สื่อสารอย่างไร?..ช่วยลดความขัดแย้ง!!

การสื่อสารเพื่อลดความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในบ้านเรา ไม่เฉพาะสื่อมวลชนเท่านั้น แต่ทุกคนจะต้องช่วยกัน จะต้องมีสำนึก ไม่นำเสนอในสิ่งที่จะเพิ่มความขัดแย้ง หรือสร้างความเกลียดชัง หรือถ้ามีสารเหล่านี้มา ก็ไม่ควรจะรับ และไม่ควรเชื่อ

เปรมศิริ ดิลกปรีชากุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท สยามพีอาร์ คอนซัลแทนท์ จำกัด กล่าวว่า การสื่อสารในสถานการณ์ที่มีความขัดแย้งในบ้านเรา ทุกคนต้องช่วยกันไม่ว่าจะเป็นสื่อมวลชน ผู้บริหาร หรือประชาชนคนทั่วไป เพื่อช่วยประคับประคองสถานการณ์บ้านเราไปให้ได้

เปรมศิริ ดิลกปรีชากุล

โดยดูจากกรณีศึกษาการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ ระหว่างการนับคะแนน ซึ่งคะแนนทั้งฝ่ายรีพับลิกันและเดโมแครตออกมาค่อนข้างสูสีมาก แต่อยู่ดีๆ ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ก็ออกมาประกาศเรียกร้องหรือปลุกระดมให้ผู้สนับสนุนมาร่วมกันเรียกร้องทวงคืนชัยชนะ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นและน่าชื่นชมมากคือสื่อมวลชนที่เคยแบ่งเป็นสองฝ่าย ทั้งซีเอ็นเอ็นกับฟ็อกซ์นิวส์ รวมถึงสำนักข่าวอื่นๆ ได้ตัดสิ่งที่ประธานาธิบดีพูดออกไป เพราะมองว่าเป็นอันตรายต่อประเทศชาติ

แพลตฟอร์มทั้งทวิตเตอร์ เฟซบุ๊ก พยายามที่จะยับยั้งไม่ให้สิ่งที่ประธานาธิบดีพูดเผยแพร่ออกไปมากกว่านั้น เพื่อไม่ให้เกิดการปลุกระดมขึ้นมา จะเห็นว่าสื่อสารมวลชนได้ทำหน้าที่ของเขาอย่างเต็มที่ และแม้แต่ผู้ว่าการรัฐในสวิงสเตท และเป็นฝ่ายรีพับลิกัน ก็ยังออกมาแตะเบรคว่า การนับคะแนนทั้งหมดทำด้วยความโปร่งใส เป็นธรรม และยืนยันว่าไม่มีเหตุการณ์ใดๆ ที่จะไปสร้างความปลุกปั่นหรือไปสร้างความไม่ชอบธรรมขึ้นมา

รวมถึงฝ่ายคู่แข่งอย่าง โจ ไบเดน ก็ไม่ได้ออกมาโวยวาย กลับประคับประคองสถานการณ์ว่า ขอให้ฝ่ายเดโมแครตอย่าเพิ่งตื่นตระหนกใดๆ ทั้งสิ้น ให้รับฟังอย่างอดทน เราต้องรอนับคะแนนไปจนถึงคะแนนสุดท้าย อาจจะใช้เวลานาน หรือแม้แต่ศาลสูงก็ออกมาแสดงท่าทีทันที ตามที่มีการขอให้ทบทวนเรื่องการนับคะแนน ขอให้ยุติการนับคะแนน ว่าสิ่งไหนที่ทำได้หรือทำไม่ได้ หรือถ้าอยากจะให้มีพยานเข้าไปดูแลการนับคะแนนของแต่ละรัฐ เขาก็จะปล่อย เราจะเห็นว่าทุกๆ ฝ่าย พยายามที่จะแตะเบรคเพื่อลดปัญหาไม่ให้บ้านเมืองเกิดความวุ่นวาย

ซึ่งถือเป็นกรณีศึกษาที่น่าชื่นชมมาก ที่ทุกๆ ฝ่ายพยายามที่จะพูดคุยแล้วใช้การสื่อสารสร้างความเข้าใจ เพราะรู้ว่าตรงจุดนั้นเป็นจุดที่เปราะบางมาก ที่แต่ละฝ่ายก็อยากได้ชัยชนะ ถ้าเรามีการสื่อสารที่ใส่ไฟลงไป โอกาสที่จะทำให้สถานการณ์ย่ำแย่ก็เกิดขึ้นได้

วันนี้ อยากให้บ้านเราศึกษากรณีของสหรัฐเป็นแบบอย่าง ไม่เฉพาะสื่อมวลชนเท่านั้น เพราะในทุกๆ ส่วนที่มีความเกี่ยวข้อง ทุกคนต้องร่วมกันแสดงบทบาทที่จะลดความขัดแย้ง เราต้องช่วยกันในการสื่อสารที่จะไม่สุมไฟลงไป ซึ่งไม่ใช่แค่สื่อสารมวลชนเท่านั้น แม้แต่ประชาชนคนทั่วไปก็มีโอกาสที่จะช่วยทำการสื่อสาร เพราะ ณ วันนี้ แพลตฟอร์มของโซเชียลมีเดีย เราทุกคนเป็นนักข่าวพลเมืองอยู่แล้ว

เราได้รับข้อมูลข่าวสารอะไรมา ก็จำเป็นต้องมีการกลั่นกรอง และสิ่งที่เราจะปล่อยออกไป หรือสื่อสารออกไปนั้น จะไปสร้างความขัดแย้งเพิ่มขึ้นหรือไม่ จะไปตอกย้ำให้เกิดความเกลียดชังเพิ่มขึ้นหรือไม่ ตรงนี้เป็นบทบาทภาระหน้าที่ของคนไทยทุกคนที่ต้องช่วยกันสื่อสารอย่างไร ให้เห็นว่าเราคือคนชาติเดียวกัน ทำไมเราไม่มาคุยกัน ดีกว่าที่เราจะปล่อยให้ความขัดแย้งมันแตกออกไปแบบนี้

เปรมศิริ กล่าวว่า สำหรับสื่อมวลชนเอง เมื่อถึงจุดๆ หนึ่ง ก็อยากให้สื่อมีสำนึกว่าสิ่งที่เรานำเสนอออกไปแล้ว ผลลัพธ์มันคืออะไร มากกว่าที่จะคุยกันว่าสื่อจะเป็นกลาง หรือจะเลือกข้างหรือไม่เลือกข้าง ตอนนี้สำนึกสำคัญที่สุดคือสำนึกสำหรับบ้านเมือง วันนี้ เราเพียงต้องการสำนึกของสื่อมวลชนในทุกๆ แพลตฟอร์ม ในทุกๆ ช่องทาง ได้เห็นว่าสิ่งที่นำเสนอเป็นข้อเท็จจริง อย่าเป็นเรื่องที่ปลุกปั่น อย่าเป็นเรื่องที่จะใส่ไฟ หรือถ้าเป็นเรื่องจริง อาจมีบางส่วนหรือไม่ที่เราจะทำให้เกิดความเข้าใจหรือเกิดความกระจ่างในสถานการณ์นั้นๆ

ที่สำคัญที่สุดบทบาทของสื่อไม่ต้องไปทะเลาะกันเรื่องความเป็นกลาง แต่สิ่งที่ควรต้องนำเสนอคือคำว่า”รอบด้าน” การนำเสนอต้องมีความสมดุล คือ เราจะไม่นำเสนอฝ่ายใดฝ่ายเดียว ต้องนำเสนอทั้งสองด้าน อันนี้เป็นสิ่งที่ปลอดภัยที่สุดสำหรับสื่อ แล้วก็เป็นจุดเดียวที่น่าจะเรียกว่ามั่นคงที่สุดสำหรับสื่อมวลชนในภาวะการณ์เช่นนี้

ส่วนสื่อโซเชียลมีเดีย เท่าที่เข้าไปคลุกคลีในโลกโซเชียล พบว่า 80-90% คนรับสารแล้วก็คนส่งสารจะรู้เท่าทันว่าเกิดอะไรขึ้น แล้วที่ดูเหมือนว่ามีความขัดแย้ง ความจริงแล้วเป็นภาพที่ถูกสร้างขึ้นมาที่ทำให้เห็นว่ามันมีความขัดแย้ง แต่โดยข้อเท็จจริงแล้วแทบจะไม่มี หรือถ้ามีก็มีน้อยมาก อาจเป็นประเด็นบางอย่างที่อ่อนไหว ก็เป็นสิ่งที่หลายๆ ฝ่ายพยายามที่จะพูดในวงที่จำกัด

สำหรับการสื่อสารที่จะช่วยลดปัญหาความขัดแย้งในสังคม เปรมศิริ กล่าวว่า อยากให้มองว่าภาระหน้าที่ของการสื่อสารเป็นของพวกเราทุกคน ไม่ใช่เฉพาะรัฐบาลหรือสื่อสารมวลชนเท่านั้น เราก็มีส่วนที่จะทำให้ความขัดแย้งเพิ่มมากขึ้น หรือช่วยลดความขัดแย้งให้ลดน้อยลง หรือเราจะเข้าไปมีบทบาทที่ช่วยกันประคับประคองสถานการณ์ สำคัญที่สุดคือสำนึกของพวกเราทุกคน สำนึกของสื่อมวลชน สำนึกของรัฐบาล สำนึกของประชาชนทุกคนว่า เราทุกคนก็อยู่เพื่อบ้านเมือง ทำเพื่อชาติบ้านเมืองของเรา

เราจำเป็นที่จะต้องคำนึงว่าเราควรจะนำเสนอ หรือรับสารอย่างไร การนำเสนอก็คือนำเสนอในสิ่งที่เราคิดว่าเป็นประโยชน์ ไม่ทำร้ายใคร ไม่ยุยงใคร ไม่สร้างความเกลียดชังให้ใคร หรือถ้าเราเป็นผู้รับสาร เมื่อมีสารเหล่านี้มา เราก็ไม่ควรที่จะรับ และไม่ควรที่จะเชื่อสารที่มาตอกย้ำให้เกิดความขัดแย้งหรือตอกย้ำให้เกิดความเกลียดชัง เราต้องปฏิเสธสารเหล่านั้นไปอย่างสิ้นเชิง แล้วทำในเชิงบวก เพราะความคิดเห็นสามารถแตกต่างกันได้ แต่เราก็อยู่ร่วมกันได้ ดังนั้น การสื่อสารเพื่อแลกเปลี่ยนกัน เพื่อทำความเข้าใจต่อกัน น่าจะเป็นประเด็นหลักที่พวกเราจะช่วยกันประคับประคองสถานการณ์ได้   @

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *