สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา สร้างการเปลี่ยนแปลงไปทั่วโลก ผู้คนตลอดจนภาคธุรกิจต้องปรับตัวให้ทันต่อความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น จากการใช้ชีวิตแบบวิถีปกติ สู่ชีวิตวิถีใหม่แบบ ‘New Normal’ มาจนถึง ‘Next Normal’ และในปี 2565 ก็จะเข้าสู่ยุค Now Normal ยุคที่ผู้คนต่างปรับตัวเข้าสู่โลกดิจิทัลอย่างสมบูรณ์แบบ และต่างมองหาประสบการณ์แบบครบวงจร
หากผู้ประกอบการไม่เตรียมพร้อมหรือปรับตัวเพื่อรับมือ การดำเนินธุรกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืนในยุค Now Normal อาจเป็นเรื่องยาก บริษัท พีเพิลสเคป จำกัด หรือ PEOPLESCAPE ในเครือ บริษัท เมเจอร์ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) จึงจัดงานสัมมนาออนไลน์ในรูปแบบ Free Webinar ภายใต้ชื่อ “Transforming Real Estate Thailand Forum 2021” ขึ้นเป็นครั้งแรก ภายใต้คอนเซ็ปต์ “Transforming Post COVID-19 : Strategies for Success”
โดยมีวิทยากรชั้นนำหลากหลายความเชี่ยวชาญ ทั้งการตลาด-การบริหาร-การเงิน-การสื่อสาร-HR-Tech รวมกว่า 20 ท่าน มาร่วมแนะทิศทางการปรับตัวและทรานส์ฟอร์มองค์กรอสังหาฯสู่อนาคต 3 วันเต็ม ระหว่างวันที่ 9-11 พ.ย.ที่ผ่านมา
“HYBRID STRUCTURE” เทรนด์องค์กรยุค Now Normal
“สถานการณ์โควิด-19 ทำให้ผู้คนใกล้ชิดกับ AI มากขึ้น หลายองค์กรนำเรื่อง AI เข้ามาใช้ในการปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำงาน มีการจ้างงานในรูปแบบพนักงานชั่วคราวมากขึ้น ส่งผลให้รูปแบบโครงสร้างองค์กรในยุค Now Normal เปลี่ยนไป สู่โครงสร้างองค์กรแบบ HYBRID STRUCTURE ที่มีความยืดหยุ่นและคล่องตัว สามารถปรับเปลี่ยนได้ตลอดเวลา” ธีริศรา พวงประโคน กรรมการผู้จัดการ บริษัท พีเพิลสเคป จำกัด หรือ PEOPLESCAPE ในเครือ บริษัท เมเจอร์ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) กล่าว
โครงสร้างองค์กรแบบ HYBRID STRUCTURE เป็นโครงสร้างที่พัฒนาขึ้นเพื่อตอบโจทย์เรื่อง Digital Disruption
ที่สามารถปรับเปลี่ยนได้ตลอดเวลา โดยเป็นการผสมผสานโครงสร้างแบบเดิมคือ นำเรื่องของลำดับขั้นในการบริหารจัดการรวมเข้ากับการทำงานแบบไม่มีใครเป็นหัวหน้าใคร (Flat Team) ทุกคนในทีมสามารถปรับเปลี่ยนบทบาทหน้าที่ได้ตามความถนัดและความสามารถของตนเองได้อย่างต่อเนื่องและตลอดเวลา รวมทั้งเรื่องการจ้างงานจะเป็นพนักงานชั่วคราวจะเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในงานที่ต้องการความชำนาญเฉพาะทาง ทั้งนี้ การที่จะทำให้โครงสร้างองค์กรแบบ HYBRID STRUDTURE ประสบความสำเร็จ ต้องทำควบคู่กับการรีสกิล (Reskill) และอัพสกิล (Upskill) ในแบบบูรณาการ โดยการเสริมทักษะใหม่ๆ ที่เหมาะกับการใช้งาน พร้อมกับการพัฒนาทักษะที่มีอยู่แล้วให้ดียิ่งขึ้น
ปี 65 ตลาดอสังหาฯ พบปัจจัยบวก
ภาพรวมของตลาดอสังหาริมทรัพย์ในปี 2564 อลงกต บุญมาสุข ผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโส บริษัท ธนาคารกสิกรไทย จํากัด (มหาชน) และเลขาธิการสมาคมสินเชื่อที่อยู่อาศัย มองว่า กิจกรรมการซื้อที่อยู่อาศัยทั่วประเทศอาจหดตัวถึงกว่า 30% เป็นผลมาจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่อสภาพเศรษฐกิจและกำลังซื้อของประชาชน แต่หากมองภาพรวมของตลาดสินเชื่อที่อยู่อาศัย พบว่า ณ เดือนสิงหาคม 2564 ยอดคงค้างสินเชื่อบ้านของธนาคารพานิชย์ไทยมีอัตราการเติบโต 6.1% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยสินเชื่อบ้านระดับราคามากกว่า 3 ล้านบาทยังคงขยายตัวต่อเนื่อง
สำหรับในปี 2565 ตลาดอสังหาริมทรัพย์มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นเนื่องจากมีปัจจัยหนุน อาทิ สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ดีขึ้น เศรษฐกิจเริ่มกลับมาขับเคลื่อนอีกครั้ง ตลอดจนมาตรการผ่อนคลาย LTV ของธปท.สำหรับที่อยู่อาศัยหลังที่ 2 เป็นต้นไป จากเดิม 70-90% เป็น 100% ขณะที่ในสัญญาซื้อหลังแรกยังคงเดิมอยู่ที่ 100% พร้อมให้เงินกู้เพิ่มอีก 10% เพื่อใช้ในการซื้อเฟอร์นิเจอร์ (รวม 110% ของมูลค่าหลักประกัน) โดยมีผลบังคับใช้ถึง 31 ธ.ค.2565 จะเป็นการช่วยกระตุ้นตลาดอสังหาริมทรัพย์ได้เป็นอย่างดี ทำให้คาดการณ์ได้ว่าตลาดสินเชื่อบ้านปี 2565 จะมีอัตราการเติบโตประมาณ 0.3-0.7% แต่ก็ต้องระมัดระวังเรื่อง Supply ที่อยู่อาศัยรอขายสะสมกว่า 4 แสนหน่วย และภาวะการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของภาคครัวเรือนยังอยู่ในภาวะเปราะบาง
AI ตัวช่วยสำคัญในงานออกแบบ
AI หรือ ปัญญาประดิษฐ์ เข้ามามีบทบาทในภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เพิ่มมากขึ้น ตั้งแต่กระบวนการคัดสรรวัสดุ กระบวนการก่อสร้าง งานบริการหลังการขาย และจะยิ่งทวีความสำคัญเพิ่มขึ้นในอนาคต เพราะ AI จะเข้ามาช่วยในส่วนงานที่ต้องใช้เวลานาน น่าเบื่อ และมีความเสี่ยงสูง โดย จุลเกียรติ สินชัยชูเกียรติ ผู้ก่อตั้ง WAZZADU.COM และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บารามีซี่ กรุ๊ป ประเมินว่า AI ยังได้เข้ามาช่วยเรื่องงานวัสดุและงานออกแบบได้เป็นอย่างดี ดูได้จากเว็บไซต์ Wazzadu.com และ Wazzadu App ที่มีผู้เข้ามาใช้บริการจำนวนมากกว่า 1,000 โครงการต่อปี
ปัญหาส่วนใหญ่ที่สถาปนิกมักเผชิญคือ เรื่องของการดูแลจัดการแคตตาล็อกของตกแต่ง ตลอดจนการค้นหาไอเดียใหม่ๆ ในการสร้างสรรค์ผลงาน ซึ่ง Wazzadu.com สามารถเข้ามาช่วยแก้ปัญหาเหล่านี้ได้ โดยพัฒนาเทคโนโลยี AI Visual Recognition ขึ้นมา เพื่อช่วยค้นหาเทียบเคียงวัสดุตกแต่งที่ใกล้เคียงภาพถ่าย หรือภาพสามมิติที่เป็นต้นแบบ โดยระบบ AI นี้จะเรียนรู้วัสดุประเภทต่างๆ และนำไปเทียบเคียงกับวัสดุที่มีลักษณะใกล้เคียงกับของซัพพลายเออร์ที่อยู่ในระบบ ช่วยประหยัดเวลาและช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานให้ดียิ่งขึ้น
Bitcoin & Cryptocurrency การปฎิวัติเพื่ออสังหาริมทรัพย์
ปัจจุบันเทคโนโลยี Blockchain เข้ามาพลิกโฉมให้สามารถแลกเปลี่ยนมูลค่าบนอินเทอร์เน็ตได้ (Internet of Value)
จิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา ผู้ร่วมก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บิทคัพ แคปปิตอล กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ กล่าวว่าการแปลงสินทรัพย์ให้อยู่ในรูปแบบดิจิทัล (Tokenization) สามารถทำธุรกรรมได้ตลอดเวลา ซึ่งมีความน่าเชื่อถือ และมีมูลค่าเท่ากับมูลค่าในโลกจริง ต่างจากธุรกรรมทางการเงินแบบเดิมที่ยังมีข้อจำกัดด้านเวลาและค่าใช้จ่าย ซึ่งในอนาคตอาจมีการผสานการทำงานร่วมกันระหว่าง Blockchain และ IoT ให้ผู้อยู่อาศัยใช้ชีวิตได้สะดวกสบายมากขึ้น
ทั้งนี้ ในวงการอสังหาริมทรัพย์เริ่มมีการนำคอนโดฯ และอาคารมาแปลงเป็นสินทรัพย์ดิจิทัลในรูปแบบ Fractional Ownership แบ่งกรรมสิทธิ์ห้องพักให้มีเจ้าของร่วมกันได้หลายคน แล้วปันผลประโยชน์จากค่าเช่าตามสัดส่วนการลงทุน ซึ่งจะช่วยให้ผู้คนเป็นเจ้าของห้องพักได้โดยไม่ต้องจ่ายเต็มจำนวนมูลค่าสินทรัพย์นั้นๆ
การระดมทัพ 21 กูรูระดับแนวหน้าของไทย อาทิ พรนริศ ชวนไชยสิทธิ์ นายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย, อัญญาพร ธรรมติกานนท์ กรรมการผู้จัดการ และผู้ก่อตั้งบริษัท อเกต คอมมิวนิเคชั่น จำกัด เป็นต้น มาร่วมงานสัมมนาออนไลน์ในรูปแบบ Free Webinar โดย บริษัท พีเพิลสเคป จำกัด หรือ PEOPLESCAPE ในเครือ บริษัท เมเจอร์ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) ภายใต้ชื่อ “Transforming Real Estate Thailand Forum 2021” ในครั้งนี้ นับเป็นการช่วยเปิดมุมมองและยกระดับองค์ความรู้ให้แก่ผู้ที่เกี่ยวข้องกับระบบนิเวศอสังหาริมทรัพย์ (Real Estate Ecosystem) ให้สามารถนำพาองค์กรปรับตัวสู่อนาคตได้อย่างแข็งแกร่ง แต่การทรานส์ฟอร์มสำหรับภาคอสังหาฯเป็นเรื่องที่สำคัญและยังคงต้องเฝ้าติดตามอย่างใกล้ชิด เพราะในยุคของ Now Normal เป็นยุคที่ใครสามารถปรับตัวและเรียนรู้ได้เร็ว ก็จะอยู่รอดและเติบโตได้อย่างยั่งยืน