ตลาด”กาแฟเมียนมาร์”ศึกครั้งนี้ใหญ่หลวงนัก!

ขณะนั่งจิบเอสเพรสโซที่ใช้เมล็ดกาแฟคั่วระดับกลางค่อนเข้ม จากแหล่งปลูกในตองยี เมืองหลวงของรัฐฉาน เมื่อรุ่งเช้าวันที่ 1 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา

บัดนั้นโทรทัศน์ในร้านกาแฟที่ผู้เขียนนั่งละเลียดเครื่องดื่มถ้วยโปรดอยู่ ก็พลันแพร่ภาพข่าวด่วนมาจากประเทศเมียนมาร์ มีรายงานสถานการณ์ทางการเมืองร้อนๆ เข้ามาว่า ผู้นำกองทัพได้ทำการรัฐประหารยึดอำนาจรัฐบาลพลเรือน พร้อมเข้าควบคุมตัว “อองซาน ซูจี” และสมาชิกสำคัญๆพรรครัฐบาลไว้หลายคน

ผู้นำกองทัพเมียนมาร์หยิบยกประเด็นเรื่องโกงเลือกตั้ง มาเป็นข้ออ้างในการทำรัฐประหาร ก่อนประกาศภาวะฉุกเฉินนาน 1 ปี อย่างไรก็ตาม การทำรัฐประหารรัฐบาลพลเรือนล่าสุด ก่อให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากผู้นำโลกเสรีอย่างสหรัฐอเมริกา ตามมาด้วยคำขู่ในทำนองว่าจะตอบโต้ด้วยการ “คว่ำบาตร” ทางเศรษฐกิจรอบใหม่

ตลาด “กาแฟเมียนมาร์” ศึกครั้งนี้ใหญ่หลวงนัก! ภาพ : Patrick Fore on Unsplash/

… 3 วันก่อนหน้านั้น ผู้เขียนเพิ่งอ่านข่าวจากเว็บไซต์เมียนมาร์ไทมส์ มีใจความโดยสรุปว่า สมาคมกาแฟเมียนมาร์ตั้งเป้าจะเพิ่มการส่งออกเมล็ดกาแฟที่ปลูกทางตอนเหนือของประเทศ ไปยังตลาดใหม่ๆ ในต่างประเทศ โดยจะใช้ “สิงคโปร์” เป็นฐานในการเชื่อมโยง ซึ่งการเคลื่อนไหวหาช่องทางการตลาดใหม่ๆ นี้ คาดว่าจะช่วยเพิ่มยอดขายกาแฟที่ผลิตได้ในประเทศ หลังจากมีตัวเลขการบริโภคลดลง จากผลกระทบการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ตลอดปีค.ศ. 2020

ช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา  กาแฟจากเมียนมาร์จัดเป็น “คลื่นลูกใหม่” ที่มาแรงสุดๆ ของวงการ ทว่าในปีผ่านมา ยอดส่งออกกลับลดต่ำลงมาก เนื่องจากประเทศในโลกตะวันตกที่เป็นตลาดหลักๆ ต่างเผชิญปัญหารุนแรงจากพิษภัยเชื้อไวรัสมรณะ

สายพันธุ์กาแฟในเมียนมาร์ มีความหลากหลายมากทีเดียว ภาพ : Myo Min Kyaw from Pixabay

ขณะที่การบริโภคภายในเองก็ไม่เอื้ออำนวย ชาวเมียนมาร์ร้อยละ 90 ดื่มกาแฟอินสแตนท์ที่นำเข้ามาจากต่างประเทศ  มีเพียงร้อยละ 10 เท่านั้นที่บริโภคเครื่องดื่มกาแฟจากแหล่งปลูกภายใน

ตัวเลขของสมาคมกาแฟเมียนมาร์ ระบุว่า มูลค่าการส่งออกกาแฟไปยังต่างประเทศ โดยเฉพาะสหรัฐ, ยุโรป, เยอรมนี, จีน, ญี่ปุ่น, ไทย, ฮ่องกง, สิงคโปร์ และเกาหลีใต้ ในปีงบประมาณ 2019-20 อยู่ที่ระดับ 6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นมากกว่า 4 เท่า จากในปี 2014 แต่แรงกระแทกจากไวรัสโควิด-19 ทำให้ยอดส่งออกลดลงถึง 50% จากที่เคยมียอดส่งออกมากกว่า 1,000 ตัน

เมื่อเดือนตุลาคมปีที่แล้ว ตัวแทนของสมาคมกาแฟเมียนมาร์ได้เดินทางไปเข้าร่วม “การประมูลกาแฟแบบพิเศษ” (Specialty coffee ) ทางออนไลน์ที่สิงคโปร์ และได้มีการพูดคุยหารือกันในเรื่องดังกล่าว ซึ่งทางฝ่ายสิงคโปร์รับเป็นผู้จัดเตรียม “แพลตฟอร์ม” ทางออนไลน์ให้กับผู้ผลิตกาแฟจากเมียนมาร์ เพื่อเป็นช่องทางโปรโมทและแนะนำเมล็ดกาแฟสำหรับทำตลาดในเอเชียและตลาดต่างประเทศในภูมิภาคอื่นๆ

เว็บไซต์เมียนมาร์ไทมส์ ยังรายงานอีกว่า กาแฟจากเมียนมาร์ได้รับความสนใจจากนานาชาติไม่น้อยเลยทีเดียวในการประมูลออนไลน์ครั้งนี้ ทั้งๆ ที่จำนวนผู้ซื้อกาแฟลดลงเป็นอย่างมาก เพราะปัญหาไวรัสโควิด-19

ขั้นตอนการโพรเซสกาแฟพิเศษของ Amayar Women Coffee ทางใต้ของรัฐฉาน ภาพ : facebook.com/AmayarCoffee

ว่ากันตามตรงไม่อ้อมค้อม บรรดาผู้ประกอบการหรือกูรูสวนใหญ่ในอุตสาหกรรมกาแฟแบบพิเศษนั้น เห็นพ้องต้องกันว่า แหล่งปลูกกาแฟเมียนมาร์กำลัง “แจ้งเกิด” อย่างเป็นทางการในฐานะดาวรุ่งพุ่งแรงของวงการกาแฟพิเศษ เมื่อถูกนำออกสู่สายตาชาวโลกในเวลาเพียงไม่กี่ปีเท่านั้น หลังจากประเทศในลุ่มน้ำอิรวดีแห่งนี้เริ่มเปิดประเทศ มีการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยอีกครั้งเมื่อปีค.ศ. 2015 หลังจาก “ติดหล่ม” วังวนรัฐประหารมาอย่างยาวนาน จนได้รับการขนานว่า “ฤาษีแห่งเอเชีย” (…ก่อนที่จะซ้ำรอยเดิม กองทัพเมียนมาร์ทำรัฐประหารอีกครั้ง)

กาแฟในเมียนมาร์นั้นปลูกกันมาตั้งแต่ปลายทศวรรษ 1800 การเก็บเกี่ยวและแปรรูปกาแฟตลอดช่วงที่ผ่านมาทำกันแบบ “วิถีพื้นบ้าน” แล้วก็บริโภคกันภายในเป็นส่วนใหญ่ แทบไม่ได้รับการหยิบยกมาพูดถึงเลยในวงการธุรกิจกาแฟโลก แต่เมื่อการเมืองภายในเริ่มเดินหน้าสู่ระบอบประชาธิปไตยใหม่ ก็ได้รับการต้อนรับและตอบรับจากประชาคมโลกด้วยดี  สหรัฐและอียูยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรทางการค้า

วงจรเศรษฐกิจก็เริ่มกลับมาชีวิตชีวา ภาคธุรกิจหลากหลายเริ่มลืมตาอ้าปากหลังจากอัดอั้นมานานเต็มทน   …เกษตรกรชาวไร่กาแฟก็เฉกเช่นกัน

ทว่าในตอนนี้ ผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 ดูจะเป็นประเด็นเล็กๆไปเสียแล้ว ด้วยปัญหาที่ใหญ่และหนักกว่าก็คือ หากประเทศถูกคว่ำบาตรเศรษฐกิจเสียแล้ว ก็คงยากที่จะส่งออกกาแฟไปยังตลาดต่างประเทศได้เหมือนเดิม  ผลกระทบเชิงลบยิ่งจะรุนแรงกว่าหลายเท่าตัว “ศึกครั้งนี้จึงใหญ่หลวงนัก” สำหรับตลาดที่เพิ่งเริ่ม “ปักหมุด” บนแผนที่กาแฟโลกอย่างเป็นทางการเมื่อไม่กี่ปีมานี้

ย้อนเวลากลับไป … ปูมกาแฟโลกบันทึกเอาไว้ว่า กาแฟโรบัสต้าถูกนำมาจากอินเดีย เข้าไปปลูกทางตอนใต้ของเมียนมาร์ (ตอนนั้นยังเรียกกันว่าพม่า)โดยชาวอังกฤษ เมื่อปีค.ศ.1885  ประมาณ 60 ปีหลังจากที่ตกไปอยู่ภายใต้การปกครองของอังกฤษ  และเป็นในปีค.ศ. 1930  คณะมิชชันนารีคาทอลิก ได้นำกาแฟสายพันธุ์อาราบิก้าเข้าไปปลูกยังบริเวณที่เรียกว่าเมือง “พินอูลวิน”  (เมเมียวในอดีต) ซึ่งปัจจุบันเป็นเมืองท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงของมัณฑะเลย์

เอสเพรสโซจากไร่กาแฟในเมืองตองยี รัฐฉาน

ระหว่างปีค.ศ. 1930-1934 การทำไร่กาแฟอาราบิก้าก็ขยับขยายขึ้นไปทาง “รัฐฉาน” และ “รัฐคะฉิ่น” ตอนนั้นยังมีโรงงานแปรรูปกาแฟเพียงแห่งเดียวเป็นกิจการของรัฐ ตั้งอยู่ที่เมืองพินอูลวิน ซึ่งในช่วงเวลานี้เองที่กาแฟจากเมียนมาร์ได้ถูกนำข้าไปยังตอนใต้ของจีน ,ลาว และไทย ในรูปของการซื้อขายอย่างไม่เป็นทางการ… เป็นข้อมูลที่น่าสนใจมากซึ่งระบุไว้ในเว็บไซต์บอกเล่าประวัติความเป็นมาของการปลูกกาแฟในเมียนมาร์

ทว่าการผลิตกาแฟป้อนตลาดในเชิงพาณิชย์ตามความต้องการของเจ้าอาณานิคมไม่ได้คืบหน้าอะไรมากนัก กระทั่งเมื่ออังกฤษคืนอิสรภาพให้แก่เมียนมาร์ในปีค.ศ.1948 การผลิตกาแฟซึ่งขณะนั้นมี “ชาวไร่รายเล็ก” เป็นผู้ครอบครอง ก็ตกอยู่ในภาวะ “จำศีล” ไม่ได้รับความสนใจจากรัฐบาล กระทั่งในปีค.ศ. 1962 กิจการไร่กาแฟทั้งหมดได้ถูกยึดมาเป็นของรัฐ แต่กระนั้นผลผลิตกาแฟกลับลดลงอย่างต่อเนื่อง  ท่ามกลางสถานการณ์การสู้รบระหว่างชนกลุ่มน้อยกับรัฐบาลกลาง

ปีค.ศ. 1998 รัฐบาลในยุคนั้นมีนโยบายเพิ่มพื้นที่ปลูกกาแฟอาราบิก้าให้เป็น 250,000 ไร่  แต่ไม่ประสบความสำเร็จ ขณะที่การค้ากาแฟยังคงอยู่ในวงจำกัดเอามากๆ โครงการของรัฐบาลช่วยอะไรได้ไม่มากนัก

อย่างไรก็ตาม นับจากการเลือกตั้งครั้งประวัติศาสตร์ของเมียนมาร์ในปีค.ศ. 2015 ที่เสมือนหนึ่งประตูทางเศรษฐกิจได้เปิดแง้มขึ้นมา 

หน่วยงานจากต่างประเทศ เช่น  องค์การเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐอเมริกา (ยูเสด)  และวินร็อค อินเตอร์เนชั่นแนล เอ็นจีโอภาคีเครือข่าย เริ่มพุ่งความสนใจไปยังกาแฟที่ปลูกในเมียนมาร์ มีการส่งคนเข้าไปให้คำปรึกษาและร่วมทำงานกับเกษตรกรท้องถิ่น เพื่อพัฒนาคุณภาพของทั้งการปลูกและการเก็บเกี่ยว พร้อมกับจัดงบประมาณสำหรับสร้างโรงงานแปรรูปกาแฟ และองค์ความรู้ด้านต่างๆ  หวังให้เป็น “จุดกำเนิด” ของธุรกิจกาแฟแบบพิเศษในประเทศนี้

