพอหรือไม่ในการทำหน้าที่ของเรา

ส่วนการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับเครือเนชั่น เพื่อกลับเข้าสู่“เนชั่นเวย์” นั้น ดร.สิขเรศ กล่าวว่า ถือว่าเป็นการให้สัญญากับประชาชนของกองบรรณาธิการ ผู้บริหาร และผู้บริหารใหม่ของเนชั่น ซึ่งก็ต้องให้กำลังใจ เพราะสิ่งที่ผ่านมาในรอบ 1-2 ปี อย่างที่ บก.พูดเองว่า อาจจะมีบิดเบี้ยวผิดเพี้ยนไปบ้าง ก็ต้องพิสูจน์ตัวเองให้ได้ ว่าจะกลับมาในวิถีการรายงานข่าวอย่างเที่ยงตรง ปราศจากอคติได้อย่างไร

“อย่างแรกคือ ตัวบุคลากรด้วยตั้งแต่ผู้บริหาร กองบรรณาธิการ ผู้ประกาศ และพิธีกรบุคคล ต้องกลับมายึดเนชั่นเวย์ ต้องลดการแสดงอคติ หรือลด Hate Speech ลง อย่างที่สอง เนชั่นที่เป็นต้นแบบของรายการเล่าข่าว ต้องกลับมายืนในมุมมองของตัวเอง คือสามารถอธิบายข่าวให้ประชาชนได้สนใจและเข้าใจข่าวได้อย่างรวดเร็ว ง่ายดาย ปราศจากอคติได้ และต้องกลับมาทำ Investigative reporting การรายงานข่าวเชิงสืบสวนและเจาะลึก ที่ขาดหายไปนาน และเป็น Backbone เป็นกระดูกสันหลังของเนชั่นที่องอาจและยืนยงมาได้ 50 ปีนี้”

สำหรับการเสพสื่อของผู้บริโภคในยุคนี้ ดร.สิขเรศ กล่าวว่า ผู้บริโภคจะต้องรู้เท่าทันสื่อ หรือรู้เท่าทันเกี่ยวกับการใช้สื่อ ในระยะเวลาประมาณ 10 ปีที่ผ่านมา เราสามารถแยกได้แล้วว่าแหล่งข่าวสารใดเสนอข่าวโดยปราศจากอคติ เป็นแหล่งที่น่าเชื่อถือ หรือข้อมูลข่าวสารที่มาจากเพจนี้ หรือไลน์กรุ๊ปนี้ไม่สามารถเชื่อถือได้ ซึ่งการใช้วิจารณญาณตรงนี้เป็นการเสริมศักยภาพทักษะดิจิทัลของเราด้วยเหมือนกัน

ส่วนผู้ผลิตข่าว หรือนักสื่อสารก็ต้องระมัดระวัง ไม่ทำผิดกฎหมาย ไม่ก่อให้เกิดความไม่สงบสันติขึ้นมาในสังคม ตรงนี้เป็นปรากฏการณ์ที่สังคมต้องเรียนรู้ เพราะตอนนี้เกิดปรากฏการณ์ Echo Chamber คือ เราเลือกรับข้อมูลข่าวสารเฉพาะหัวข้อ หรือสื่อ หรือค่ายที่เราสนใจจนมากเกินไป และไม่เปิดรับฝั่งตรงข้ามเลย เราจะเห็นในไทม์ไลน์ของเรา ที่เราเป็นคนเลือกก่อน แล้วระบบคอมพิวเตอร์ หรือเอไอ หรือ อัลกอริทึ่มในโซเชียลมีเดีย ก็จะคัดสรรเฉพาะมุมมองนั้นๆ หรือหัวข้อนั้นๆ มาให้เรา ดังนั้นเป็นข้อพึงระมัดระวังในโลกดิจิทัล   @

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *