ธุรกิจจะรับมือกับ “ความวิตกกังวล” ช่วงโควิดระบาดได้อย่างไร?

 ปกติช่วงนี้จะเป็นฤดูกาลท่องเที่ยวในภาคเหนือ แต่ข่าวการพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่ลักลอบข้ามมาจากประเทศเพื่อนบ้าน ทำให้การท่องเที่ยวของ จ.เชียงราย และ จ.เชียงใหม่ ได้รับผลกระทบ การจองที่พัก จองเที่ยวบิน หรือสิ่งที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวต่างๆ ถูกยกเลิกไปจำนวนมาก ซึ่งเรื่องนี้จะต้องมีการกำกับดูแลและควบคุมอยู่ตลอด ที่ผ่านมา แผนการเผชิญเหตุของประเทศไทยเป็นแผนที่ได้รับความน่าเชื่อถือ และเชื่อมั่นว่าน่าจะควบคุมได้

เมื่อดูจากสถิติผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุรถยนต์บนท้องถนนในประเทศไทยโดยเฉลี่ยวันละ 58 คน แต่ในช่วงที่ผ่านมา 9-10 เดือน มีผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 ประมาณ 60 คน ดังนั้น ขอให้ผู้บริโภคเข้าใจเหตุการณ์ว่าเป็นเรื่องของการ
เปลี่ยนแปลงผันผวนที่มีความซับซ้อน มีความไม่แน่นอนในอนาคตข้างหน้าสูง และมองคาดการณ์ได้ยาก

ส่วนผู้ประกอบการทั้งหลายก็ให้ตระหนักในเรื่องนี้ แต่อย่าตื่นตระหนก เพราะรัฐบาลมีแผนในการกำกับดูแลอยู่แล้ว วันนี้ ตนเองเดินทางไปที่เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี เห็นการทำงานของ อสม. มีการดูแลตรวจสอบอย่างดีและทั่วถึง อีกทั้งเป็นเรื่องธรรมดาที่มีการสัมผัสติดเชื้อ เพราะชายแดนระหว่างประเทศเพื่อนบ้านเรายาวเป็นพันกิโลเมตร ดังนั้น เราก็ต้องดูแล

นอกจากนี้ ก็มีข่าวดีที่คนในกลุ่มเสี่ยงประมาณพันกว่าคน หลังจากผ่านการทดสอบ ปรากฏว่าส่วนใหญ่ 99% ไม่พบเชื้อไวรัส ดังนั้นอยากให้ผู้ประกอบการได้เตรียมการไว้ เพราะอีกสักพักเมื่อความเชื่อมั่นกลับคืนมา คนไทยก็จะกลับมาท่องเที่ยวเหมือนเดิม

โลกธุรกิจวันนี้ได้เปลี่ยนไปสู่เทคโนโลยีใหม่ ช่องทางใหม่ที่เรียกว่าออนไลน์หรือดิจิทัล แต่ยังมีคนไทยน้อยมากที่มีความพร้อมแล้วลงมือทำจริงจัง ดังนั้นผู้ประกอบการควรจะลงมือทำเลยในส่วนของช่องทางการจำหน่ายผ่านทางออนไลน์ เพราะโครงสร้างพื้นฐานในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการชำระเงิน และโลจิสติกส์ในบ้านเรานั้น มีความง่ายดายและสะดวกสบาย

จะเห็นว่าปริมาณการโอนเงินต่างๆ ของวันที่ 30 พ.ย.ที่ผ่านมา โตขึ้นถึง 20% มีผลทำให้ปริมาณการทำธุรกรรมสูงมาก ถือว่าเป็นข่าวดีท่ามกลางข่าวร้ายหลายๆ อย่าง แสดงว่าคนเริ่มหันมาสนใจ โดยเฉพาะใช้โครงการคนละครึ่ง ทำให้ปริมาณการชำระเงินตรงนี้สูงขึ้นมาผิดปกติ แล้วรัฐบาลจะทำโครงการนี้ต่อไปอีกหลายเดือน ซึ่งมาตรการลักษณะนี้รัฐบาลยังทำต่อไป อาจไม่เกี่ยวกับการบริโภคก็ได้ แต่อาจเกี่ยวกับการส่งเสริมให้เกิดการลงทุนหรือการใช้จ่ายต่างๆ เกิดขึ้น

