สัมภาษณ์: เกศรินทร์ กลิ่นฟุ้ง เจ้าของแบรนด์สินค้าชุมชน “พอ D คำ by.แม่หนิงภูดอย”
โดย ดร.นงค์นาถ ห่านวิไล
ดร.นงค์นาถ : กว่าจะมาเป็นแบรนด์ พอ D คำ by. แม่หนิงภูดอย เส้นทางขรุขระแค่ไหน
คุณเกศรินทร์ : เราทำขนมคุกกี้ไส้สับปะรด เริ่มต้นตั้งใจทำขนมให้ลูกชายทาน ทำขนมให้ลูกก็จะใส่ใจทุกกระบวนการทั้งการเลือกหาวัตถุดิบ กระบวนการผลิต เพราะทำให้กับลูก คนในครอบครัวทาน แล้วก็แนะนำให้กับเพื่อน คนรู้จัก จนวันหนึ่งรสชาติโอเค ทำขายได้ เลยได้ฝากขายตามร้านกาแฟ ร้านขายของฝาก ร้านอาหาร ร้านก๋วยเตี๋ยวในละแวกชุมชน นี่คือจุดเริ่มต้น ก็เป็นรายได้เสริมเล็กๆ เพราะตอนกลางวันก็ทำงานประจำ ตอนกลางคืน เสาร์-อาทิตย์ก็ทำขนม
จนกระทั่งเมื่อปี 2561 มีโอกาสได้เข้าร่วม “โครงการพลังชุมชน” ซึ่งเป็นโครงการของทาง SCG ที่เข้ามาให้ความรู้และพัฒนาสินค้า หรือหาสินค้าในชุมชนที่เราอยู่ว่าเรามีสินค้าอะไรและนำไปพัฒนาต่อยอดให้คุณภาพดีขึ้น ผลิตได้มากขึ้น จากเดิมที่เราทำคุกกี้เป็นรูปตัวหนอนรังไหมไส้สับปะรด มันก็จะดูธรรมดา แต่พอได้มาเข้าร่วมโครงการนี้ เขาก็ให้โจทย์มาว่าขนมรูปแบบธรรมดานี้ เราสามารถพัฒนารูปแบบสินค้าให้มีความโดดเด่น มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวอย่างไร
ในที่สุดได้ไอเดียทำเป็นรูปกุ๊กไก่ เพราะเราฝันไว้ว่า ถ้าวันหนึ่งมีคนมาเที่ยวลำปางแล้วซื้อขนมไปฝากคนอื่น นอกจากของฝากประจำถิ่น คือ ข้าวแต๋นน้ำแตงโม แล้วในถุงของฝากนั้นเราอยากเห็นคุกกี้รังไหม หรือขนมคุกกี้ไส้สับปะรดของเราอยู่ในถุงนั้นด้วย และที่จากหนอนพัฒนามาเป็นไก่ เพราะว่าลำปางมีไก่ขาวเป็นสัญลักษณ์ประจำจังหวัด และสับปะรดก็เหมือนเป็นพืชเศรษฐกิจของลำปาง นอกจากที่จะพัฒนารสชาติ รูปแบบหน้าตาที่เป็นเอกลักษณ์ของเรา เราก็มีมาตรฐานที่เข้ามารองรับในการผลิตเราก็เลยพัฒนาโดยมีเครื่องหมายทะเบียนอาหาร อย.เข้ามาการันตี เรื่องความปลอดภัยต่อสุขภาพ
ดร.นงค์นาถ : หลังจากได้เข้าร่วมโครงการพลังชุมชนแล้วได้นำความรู้ด้านการตลาด มาต่อยอดด้านการตลาด โดยเฉพาะช่องทางการจำหน่ายสมับใหม่ อย่างไรบ้าง
คุณเกศรินทร์ : ถ้ามองจากตัวสินค้า คือ ขนม นอกจากรูปร่างหน้าตาสวยงามแล้ว รักษาคุณภาพของขนม มีมาตรฐานรองรับ การทำการตลาดของเรานอกจากหลักๆแล้ว เราจะฝากขายตามร้านต่างๆ ร้านกาแฟและร้านของฝาก เพิ่มเติม คือ ขายทางออนไลน์ มีเพจ Facebook พอ D คำ byแม่หนิงภูดอย”
อย่างไรก็ตาม ในโครงการพลังชุมชนเขา ยังมีช่องทางในการจัดจำหน่ายสินค้า ก็จะเหมือนกับรวมสินค้าของสมาชิกในกลุ่ม ทั้งจังหวัดลำปาง กาญจนบุรี นครศรีธรรรมราช สระบุรี หลายๆจังหวัด ซึ่งมีสินค้าที่หลากหลายมากทั้งอุปโภคและบริโภค ขนมเราก็อยู่ในส่วนนี้ด้วยนี่ก็เป็นอีกหนึ่งช่องทางที่ทำให้คนจากที่อื่นๆ เห็นสินค้าเราแล้วทักเข้ามา สอบถามซื้อ ทั้งจากทางเราเองและทางกลุ่มเราด้วย เพจนี้ ชื่อ “ช้อปช่วยชุมชน”
ดร.นงค์นาถ :ช่องทางการจัดจำหน่ายโดยสรุปแล้วมีกี่ช่องทาง
คุณเกศรินทร์ : ทางหลักคือเพจ“พอ D คำ by. แม่หนิงภูดอย” https://web.facebook.com/MaeNingPhudoi Facebook คือ “แม่หนิง ภูดอย” https://web.facebook.com/profile.php?id=100007243150425สองอันนี้คือทางหลักของเราเอง และนอกจากนี้ยังมี“ช้อปช่วยชุมชน”ซึ่งเป็นของกลุ่มใหญ่ของทางสมาชิก และก็จะมีแต่ละเพจที่เขามีการขายออนไลน์กัน เราก็เข้าไปสมัครขายสินค้า ก็จะมียอดกลับมาบ้าง เหมือนกับเป็นช่องทางที่ทำให้คนเห็นสินค้าของเราหรือรู้จักเราได้มากยิ่งขึ้น
ดร.นงค์นาถ : ตอนนี้รายได้หลักๆ มาจากช่องทางใด
คุณเกศรินทร์ : ก็ยังคู่ๆกัน ออฟไลน์ กับ ออนไลน์ ปัจจุบันรายได้ที่ขายตามร้านก็ยังมีเข้ามาสม่ำเสมอ ส่วนทางออนไลน์ก็จะเป็นตามออเดอร์ ช่วงเทศกาลต่างๆ ปีใหม่ วาเลนไทน์ สงกรานต์นี่ ก็มีสั่งเข้ามาทางออนไลน์เยอะ
ดร.นงค์นาถ :ทราบว่า ขนมของ แม่หนิง ได้รับการคัดเลือกนำไปเสิร์ฟ ในที่ประชุม APAC 2022 ด้วยใช่ไหม
คุณเกศรินทร์ : ใช่ นี่เป็นอีกหนึ่งความภูมิใจของเรา เพราะเราไม่คิดไม่ฝันมาก่อนว่าขนมธรรมดาๆ จากจังหวัดลำปาง จากแม่ค้าคนหนึ่ง แล้ววันหนึ่งเรามีโอกาสได้ไปวางอยู่บนโต๊ะอาหารที่รับรองผู้เข้าร่วมประชุม APAC ซึ่งมาจากหลายประเทศทั่วโลก ณ วันนั้นที่เราเห็นภาพแล้ว ตื้นตันมากๆ สินค้าเรามันไปไกลมากจริงๆ ก็ด้วยแรงสนับสนุนจาก โครงการพลังชุมชน โดย SCG
ดร.นงค์นาถ : คิดว่าอะไรที่ทำให้ SCG เลือกขนมคุกกี้ไส้สับปะรดของแม่หนิงภูดอยขึ้นโต๊ะ APAC
คุณเกศรินทร์ : ด้วยคุณภาพของสินค้า เราไม่ได้มองว่าของเราดีที่สุด ในกลุ่มเราที่เข้าโครงการด้วยกันในแต่ละกลุ่มเขาก็จะมีสินค้าที่โดดเด่น มีคุณภาพในตัวเขาเอง แต่ ณ วันที่ทางผู้ใหญ่ได้ให้โอกาสสินค้าเรา เราคิดว่าส่วนหนึ่งมาจากความตั้งใจของเรา เราไม่เคยที่จะยอมแพ้ อย่างที่บอกไปว่าวันหนึ่งเรามีเป้าที่จะอยาก ได้ขึ้นทะเบียนอาหาร กับ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กระบวนการต่างๆ ก็ยากอยู่ แต่ว่าเราไม่เคยหันหลังให้กับปัญหา เต็มที่ในกับทุกๆสิ่งทุกโอกาสที่เข้ามา เพราะบางทีโอกาสก็ไม่ได้เข้ามาบ่อยๆ อย่าง APAC เหมือนกัน คงไม่ได้เปิดโอกาสให้เราบ่อยๆ
ดร.นงค์นาถ : คือทางที่ประชุม APAC เขาก็ส่งเสริมอำนาจทางเศรษฐกิจของสตรี แม่หนิงก็เป็นสตรีที่แข็งแกร่ง เป็นแม่เลี้ยงเดี่ยวด้วยใช่ไหม และส่วนหนึ่ง มาจากคุณภาพผลิตภัณฑ์ที่โดดเด่นด้วย
คุณเกศรินทร์ : ใช่ เหมือนกับว่าแต่ละโอกาสที่เข้ามามันก็เอื้อ และแต่ละรอบที่เข้ามามันก็เอื้อที่ให้ผู้ใหญ่เห็นความตั้งใจของเรา เราจะพุ่งชนทุกครั้งที่มีโอกาสเข้ามา
ดร.นงค์นาถ : ยุคนี้ถือว่าเป็นยุคดิจิตอลแล้วปรับตัวรับการเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้าง
คุณเกศรินทร์ : เมื่อก่อนที่โควิดเข้ามาแรกๆ ขนมที่เอาไปฝากตามร้านยอดตกลงมากเพราะร้านกาแฟลูกค้าไม่สามารถเข้ามาในร้านได้ พอลูกค้าไม่สามารถเข้าร้านได้เขาก็มองไม่เห็นขนมของเรา ยอดที่ขายได้ลดลงมาก ตอนนั้นจิตตกมาก เราเลยคิดแก้ปัญหา ตอนแรกเราแก้โดยเพิ่มช่องทางการขาย ก็มีออนไลน์ แท็กหาลูกค้าและอีกวิธีคือเพิ่มสินค้าจากตอนแรกเป็นรังไหมที่เราไปฝากขาย เราก็เพิ่มเป็นขนมเปี๊ยะสด ส่งวันต่อวันและเปลี่ยนวิธีขายจากไปฝากวางขายเฉยๆเราก็จะแท็กหาลูกค้า ไลน์หา อินบ็อกซ์หา ตอนแรกที่เปิดเตาขายขนมเปี๊ยะ เราได้ออเดอร์ 30 กล่อง ซึ่งมันว้าวมาก แค่เราเปลี่ยนวิธีการขาย เราก็เลยมองว่านอกจากเปลี่ยนวิธีการขายให้มันปรับเข้ากับแต่ละช่วงสถานการณ์แล้ว การเพิ่มชนิดของสินค้าก็เป็นอีกวิธีหนึ่ง คือนอกจากจะมีขนมของเราแล้วเรายังมีการรับขนมของสมาชิกในกลุ่มมาขายด้วย เรามั่นใจในคุณภาพของเขาอยู่แล้ว เราก็นำมารีแพคเกจเป็นสินค้าในแบรนด์แม่หนิงภูดอยด้วย มันเลยเพิ่มกลุ่มลูกค้าให้มีความหลากหลายมายิ่งขึ้น
ดร.นงค์นาถ : สินค้าชุมชนยุคใหม่เปลี่ยนไปอย่างไรบ้าง ทำไมคนต้องไปอุดหนุนสินค้าชุมชนในยุคนี้ WOW กว่าแต่ก่อนไหม
คุณเกศรินทร์ : ปัจจุบันสินค้าชุมชนในแต่ละสินค้า มีคุณภาพมากขึ้น มีความหลากหลาย ในแต่ละชุมชนมีจุดเด่นมากมาย แต่ไม่มีงบการตลาดโปรโมท เหมือนสินค้าแบรนด์ใหญ่ ยังดีที่ตอนนี้ ผู้บริโภค ซื้อได้ง่ายขึ้น มี ทั้งเพจ ทั้ง ช้อปออนไลน์ การที่ลูกค้ามาอุดหนุน ก็จะช่วยสร้างแรงใจให้เรา ในการผลิตสินค้าดีๆ พัฒนาสินค้าให้มีคุณภาพ มีแรงใจที่จะพัฒนาสินค้าให้ดียิ่งๆขึ้นไป และการที่ท่านๆ ช่วยช้อปสินค้าชุมชน ยังมีส่วนช่วยให้ คนตัวเล็กๆ ในชุมชน ได้มีโอกาสร่วมสร้างชุมชนให้เข้มแข็งด้วย