“เราจะอยู่กับกาแฟไทยนี่แหละ ไม่มีนโยบายทำกาแฟนอกแต่อย่างใด เพราะเรามีส่วนได้ส่วนเสียโดยตรง ถ้ากาแฟไทยดีขึ้น โรงคั่วเราก็ดีขึ้น ถ้าเราใช้แต่กาแฟไทย ก็ไม่มีหน้าที่ไปพัฒนากาแฟนอก หรือไปตื่นเต้นอะไรกันมาก อนาคตก็จะช่วยกันพัฒนาคุณภาพให้ดีขึ้น อย่าให้ผิดที่ผิดทาง พยายามสร้างให้ไปในทิศทางที่ถูกต้อง ชีวิตต้องอยู่กับกาแฟไทยให้ได้ ถือเป็นการเดิมพันชีวิตอย่างหนึ่ง…”
เป็นประโยคที่ คุณอาคม สุวัณณกีฏะ (กี้) หัวหน้า Roast master โรงคั่วกาแฟปรีดา กับคุณธุมาวดี สุวัณณกีฏะ (ปุ๊ก) ผู้อำนวยการโรงคั่วกาแฟปรีดา และเลขาธิการสมาคมกาแฟพิเศษไทย พูดเป็นเสียงเดียวกันในวันทื่ให้สัมภาษณ์คอลัมน์ Good Morning Coffee เมื่อไม่นานมานี้
เกือบ 20 ปีจากร้านกาแฟเล็กๆ ของลำปาง มาสู่เส้นทางการพัฒนาคุณภาพกาแฟไทยแบบครบวงจรตั้งแต่ต้นทางยันปลายทาง ในวันนี้ไม่มีใครไม่รู้จักโรงคั่วกาแฟปรีดา (Preda Roasting House) และร้านโก๋กาแฟ ธรรมดาเป็นพิเศษ หรือ Go+ Cafe’ “จากธรรมดา…กลายมาเป็นพิเศษ” มีเรื่องราวความเป็นมาและเป็นไปอย่างไร คำตอบมีพร้อมอยู่แล้วใน 7 คำถามกับโรงคั่วกาแฟปรีดา
1.เรียนจบวิศวะฯด้วยกันทั้งคู่ แล้วไฉนจึงหันมาทำร้านกาแฟ?
คุณกี้ : ตอนเรียนปริญญาโทที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (บางมด) ก็เริ่มสนใจกาแฟ เลยคิดว่าจะทำงานในสายที่เรียนมา หรือมาทำร้านกาแฟที่ลำปางบ้านเกิด จังหวะนั้นพอดีคุณพ่อเสีย อยากกลับมาอยู่บ้านกับคุณแม่ จึงตัดสินใจมาเปิดร้านกาแฟ เพราะเห็นว่าลงตัว เป็นได้ทั้งธุรกิจส่วนตัว, ได้ทำในสิ่งที่ชอบ และมองเห็นโอกาสทางการตลาดเนื่องจากคู่แข่งมีน้อย แรกๆ ก็ทำร้านกาแฟสดแบบที่เปิดกันทั่วไป มีเครื่องชงเล็กๆ แบบโฮมยูส 2 ตัว เครื่องบดกาแฟยังใช้แบบมือหมุนคล้ายๆ เครื่องบดพริก เมนูก็เป็นพวกอเมริกาโน่และเอสเพรสโซ่ เมล็ดกาแฟนี่ใช้ “กาแฟไทย” อย่างเดียวเลย ขายกันแบบกึ่งๆ ลูกทุ่ง แก้วละ 20-25 บาทประมาณนั้น
สำหรับโรงคั่วกาแฟนั้น คิดว่าจะทำควบคู่กันตั้งแต่เปิดร้านใหม่ๆ แรกเริ่มเราทำเครื่องคั่วกาแฟขึ้นมาใช้เอง ไซส์ 2-3 กิโลกรัม จากนั้นก็ใช้เครื่องไทยประดิษฐ์ ตอนหลังปรับไปใช้เครื่องคั่วต่างประเทศ จากวันนั้นมาถึงวันนี้เปิดร้านและโรงคั่วมาก็เกือบๆ 20 ปีเข้าไปแล้ว
2.สนใจทำกาแฟพิเศษ (specialty coffee) กันตั้งแต่เมื่อไหร่ ?
คุณปุ๊ก : ประมาณสัก 7 ปีก่อนหน้านี้ ช่วงนั้นวิธีแปรรูปแบบแห้ง (dry/natural process) เริ่มเป็นที่รู้จัก เลยสั่งสารกาแฟโพรเซสนี้มาลองคั่ว พร้อมเริ่มฝึกฝนทักษะการ “แยกกลิ่นรสกาแฟ” (sensory skills) อาศัยพื้นฐานการชิมไวน์มาประยุกต์ใช้กับกาแฟ แนวคิดคือ จะขายกาแฟ คุณภาพกาแฟต้องเป็นตัวนำ
คุณกี้ : เดิมทีร้านโก๋ไม่ได้คั่วกาแฟแบบคั่วอ่อน เพราะเครื่องคั่วยังไม่มีประสิทธิภาพพอที่จะคั่วอ่อนให้อร่อย เลยยังไม่ได้ทำกาแฟพิเศษกัน เมล็ดกาแฟก็มีขายเฉพาะคั่วกลางกับคั่วเข้ม แต่มาถึงจุดหนึ่งเมื่อ 10 ปีที่แล้ว เราซื้อเครื่องคั่วตัวใหม่ที่มีสเกลเล็กลง เพื่อรับออเดอร์กาแฟพิเศษซึ่งตอนนั้นก็ยังมีจำนวนไม่มาก พอมีคั่วอ่อนเข้ามา กาแฟของร้านก็มีลูกเล่นและหลากหลายมากขึ้น อย่าง “โก๋ เบลนด์” ตัวหลักของร้านก็เปลี่ยนเลย สมัยก่อนใช้คั่วกลางกับคั่วเข้ม ตอนหลังมีคั่วอ่อนผสมทำให้มีมิติขึ้น
พอเริ่มมีความรู้ด้าน sensory skills ก็เลยตั้งโจทย์เล่นๆ ว่าเราลองโพรเซสกาแฟกันไหม เพราะรู้ถึงข้อจำกัดของเราว่าได้วัตถุดิบที่มีศักยภาพแค่นี้ จึงเริ่มไปขอซื้อเชอรี่กาแฟจากไร่ของเกษตรกร มาทำโพรเซสเองที่โรงคั่วเป็นปีแรก ประมาณปี 2560 ตอนนั้นจำได้ว่าเป็นฮันนี่โพรเซส พอลองเทสดูก็ร้อง “ว้าว” เลย
คุณปุ๊ก : วันแรกที่พี่กี้ชวนทำโพรเซส ถึงกับออกปากเลยว่า นี่เราต้องไปทำโพรเซสแล้วเหรอ เริ่มรู้สึกว่าชักเยอะ (หัวเราะ) แต่พอเราเข้าใจว่า โพรเซสกาแฟมันสำคัญยังไง ทำให้เวลาคุยกับเกษตรกรหรือลูกสวน สามารถบอกได้ว่าจุดไหนต้องระวัง ระวังเพื่ออะไร แล้วปลายทางได้อะไร ไม่ว่าคนดื่มกาแฟแบบไหน คั่วอ่อน/กลาง หรือคั่วเข้ม ควรจะได้รับกาแฟดีมีคุณภาพเหมือนกัน ซึ่งคุณภาพจะดีไม่ได้เลย ถ้าต้นทางไม่ดี
นอกจากนั้น จากประสบการณ์ที่ผ่านมาบอกเราว่า การคั่วไม่ได้ทำให้กลิ่นรสเปลี่ยนไปมากกว่านี้แล้ว อยากได้กาแฟแปลกกว่านี้ ต้องถอยลงไปลึกกว่านั้น ต้องไปต้นทางมากกว่านี้ นั่นคือต้องไปที่การโพรเซส
3.ช่วยเล่าเรื่องการนำศาสตร์การทำไวน์มาใช้กับกาแฟ
คุณปุ๊ก : การนำศาสตร์แห่งการทำไวน์ (terroir) มาประยุกต์ใช้กับการทำกาแฟ หรือการนำเอาความรู้เกี่ยวกับการหมัก (fermentation) มาใช้ในกระบวนการทำกาแฟ…ตอนแรกเราเข้าใจว่าเฟอร์เมนเทชั่นเกิดขึ้นเฉพาะในถังหมัก แต่พอได้ทดลองตากและทดลอง LTLH จึงพบว่า เฟอร์เมนเทชั่นไม่ได้แค่ที่การหมัก ยังสามารถเดินต่อได้ภายใต้การควบคุม เช่น พอหมักกาแฟเสร็จแล้วเรานำไปตากในห้อง LTLH คอนโทรลการหมักบนเตียงตากกาแฟ (drying bed) เราสามารถควบคุมสภาพแวดล้อมได้ ให้ผลของการหมักที่สร้างกลิ่นรส กลายเป็นโปรดักต์หรือวัตถุดิบที่ใช้ในการคั่ว ซึ่งเวลาดิมกลิ่นสารก็เป็นกลิ่นนึง พอเอาไปคั่วก็ได้อีกกลิ่นนึง แล้วตอนหมักกาแฟพิเศษ “Strawberry field” ก็ไม่ใช่จะมีเฉพาะกลิ่นสตรอว์เบอรี่ เราได้กลิ่นอื่นๆ ด้วย เช่น เบอรี่, แอปเปิ้ล และกุหลาบ
คุณกี้ : สายพันธุ์ยีสต์ที่ใช้ในการหมักกาแฟ เราจะเลือกจากในกลุ่มยีสต์ที่ไช้ทำไวน์กันอยู่แล้ว เรียกว่า “ไวน์ยีสต์” ซี่งเป็นกลุ่มยีสต์ที่นิยมนำมาใช้และได้ผลเกี่ยวกับอโรม่าและรสชาติ กาแฟที่ใช้ยีสต์หมักตัวแรกของร้าน ก็คือ “เพลิน” ใช้ยีสต์มาหมักกับกาแฟฮันนี่ โพรเซส สีเปลือกเชอรี่ออก ได้เม็ดพร้อมกับเมือก แล้วใช้เมือกเป็นวัตถุดิบให้ยีสต์ได้ใช้ผลิตกลิ่นรส เรียกว่า “ยีสต์ โพรเซส” วิธีถัดมาที่เราทำคือ “carbonic maceration” เป็นอีกเทคนิคจากไวน์ เป็นการหมักโดยที่ไม่ได้ใส่ยีสต์ลงไป หรือยังไม่ใส่ยีสต์ลงไป แต่ปล่อยให้เกิดการหมักในภาวะไม่มีอ๊อกซิเจนเลย มีแต่คาร์บอนไดออกไซด์ล้วนๆ ซึ่งจะให้กลิ่นรสกาแฟอีกคาแรตเตอร์นึง
พอทำทั้ง 2 แบบ ก็รู้สึกว่ามัน ว้าว ทั้ง 2 แบบ คาแรคเตอร์กาแฟก็แตกต่างกัน จึงเริ่มทำกันมาตั้งแต่ปี 2560
4.กับคำถามที่ว่ายีสต์ โพรเซส เข้าข่ายแต่งกลิ่นกาแฟไหม ?
คุณปุ๊ก : ก็เหมือนที่ “ซาช่า เซสติก” ผู้เชี่ยวชาญกาแฟพิเศษเคยเขียนเป็นบทความเอาไว้ แต่ถ้าให้พูดแบบเข้าใจง่ายๆ ก็คือ การเติมหรือแต่งกลิ่นเข้าไปนั้น จุดประสงค์คืออยากได้กลิ่นไหน ก็ใส่กลิ่นนั้นลงไป ตั้งใจให้กลิ่นอยู่ไปถึงปลายทาง แต่ว่าขั้นตอนการทำงานของยีสต์ หรือแบคทีเรีย หรือจุลินทรีย์ ที่ใส่ลงไปในกระบวนการโพรเซสเพื่อให้ปลายทางได้กลิ่นนั้น เราไม่ได้ใส่ลงไปตรงๆ จริงๆ ยีสต์หยุดทำงานและตายไปตั้งแต่ตอนที่จบโพรเซส มันสร้างสารให้กลิ่นรสต่างๆ ที่เกิดขึ้นระหว่างเกิดโพรเซส ตรงนี้เป็นต้นทุนของการคั่ว แต่ว่าพอเข้าสู่กระบวนการคั่ว สารพวกนี้ก็จะเปลี่ยนไปอีก
แต่การแต่ง สิ่งที่เราใส่ลงไปจะคงตัวอยู่จนถึงปลายทาง คอนเซปท์มันต่างกันโดยสิ้นเชิงอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นการแต่งกลิ่นด้วยสารสังเคราะห์หรือสารธรรมชาติก็ตาม เช่น เอากลิ่นคาราเมลใส่ลงไปในสารกาแฟตั้งแต่ก่อนคั่ว พอคั่วเสร็จก็ยังมีกลิ่นคาราเมลอยู่ ส่วนการเติมน่าจะหมายถึงการใส่อะไรลงไปในกาแฟที่ชงเสร็จแล้วมากกว่า เช่น น้ำผึ้ง เป็นต้น
คุณกี้ : อยากจะเปรียบเทียบง่ายๆ ว่า การใช้ยีสต์หรือจุลินทรีย์ที่จริงแล้วมันก็คือการแปรรูปอาหารแบบหนึ่ง อย่างการหมักนมที่ใส่แบคทีเรียพวกแล็กติกแอซิด สักพักหนึ่งนมก็กลายเป็นโยเกิร์ต โยเกิร์ตก็มีกลิ่นเฉพาะของมันเอง มีรสชาติเปรี้ยวอมหวาน การทำไวน์ก็เหมือนกัน เอาน้ำผลไม้มาใส่ยีสต์ลงไปสักพักหนึ่งก็กลายเป็นไวน์ผลไม้ นี่คือการแปรรูปอาหาร แต่ถ้าทำโยเกิร์ตแล้ว ใส่กลิ่นวานิลลาเข้าไปด้วยเพื่อปรุงแต่งให้กลิ่นนุ่มนวลขึ้น อย่างนี้เรียกโยเกิร์ตแต่งกลิ่น
กาแฟก็ไม่ต่างกัน การใส่ยีสต์ลงไปในกระบวนการโพรเซสก็เพื่อให้รสชาติสูงขึ้นหรือมีมิติมากขึ้น ทำแล้วมีกลิ่นรสชัดขึ้น ก็คือ “การแปรรูปอาหาร” ทั้งนี้ทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นการโพรเซสกาแฟแบบไหน เช่น หมักหรือตากแห้ง ก็มีจุลินทรีย์เข้ามาเกี่ยวข้องอยู่แล้วจะมากจะน้อย ดังนั้น ยีสต์ โพรเซส ก็คือ การเลือกจุลินทรีย์ ทำให้เราควบคุมหรือเลือกผลลัพธ์ได้ดีขึ้น เพราะเลือกใช้จุลินทรีย์ที่แข็งแรงและคุณภาพดี ปลอดภัยแน่นอน ก็เหมือนกับจุลินทรีย์ที่นำมาใส่ในอาหารประเภทอื่นๆ
5.จุดประสงค์ของการเปิดเพจ LTLH ทางออกของกาแฟไทย ?
คุณกี้ : เริ่มต้นจากที่เราสนใจจะแก้ปัญหาให้ลูกสวนและเกษตรกรชาวไร่กาแฟบนดอย ในเรื่องการตากและเก็บกาแฟ เราพบว่าเกษตรกรมีปัญหาเรื่องนี้กันมาก บางทีฝนตก ก็ตากกาแฟกันไม่ได้ เดี๋ยวก็เน่า เดี๋ยวก็ขึ้นรา เรื่องการเก็บรักษาก็เหมือนกัน ถ้าสต๊อกกาแฟไว้บนบ้านหรือใต้ถุน ก็เจอปัญหาด้านความชื้นในช่วงฤดูฝน เป็นความเสี่ยงที่เกษตรกรต้องแบกรับ เลยเป็นที่มาของการเปิดเพจรวมกลุ่มเพื่อระดมความคิดเห็นกัน โจทย์คือจะแก้ปัญหาอย่างไร มีทางออกตรงไหนบ้าง จึงขอคำปรึกษาเรื่อง drying (การทำแห้ง) จากอาจารย์ของผมท่านหนึ่งสมัยเรียนปริญญาโทที่บางมด จึงได้โซลูชั่น “การตากแบบ LTLH” มาเป็นตัวช่วย
LTLH หรือ Low Temperature, Low Humidity Drying คือ คือการตากกาแฟในสภาพอากาศเย็นและความชื้นต่ำภายใน “ห้องปิด” ที่สามารถควบคุมสภาวะการตากให้เป็นไปตามที่ต้องการ โดยเราใช้ห้องแอร์ที่มีอยู่แล้วมาปรับปรุงให้กลายเป็นห้อง LTLH ได้
ทีมโรงคั่วกาแฟปรีดาเริ่มค้นคว้าและพัฒนาเทคนิคการตากกาแฟในห้องแบบ LTLH ขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อปลายปี 2561 โดยสร้างห้องควบคุมอุณหภูมิและความชื้นเพื่อใช้ทดลองตากกาแฟโพรเซสแบบต่างๆ ทดลองและเก็บข้อมูลจนแน่ใจว่าการตากกาแฟภายในห้องนั้นสามารถทำได้ในต้นทุนที่ไม่สูงนัก
6.เหตุผลที่เลือกทำหรือขายเฉพาะกาแฟไทย ?
คุณกี้ : เดิมทีก็เคยลองมาบ้างกับกาแฟนอก พอมีเครื่องคั่วที่สามารถคั่วอ่อนได้ดี ก็ซื้อสารมาลองคั่วหลายตัวเลยแหละ ขายให้ลูกค้าบ้าง ชิมกันเองบ้าง ก็รู้ว่าเรามีศักยภาพทำได้ แต่หลังจากเริ่มทำโปรเซสแล้ว เราคิดต่อเลยว่า กาแฟไทยศักยภาพสูงมากทีเดียว สามารถทำให้มีคุณภาพสูงสู้กับกาแฟนอกได้แน่นอน การยกระดับจากแค่กาแฟเฉยๆ ให้มาเป็นกาแฟที่กินแล้ว“ว้าว” ต่างกันที่ “โนว์ฮาว” ถ้าเรามีองค์ความรู้ เราก็ทำได้หมด ที่ผ่านมาเพราะเราทำแบบเดิมๆกันมาตลอด ก็เลยได้รสชาติแบบเดิมๆ
คุณปุ๊ก : ภาพจำของกาแฟไทยสมัยก่อนซึ่งต้องบอกว่าเป็นกาแฟคอมม็อดดิตี้ เป็นกาแฟแมส ด้วยความที่เกษตรกรเรียนมาจากหลายที่ แล้วการถ่ายทอดองค์ความรู้ บางทีมีผิด มีถูก มีตกหล่นไปบ้าง คุณภาพกาแฟไทยโดยรวมจึงไม่เป็นที่ประทับใจ หนึ่งนั้นต้องสู้กับโรคราสนิม ดังนั้น จึงต้องใช้สายพันธุ์กาแฟที่มีความทนทานต่อโรค ซึ่งก็ต้องแลกมาด้วยกลิ่นรสที่ด้อยลงไปเป็นปกติ สองนั้นพอมาเจอกับโพรเซสที่ยังไม่ดีพอ ก็เลยกลายเป็นปัจจัยแง่ลบ แต่พอลองนำมาใช้วิธีโพรเซสสมัยใหม่ อย่างที่เราเปิดทำ วอช แม่เหาะ/ ดราย แม่เหาะ ที่กล้าทำขายเป็น “ซิงเกิ้ล ออริจิ้น” ก็เพราะในตัวกาแฟมีคาแรคเตอร์ของมัน เพียงแต่เราจะหาเจอไหม หรืออาจเจอแค่หย่อมๆ หนึ่งในสวนที่สายพันธุ์มันดี แล้วเกษตรกรเองก็ทำมาดีพอ
สมาคมกาแฟพิเศษไทย (SCATH) ที่ปุ๊กนั่งเก้าอี้เลขาธิการสมาคมฯอยู่ด้วย ได้ริเริ่มโครงการ coffee genetic map เพื่อจำแนกแยกแยะให้เกษตรกรไร่กาแฟทางภาคเหนือรู้ว่าตนเองกำลังปลูกสายพันธุ์อะไรอยู่ ให้ผลด้านความทนทานโรคอย่างไร ให้ผลด้านกลิ่นรสอย่างไร การขยายพันธุ์เป็นอย่างไร ในทางปฏิบัติก็ต้องไปเก็บตัวอย่างใบต้นกาแฟ มาเข้าห้องแล็บเพื่อตรวจดีเอ็นเอหาว่าเป็นสายพันธุ์อะไร ขณะเดียวกันก็ต้องดูกายภาพทรงต้นด้วย เพื่อเป็นอีกแนวทางในการพัฒนาคุณภาพของกาแฟไทยต่อไป
7.กาแฟตัวไหนของร้านที่ถือว่าป๊อปปูล่ามากที่สุด ?
คุณปุ๊ก : กาแฟของเรามีให้ลูกค้าเลือกหลายโปรไฟล์ทีเดียว แต่ที่ได้รับความนิยมก็ยังคงเป็นคั่วกลางกับคั่วเข้ม แต่ที่พูดถึงกันเยอะก็เป็นตัว “Strawberry field” กาแฟพิเศษจากเทคนิคการตากแบบ LTLH มีกลิ่นเด่นที่เป็นภาพจำคือ สตรอว์เบอร์รี่ มีรสเปรี้ยว สว่าง ซับซ้อน และหวานฉ่ำ อีกตัวก็เป็น “Plum” ที่หอมเด่นดอกและผลบ๊วย ก็เลยต้องแบ่งออกเป็น 2 ส่วนตามความชัดเจนของลูกค้า คือ ลูกค้าที่นิยมคั่วกลางกับคั่วเข้ม ชอบดื่มเอสเพรสโซ่ หรือใช้หม้อต้มม็อคค่า พ็อท กับลูกค้าที่ชอบกาแฟพิเศษที่ส่วนใหญ่ก็เป็นคั่วอ่อน อย่าง Strawberry field ก็เป็นกาแฟที่คนตอบรับกันเยอะ การสั่งจองทางออนไลน์ก็จะหมดเร็วมาก แต่เอาเข้าจริงๆ คนรุ่นใหม่ก็ดื่มเอสเพรสโซ่กันไม่น้อยนะ
เนื่องจากที่ผ่านมา Strawberry field ผลิตไม่เพียงพอกับความต้องการของลูกค้า ดังนั้น เพื่อแก้ปัญหานี้ ทางร้านก็พยายามทำเพิ่มขึ้น แต่ก็มีข้อจำกัดด้านกำลังคน จึงเพิ่มได้เพียงระดับหนึ่ง
สำหรับอนาคตต่อไปของโรงคั่วกาแฟปรีดาและร้านโก๋กาแฟ คุณกี้ ตั้งเป้าเอาไว้ว่า เส้นทางที่เรากำลังมุ่งหน้าไป คือ การเป็นโรงคั่วที่มีส่วนร่วมในการยกระดับมาตรฐานการทำงานของวงการกาแฟไทยให้ได้ ทั้งในส่วนบนดอยและส่วนของผู้บริโภค เนื่องจากเราอยู่ตรงกลาง จึงสามารถช่วยได้ทั้งสองฝั่ง ฝั่งบนดอยเท่าที่เราทำได้คือให้ความรู้กันต่อไป และพยายามสร้างเน็ตเวิร์คให้เข็มแข้งขึ้น ผ่านทางการดึงทุกฝ่ายๆทั้งเกษตรกรและคนทำโพรเซสให้มาแชร์ความรู้กันเพื่อพัฒนางานกัน อย่างที่ทำในเพจ LTLH เป็นต้น
ส่วนฝั่งผู้บริโภคที่เราพยายามไปต่อ ก็คือ ให้ผู้บริโภคหรือคนดื่มกาแฟมีส่วนกำหนดตัวโปรดักต์ได้ เช่น ตอนนี้เริ่มโปรเจกต์นำร่องที่เรียกว่า “50 Developers” ขอเชิญลูกค้า 50 ท่านมาสมัครชิมกาแฟ เราจัดส่งกาแฟแบบยีสต์ โพรเซสของแล็บเรา 3 ตัว ไปให้ช่วยชิม แล้วช่วยคอมเมนต์ อาจจะช่วยโหวตกันดูว่าตัวไหนชอบที่สุด จากนั้นเราก็มาดูว่าตัวไหนที่น่าจะพัฒนาหรือไปต่อได้
คุณปุ๊ก มองว่า โฟกัสการเข้าร่วมโปรเจกต์นี้น่าสนใจตรงที่ว่าเขาสนใจกาแฟไทย เขาสนใจการร่วมพัฒนากาแฟไทย พอมันเป็นคีย์เวิร์ดที่คนมากกว่าครึ่งพูดเหมือนๆกันแบบนี้มันเป็นพลัง เพราะว่าต้นน้ำไปไหนไม่ได้หรอก ถ้าปลายน้ำมองไม่เห็นคุณค่า
จึงเป็นอีกมุมมองที่น่าสนใจอย่างยิ่งของคนที่คลุกคลีอยู่กับวงการกาแฟไทยมานาน มีความตั้งใจอยากพัฒนาและหาทางออกให้กับกาแฟไทย หวังก้าวไปข้างหน้าพร้อมกับคำว่าคุณภาพในทุกๆมิติ ตั้งแต่เกษตรชาวสวนยันคนดื่มกาแฟ …ไม่มีสิ่งใดที่ทำไม่ได้ นอกจากไม่ได้ทำเท่านั้น….
หมายเหตุ : คอกาแฟสามารถติดตามโปรดักต์ของร้านได้ที่เพจ http://www.facebook.com/GoCafeLampang และเว็บไซต์ http://www.preda-roastinghouse.com
facebook : CoffeebyBluehill