โลกใบนี้เปลี่ยนมาในทิศทางเรื่องของอีคอมเมิร์ซ อีเพย์เมนต์ อีโลจิสติกส์ ด้วยค่าใช้จ่ายที่ไม่แพง ในเวลาที่เชื่อถือได้ จึงเป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการจะต้องปรับตัวและลงมือทำ ซึ่งทำตอนนี้ยังไม่สาย เพราะหลายแห่งก็เพิ่งเริ่มต้น ส่วนใหญ่คนที่ทำลักษณะนี้จะโตแบบคูณร้อยเลย เริ่มต้นจากหลักหมื่นบาท อาจโตเป็นเงินแสนเงินล้านให้เห็นได้

ดังนั้น วันนี้อยากให้ผู้ประกอบการเดินหน้าใช้ช่องทางนี้ ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะกระทบกับ 3 เรื่องใหญ่ๆ เรื่องแรก คือ โครงสร้างราคา ปัจจุบันสิ่งที่คนต้องการเหมือนกันคือใช้ของราคาไม่แพง และเกิดประโยชน์ สินค้าที่เคยขายสมัยก่อน ต้องมีการพัฒนาเรื่องตัวหีบห่อ มีการดีไซน์ใหม่ บวกกับคุณภาพของตัวผลิตภัณฑ์ เพราะการขายผ่านออนไลน์นั้นหัวใจสำคัญคือต้องเชื่อถือได้ และต้องมีคุณภาพที่รับประกันต่างๆ ให้ลูกค้า

แต่สำคัญที่สุดคือโครงสร้างราคา ถ้าขายผ่านออนไลน์ ต้องราคาไม่แพง สินค้าเหล่านี้จึงต้องมีการออกแบบโครงสร้างราคาต้นทุนกับการดำเนินงานที่ดี เพราะคนที่ซื้อผ่านออนไลน์ ก็หวังซื้อของในราคาถูก และสามารถได้ของในเวลาที่ต้องการคืออยากได้ทันที

ผู้ประกอบการจึงต้องให้ความสนใจในการทบทวนราคาใหม่ ต้องรู้จักการตั้งราคา และต้องรู้จักตั้งตัวผลิตภัณฑ์ส่วนเพิ่มหรือควบคู่ได้ เช่น ทำข้าวกล่องกระเพราไก่ไข่ดาว แล้วมีของหวาน มีผลไม้ประกอบ ขายเป็นเซ็ตหรือแยกส่วน ที่สำคัญคือราคาต้องไม่แพง ซึ่งการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้คนที่จะประสบความสำเร็จแบบคูณร้อยได้ เติบโตได้มาจากการกำหนดที่เรียกว่า Design, Certified แล้วก็ Online

ทั้งนี้ สิ่งสำคัญมากที่สุดคือเรื่องของประสิทธิภาพ และความสามารถในการแข่งขัน ถ้าเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกสอง ก็จะเป็นแรงกดดันให้ผู้ประกอบการต้องเปลี่ยนแปลง ต้องหาวิธี ต้องสร้างผลิตภัณฑ์หรือช่องทางที่ทำให้เรามีความสามารถในการแข่งขัน ซึ่งขอแนะนำว่าให้เริ่มต้นจากปัจจัยสี่ เพราะเป็นสิ่งจำเป็นจริงๆ โดยเฉพาะอะไรที่เกี่ยวข้องกับอาหาร ถ้าทำได้ก็จะมีประโยชน์มาก

ดังนั้น อยากให้ผู้ประกอบการทุกคนทบทวนตัวเอง แล้วทำในสิ่งที่ตัวเองถนัด หรือมีความสามารถในการแข่งขัน หมายถึงต้องมีกำไรขั้นต้นมากกว่า 20% เช่น ถ้าราคาขายสินค้า 100 บาท เอสเอ็มอีต้องทำให้ได้ต้นทุนไม่น้อยกว่า 40 บาท ส่วน 60 บาท เป็นส่วนกำไรขั้นต้น ที่เอามาชดเชยให้เรื่องการตลาด เรื่องค่าใช้จ่ายดำเนินงาน ดอกเบี้ยของธนาคาร รวมถึงเงินปันผลให้ผู้ลงทุนต่างๆ   @

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *