สวนพุทธรักษาปลื้มเข้าร่วมโครงการวิจัย “ทุเรียนไทย สู่ทุเรียนโลก” ของวช.-มธ. ได้ทุเรียนคุณภาพเยี่ยม มีกลิ่นดอกไม้ ทานแล้วไม่เรอเหม็น ลูกค้าชอบยอดขายออนไลน์กระฉูด ทีมอาจารย์มธ.คิดค้นนวัตกรรมช่วยเกษตรกรเมืองจันท์ทำเกรดพรีเมียม รสชาติเทียบเคียงทุเรียนเมืองนนท์ ชูเทคโนโลยี สมาร์ท ฟาร์มเมอร์ และใช้แอปพลิคชั่นติดตามสภาพแปลง
ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และนายสุพจน์ ภูติเกียรติขจร รองผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี พร้อมด้วย ศ.ดร.ทพญ.ศิริวรรณ สืบนุการณ์ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและนวัตกรรม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์(มธ.) ร่วมเป็นประธานเปิดงาน และเยี่ยมชมนิทรรศการผลงานวิจัยและนวัตกรรม ทุเรียนไทย สู่ทุเรียนโลก ที่โรงแรมมณีจันทร์รีสอร์ท อ.เมือง จ.จันทบุรี เมื่อเร็วๆ นี้ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินงานในโครงการวิจัย เรื่อง “การพัฒนาเกษตรกรไทยสู่ smart farmer (กรณีศึกษาการพัฒนาเกษตรกรผู้ปลูกทุเรียนเพื่อการส่งออก)” ที่มี รศ.ดร.วรภัทร วชิรยากรณ์ สาขาวิชาเทคโนโลยีการเกษตร คณะวิทยาศาสตร์ฯ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นผู้บริหารจัดการโครงการวิจัย
ดร.วิภารัตน์ กล่าวว่า ทุเรียนเป็นผลไม้เศรษฐกิจส่งออกที่สำคัญของไทย จึงต้องพัฒนาทั้งระบบด้วยความร่วมมือของทุกฝ่ายบูรณาการทำงานร่วมกันทั้งภาควิชาการ หน่วยงานภาครัฐ จังหวัด เกษตรกร ภาคเอกชน ตั้งแต่การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต เน้นการผลิตที่สอดคล้องกับตลาดโดยยึดหลักตลาดนำการผลิต สร้างความมั่นคงของตลาดในประเทศและขยายตลาดต่างประเทศที่เป็นตลาดคุณภาพมากขึ้น
ซึ่งปัจจัยสำคัญคือการวิจัย พัฒนา ตลอดจนการใช้เทคโนโลยี และนวัตกรรมการจัดการสมัยใหม่ ในการบริหารจัดการสวนทุเรียน การจัดการผลผลิต การเพิ่มคุณภาพการส่งออก เพื่อเป็นตัวหนุนเสริมให้การทำการเกษตรมีคุณภาพสูง รวมถึงการจัดการองค์ความรู้ผ่านเทคโนโลยีและนวัตกรรมสมัยใหม่ที่อำนวยความสะดวกให้กับเกษตรกรสามารถเข้าถึงนำองค์ความรู้และนวัตกรรมไปใช้ในการบริหารจัดการให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพ
ด้านรศ.ดร.วรภัทร กล่าวเพิ่มเติมว่า มธ. ได้รับการจัดสรรทุนการวิจัยโครงการวิจัย จากวช. ภายใต้กรอบการวิจัยหลักการเพิ่มผลผลิตด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยี พัฒนางานวิจัยต่อยอดเป็น knowledge platform ที่เกษตรกรผู้ปลูกทุเรียนสามารถเข้าถึงและนำไปใช้ในการเพิ่มคุณภาพการผลิตให้เป็นไปตามมาตรฐาน ลดต้นทุนการผลิต และลดการใช้แรงงานด้วยการใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีต่าง ๆ เชิงบูรณาการ
รองรับมาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี มุ่งเน้นทำให้เกษตรกรเข้าถึงองค์ความรู้ และแก้ไขปัญหาการผลิต เพื่อให้เกษตรกรพัฒนาผลผลิตที่มีคุณภาพให้เป็นไปตามมาตรฐานสากลบนมาตรฐาน GAP ด้วยการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยี สมาร์ท ฟาร์มเมอร์เข้ามามีส่วนช่วยในการวิเคราะห์ข้อมูลผ่านระบบปฏิบัติทางการเกษตร Good agricultural Practice: GAP ที่ให้เกษตรกรสามารถกรอกข้อมูลผ่านการพูดผ่านแอปพลิเคชั่นในโทรศัพท์เคลื่อนที่
ทั้งนี้แอปพลิเคชั่นดังกล่าวจะมีส่วนช่วยในการประเมินสถานะของแปลงปลูกพืชในด้านต่าง ๆ รวมไปถึงการประเมินการใช้สารเคมีเกษตร ปุ๋ย ยาปราบศัตรูพืช และการปรับฮอร์โมนให้เหมาะสมกับพืชที่ผลิต พร้อมทั้งระบบตรวจติดตามสภาพแปลงปลูกพืชแบบ real-time และนวัตกรรม Basin fertigation model เพื่อเพิ่มผลผลิตให้ทุเรียนมีคุณภาพสูง ระบบ GIS-smart farming-iOT นวัตกรรมการจัดการโรครากเน่าโคนเน่า ทดสอบโรคหลังการเก็บเกี่ยว และนวัตกรรมการส่งออกทุเรียนผลสด ภายใต้อุณหภูมิต่ำด้วยนวัตกรรมภาชนะเก็บกลิ่นทุเรียนแกะเนื้อสดเพื่อการส่งออก ด้วยนวัตกรรมต่าง ๆ ก่อให้เกิดประโยชน์กับเกษตรกรผู้ปลูกทุเรียนทั่วทุกภูมิภาค และผู้ประกอบการส่งออกของไทยในระดับประเทศให้มีรายได้เพิ่มขึ้นต่อยอดสู่คุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน
นายสุพจน์ ภูติเกียรติขจร รองผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี กล่าวว่า จ.จันทบุรี ผลิตทุเรียนส่งออกถึง 70 กว่าเปอร์เซ็นต์ ที่ผ่านมานโยบายของผู้ว่าฯจันทบุรีคือ จะไม่ให้เกษตรกรตัดทุเรียนอ่อนขาย ซึ่งถ้าเจอถือว่ามีความผิดตามกฎหมาย เพื่อรักษาคุณภาพของทุเรียนเมืองจันท์
นายวัชชิระ สิทธิสาร เจ้าของสวนพุทธรักษาที่เข้าร่วมโครงการ อยู่ที่อ.ท่าใหม่ จ.จันทบุรี เปิดเผยว่า ผลการใช้นวัตกรรม Basin fertigation model โดยจำลองระบบการให้น้ำให้ปุ๋ยแบบธรรมชาติเหมือนการปลูกทุเรียนนนทบุรี และระบบ GIS-smart farming-iOT ทำให้ผลผลิตได้มากขึ้น และเป็นทุเรียนเกรดพรีเมี่ยม
ทุเรียนที่สวนใครได้กินต่างติดใจเพราะมีเนื้อกรอบนอกนุ่มใน ไม่เละ เนื้อละเอียดและแห้ง ไม่แฉะ มีสีเหลืองอ่อน เมล็ดเล็กและลีบ มีรสชาติอร่อย หวานมันกำลังดี ไม่หวานแหลมจนเกินไป และไม่มีกลิ่น ได้รับมาตรฐาน GAP ในขณะที่ราคาไม่แพงทุเรียนหมอนทอง 1ก.ก. ขาย ผ่านออนไลน์200 บาท รวมค่าส่ง ที่ผ่านมาลูกค้าสั่งจองจำนวนมากจนส่งไม่ทัน ตอนนี้ยังมีทุเรียนทยอยตัดไปได้เรื่อยๆ ยังสามารถสั่งมาได้เรื่อยๆ ติดตามได้ที่เพจของสวนพุทธรักษา
“ทุเรียนในสวนเนื้อที่ 19 ไร่ มีต้นทุเรียนหมอนทอง ชะนีและก้านยาว กว่า300 ต้น อาจารย์มธ.และลูกค้าที่ได้ชิมต่างบอกเป็นเสียงเดียวกันว่า รสชาติดีบางคนบอกไม่แพ้ทุเรียนเมืองนนท์ เพราะมีแป้ง 30 กว่าเปอร์เซ็นต์ขึ้นไป ที่สำคัญมีกลิ่นหอมของดอกไม้ กินไปแล้วจะไม่เรอเหม็นเหมือนทุเรียนทั่วไป ผมรู้สึกภูมิใจที่ได้ทำทุเรียนคุณภาพให้ลูกค้าได้กินกัน” นายวัชชิระ กล่าวและว่า ทุเรียนที่สวนพุทธรักษาราคาหลักร้อยแต่ได้รสชาติฟินถึงหลักหมื่น