ไตรมาสแรก ปี 2564 ประเดิมเริ่มต้นแค่เดือนมกราคม โควิด-19 กลับมาระบาดระลอกสองชนิดจู่โจม ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้นตัว โดยเฉพาะการท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบหนักสุดๆ ตั้งแต่โควิดระบาดครั้งแรกทำเอาประชาชน-ภาคธุรกิจเดือดร้อนแทบกระอักไปตามๆ กัน
โควิดระลอกสองจึงเรียกได้ว่ามาซ้ำเติมปัญหาเดิมที่ยังหมักหมมแก้ไม่ทันเสร็จ ชนิดที่เรียกว่า “ความวัวไม่ทันหายความควายเข้ามาแทรก” ธุรกิจหลายประเภทเริ่มใกล้ปิดตัวหรือปิดตัวแล้วเพราะไม่สามารถแบกรับปัญหาต้นทุนและหนี้สินแต่เดิมได้
แม้ล่าสุดวันนี้ รัฐบาลจะประกาศคลายล็อคธุรกิจที่เคยสั่งให้ปิดชั่วคราวเมื่อโควิดระลอกสองเริ่มเมื่อต้นเดือนมกราคม 2564 ให้กลับมาเปิดทำการได้แล้วก็ตาม แต่ดูเหมือนว่าหลายเจ้าของกิจการจะเริ่มถอดใจ
“ดร.เชาว์ เก่งชน” กรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด มองว่า โควิดระลอกสอง อาจจะหนักกว่ารอบแรก โดยในไตรมาสแรกปี 2564 นี้อาจเกิดปัญหามากจนเลย 3 เดือนแรกของปีนี้ไป แม้รัฐบาลพยายามเร่งเบิกจ่ายงบประมาณมีเงินอัดฉีดและสรรพกำลังเข้าประคองระบบเศรษฐกิจ เช่น การลงทะเบียน “เราชนะ” เยียวยาผู้มีรายได้น้อยซึ่งเริ่มเมื่อวันที่ 29 มกราคมที่ผ่านมาเเป็นวันแรก แต่คงช่วยได้เพียงระยะสั้นๆเพราะเป็นการช่วยผู้มีรายได้น้อยไม่ถึงผู้ประกอบการ จึงคิดว่าโควิดรอบใหม่นี่อาจจะลากยาวไปถึงกลางปี 2564
“การแจกเงิน-การอัดฉีดเงินเหล่านี้ เนื่องจากรัฐบาลยังมีเงินพอที่จะดำเนินการได้ การท่องเที่ยวที่ต้องชะลอตัวที่ผ่านมา ต้องเอาการฉีดวัคซีนป้องกันโควิดมาประชาสัมพันธ์สร้างความเชื่อมั่นแก่นักท่องเที่ยว-ผู้ประกอบการและชาวต่างชาติ”
“ที่มีข่าวว่าจะได้รับการฉีดวัคซีน ซิโนแวค จากจีน 2 ล้านโดส ภายในเดือนเมษายน 2564 และเอสตราเซนเนกา อีก 26 ล้านโดสในเดือนพฤษภาคม ปีเดียวกัน ก็จะเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างความเชื่อมั่น-ภาพลักษณ์ให้กับการท่องเที่ยวไทยกลับมา”
ดร.เชาว์ กล่าวว่า มาตรการอัดฉีดเงินต่างๆของรัฐบาลเน้นไปที่ประชาชนซึ่งคนกลุ่มนั้นเงินที่ได้มาก็แค่ช่วยเขาได้ระดับหนึ่งแต่ภาคการลงทุนธุรกิจรายเล็ก-รายกลาง จะประสบปัญหา หากเป็นรายใหญ่ซึ่งมีสภาพคล่องดีมากๆน่าจะไปได้ แต่สถาบันการเงินที่ปล่อยกู้เงินไปแล้วสำหรับผู้ประกอบการขนาดกลาง-ขนาดย่อม อาจประสบปัญหาหนี้เสียหรือ NPL เพราะผู้ประกอบการยังมีหนี้ที่ยังคาอยู่กับสถาบันการเงินจากโควิดครั้งแรกที่ยังจ่ายไม่หมดแล้วมาเจอรอบใหม่ เพราะประสบปัญหาธุรกิจไม่สามารถหาเงินมาจ่ายได้
“กำลังซื้อหรือการจับจ่ายใช้สอยน่าจะลดลงเพราะว่าธุรกิจจำนวนหนึ่งโดนโควิดแล้วรอบแรกไปนะเขาอาจจะยังพออยู่ได้ด้วยสภาพคล่องที่มีมาก่อน พอมารอบ 2 นี่สภาพคล่องที่เคยเก็บไว้เอามาใช้ก็ค่อยๆ หายไปเพราะหนี้เก่ายังไม่ได้ชำระเลยมีรายได้มาก็ต้องไปชำระหนี้เก่าการจะสะสมเงินออมก็จะหายไป ส่วนหนี้กลุ่มภาคครัวเรือนในระยะใกล้อาจยังไม่เห็นเท่าไหร่แต่ในระยะยาวมีปัญหาแน่”
ดร.เชาว์ กล่าวว่า รัฐบาลกำลังหาทางช่วยเหลือกลุ่มธุรกิจ แก้ปัญหาของ SME ซึ่งมีปัจจุบันประมาณเกือบ 4 ล้านรายที่เคยเป็นกำลังหลัก โดยเฉพาะการส่งออกของประเทศ วงเงินสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำหรือ soft loan ที่มีวงเงิน 5 แสนล้านบาทเพื่อไปช่วยแก้ปัญหาสภาพคล่อง และธนาคารแห่งประเทศไทย (แบงก์ชาติ) จะยืดหยุ่นให้กลุ่ม SME เข้าให้ถึงเงินทุนให้ง่ายขึ้นกว่าจากเดิมที่มีข้อจำกัดหลายประการ
“การท่องเที่ยวของไทยยังไม่กลับมาโดยง่าย การส่งออกก็ยังไม่แน่ อย่างสหรัฐอเมริกา เพิ่งมีประธานาธิบดีคนใหม่ กฎหมายหลายอย่างทางเศรษฐกิจที่ประกาศไว้ใช่จะผ่านสภาโดยง่ายเช่นกัน ซึ่งศูนย์วิจัยกสิกรไทย ยังคาดว่า อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทย หรือ จีดีพี ปี 2564 จะอยู่ที่ 2.6” ดร.เชาว์ กล่าว