อว. หนุนผู้ประกอบการภาคเหนือ ใช้บริการ FOODBABR ตั้งเป้าปี 67 สร้างมูลค่าเพิ่มผลิตภัณฑ์อาหารกว่า 2,100 ล้านบาท

“ทิพวัลย์ เวชชการัณย์” ผอ. กลุ่มอุทยานวิทยาศาสตร์ อว. นำคณะลงพื้นที่เชียงใหม่ ติดตามผลการดำเนินงาน FOODBABR หลังเดินหน้าบริการห้องปฏิบัติการ 4 สายการผลิต หนุนพัฒนาผู้ประกอบการทั่วภาคเหนือ เพิ่มมูลค่าด้วยนวัตกรรมอาหารครบวงจร 

น.ส.ทิพวัลย์ เวชชการัณย์ ผู้อำนวยการกลุ่มอุทยานวิทยาศาสตร์ ภายใต้กองส่งเสริมและประสานเพื่อประโยชน์ด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กปว.) สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) พร้อมคณะ เดินทางมาตรวจเยี่ยมโรงงานต้นแบบนวัตกรรมอาหารครบวงจร  หรือ FOODBABR (Innovative Food Fabrication Pilot Plant) ที่อุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือ ต.แม่เหียะ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ โดยมี ผศ.ดร.ธัญญานุภาพ อานันทนะ ผู้อำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) และคณะผู้บริหาร รวมถึงเจ้าหน้าที่ ให้การต้อนรับ พร้อมบรรยายสรุปผลการดำเนินงาน และนำเยี่ยมชม

น.ส.ทิพวัลย์ เปิดเผยว่า FOODBABR อยู่ภายใต้การให้บริการโดยอุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มช. (STeP) ในฐานะแม่ข่ายดำเนินงานอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือ FOODBABR ถือเป็นองค์ประกอบสำคัญในการดำเนินแผนงานการยกระดับการวิจัยและพัฒนาของผู้ประกอบการด้วยเครือข่ายโครงสร้างพื้นฐาน ววน. (RD facilities Boost up) อันเป็นแผนงานที่สนับสนุนผู้ประกอบการได้พัฒนาผลิตภัณฑ์จากผู้ประกอบการให้สามารถเข้ามาใช้เครื่องมือ เครื่องจักร ที่อยู่ในห้องปฏิบัติการและโรงงานต้นแบบของมหาวิทยาลัย

น.ส.ทิพวัลย์ กล่าวว่า FOODBABR มีความสำคัญต่อการส่งเสริมและพัฒนาเป็นอย่างมาก จากบทบาททั้งด้านส่งเสริม และให้บริการภาคเอกชนในการสร้างผลิตภัณฑ์ต้นแบบด้านอาหาร และเครื่องดื่ม การแปรรูป และผลิตภัณฑ์อาหารที่มีมูลค่าสูง (High Value Added Product : HVA) ด้วยปริมาณการลงทุนที่เหมาะสม เพื่อให้บริการผลิตสินค้าที่มีคุณภาพและมาตรฐานแก่ผู้ประกอบการ และ Startup ในพื้นที่ภาคเหนือ รวมทั้งสนับสนุนผู้ประกอบการอาหารให้มีโอกาสในการขยายขนาดธุรกิจ ทำให้เพิ่มอัตราการลงทุน การจ้างงานในพื้นที่ พร้อมทั้งช่วยยกระดับให้ผู้ประกอบการอาหารในพื้นที่ให้สามารถแข่งขันในตลาดโลกได้อย่างยั่งยืน

FOODBABR มีการให้บริการ 4 ในสายการผลิต ได้แก่ 1. Acid Food Process กลุ่มกระบวนการผลิตอาหารแปรรูปประเภทปรับกรด เช่น น้ำผลไม้ เครื่องดื่ม ซอส แยม 2. Low Acid Food Process กลุ่มกระบวนการผลิตอาหารแปรรูปประเภทกรดต่ำ ที่มีค่า pH มากกว่า 4.6 และมีค่า Water Activity มากกว่า 0.85 ทั้งนี้ ไม่รวมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เช่น นม เครื่องดื่มในภาชนะบรรจุปิดสนิท อาหารในภาชนะบรรจุปิดสนิท

3. Dehydration Process กลุ่มกระบวนการผลิตอาหารแปรรูปประเภทการทำแห้ง หรือการลดความชื้นของอาหารด้วยการระเหยน้ำด้วยวิธีอบแห้ง เช่น ผลิตภัณฑ์ชงละลาย อย่างนมผง ชาผง กาแฟผง ผักผลไม้อบแห้งด้วยเทคนิคต่างๆ แคปซูล สมุนไพรอัดเม็ด นมอัดเม็ด สารสกัด และ 4. Advanced and Nutraceutical Food Process กลุ่มกระบวนการผลิตอาหารแปรรูปด้วยเทคโนโลยีขั้นสูง เช่น Premium quality product สารสกัด สารให้กลิ่นรส โดยไม่ใช้ความร้อนผลกระทบเชิงเศรษฐกิจ

ผู้อำนวยการกลุ่มอุทยานวิทยาศาสตร์กล่าวย้ำว่า คาดว่า ในปี พ.ศ. 2567 FOODBABR จะสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ผลิตภัณฑ์อาหารที่เข้ารับบริการได้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 10 หรือคิดเป็นมูลค่ากว่า 2,100 ล้านบาท โดยสามารถสร้างโอกาสให้แก่ผู้ประกอบการในการเข้าถึงเครื่องมือในกระบวนการแปรรูปอาหารที่ทันสมัยจากภาครัฐได้ไม่น้อยกว่า 700 ราย พร้อมสร้างการจ้างงานในกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารจาก SMEs และ Startup เขตพื้นที่ภาคเหนือได้ถึง 1,600 อัตรา


 

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *