บทบาทใหม่ สสว. ปั้น SME เติบโตด้วย “ดาต้า&เทคโนโลยี”

 สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม(สสว.) มีหน้าที่พัฒนาให้เอสเอ็มอีแข็งแรงและมีประสิทธิภาพ โดยนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้ามาใช้ และสิ่งที่จะพัฒนาเอสเอ็มอีให้แข็งแรงคืออยู่ได้อย่างยั่งยืน ก็ต้องช่วยเหลือให้สามารถเข้าถึงแหล่งทุน พร้อมทั้งให้มีความพร้อมในการแข่งขันกับธุรกิจได้ด้วย ดังนั้นการพัฒนาสภาพแวดล้อม หรือส่งเสริมเอสเอ็มอีในสิ่งที่ทำอยู่จึงเป็นเรื่องที่สำคัญมาก

ยุคหน้าเป็นยุคที่ต้องขับเคลื่อนด้วยดิจิทัล หรือที่เรียกว่าเทคโนโลยี สิ่งหนึ่งที่เทคโนโลยีนำมาใช้มากและเป็นประโยชน์ก็คือเรื่องของข้อมูล (Data) ที่จะทำให้ข้อมูลเหล่านี้เป็นประโยชน์ในการดำเนินธุรกิจที่จะบ่งบอกว่าเราเป็นตัวจริง ทำจริง มีความสามารถ มีความพึงพอใจ มีความสามารถในการแข่งขันที่ลูกค้าชื่นชอบและยินดี

ดังนั้น ต้องสามารถใช้ข้อมูลในเรื่องของช่องทางใหม่ เพราะการค้าขายของคนรุ่นใหม่วันนี้ต้องไปผ่านการค้าออนไลน์ หรือดิจิทัล หรือช่องทางที่หลากหลาย มีการชำระเงิน มีการส่งของ หรือรับของที่กระจายอย่างทั่วถึง ซึ่งเห็นได้ชัดเจนว่ามีอัตราการเติบโตเฉลี่ยจากต้นปีที่ผ่านมา จนถึง 9 เดือนนี้ โตถึง 78% โดยเฉลี่ย ซึ่งอะไรที่โตเกิน 72% ก็เท่ากับว่าโตเท่ากับหนึ่งเท่าตัว

“ของที่ส่งผ่านธุรกิจใหม่ แต่ก่อนหลักแสนต่อวัน เดี๋ยวนี้เดือนล่าสุด เฉลี่ยแล้วตก 4 ล้านชิ้นต่อวัน จะเห็นเลยว่าทั้งสิ่งของทั้งอาหารการกิน จะผ่านช่องทางที่หลากหลายทางออนไลน์ เชื่อมโยงการชำระเงินแล้วก็ส่งของด้วย สสว.จึงต้องปรับตัว เพื่อดึงคนต่างๆ ให้จูงใจปรับเปลี่ยนเรื่องนี้ด้วย คือการเข้าสู่บริการของ สสว.ที่ต้องทำเรื่องนี้เพื่อรองรับธุรกิจใหม่ หรือช่องทางใหม่ หรือการชำระเงินใหม่ หรือการส่งของต่างๆ แล้วเอาข้อมูลนี้มาแสดงว่าเราเป็นตัวจริง ทำจริง แล้วก็มีความสามารถ เป็นที่พึงพอใจของลูกค้ามากน้อยแค่ไหนที่ทำให้เกิดความน่าเชื่อถือในการให้สินเชื่อหรือเข้าถึงสินเชื่อ”

นอกจากนี้ เทคโนโลยีต่างๆ ก็มีการเปลี่ยนแปลง มีเครื่องมือใหม่ๆ เกิดขึ้นเยอะ สสว.จึงต้องทำให้ผู้ประกอบการทั้งหลายเข้าใจ เข้าถึง แล้วทำให้เกิดประโยชน์ และทำจริงได้ด้วย เป็นเรื่องที่ สสว.กำลังเปลี่ยนแปลงใหม่ ซึ่งจุดที่เปลี่ยนแปลงครั้งแรก ก็ต้องให้เอสเอ็มอีทั้งหลายแสดงตนเข้ามาใน สสว. เพื่อ สสว.จะชักจูงผู้ประกอบการทั้งหลายเข้าไปหาลูกค้า พร้อมกับรับแรงสะท้อนกลับในเรื่องความพึงพอใจมากน้อยแค่ไหน

แล้วสิ่งหนึ่งที่เห็นได้ชัดเลยว่าการปรับปรุงตัวผลิตภัณฑ์ หรือตัวหีบห่อ ให้ได้มาตรฐานก็ต้องทำพร้อมๆ กันไปด้วย ซึ่งเป็นสิ่งที่ สสว.ต้องสร้างสภาพแวดล้อมให้คนต้นทุนไม่แพงในการเปลี่ยนแปลงเรื่องนี้ เพราะบางคนไม่รู้ว่าจะเริ่มที่ไหน จะเริ่มอย่างไร จึงเป็นเรื่องที่ สสว.พยายามให้คนเข้าใจและเข้าถึงได้

สมัยก่อนการที่จะบอกว่าเราเป็นตัวจริง ทำธุรกิจจริง ก็คือต้องเปิดร้าน เปิดแผงในตลาด เปิดร้านค้าที่ถนนใหญ่ แต่วันนี้ไม่ใช่แล้ว เพราะเราสามารถเข้าถึง Google My Business ที่สามารถลงทะเบียนตัวตนของเราเข้าไปได้ แล้วไม่ได้เกี่ยวข้องกับฐานภาษีด้วย

เห็นได้ชัดเจนว่าเมื่อรัฐบาลทำโครงการคนละครึ่ง ร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการจะได้รับประโยชน์ หรือได้รับอานิสงส์สูงมาก ยอดขายรวมหลายหมื่นล้านบาทแล้ว ส่วนใครที่ไม่ลงทะเบียนร่วมโครงการก็ไม่ได้ประโยชน์จากเรื่องนี้ เมื่อทุกคนทำตัวตนตรงนี้ให้เกิดขึ้นแล้วก็สามารถเข้าระบบ แล้วใช้แรงจูงใจจากภาครัฐมาจับจ่ายใช้สอย ก็จะได้ประโยชน์หรือได้อานิสงส์มาก

สิ่งหนึ่งที่จะทำให้เอสเอ็มอีที่เราพัฒนาให้ยั่งยืน คือแข็งแรง มีประสิทธิภาพ คือการทำอย่างไรให้เอสเอ็มอีมีกำไรเพิ่มขึ้น หรือมีกำไรเป็นทวีคูณ สามารถขายของจากต้นทุนได้หลายเท่าตัว ก็คือการแปรรูป หรือเพิ่มมูลค่าของการดำเนินการเรื่องพวกนี้ บ้านเรามีสิ่งที่ได้เปรียบก็คือเรื่องเกษตรกรรม แต่เรามีธุรกิจที่เอสเอ็มอีที่แปรรูปเพิ่มมูลค่าเพียง 5% เท่านั้น นับเป็นครั้งแรกที่วันนี้ สสว. เอาภาคเกษตรมารวมอยู่ในเอสเอ็มอีด้วย

“เราอยากจะชูคนที่รายได้ไม่เกิน 1.8 ล้านต่อปี ก็คือเดือนหนึ่งประมาณ 150,000 บาท สามารถอยู่รอดต่อได้ เพราะจะเป็นคนที่อ่อนแอ ถ้าไม่ปรับเปลี่ยน สินค้าต่างๆ ที่เราจะขายก็อาจไม่มีคนซื้อ เพราะปัจจุบันร้านค้าที่เปิดขายข้างถนนก็ขายยากเย็น ลูกค้าก็น้อยลงไปทุกที เปรียบเทียบกับการขายผ่านทางออนไลน์ที่เติบโตสูงอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน ปีหนึ่งเติบโตประมาณหนึ่งเท่าตัว ยิ่งช่วงโควิด-19 ก็เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของคนไปสู่ทางด้านการใช้ช่องทางที่หลากหลายผ่านสื่อออนไลน์”

การเติบโตตรงนี้จะมีส่วนช่วยทำให้เกิด Positive Record คือ อะไรที่ขายของได้ อะไรที่มีกำไรมาก อะไรที่ทำให้รายจ่ายเราลดลง หรือมีกำไรมากขึ้น แล้วมีการเคารพต่อการทำหน้าที่พลเมืองที่ดี ก็คือเสียภาษีให้แก่รัฐ ทั้งภาษีมูลค่าเพิ่ม และภาษีกลางปี สิ่งเหล่านี้จะไปปรากฏในรายงานว่ากิจการเรามีผลการดำเนินงานเป็นอย่างไร โดยที่ไม่จำเป็นต้องทำบัญชีโดยตรง สามารถนำกลไกหรือที่เรียกว่าธุรกรรมต่างๆ ที่เกิดขึ้นในแพลตฟอร์มทางออนไลน์ที่เราใช้อยู่ได้ ทั้งหมดนี้ก็ชัดเจนว่ามันมีประโยชน์ แล้วเกิดมูลค่าเพิ่มอย่างมหาศาล

ส่วนการแสดงตนของเอสเอ็มอีต่อ สสว. ที่อาจมีการเก็บข้อมูลบางส่วน ก็ขอให้ผู้ประกอบการสบายใจได้ เพราะลักษณะจะคล้ายคลึงกับตอนที่ลงทะเบียนโครงการคนละครึ่ง หรือโครงการเราเที่ยวด้วยกัน ทำให้การเข้าถึง เข้าใจไม่ยุ่งยาก แล้วใช้กลไกของกระทรวงการคลัง กรมบัญชีกลาง ซึ่งเป็นเจ้าของระบบนี้มาช่วยเป็นแกนในการสร้างสภาพแวดล้อมในการทำงานต่อไป ถ้าหลายคนพอจะเข้าใจในเรื่องนี้แล้ว เรื่องถัดจากนี้ไปก็ไม่ยุ่งยาก ส่วนหลายคนที่ไม่คุ้นเคยกับการใช้ช่องทางนี้ก็สามารถใช้ช่องทางปกติได้ แต่อาจใช้เวลาค่อนข้างนาน ซึ่งทุกธนาคารของรัฐก็พยายามเร่งรีบที่จะคืนการดำเนินงานที่มีประสิทธิภาพให้กับท้องถิ่นต่างๆ   @

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *