“สีฟ้า” เจ้าของสโลแกน “อย่าลืม สีฟ้า เวลาหิว” เป็นร้านอาหารที่อยู่คู่สังคมไทยมายาวนานถึง 84 ปี นับได้ว่าเป็นธุรกิจครอบครัว (Family Business) ที่สืบทอดจากรุ่นสู่รุ่นมาจนถึงปัจจุบัน เป็นเจนเนอเรชั่นที่ 3 แล้ว
ซึ่งการที่ Family Business ดำรงอยู่ได้ และมีการเติบโตด้วยกลยุทธ์ใหม่ๆ จึงมีความน่าสนใจยิ่ง และเมื่อธุรกิจจะต้องฝ่าฟันกับมหาวิกฤติโควิด ผู้บริหารรุ่นใหม่มีการแก้ปัญหานี้อย่างไร
สัมภาษณ์ Exclusive คุณกร รัชไชยบุญ ผู้จัดการทั่วไป บริษัท สีฟ้า กรุ๊ป ซึ่งจะมาเล่าถึง ธุรกิจบริการอาหาร “สีฟ้า” ปรับตัวอย่างไรในวิกฤติ Covid โดย ดร.นงค์นาถ ห่านวิไล
ดร.นงค์นาถ : ตอนนี้มีธุรกิจอะไรบ้าง นอกจากร้านอาหาร สีฟ้า
คุณกร : มี 3 กลุ่มธุรกิจหลักๆ แบ่งเป็นกลุ่มRetail ร้านอาหาร “สีฟ้า” แฟรนไชน์ที่จากต่างประเทศชื่อ “Osaka Ohsho” เป็นร้านเกี๊ยวซ่า และอาหารจีนผสมญี่ปุ่น และแบรนด์ “Bake Brothers” เป็นร้านกาแฟกับขนมอบ และน้องใหม่ล่าสุดชื่อร้าน “DUO-BAO” นอกจากนั้นก็มีสาย F&B business คือ บริการอาหารและเครื่องดื่มให้กับสถานที่ต่างๆ โรงแรม สโมสรกีฬา ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด ส่วนอีกธุรกิจคือ โรงงานผลิตอาหาร ผลิตให้ทั้งกลุ่มโรงแรม ร้านอาหารเจ้าอื่นๆ รวมถึงร้าน “สีฟ้า” ส่วนใหญ่จะเป็นผลิตอาหารส่งสายการบิน “Thai Airasia”
ดร.นงค์นาถ : สาขาร้านอาหาร “สีฟ้า” มีกี่สาขา
คุณกร : “สีฟ้า” มีสาขาไม่เยอะ มีทั้งหมด 18 สาขา ช่วงสถานการณ์โควิด มีการลดสาขาลงไปบ้าง แต่ในกลุ่ม “Bake Brothers” มี 3 สาขา “Osaka Ohsho” มี 3 สาขา ส่วนกลุ่มที่เราบริหารอาหารและเครื่องดื่มให้กับสถานที่ต่างๆ เราดูแลทั้งหมด 11 โรงแรม และ 1 สโมสรกีฬา
ดร.นงค์นาถ : เน้นขยายไลน์ธุรกิจอื่นๆ มากกว่าขยายสาขาใช่ไหม วิธีคิดเรื่องนี้เป็นอย่างไร
คุณกร : “สีฟ้า” เป็นร้านอาหารที่ปรุงสดใหม่ทุกจาน การที่จะฝึกพ่อครัวให้ชำนาญในการทำอาหารค่อนข้างใช้เวลานาน และ ต้องใช้ความรู้ ความสามารถค่อนข้างเยอะ เราเลยไม่ได้เน้นขยายสาขาในตัวร้านอาหาร “สีฟ้า” มากนัก เราเน้นด้านคุณภาพมากกว่า แต่ในขณะเดียวกัน เรามองว่า Food business เป็นธุรกิจที่มีความหลากหลาย “สีฟ้า”เลยใช้ความรู้ที่สั่งสมมานานเอาไปต่อยอดในด้านอื่นๆ ด้วย เลยเป็นที่มาที่เราไปดูแลโรงแรมและสถานที่ต่างๆ รวมไปถึงทำโรงงานผลิตอาหารด้วยเช่นกัน คิดว่าเป็นการขยายที่หลากหลายรูปแบบ มากกว่าที่เป็นการโฟกัสที่แบรนด์เดียว
ดร.นงค์นาถ : ขยายหลากหลายรูปแบบมากกว่าโฟกัสที่ร้านอาหารอย่างเดียว มีอะไรปรับเปลี่ยนช่วงที่เข้ามาดูแลบริหารบ้าง
คุณกร: มีพี่สาวช่วยบริหารด้วย ดำรงตำแหน่งเป็น CEO ของบริษัท เราเล็งเห็นว่าการบริหารงานของ “สีฟ้า” เดิมทีก็จะแบ่งเป็น BU (หน่วยธุรกิจ) ก็จะดูแล BU ใคร BU มัน จะเป็นการดำเนินกิจกรรมตามความถนัดของแต่ละธุรกิจ
ช่วงหลัง “สีฟ้า” มีกลุ่มธุรกิจที่หลากหลายมากขึ้น ในปัจจุบันการแข่งขันค่อนข้างสูง เราเลยเริ่มรวมทุกธุรกิจมาเป็นกรุ๊ปแล้วปรับโครงสร้างขององค์กรให้เป็นการบริหารงานในแบบ Corporationให้มากขึ้น มีการใช้ความรู้ร่วมกันระหว่างกลุ่มธุรกิจ เพราะฉะนั้นเรามีการปรับโครงสร้างภาพรวมของธุรกิจให้มีความสอดประสานกันได้ง่ายขึ้น สามารถแข่งขันในตลาดได้ดีขึ้น นอกเหนือจากนี้มีการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้และต่อยอดจากรุ่นที่ 2
ดร.นงค์นาถ : ตอนนี้มีมหาวิกฤติ Covid-19 ปรับตัวอย่างไร
คุณกร : รุ่นก่อนไม่เคยเจอ และเราก็ไม่เคยเจอ ถือว่าเป็นช่วงเวลาที่ยาก เราต้องทันต่อเหตุการณ์ ต้องเตรียมสติ เตรียมใจและเตรียมคนให้พร้อม จาก 3 รอบที่ผ่านมา เรารู้เลยวิธีการที่รับมือได้ดีที่สุดคือ คอยติดตามข่าว เข้าใจสถาณการณ์อย่างถ่องแท้ว่าเกิดอะไรขึ้น ณ ปัจจุบัน ไม่ต้องมองไปไกลเพราะเราคาดเดาไม่ได้ และตั้งสติรับมือและแก้ปัญหากับสถานการณ์นั้นๆ
นอกจากนี้สิ่งที่เราพยายามปรับปรุงอย่างเร่งด่วนคือ การทำให้ทุกหน่วยงานมีความ flexibleในการทำงาน การตัดสินใจและตัดสินใจได้ด้วยตัวเอง เพื่อจะได้รับมือได้อย่างถูกต้องและข้อมูลทั้งหมดต้องเป็นข้อมูลที่รวมสู่ส่วนกลาง และออกไปจากส่วนกลาง ทุกคนต้อง follow ตามนั้น ทั้งการตลาด การรับมือวิกฤติ การป้องกันการติดเชื้อระหว่างบุคคล
ดร.นงค์นาถ : ร้านอาหารคงสูญเสียรายได้ไปมาก เนื่องจากตอนนี้ มีมาตรการ social distancing มีการบริหารสภาพคล่องทางการเงินอย่างไร
คุณกร : ใช้ทุกเทคนิค ที่สามารถคิดออก เพราะปัญหาของ “สีฟ้า” เป็นธุรกิจเงินสดก็จริง แต่สัดส่วนธุรกิจในกรุ๊ปเราไม่ได้มีแค่ร้านอาหารอย่างเดียว ธุรกิจร้านอาหารเรามีอยู่ประมาณ 40% และอีก 60% เป็นส่วนธุรกิจโรงงานและส่วนที่ดูแลโรงแรม ซึ่งทั้งสองส่วนถูกกระทบจากการท่องเที่ยวง มีธุรกิจร้านอาหาร “สีฟ้า” ที่ยอดเข้ามาเป็นช่วงๆ ส่วนนี้ไม่กระทบเท่าไหร่ แต่ในส่วนโรงแรมและสายการบินยอดขายหายไปเลยอันนี้มีผลกระทบค่อนข้างเยอะ
โชคดี ที่บางโรงแรม ที่เราดูแลอยู่บางโรงแรมเขาเปลี่ยนกิจการเป็น ASQ หรือ Alternative State Quarantine ทำให้เราต้องปรับตัวแต่ก็คงรักษารายได้เข้ามาบ้าง สภาพคล่องที่ใช้ในบริษัทไม่มีทางที่จะพอเพราะยอดขายของเราจาก 100% ในช่วงโควิดครั้งแรกลงมาเหลือ 5% และขึ้น-ลงตามสถานการณ์โควิด
เราใช้ทั้งการเจรจากับ suppliers เจรจากับเจ้าหนี้ เจ้าของพื้นที่ ผู้ให้เช่า รวมไปถึง Soft Loan ต่างๆ กับ Banker ที่เราดีลอยู่เป็นประจำ ได้รับความกรุณาจาก SCB และ LH Bank ที่ช่วยกันหาวิธีช่วย รวมถึงธนาคารออมสินและธนาคารอื่นๆ เรียกได้ว่า ใช้วิธีทั้งดึง ยืด เก็บเงินให้เร็วขึ้นในบางกรณี และหาเงินมาเพิ่มจากภายนอกเพื่อเสริมสภาพคล่อง ทั้งส่วนตัวและส่วนธนาคาร
ดร.นงค์นาถ : เข้าถึง Soft Loan ไหม ได้รับผลดีจากการกู้ดอกเบี้ยต่ำบ้างไหม
คุณกร : ได้บ้างนิดหน่อยช่วงปีที่แล้ว โชคดีที่เรารู้สถานการณ์และประเมินแล้วว่าเราต้องเดือดร้อนแน่ๆ เลย รีบประสานงานกับทางธนาคารทันที พูดคุยและหาแนวทางร่วมกัน มีการปรับโครงสร้างที่จะสามารถทำให้เราพอจะดึงเงินจากทางธนาคารผ่านโปรแกรมของภาครัฐ
ดร.นงค์นาถ : อนาคตของ “สีฟ้า” จะเป็นอย่างไรต่อไป
คุณกร : หลายท่านเวลามอง “สีฟ้า” จะคิดว่าเป็นร้านอาหาร จาก 10 กว่าปีที่ผ่านมา “สีฟ้า”
เริ่มขยับตัวเองไปในธุรกิจที่มีความหลายหลายมากขึ้น เพราะ “สีฟ้า” กรุ๊ปเอง ในอนาคตกลุ่มธุรกิจเราจะพยายามมองในแง่มุมของความเป็น Food มากขึ้น ถ้ามี Food ตรงไหนเราพยายามจะพัฒนาตัวเองไปเสริมตรงนั้นให้มากขึ้น และเรามองตลาดอาหารในโลกอนาคตมีการแยก fragment และรายละเอียดเยอะ เราจะพยายามตอบโจทย์ลูกค้าให้ได้มากที่สุด
ดร.นงค์นาถ : ตอนนี้เริ่มแยกเป็น fragment แล้วใช่ไหม
คุณกร : เริ่มแล้ว จะเห็น Portfolio ของ “สีฟ้า” มากขึ้น ในส่วนของที่เป็นแบรนด์และไม่เป็นแบรนด์ด้วย พยายามจะทำตัวเองให้หลากหลาย และมอง Food ให้กว้างกว่าเดิม
ดร.นงค์นาถ : มีอะไรเพิ่มเติมอีกสำหรับธุรกิจ “สีฟ้า”
คุณกร : ตอนนี้เราพยายามที่จะหาช่องทางในการขยายตัวได้มากขึ้น ในโลกของธุรกิจอาหารมีการเปลี่ยนแปลงเยอะ สิ่งหนึ่งที่เราต้องมองคือ พยายามติดตาม และมองตัวเอง ทำตัวบริษัทให้มีความ flexible ให้มากขึ้นในอนาคตข้างหน้า ถือเป็นเป้าหมายของ “สีฟ้า”