เปิดโมเดล “ภูมินคร” ปั้นของกินพื้นบ้าน สู่สินค้าอัตลักษณ์ชุมชน

สัมภาษณ์: คุณมณฑา นาคฤทธิ์ ประธานวิสาหกิจชุมชนภูมินคร (กลุ่มสตรีเทศบาลตำบลถ้ำใหญ่) .นครศรีธรรมราช

โดยดร.นงค์นาถ ห่านวิไล

วิสาหกิจชุมชนภูมินคร (กลุ่มสตรีเทศบาลตำบลถ้ำใหญ่) ผลิตเเละเเปรรูปผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร สินค้าที่ผลิต ได้เเก่ ข้าวกรอบรสต้มยำกุ้ง ผัดหมี่ปักษ์ใต้ ยำมะมุด มะมุดเเช่อิ่ม เเยมมะมุด เเกงพุงปลากึ่งสำเร็จรูป เเกงเคยปลากึ่งสำเร็จรูป  อาหารเหล่านี้ ล้วนเป็นของกินพื้นบ้านของคน “เมืองคอน” แต่แทนที่จะทำกินกันในครัวเรือน หรือ ทำขายตลาดนัด คุณมณฑา นาคฤทธิ์ ซึ่งเคยลงพื้นที่ช่วยงานสามี อดีตนายกเทศมนตรี เทศบาลตำบลถ้ำใหญ่ อ.ทุ่งสง จ.นครศรีธรรมราช ทำให้เกิดไอเดีย คิดพัฒนาอาหารพื้นบ้าน เพื่อให้คนในชุมชนมีงานทำ และเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับอาหารพื้นบ้าน เป็นการ “ปั้นของกินพื้นบ้าน สู่สินค้าอัตลักษณ์ชุมชน” ส่งขายทั่วประเทศ และกำลังมองหาลู่ทางเพื่อส่งออกอีกด้วย 

ชวนติดตาม เรื่องราว บทสัมภาษณ์คุณมณฑา นาคฤทธิ์ ประธานวิสาหกิจชุมชนภูมินคร (กลุ่มสตรีเทศบาลตำบลถ้ำใหญ่)   

ดร.นงค์นาถ: วิสาหกิจชุมชนภูมินคร กลุ่มสตรีเทศบาลตำบลถ้ำใหญ่ เริ่มต้นมาอย่างไร

คุณมณฑา: เริ่มแรกได้ก่อตั้งกลุ่มสตรีขึ้น ตั้งแต่ปี 2557 โดยได้แนวคิดส่วนหนึ่งมาจาก สามี ซึ่งตอนนั้น เป็นนายกเทศมนตรี เทศบาลตำบลถ้ำใหญ่ ช่วงนั้นในตำบลของเราจะไม่มีสินค้าที่ได้ขึ้นทะเบียน OTOP เลย ถ้ามีแขกบ้าน แขกเมืองมา ก็จะไม่มีของฝากที่จะจัดกระเช้ามอบเป็นของขวัญ และจากการที่ได้ลงพื้นที่ติดตามสามีก็รู้สึกว่าอาชีพหลักของคนที่นี่ คือ การกรีดยาง ผู้หญิงจะมีช่วงเวลาว่าง หลังกรีดยางเสร็จ และรายได้จากการกรีดยางก็ไม่เพียงพอในการเลี้ยงครอบครัว เพราะช่วงหลังราคายางตกมาก

พอเราตกผลึกแนวคิดตรงนี้ ก็ลงมือจัดตั้งกลุ่มสตรี รวมผู้หญิงจากทั้ง 28 ชุมชน ในเขตเทศบาล โดยมีสมาชิกทั้งหมด 30 คน รวมตัวกัน และได้ไปเรียนรู้กับอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย วิทยาเขตนครศรีธรรมราช ซึ่งมี ผศ.พูลทรัพย์ อินทร์สังข์ คณะอุตสาหกรรมเกษตร เป็นผู้ให้ความรู้ในการแปรรูปผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร แปรรูปตั้งแต่ ข้าว มะมุด และอื่นๆ

ดร.นงค์นาถ: เริ่มต้นที่ผลิตภัณฑ์ใดก่อน

คุณมณฑา: ตัวแรกที่เริ่มทำ คือ  นำข้าวสังข์หยด ซึ่งเป็นข้าวที่อร่อยของภาคใต้ มาแปรรูปเป็นข้าวกรอบ “รสต้มยำกุ้ง” รสชาติกลมกล่อม ได้รับการตอบรับดี และยังจำหน่ายอยู่จนถึงทุกวันนี้

ดร.นงค์นาถ: หลังจากนั้นพัฒนาผลิตภัณฑ์อื่นๆต่อไปอย่างไร

คุณมณฑา: หลังจากที่เราได้เรียนรู้มาหลายปี มีงบประมาณสนับสนุนทั้งจากเทศบาล และจากบริษัท SCG  เราได้นำมาต่อยอดสร้างอาคารผลิต  เพื่อให้ได้มาตรฐาน ตอนนี้ทางกลุ่มวิสาหกิจชุมชนภูมินครของเราได้รับมาตรฐานสินค้าอาหาร จาก สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) 4 ผลิตภัณฑ์ แล้ว

ดร.นงค์นาถ: ตอนนี้มีผลิตภัณฑ์กี่ตัวแล้ว

คุณมณฑา: ตัวแรกคือ ข้าวกรอบรสต้มยำกุ้ง จากนั้น ก็มีการพัฒนาอาหารพื้นถิ่นเรา เพิ่มอีก มี ผัดหมี่ปักษ์ใต้ แปรรูป มะมุด คือ ยำมะมุด แกงพุงปลาสำเร็จรูป แกงน้ำเคย หรือ แกงเคยปลา มีข้าวยำปักษ์ใต้ รวมแล้วมีสินค้าประมาณ 8 ตัวในขณะนี้

ดร.นงค์นาถ: ทราบว่าข้าวกรอบรสต้มยำกุ้ง กำลังจะพัฒนาให้เป็นสินค้าขึ้นชื่อของที่นี่  มีแผนอย่างไรบ้าง

คุณมณฑา: มีแผนส่งไปขายต่างประเทศ  คือ เราคิดว่า “ต้มยำกุ้ง” เป็นอาหารที่เป็นที่รู้จัก ของชาวต่างชาติอยู่แล้ว ถ้านึกถึงประเทศไทยก็ต้องนึกถึงต้มยำกุ้ง เราเลยคิดว่า ข้าวกรอบของเรา รับประทานได้ ครบเครื่องทั้งข้าว และรสชาติต้มยำกุ้ง ทานเล่นอร่อย เป็นกับแกล้มก็ได้

ดร.นงค์นาถ: ตอนนี้เตรียมการที่จะส่งออกไปประเทศไหนบ้าง

คุณมณฑา: เราวางแผนว่าจะส่งไปทางอินเดีย ออสเตรเลีย และที่อังกฤษ ตอนนี้อยู่ในขั้นเตรียมการความพร้อมให้ได้มาตรฐานด้านคุณภาพต่างๆ

ดร.นงค์นาถ: ผลไม้ที่มีเฉพาะที่ปักษ์ใต้ คือ “มะมุด” ทราบว่า ที่นี่ มีผลิตภัณฑ์ที่ต่อยอดจากผลมะมุด หรือ “ส้มมุด” ด้วย

คุณมณฑา: ใช่คะ เรามี มะมุด ที่เป็นผลไม้ประจำถิ่นภาคใต้เท่านั้น  โดย มะมุด ผลอ่อนนำมาแปรรูป เป็น มะมุดแช่อิ่ม  ส่วนผลที่เริ่มแก่ก่อนสุก มีรสเปรี้ยว กลิ่นหอมเฉพาะตัว นำมาทำเป็น มะมุดอบแห้ง มะมุดยำ ถ้าผลสุกเราก็นำมาทำน้ำปั่น ซึ่งมีวิตามินซีสูงมาก มีกากใยสูงด้วย และ นำมาทำเป็นแยมมะมุด รสชาติคล้ายๆ สับปะรดผสมกับส้ม หอมอร่อย ซึ่งผลิตภัณฑ์ทุกตัว บรรจุในแพคเกจจิ้ง ที่ สะอาด ปลอดภัย

ดร.นงค์นาถ: มีการส่งเสริมการปลูก มะมุด ด้วยใช่ไหม

คุณมณฑา: เรามีการส่งเสริมการปลูกในสมาชิกเรา เนื่องจากแต่ก่อนมีการโค่นทิ้งไป เพคาะคิดว่า ไม่มีมูลค่า แต่ตอนนี้ทางกลุ่มเรา ได้มีการรับซื้อ ก็ทำให้คนปลูกมีรายได้เพิ่มมากขึ้น วัตถุดิบก็มีมากพอต่อการผลิต

ดร.นงค์นาถ: ได้เข้าร่วมอบรม เรียนรู้ การทำการค้า การทำธุรกิจ กับ โครงการพลังชุมชนด้วยใช่ไหม

คุณมณฑา: ได้ไปร่วมเครือข่ายพลังชุมชน  ได้ความรู้ ได้วิธีคิดใหม่ๆ มาพัฒนาผลิตภัณฑ์ และส่วนหนึ่ง เราก็ได้ซื้อของต่างๆ จากกลุ่มเครือข่ายพลังชุมชนด้วย ของเราก็ส่งขายในเครือข่ายได้ด้วย

ดร.นงค์นาถ: สินค้าตัวอื่นๆ มีโอกาสโกอินเตอร์อีกไหม

คุณมณฑา: ผัดหมี่ปักษ์ใต้ ก็มีโอกาส ได้ทดลองส่งออกไปบ้างแล้วที่ออสเตรเลีย

ดร.นงค์นาถ: ได้รับผลกระทบจากวิกฤติ โควิด มากน้อยแค่ไหน ปรับตัวอย่างไร

คุณมณฑา: ได้รับผลกระทบเหมือนกับทุกๆ ที่ ปรับตัว โดยขายออนไลน์ มากขึ้น  ตอนนี้ลูกค้าส่วนใหญ่ก็มาจากทางออนไลน์  ส่วนยอดขายก็ตกไปเยอะ จะขายได้ช่วงเทศกาลหรือช่วงปลายปี เพราะสินค้าของเรา ส่วนมากจะเป็นของฝาก ตามสโลแกนที่ว่า “เป็นของกินก็ถูกปาก เป็นของฝากก็ถูกใจ”

ดร.นงค์นาถ: สามารถเข้าไปชมสินค้า และ สั่งซื้อได้ในช่องทางใดบ้าง

คุณมณฑา:  สั่งซื้อได้ที่เพจ วิสาหกิจชุมชนภูมินคร หรือ แอดไลน์ เบอร์ 086-898-0065, 084-838-5888 ทาง Shopee ทางไลน์ เครือข่ายพลังชุมชน และช้อปช่วยชุมชนของทาง SCG

คุณมณฑา: อยากฝากช่วยอุดหนุนสินค้าชุมชน เพราะจะช่วยสร้างแรงบันดาลใจให้กับเกษตรกร และคนในชุมชนให้มีรายได้ที่มั่นคง และยั่งยืน นอกจากนั้นจะได้ปลูกจิตสำนึกให้เด็กรุ่นหลัง รักบ้านเกิดเพื่อให้เขานำไปต่อยอดเติบโตอย่างยั่งยืนต่อไป


 

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *