แม้ “เยเมน” เกิดสงครามกลางเมืองมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะ 4 ปีหลัง ลุกลามกลายเป็นวิกฤติมนุษยธรรมที่ร้ายแรง แต่แทบไม่ได้รับความสนใจมากนักจากประชาคมโลก
อาจเป็นเพราะว่าเยเมนเป็นประเทศเล็กๆ และยากจนที่สุดในโลกอาหรับ การสู้รบที่เป็นไปอย่างดุเดือดในรูปแบบสงครามตัวแทนมาหลายปี สร้างความเสียหายรุนแรงต่อชีวิตและทรัพย์สิน และก็ทำให้ชื่อของท่าเรือ Mocha port ปรากฎขึ้นอีกครั้ง เนื่องจากเป็นหนึ่งในพื้นที่โดนโจมตีทิ้งระเบิด
เยเมน หนึ่งในดินแดนอู่อารยธรรมโลก ตั้งอยู่ทางตอนล่างสุดของคาบสมุทรอาระเบีย ขนานแนวชายฝั่งทะเล 2 ด้าน ด้านใต้ติดทะเลทะเลอาหรับ ด้านตะวันตกติดทะเลแดง มีความสำคัญทางยุทธศาสตร์มาตั้งแต่อดีตกาลจนถึงปัจจุบัน
พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นทะเลทรายและภูเขา แห้งแล้งและขาดฝน แต่ทางเทือกเขาทางตะวันตกของเยเมน สภาพดินก็ยังพอที่จะทำการเกษตรได้ แน่นอนว่า…รวมถึง ต้นกาแฟ ด้วย ซึ่งเอาเข้าจริงๆ เยเมนนี่แหละ เป็นดินแดนแรกของโลกที่ปลูกกาแฟและส่งขายเป็นสินค้ามาตั้งแต่ศตวรรษที่ 15 และจะส่งออกเฉพาะกาแฟที่คั่วไฟแล้วเท่านั้น เพื่อป้องกันการนำไปเพาะปลูกนอกโลกอาหรับ
ต้นกาแฟในเยเมนเติบโตแบบขั้นบันไดบนเทือกเขาสูง พื้นที่ปลูกเป็นเชิงชั้นลดหลั่นกันลงมา เหมือนแปลงนาข้าวแถบอินโดจีนและไร่องุ่นในยุโรป เนื่องจากขาดแคลนน้ำ จึงต้องพึ่งพาระบบชลประทานภูเขา ต่อเติมลำรางหินธรรมชาติ ลำเลียงน้ำจากบ่อบาดาลมาใช้
ด้วยพื้นที่ปลูกกาแฟมีเพียง 3% จากพื้นที่ทั้งหมด ทำให้ผลผลิตที่เก็บเกี่ยวได้ ไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาด ราคากาแฟที่นี่จึงค่อนข้าง “สูง” และหาดื่มคอนข้าง “ยาก”
เนื่องจากสภาพพื้นที่ปลูกมีความแห้งแล้ง ต่างไปจากกาแฟในพื้นที่อื่นๆทั่วโลกที่อยู่ในเขตอากาศเย็นและมีความชื้นสูง นี่อาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เยเมนมีกาแฟสายพันธุ์พื้นเมืองเป็นจำนวนมาก มีความ ซับซ้อน แตกต่าง หลากหลาย ทั้งกลิ่นและรสชาติ
กูรูกาแฟบางรายบอกว่า ความหลากหลาย คือ จุดเด่น มีเอกลักษณ์ไม่เหมือนแหล่งกาแฟที่ไหน ขณะที่บางรายมองว่า ความหลากหลาย ทำให้ขาดตัวตน ต้องคัดกรองแยกแยะ เพราะคุณภาพไม่คงที่
อย่างไรก็ดี “ช่วงเวลา” จดจำเพียงชั่วคืน แต่ “ตำนาน” จดจำตลอดไป … เมื่อ 500-600 ปีก่อน เมล็ดกาแฟจากทวีปแอฟริกาและจากเยเมนเอง ค้าขายกันผ่านทาง ท่าเรือ Mocha (รู้จักกันในภาษาอาราบิกว่า “Al-Makha”) เมืองท่าบนชายฝั่งทะเลแดงของเยเมน ถือเป็นศูนย์กลางตลาดค้ากาแฟที่สำคัญ ในช่วงศตวรรษที่ 15 – 18
ชาติมหาอำนาจสมัยนั้นอย่าง อังกฤษ, ดัตช์ และโปรตุเกส ล้วนส่งกองเรือมาทำการค้าขายแลกเปลี่ยนสินค้าที่นี่ ส่วนใหญ่มุ่งหวังอยากได้เมล็ดพันธุ์กาแฟ เพื่อนำไปปลูกเป็นพืชเศรษฐกิจยังอาณานิคมที่กระจายอยู่ทั่วโลก แน่นอนว่าเป็นเมล็ดกาแฟสายพันธุ์ อาราบิก้า ชั้นดี
ชาวกรีกและชาวโรมัน เรียกดินแดนทางตอนใต้ของอาระเบีย ว่า “Arabia Felix” หรือ “อาหรับหรรษา” หมายถึงดินแดนที่มีสีเขียวมากกว่าพื้นที่อื่นใดในคาบสมุทรอาระเบีย มีฝนตกมากกว่า ดินดีกว่า มีแม่น้ำไหลผ่าน ทำการเกษตรได้บนพื้นที่สูงหรือที่ลาดเชิงเขา ….จากคำเรียกขานนี้เอง เป็นที่มาของชื่อที่ถูกใช้กันแพร่หลายมาจนถึงปัจจุบัน นั่นคือ “Coffee Arabica”
ว่าก็ว่าเถอะ สายพันธุ์กาแฟที่แพร่ออกไปตามแหล่งเพาะปลูกทั่วโลกนั้น ไม่ว่าจะเป็นทวีปเอเชีย ทวีปอเมริกา หรือกลางมหาสมุทร ใน 50 ประเทศที่มีกาแฟเป็นพืชพาณิชย์ ล้วนแล้วมีต้นตอมาจากท่าเรือ Mocha แทบทั้งสิ้น …ไม่ว่าจะเป็นเมล็ดกาแฟที่มาจากเอธิโอเปีย หรือเมล็ดกาแฟที่เพาะปลูกในเยเมนซึ่งนำมาจากเอธิโอเปียอีกทอดหนึ่ง
แล้วก็เป็นท่าเรือโบราณในทะเลแดงแห่งนี้เอง ที่ทำให้การดื่มกาแฟแพร่เข้าไปในโลกอาหรับ ฝังรากลึกกลายเป็นวัฒนธรรมและประเพณี จนยูเนสโกยกย่องให้การดื่มกาแฟในโลกอาหรับ เป็น “มรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้” (Intangible Cultural Heritage) คือสัญลักษณ์ของความเอื้ออาทรในการต้อนรับมิตรผู้มาเยือนของสังคมชาวอาหรับ
แม้ว่าการค้นพบและการแพร่หลายของกาแฟ ผ่านทางตำนาน “แพะเต้นระบำ” (The Dancing Goats) จะเกิดขึ้นที่เอธิโอเปีย ดินแดนแห่งกาฬทวีป ตั้งแต่ช่วงศตวรรษที่ 9 แต่การปลูกและการค้ากาแฟเชิงพาณิชย์ บังเกิดขึ้นครั้งแรกทางดินแดนตอนใต้ของคาบสมุทรอาระเบีย คือ เยเมน ในปัจจุบันนั่นเอง
อย่างที่เราทราบกันดี…กาแฟสายพันธุ์อาราบิก้าและโรบัสต้า เกิดและเติบโตในทวีปแอฟริกาแพร่กระจายออกไปทั่วโลก ผ่านทางพ่อค้าชาวโซมาเลียที่นำเมล็ดกาแฟจากเอธิโอเปีย เข้าไปค้าขายยังเยเมน คนท้องถิ่นที่นี่นำเมล็ดกาแฟมาปลูกเป็นพืชไร่ เก็บเกี่ยว และขาย จากนั้นมา …. กาแฟก็ได้รับสมญาว่า “ไวน์แห่งโลกอาหรับ”
เมื่อเริ่มต้นนับหนึ่งที่เยเมน… กาแฟก็เดินทางต่อไปถึงนครเมกกะ, แอฟริกาเหนือ ,เปอร์เซีย และตอนบนของคาบสมุทรอาระเบีย จากนั้นในช่วงกลางศตวรรษที่ 16 ก็ข้ามทะเลไปตุรกี เข้าไปยังอิตาลี ออกสู่ยุโรป และส่วนต่างๆของโลก ท้ายที่สุด…กลายเป็นเครื่องดื่มยอดนิยมของโลกมาจนถึงขณะนี้
นอกจากนั้น การคั่วกาแฟและดื่มกาแฟในฐานะที่เป็น“เครื่องดื่ม”อย่างสมัยปัจจุบัน ก็ปรากฏขึ้นในดินแดนเยเมนเป็นครั้งแรกเช่นกัน ในช่วงกลางศตวรรษที่ 15 ในกลุ่มสาวกนิกายซูฟี ซึ่งต้นกำเนิดของกาแฟนั้น ผู้เขียนเคยเล่าให้ฟังไปแล้วในบทความที่ชื่อว่า “เมื่อกาแฟถูกตีตราว่าเป็น…เครื่องดื่มของปิศาจ” ฉบับตีพิมพ์เมื่อ 10 สิงหาคม 2560
เมล็ดกาแฟทุกสายพันธุ์ที่ส่งออกจากท่าเรือ Mocha ในสมัยโน้น จะเรียกติดปากว่า “Mocha Coffee” แต่สมัยนี้ “Mocha Coffee” หมายถึงเมล็ดกาแฟจากแหล่งปลูกในเยเมนเท่านั้น …คำว่า Mocha นี้เองก็เป็นหนึ่งในศัพท์กาแฟที่สร้างความสับสนได้โดยง่าย
คุ้นๆ กันใช่ไหมครับ คำว่า “Mocha”… พอเอ่ยนึกคำนี้ คอกาแฟก็จะนึกไปถึงเมนูกาแฟใส่นมผสมช็อคโกแลตที่ชื่อ “มอคค่า” …ชื่อเหมือนกันเป๊ะเลย… ใช่ครับ กาแฟเมนูนี้ยืมมาจากคำ Mocha ท่าเรือโบราณนั่นเอง หรือแม้แต่หม้อต้มกาแฟที่คิดค้นขึ้นในอิตาลีที่เรียกว่า Moka Pot ก็ตั้งตามชื่อท่าเรือ Mocha เช่นกัน
“Mocha Java Coffee” ที่จัดว่าเป็น “coffee blend” เก่าแก่ที่สุดในโลก ก็ใช้ส่วนผสมระหว่างกาแฟเกรดพรีเมี่ยมของเยเมน Mocha กับกาแฟ Java อินโดนีเซีย ตามบันทึกบอกว่าเกิดจากฝีมือลูกเรือชาวดัตช์ที่เดินทางข้ามสมุทรไปมาระหว่างเกาะชวาและท่าเรือ Mocha
หลังจากผูกขาดการค้ามานานถึง 200 ปี ปัจจุบัน Mocha Port ได้กลายเป็นเพียง “ตำนาน”…ไม่ได้อยู่บนเส้นทางการค้าที่สำคัญอีกต่อไปแล้ว ถูกแทนที่ด้วยการเติบโตของเมืองเอเดน และเมืองโฮเดดาห์ ในศตวรรษที่ 19 แต่ก็ยังช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจเยเมนได้อีกทางหนึ่ง ด้วยการเป็นแหล่งท่องเที่ยว และเป็นแหล่งทำประมง ทว่ากาแฟ “Mocha Coffee” ยังคงอยู่…ไม่ได้ถูกกลืนหายไปในหน้าประวัติศาสตร์
ด้วยข้อจำกัดหลักจากปัญหาการสู้รบในประเทศ การปลูกกาแฟในเยเมน ไม่ได้ถูกยกระดับให้เป็นสินค้าโภคภัณฑ์เหมือนในประเทศอื่นๆ ในอดีตการส่งเสริมแทบไม่มี ประกอบกับพื้นที่แห้งแล้ง ผลผลิตจึงออกมาต่ำในแต่ละปี อย่างในปีค.ศ. 2014 มีปริมาณการผลิตราว 3,000 ตันเท่านั้น เทียบกับก่อนช่วงสงครามกลางเมืองที่มีตัวเลขสูงถึง 50,000 ตันต่อปี
พื้นที่ปลูกกาแฟที่จัดว่าดีและใหญ่ที่สุดในเยเมน อยู่บริเวณกรุงซานา “Sana’a” เมืองหลวงในปัจจุบัน ตั้งอยู่เหนือจากระดับน้ำทะเล 2,200 เมตร เป็นหนึ่งในเมืองที่มีชีวิตที่เก่าแก่ที่สุดของโลก มีหลักฐานการอยู่อาศัยของผู้คนมากว่า 2,500 ปี อาคารเก่าแก่ในย่านเมืองเก่ากลางกรุงซานาซึ่งสร้างจากดินแดงที่มีวิธีการทำมาอย่างยาวนาน ได้รับการขึ้นทะเบียนให้เป็น “แหล่งมรดกโลก” จากยูเนสโก้
การเก็บและการแปรรูปกาแฟที่นี่ ยังคงยึดหลักแบบดั้งเดิม แทบไม่มีเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาช่วย ทุกขั้นตอนล้วนทำจากมือ กระทั่งการตากผลกาแฟ ก็ใช้บนหลังคาบ้านให้เป็นประโยชน์ แต่ปัญหาที่ตามมา คือ ผลกาแฟแห้งไม่สม่ำเสมอกัน
พูดถึงโปรไฟล์หรือคุณลักษณะของรสชาติ และกลิ่นกาแฟที่ปลูกในเยเมน มีทั้ง เข้ม แรง ซับซ้อน และฉุน ซึ่งบางคนชอบ-บางคนไม่นิยม แต่ที่สร้างความสับสนมากๆ ก็คือ ด้วยอิทธิพลของเมนูกาแฟ “มอคค่า” ทำให้คนเข้าใจผิดคิดไปเองว่า Mocha Coffee จากเยเมนนั้น ให้รสและกลิ่นเป็นช็อคโกแลต…ซึ่งไม่ใช่ไปเสียทั้งหมด
เยเมนมีกาแฟเกรดดีนับสิบตัว เก็บเกี่ยวจากไร่บนพื้นที่สูงระดับ 1,500-2,500 เมตร จากระดับน้ำทะเล บริเวณใกล้ทะเลแดง เช่น สายพันธุ์พื้นเมืองที่มีชื่อเสียงมากก็ได้แก่ Mattari ,Udaini, และ Sanani ที่ได้รับความนิยมสูงก็คือ Mattari มีบอดี้หนัก ให้กลิ่นรสอ่อนๆ ของช็อกโกแล็ต
ขณะที่ Sanani ให้กลิ่นรสชาติผลไม้ บอดี้ลงตัว ไม่หนัก-ไม่เบาไป ส่วน Udaini เด่นตรงกลิ่นหอมดอกไม้ มีรสเปรี้ยวผลไม้ปานกลาง
กล่าวกันว่า กาแฟเยเมนสายพันธุ์ Mattari เป็นกาแฟสุดโปรดของ วินเซนต์ แวน โก๊ะ ศิลปินเอกชาวดัตช์ เรื่องนี้ไม่ทราบข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร…แต่ร้าน Van Gogh Cafe ในกรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้ ที่มีพิพิธภัณฑ์แวนโก๊ะ ในอัมสเตอร์ดัม เป็นหุ้นส่วน มีกาแฟเยเมนสายพันธุ์นี้ไว้คอยต้อนรับคอกาแฟผู้เสพศิลป์กันด้วย…
facebook : CoffeebyBluehill