ในปีค.ศ. 2014 ซึ่งถือเป็นจุดพลิกผันครั้งสำคัญของตลาดกาแฟเมียนมาร์ เมื่อริค เพย์เซอร์ ผู้บริหารโรงคั่วกาแฟชั้นนำของสหรัฐอย่าง “กรีน เม้าเท่น ค๊อฟฟี่ โรสเตอร์ส” (Green Mountain Coffee Roasters) ได้เดินทางเข้าไปค้นหา “เพชรในตม” ตามล่ากาแฟดีๆ ที่ยังซุกซ่อนอยู่  แต่กูรูกาแฟคนนี้ไม่ได้ไปมือเปล่า ยังเอาความรู้ด้านการปลูก การคั่ว และการแยกแยะรสชาติกาแฟ (cupping)  อันเป็นมาตรฐานที่ใช้กันทั่วโลก ไปถ่ายทอดให้ชาวไร่รายเล็กๆ ด้วย

ไร่ที่เขาเดินทางไปเยือนมีอยู่ด้วยกันหลายไร่ แห่งแรกอยู่ทางใต้ของรัฐฉาน ใกล้กับย่านที่เรียกกว่า ยางัน (Ywar Ngan)  ต่อมาเมื่อมีการทำคัปปิ้งสกอร์ ผลปรากฎว่า ทุกไร่ได้คะแนนเกิน 80 คะแนน แล้วก็เป็นไร่กาแฟจากยางันเองที่ได้คะแนนสูงสุด 83.5  จนนำไปสู่การเจรจากับเกษตรกรชาวไทใหญ่ เพื่อนำเมล็ดกาแฟเข้าไปยังตลาดสหรัฐเป็นครั้งแรก

เมล็ดกาแฟบรรจุถุงจาก Genius Shan Highlands Coffee ไร่กาแฟรัฐฉาน วางจำหน่ายบนเว็บค้าปลีกสิงคโปร์ carousell.sg

อีก 2 ปีต่อมา กาแฟพิเศษจากไร่ของเกษตรกรเมียนมาร์ 2 รายที่อยู่ภายใต้โครงการยูเสด ก็ไปปรากฎโฉมในงานระดับโลกเป็นครั้งแรก ณ มหกรรมกาแฟ SCAA Expo 2016 ที่เมืองแอตแลนต้า ในรัฐจอร์เจีย ปรากฎว่า ได้รับความสนใจซื้อจากหลากหลายบริษัท เช่น ลา โคลอมเบ ค๊อฟฟี่  (La Colombe Coffee), อัลเลโกร (Allegro), คาลดี้ส์ (Kaldi’s) ,ฟาร์เมอร์ บราเธอร์ส (Farmer Brothers) และ โรโจส์ โรสเตอรี (Rojo’s Roastery)

เพื่อกระชับสายสัมพันธ์ ผู้บริหารลา โคลอมเบ ค๊อฟฟี่ ได้จัดงานเลี้ยงรับรองขึ้นเพื่อต้อนรับเกษตรกรทั้งสองรายนี้ และเจ้าหน้าที่โครงการชาวเมียนมาร์ มีเจ้าหน้าที่จากยูเสดและจากกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐเข้าร่วมด้วย

ในปีเดียวกันนี้เอง บลู บอทเทิ่ล (Blue Bottle) โรงคั่วกาแฟชื่อดังในแคลิฟอร์เนีย ได้ส่งเจ้าหน้าที่ของบริษัทไปยังชุมชนไร่กาแฟแห่งหนึ่งในเขตรัฐฉานทางตอนใต้  เข้าใจว่าไปตามหากาแฟเช่นเดียวกับโรสเตอร์รายอื่นๆ

ปีค.ศ. 2016 ถือเป็นปีทองก็ตลาดกาแฟเมียนมาร์ก็ว่าได้ …ด้วยความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญของสมาคมกาแฟพิเศษแห่งอเมริกา (SCAA) ที่ได้เข้าไปช่วยเกษตรกรท้องถิ่นพัฒนาคุณภาพของกระบวนการแปรรูปกาแฟชนิดเจาะลึกลงรายละเอียดทุกขั้นตอน ส่งผลให้เป็นครั้งแรกที่กาแฟจากลุ่มน้ำอิรวดีได้คะแนนคัปปิ้งสกอร์เกินกว่า 80 คะแนน ตามค่ามาตรฐานของ SCAA จึงถูกจัดชั้นรับรองให้เป็น “กาแฟพิเศษ” …ซึ่งหมายถึงกาแฟที่มีคุณภาพสูงซึ่งเกิดจากความใส่ใจเป็นพิเศษ ตั้งแต่ปลูกโดยเกษตรกรจนถึงเสิร์ฟให้กับผู้บริโภค

จัดว่าไม่พลาดเช่นกัน…เดือนมีนาคม ปีค.ศ. 2018  สมาชิกสมาคมนักคั่วกาแฟแห่งญี่ปุ่นจำนวน 35 คน ได้เดินทางไปเยือนโรงงานแปรรูปกาแฟที่เมืองพินอูลวิน ย่านกาแฟดัง  ซึ่งการเดินทางครั้งนำทัพโดยประธานบริษัท คีย์ ค๊อฟฟี่ (Key Coffee) หนึ่งในแบรนด์กาแฟที่เก่าแก่แบรนด์หนึ่งในแดนซามูไร

หันมาพูดถึงสายพันธุ์กาแฟในเมียนมาร์กันบ้าง มีทั้งสายพันธุ์โรบัสต้าและอาราบิก้า โดยโรบัสต้าปลูกในพื้นที่ราบต่ำ ประมาณ  25,000 ไร่  มีสัดส่วนราวร้อยละ 20  ของพื้นที่ปลูกกาแฟทั้งระบบ ส่วนอาราบิก้าปลูกกันทางตอนเหนือของประเทศ ในพื้นที่ 101,000 ไร่  มีปริมาณถึงร้อยละ80  รวมแล้วพื้นที่ปลูกกาแฟมีทั้งหมด 126,000 ไร่ กำลังผลิตเฉลี่ยปีละ 8,000 ตัน

นอกจากรัฐฉานซึ่งเป็นแหล่งผลิตหลักๆ ของประเทศแล้ว กาแฟอาราบิก้ายังปลูกกันในหลายพื้นที่ เช่น รัฐคะฉิ่น, รัฐชิน, รัฐกะเหรี่ยง, รัฐกะยา, เขตมะเกวย์ และเขตสะกาย  อย่างไรก็ตาม ไร่กาแฟในเขตเทือกเขาทางตอนเหนือ ถือว่าสร้างชื่อให้กับกาแฟของเมียนมาร์อย่างยิ่งยวดทีเดียว เนื่องจากสภาพภูมิอากาศที่กลางวันร้อน ช่วงกลางคืนหนาวเย็น เป็นทำเลที่เอื้อต่อการปลูกกาแฟสายพันธุ์อาราบิก้า  และเหมาะสำหรับ การแปรรูปแบบแห้ง (Dry/Natural process) ทว่ามีบ้างในบางพื้นที่ที่ใช้ การแปรรูปแบบเปียก (Washed process)  เหมือนกัน

ส่วนไร่กาแฟโรบัสต้า ทำกันมากในพื้นที่ราบต่ำของรัฐคะฉิ่น,เขตพะโค (หงสาวดีในอดีต) และแถบตะนาวศรี

เมื่อเห็นรายชื่อและจำนวนของสายพันธุ์กาแฟจากสมาคมกาแฟเมียนมาร์แล้ว ผู้เขียนก็ต้องร้องโอ้โห…เลยทีเดียว เพราะมีอยู่ด้วยกันถึง 25 สายพันธุ์ แถมยังได้รวบรวมสายพันธุ์ดังๆระดับเทพเอาไว้มากมายแทบจะทั่วโลก  เช่น บลู เม้าเท่น, เกชา/เกอิชา, คาร์ติมอร์, คาทุย, คาทูร์ร่า (แดง&เหลือง), เอสแอล 34, เอส795 และ ซาน รามอน สายพันธุ์ยอดนิยมของกัวเตมาลา

เทือกเขาทางตอนใต้ของรัฐฉาน โซนปลูกกาแฟชั้นดีของเมียนมาร์ ภาพ : commons.wikimedia.org/Yarzaryeni

อย่างในรัฐฉาน พื้นที่ระหว่าง 1,400-1,600 เมตรจากระดับน้ำทะเล มีสายพันธุ์คาทุยที่ให้ผลเชอรี่สีแดง เป็นตัวเด่น ขณะที่ไร่ในมัณฑะเลย์ซึ่ งส่วนมากเป็นแปลงขนาดใหญ่ ปลูกกันสองสายพันธุ์หลัก คือ คาร์ติมอร์ และเอสแอล34 จากเคนย่า

สมาคมกาแฟเมียนมาร์ระบุว่า กาแฟแบบพิเศษจากแหล่งปลูกภายในประเทศ นอกจากจะมีคุณภาพสูงแล้วยังปลูกในระบบออร์แกนิค เป็นที่ต้องการของตลาดผู้บริโภคทั้งในสหรัฐ,ยุโรป และเอเชีย ส่งผลให้มีราคาอยู่ระหว่าง 4,500-10,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อตันทีเดียว

ผู้ประกอบการธุรกิจกาแฟแบบพิเศษแถวหน้าในเมียนมาร์มีหลายค่ายสำนักด้วยกัน เช่น  มัณฑะเลย์ ค๊อฟฟี่ กรุ๊ป (Mandalay Coffee Group), จีเนียส ฉาน ไฮแลนด์ส ค๊อฟฟี่ (Genius Shan Highlands Coffee), อมาย่า ค๊อฟฟี่ (Amayar Coffee), ชเว ตอง ตู ค๊อฟฟี่ (Shwe Taung Thu Coffee) และ บีฮายด์ เดอะ ลีฟ (Behind the Leaf)  เป็นต้น

ตลาดกาแฟแบบพิเศษนั้นกำลังเติบโตขึ้นทุกวี่วัน เนื่องจากความต้องการเพิ่มขึ้นเรื่อยๆทั่วโลกเลย ทว่าปริมาณของกาแฟพิเศษยังถือว่ามีน้อยอยู่ ไม่เพียงพอกับการบริโภค ดังนั้น เมื่อมีการค้นพบแหล่งปลูกซึ่งเป็น “คลื่นลูกใหม่” อย่างในเมียนมาร์ (ทั้งๆที่ปลูกกันมาเป็นร้อยปีแล้ว) ทำให้แบรนด์กาแฟระดับโลกตาลุกวาวขึ้นมาทีเดียว

บลู บอทเทิ่ล โรงคั่วกาแฟชื่อดังของสหรัฐ เข้าไปคว้านหากาแฟในเมียนมาร์เช่นกัน ภาพ : commons.wikimedia.org/star51112

เพราะไหนกระบวนการผลิตกาแฟได้เริ่มพัฒนาให้มีคุณภาพไปแล้ว ค่าแรงงานก็ยังถูกอยู่มาก แถมมีสายพันธุ์ชั้นเยี่ยมให้เลือกเฟ้นอีกต่างหาก  เมียนมาร์จึงอยู่ในสถานะดีมากๆที่จะขยับขยายกลายเป็นแหล่งปลูกาแฟที่มีชื่อเสียงของโลกอีกแหล่งหนึ่ง

…นั่นยังหมายถึงเงินตราต่างประเทศที่จะหลั่งไหลเข้ามา เพื่อช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตของเกษตรกรและชุมชนโดยรอบให้ดีขึ้น

ทว่าในโลกใบนี้ไม่มีอะไรแน่นอนร้อยเปอร์เซ็นต์ ธุรกิจกาแฟที่กำลังเปล่งประกายเป็นดาวรุ่งพุ่งแรงในเมียนมาร์ ตอนนี้กำลังเผชิญกับปัญหาใหญ่ 2 ด้าน ด้านหนึ่งจากยอดส่งออกที่ลดลงเพราะผลกระทบจากการระบาดเชื้อ “ไวรัสโควิด-19” อีกด้านเป็นแรงสั่นสะเทือนจากการทำรัฐประหารโดยกองทัพ หากว่ามีการ “คว่ำบาตร” ทางการค้าบังเกิดขึ้น

ผู้เขียนยกกาแฟเอสเพรสโซชั้นดีจากแหล่งปลูกในรัฐฉานถ้วยนั้น ขึ้นดื่มเป็นอึกสุดท้าย ก่อนรำพึงขึ้นในใจว่า “ศึกครั้งนี้ใหญ่หลวงนัก ขอให้ทุกอย่างผ่านไปได้ด้วยดี…”


facebook : CoffeebyBluehill

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *