วช.ให้ทุนสมาคมกีฬาเครื่องบินจำลองและวิทยุบังคับ วิจัยโดรนใช้งานช่วยเกษตรบนดอยสูง และป้องกันอุบัติภัยพัฒนา มุ่งพัฒนาระบบซอฟต์แวร์ พร้อมเชื่อมต่อด้วยโครงข่ายการสื่อสารไร้สายระบบ network4G/5 ในการบังคับ โชว์บินบนดอยสะเก็ด ผ่านห้องสั่งการในเมืองหลวง
ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กล่าวว่า วช. ภายใต้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) มีบทบาทสำคัญในการให้ทุนสนับสนุนการวิจัยและนวัตกรรมที่สำคัญของประเทศ ที่ผ่านมา นวัตกรรมที่ วช.ให้การสนับสนุนได้นำไปต่อยอดและใช้ประโยชน์จริงหลายโครงการ อาทิ การสนับสนุนทุนวิจัยโครงการ “การถ่ายทอดเทคโนโลยีโดรนระบบอัตโนมัติเพื่อประยุกต์ใช้งานการพัฒนาพื้นที่สูง (การสำรวจ การเกษตร และการป้องกันอุบัติภัย)” ให้แก่ นายพิศิษฐ์ มิตรเกื้อกูล นายกสมาคมกีฬาเครื่องบินจำลองและวิทยุบังคับ หัวหน้าโครงการวิจัย และคณะ เพื่อพัฒนาเทคโนโลยีการบังคับโดรนอัตโนมัติระยะไกลให้ก้าวล้ำนำสมัยผ่านการสื่อสารไร้พรมแดนด้วยระบบ 5G และประยุกต์ใช้บริหารจัดการและกิจกรรมด้านงานพัฒนาในพื้นที่
ด้าน นายพิศิษฐ์ กล่าวว่า การใช้งานอากาศยานไร้คนขับ ยังพบข้อจำกัดในเรื่องของระยะทางการสื่อสาร เนื่องจากการควบคุมอากาศยานที่ต้องใช้วิทยุบังคับ ทำให้ประสบปัญหาด้านการสื่อสารการควบคุมระยะไกลที่เกินกว่าขอบเขต การควบคุมของรีโมทคอนโทรลซึ่ งโดยทั่วไปวิทยุบังคับจะสามารถส่งสัญญาณควบคุมได้ที่ระยะ 3-200 กิโลเมตร ทำให้เกิดความคลาดเคลื่อนในการสื่อสาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสื่อสารในพื้นที่สูง
ทีมนักวิจัยได้พัฒนาระบบซอฟต์แวร์ ซึ่งจะมีส่วนช่วยที่สำคัญที่ใช้ในการควบคุมอากาศยานผ่านศูนย์ควบคุม (control center) ที่เชื่อมต่อด้วยโครงข่ายการสื่อสารไร้สายระบบ network4G/5 ในการบังคับหรือสั่งการ “โดรน อากาศยานไร้คนขับ” (Unmanned Aerial Vehicle: UAV) สู่การต่อยอดและการพัฒนานวัตกรรมเทคโนโลยีที่มีความครอบคลุมพื้นที่ใช้งานทั่วทุกมุมโลกผ่านระบบการทำงานจากห้องควบคุมภาคพื้น ซึ่งเป็นการเปลี่ยนมิติใหม่ในการบังคับและควบคุมอากาศยานผ่านการสื่อสารที่ไร้พรมแดนด้วยระบบnetwork 4G/5G พร้อมโดรนอัตโนมัติแบบหลายใบพัด (multi rotor) และแบบปีกตรึง (VTOL) ที่สามารถครอบคลุมพื้นที่ใช้งานทั่วทุกมุมโลก ให้สามารถสื่อสารและสั่งการทำงานอากาศยานไร้คนขับในระยะไกลได้ตลอดเวลา
“นับเป็นการเปลี่ยนมิติใหม่ในการบังคับและควบคุมอากาศยานแบบไร้ขอบเขตจำกัดสามารถสั่งการบินและสื่อสารกับอากาศยานไร้คนขับได้ทุกที่ตลอดเวลา ก่อให้เกิดประโยชน์ในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมต่าง ๆ เช่น การใช้โดรนในทางการแพทย์ในการส่งอาหารให้กับผู้ป่วย การใช้โดรนในการประเมินสถานการณ์ในการป้องกันอุบัติภัยพร้อมทั้งการติดตั้งเสาส่งสัญญาณเพื่อแจ้งเหตุฉุกเฉิน กรณี ไฟป่า รวมไปถึงการใช้ในโดรนในการสำรวจเพื่อแก้ไขปัญหาทางเกษตรให้กับเกษตรกรด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัยสื่อสารฉับไวอย่างไร้ขีดจำกัด นวัตกรรมสุดล้ำทันสมัยนี้จะมีส่วนในการพัฒนาและส่งเสริมก่อให้เกิดการต่อยอดองค์ความรู้สู่วิวัฒนาการทางเทคโนโลยีใหม่ ต่อไป” นายพิศิษฐ์ กล่าว
คณะนักวิจัยพร้อมทดสอบประสิทธิภาพการทำงานระบบควบคุมอากาศยานไร้คนขับ (UAV) อัตโนมัติ ผ่านระบบเครือข่าย network 4G/5G ให้แก่คณะผู้บริหาร ผู้ทรงคุณวุฒิ วช. คณะสื่อมวลชน และประชาชนในพื้นที่ อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่ โดยการโชว์การควบคุมโดรนจากห้องสั่งการที่กรุงเทพมหานคร ผ่านระบบเครือข่าย network 4G/5G ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนบนพื้นที่ของประเทศไทยและทั่วทุกมุมโลกก็สามารถควบคุมและสั่งการโดรนได้ด้วยเทคโนโลยีสุดล้ำนำสมัย ก่อให้เกิดประโยชน์อย่างสูงสุดกับทุกภาคส่วน ประชาชน และประเทศชาติต่อไป