สัมภาษณ์: ดร.ภญ.ผกากรอง ขวัญข้าว หัวหน้าศูนย์หลักฐานเชิงประจักษ์ด้านการแพทย์แผนไทย และสมุนไพร กลุ่มงานเภสัชกรรม โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร
โดยดร.นงค์นาถ ห่านวิไล
ดร.นงค์นาถ: มองการ “ปลดล็อกกัญชา” ในมิติทางการแพทย์ อย่างไร
ดร.ภญ.ผกากรอง: มองว่าเป็นทั้งโอกาส และความท้าทาย จะทำอย่างไรให้ประชาชนใช้ได้อย่างถูกต้อง ไม่นำไปใช้ทางที่ผิด ในส่วนของโอกาส ต้องยอมรับว่าในช่วง 3 ปีหลังนี้ จากที่เรา นำกัญชา มาใช้ในการแพทย์ ทางกระทรวงสาธารณสุข รวมถึงโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร เราก็มีการจัดการเรื่องของห่วงโซ่กัญชา ตั้งแต่เรื่องการปลูก การผลิต สกัด รวมถึงเรื่องของการใช้ด้วยซึ่งมีการประเมินผลว่าใช้ในโรคต่างๆ ที่ทางต่างชาติได้วิจัยมาบางส่วนกับองค์ความรู้แพทย์แผนไทยแบบดั้งเดิม โรคใดใช้ได้ และมีข้อจำกัดอะไร ก็เห็นถึงโอกาสที่จะนำมาใช้ในการแพทย์ได้หลายโรคโดยเฉพาะโรคที่ยาแผนปัจจุบันจะราคาแพง หรือโรคที่ยังไม่มียาที่ใช้รักษาที่มีประสิทธิภาพพอ
ดร.นงค์นาถ: ตอนนี้น่าเป็นห่วงแค่ไหนสำหรับการรับรู้เรื่องกัญชง กัญชา ของประชาชน
ดร.ภญ.ผกากรอง: จะมีจำนวนหนึ่งที่อาจจะเข้าใจไม่ถูกต้องว่ากัญชาน่าจะปลอดภัยถึงได้ถูกปลดออกจากสารเสพติดให้โทษ และนำไปใช้กัน แต่เมื่อเราพูดถึงเรื่องใดเรื่องหนึ่งมันก็ไม่มีอะไรที่ดีที่สุดหรืออะไรที่แย่ที่สุดมันก็มีทั้งสองด้าน ถ้าจะบอกว่าสิ่งนี้ดีไหม ก็จะเป็นในลักษณะความสัมพันธ์ในแง่ที่เปรียบเทียบกับอย่างอื่น กัญชา ในวันนี้ การทำให้เสพติดมีไหม ก็มี อาจจะน้อยกว่าบุหรี่ และเหล้า
ในเรื่องความสามารถของการทำให้ติดแต่ก็สามารถทำให้เสพติดได้ การสูบก็อาจจะมีผลในเรื่องหัวใจ และหลอดเลือด หรือการระคายเคืองทางเดินหายใจต่างๆ เพราะฉะนั้นอยากฝากประชาชนให้รับทราบ และเรียนรู้ข้อมูลจากภาครัฐ และดูจากหลายแหล่งเพื่อประกอบการตัดสินใจในการใช้รักษา อีกอย่างหนึ่งที่ต้องบอกประชาชนก็คือ ณ วันนี้เราให้ประชาชนปลูกได้ ไม่ได้หมายความว่าคลินิกกัญชาในการแพทย์ในโรงพยาบาลจะปิดไปก็ยังมี ถ้าท่านประเมินแล้วว่าปลูกแล้ว เรามีลูกเล็กที่บ้านการที่เราจะป้องกันการนำไปใช้ในทางที่ผิด อาจจะลำบาก บางทีคุณพ่อ คุณแม่ออกไปทำงานนอกบ้าน ก็ไม่ต้องปลูกก็ได้ เรามีผลิตภัณฑ์ทั้งที่สถานพยาบาล และในท้องตลาดให้ได้เลือกใช้
ดร.นงค์นาถ: การเริ่มต้นใช้กัญชาทางการแพทย์ควรมีแนวทางอย่างไร
ดร.ภญ.ผกากรอง: ในทางการแพทย์จะมีข้อบ่งชี้ที่ชัดเจน เราต้องรู้ว่าเราเป็นโรค หรืออาการอะไร เพราะว่าเวลาใช้เราต้องติดตามการใช้ ในทางการแพทย์จะมองอยู่ 3 เรื่อง เรื่องที่ 1 คือ ความปลอดภัย ซึ่งผู้ป่วยอาจจะมองเป็นเรื่องหลังๆ แต่ว่าบุคลากรทางการแพทย์ จะมองเรื่องความปลอดภัยเป็นเรื่องแรก ถ้าเกิดเรากินแล้วเสียชีวิต หรือ พิการ มันก็ไม่มีโอกาสได้รับประสิทธิผลในการรักษา เรื่องที่ 2 คือ ประสิทธิผลในการรักษา เรื่องที่ 3 คือ เรื่องความคุ้มค่า ในแง่ที่ว่าคุ้มค่าต่อชีวิต คุ้มค่าต่อเงินที่จ่าย บางครั้งผลิตภัณฑ์สุขภาพในท้องตลาดมีเยอะแยะ บอกว่าใช้ได้ผลดี ป้องกันโรคโน้นโรคนี้ได้ แต่งานวิจัยในปัจจุบันเขาชี้ให้เห็นแล้วว่าต้องเป็นการดูแลสุขภาพแบบองค์รวม กินให้ดี นอนหลับพักผ่อน การออกกำลังกายสม่ำเสมอ เพราะฉะนั้นถ้าไปซื้อผลิตภัณฑ์เพื่อป้องกันโรคในระยะยาวอาจจะไม่มีความคุ้มค่า ก็อยากให้ประชาชนประเมินใน 3 ประเด็นนี้ในเวลาที่จะใช้ผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพรวมทั้งกัญชาด้วย
ดร.นงค์นาถ: ทางโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ได้ศึกษาเรื่องกัญชามา 2 ปีกว่าแล้ว ผลที่ได้รับ จากการเดินหน้าบุกเบิกเป็นอย่างไรบ้าง
ดร.ภญ.ผกากรอง: อย่างแรกเรื่องประโยชน์ทางการแพทย์ อย่างตอนนี้ที่เราทำอยู่เห็นประโยชน์ใน 2-3 โรค อย่างที่ 1 คือ การช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิต ในผู้ป่วยกลุ่มที่เป็นประคับประคอง กลุ่มที่มีชีวิตอยู่อีกไม่นานแต่ว่าแนวทางการรักษาปัจจุบันก็จะพยายามให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดี และจากไปอย่างสงบ เพราะฉะนั้นในแง่ทางการแพทย์บางทีก็จะให้ยาเยอะมาก บางทีก็จะเจอ side effect และเจอทั้งค่ารักษาพยาบาลที่สูง แต่เราพบว่าตัวกัญชานี้ช่วยในหลายมิติคือ ปกติเวลาเราจะให้ยาจะค่อนข้างมีความเฉพาะเจาะจงจะให้ยานี้กับบางอาการ แต่ตัวกัญชาจะได้หลายอาการมากกว่าหนึ่ง เช่น ช่วยให้กินข้าวได้ ช่วยให้นอนหลับ ช่วยเรื่องการลดปวด ถึงแม้ว่าอาจจะไม่ได้ดีเท่ากับยาบางตัวที่เรามีในระบบบริการแต่มันก็ช่วยเสริมกันไปกับการรักษาและช่วยลดการใช้ยาอื่น
อย่างที่ 2 คือ เรื่องนอนไม่หลับ เรื่องนี้เป็นปัญหาของสังคมไทยมากเพราะคนไข้หลายคนเวลาเป็นโรคเรื้อรัง และมาที่โรงพยาบาลจะบอกว่า “หมออย่าลืมให้ยานอนหลับนะ ป้าต้องได้” เราก็เห็นการใช้ยา และเห็นคนไข้ที่ใช้ยานอนหลับ และหยุดยาได้ หลายคนที่อยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ก็หยุดการใช้ยาได้เมื่อเขาไม่ได้เป็นนอนไม่หลับเรื้อรัง
อย่างที่ 3 ที่เราเห็นอีกอันคือ เขาอาจจะมาช่วยในโรคที่เกี่ยวกับสมอง เช่น โรคพาร์กินสัน ลมชัก ซึ่งตรงนี้เรายังคงต้องติดตามการใช้เพราะว่ายาที่เราใช้กับผู้ป่วยอย่างมากที่สุดก็ 1 ปี ต้องติดตามว่าต้องชะลอการใช้ยาเคมีอื่นๆ หรือลดยาเคมีอื่นๆ ไปได้นานไหม แต่เราก็เห็นว่าบางอย่างนี้ กัญชาอาจจะไม่ใช่คำตอบที่ดีเท่าไร หรือเราอาจจะยังหาสูตรที่ดีไม่เจอก็ได้คือ เรื่องปวด เรื่องนี้เป็นที่น่าปวดหัวมาก เป็นเรื่องของปวดโดยเฉพาะโรคที่สัมพันธ์กับการอักเสบของระบบประสาทพวกนี้กัญชาก็ใช้ได้ดี แต่ว่าไม่ได้เหมือนกับกลุ่มประคับประคองพวกนี้จะเห็นผลไปในทิศทางเดียวกัน แต่ว่าเรื่องปวดยังค่อนข้างขึ้นๆ ลงๆ ผู้ป่วยหลายรายก็ใช้ได้ผลดีแต่บางคนก็ไม่ได้ใช้เหมือนกัน อย่างนี้เป็นสิ่งที่เราอยากจะทำ และในอนาคตก็คิดถึงเรื่องสะเก็ดเงินที่คนไทยเราเป็นค่อนข้างเยอะ และเราก็กำลังพัฒนากันอยู่
ดร.นงค์นาถ: ตั้งแต่เริ่มการใช้กัญชามาปรุงเป็นยานี้ ทางโรงพยาบาลได้รักษาผู้ป่วยไปจำนวนมากแค่ไหน มีโรคอะไรบ้างที่หายเป็นปกติ จากการดูแลรักษาด้ยกัญชาแท้ๆ พอที่จะสามารถระบุได้ไหม
ดร.ภญ.ผกากรอง: นอกเหนือจากที่เรารักษาคนไข้ของเราเอง เราก็มียาที่เราผลิตส่งไปให้โรงพยาบาลอื่นๆ ในกระทรวง น่าจะหลายหมื่นรายที่ยาเราไปถึง การใช้ในกระทรวงสาธารณสุข ก็จะใช้ในแนวทางของที่กระทรวงกำหนดซึ่งส่วนใหญ่ก็จะเป็นโรคเรื้อรัง โรคที่ไปใช้ยาอื่นแล้วไม่ได้ผล เราก็เห็นว่ายากัญชาที่เราให้ไป มันก็อาจจะไม่ได้เรียกว่ารักษาโรคให้หาย เพราะว่าหลายโรคเราไม่ได้เรียกว่ามันรักษาได้ แต่ว่ามันช่วยในเรื่องการลดใช้ยาเคมีอื่นๆ รวมทั้งบรรเทาอาการนอนไม่หลับ
ตามแพทย์แผนไทยบอกว่ายากัญชาช่วยเรื่องนอนไม่หลับเราก็เห็นเป็นแนวทางแบบนั้น และผู้ป่วยหลายรายก็หยุดการใช้ยาทั้งยานอนหลับและยากัญชาได้ แต่ว่าเราก็ยังคงต้องศึกษาวิจัยเพิ่มเติมเพราะว่าอาการนอนไม่หลับซับซ้อน ในทางการแพทย์เขาจะต้องการหลักฐานที่ค่อนข้างมาก เพื่อที่จะสรุปได้ว่ามันรักษาโรคนี้ได้และโดยเฉพาะการวิจัยที่มีกลุ่มควบคุมเพราะว่าการใช้ในระบบบริการสุขภาพเราไม่มีกลุ่มควบคุม เราก็ถามผู้ป่วย และประเมินจากอาการต่างๆ เพราะฉะนั้นแล้วการที่จะสรุปว่ากัญชารักษาโรคอะไรได้บ้าง ก็จะเร็วเกินไป อาจจะไม่สามารถสรุปได้ว่าตัวยากัญชาที่เรามีรักษาโรคได้เด่นชัด แต่มีแนวโน้มที่ดี ซึ่งเราจะทำกันต่อโดยเฉพาะในเรื่องการนอนไม่หลับเพราะว่าเราคิดว่าเป็นปัญหาของคนทั่วโลก ถ้าเราสามารถทำตรงนี้ได้มันก็จะช่วยทั้งสุขภาพและเศรษฐกิจ
ดร.นงค์นาถ: ผลิตภัณฑ์หรือยาที่อภัยภูเบศร กำลังจะออกมาหลังจากนี้ มีอะไรเพิ่มเติมอีกบ้าง
ดร.ภญ.ผกากรอง: ส่วนที่เราจะดำเนินงานต่อในอนาคต เราคิดอยู่ 2-3 เรื่องด้วยกัน อย่างแรกคือ ที่กล่าวไปแล้วคือ โรคสะเก็ดเงิน เรามีประสบการณ์การใช้ยาตำรับแพทย์แผนไทยในการที่จะรักษาผู้ป่วย กลุ่มนี้เราจะไม่ได้มียาทางเลือกให้มาก ส่วนใหญ่ก็จะกินยากลุ่มพวกสเตียรอยด์เข้าไปกดภูมิคุ้มกันไม่ให้มันทำงานมากเกินไป ด้วยความที่เป็นโรคที่ไม่ได้มียาให้เลือกมากนัก ถ้าเราเป็น และอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ก็ใช้ยากลุ่มนี้ได้ แต่เรากำลังมองว่าทางแผนไทยก็มีวิธีการ คนไข้ 500-600 ราย ที่เราเก็บข้อมูลมาว่ายากินที่เราให้ไปมันจะไปกระทุ้งตัวพิษที่เขาเชื่อตามองค์ความรู้แพทย์แผนไทยนี้มาได้ มีกลุ่มที่เป็นน้อยๆ อาการยังไม่เยอะ อาจจะไม่จำเป็นต้องกินยา
เราก็คิดว่ากลุ่มกัญชากับขมิ้นที่เราจะทำเป็นครีมน่าจะช่วยได้ ไม่ต้องกินเข้าไป ถึงแม้จะเป็นสมุนไพรแต่การกินก็อย่างที่บอกไปว่ามันผ่านตับ ไตทั้งสิ้น ยาทาภายนอกก็จะมีความปลอดภัย อย่างที่ 2 อย่างที่บอกพวกนอนไม่หลับ เราอยากจะทำกับคุณหมอแผนปัจจุบัน เขาก็กังวลก็คือ กัญชาจะไปมีผลต่อความทรงจำในระยะยาว มันมีตัวชี้วัดที่บอกได้ เอาคนไข้มานอนในห้องแล็บ คนไข้จะมีช่วงนอนเป็น 2 ช่วง ช่วงที่เราหลับไม่สนิทและยังมีการกะพริบตาถึงแม้จะหลับก็ตามแต่ตาไม่กะพริบ ดูว่ามันมีผลต่อความจำไหม อันนี้ก็เป็นแผนที่เราจะทำ
อีกส่วนหนึ่งที่เราคิดว่าจะทำก็คือ การเอาตัวกัญชามาทำเป็นธุรกิจเสริมสุขภาพ เนื่องจากว่าตัวกัญชาตามองค์ความรู้แผนไทยนี้ เรามีวิธีคิดต่างจากฝรั่ง เราใช้ปริมาณไม่เยอะ และใช่ร่วมกับสมุนไพรตัวอื่นในเรื่องของการปรับเลือดลมแต่ว่าเราไม่ใช้ได้ทุกคน เราจะขายความเป็นทฤษฎีแผนไทย ต้องมาตรวจร่างกายกับเราก่อน ถ้าคุณเป็นวาตะคือ มีธาตุลมกำเริบแล้วคุณถึงจะใช้กัญชาได้ แล้วกัญชาที่เราให้ใช้มีอะไรบ้าง อันนี้เป็นแพลนที่เรากำลังจะทำ
ดร.นงค์นาถ: โรงพยาบาล เจ้าพระยาอภัยภูเบศร มี สปากัญชา ด้วยใช่ไหม กำลังจะพัฒนา ช่วยผลักดันด้านเศรษฐกิจ อย่างไรบ้าง
ดร.ภญ.ผกากรอง: กัญชาเป็นกิมมิก ในการเรียกลูกค้าได้ อย่างตอนที่เราทำร้านอาหารกัญชาก็มีชาวต่างชาติติดต่อเข้ามาเยอะมากบอกว่า ถ้าเปิดประเทศต้องมาที่เราเลย ต่างประเทศก็มาทำข่าว เราบอกว่าถึงเวลานั้นในประเทศไทย ก็คงมีหลายคนที่ทำ ก็ไปกินที่ไหนก็ได้ แต่เขาก็สงสัยว่าทำไมต้องใส่ใบไม่ใส่ดอก สาระสำคัญมันน้อย เราก็บอกว่าความรู้ของใยเราไม่ได้ต้องการกินให้มันไฮหรือให้เมาแต่เรากินเพราะปรับเลือดลม และเราก็มีมาตรการในเรื่องการคัดกรองคน การติดตามความปลอดภัยต่างๆ
เพราะฉะนั้นเราจะเห็นได้เลยว่าตัวนี้สามารถเรียกแขกหรือลูกค้าได้แต่มันก็ยังต้องมีความปลอดภัยด้วย ถ้ามีใครมากินของเราแล้วเป็นอะไรไป ความไม่ดีบอกกันคืนเดียวก็เรียบร้อย การทำสปาของเราก็ยังยึดหลักการตรวจร่างกาย และใครจำเป็นต้องใช้แล้วยังต้องติดตาม ส่วนคนที่ไม่ใช้ไม่ได้หมายความว่าเขาจะเสียโอกาส เราก็มีผลิตภัณฑ์สมุนไพรอื่นๆ ที่เรามีบริการที่สปาด้วย ให้เขาได้ใช้ เวลามาสปาคนจะคิดแต่ว่าได้ทรีตเมนต์แต่เราคิดว่าควรจะได้ความรู้กลับไปด้วย เขาต้องรู้ว่าเจ้าเรือนซึ่งเป็นองค์ความรู้แบบไทย ไม่ได้กำหนดแค่สุขภาพแต่กำหนดความรู้สึกนึกคิด ความสัมพันธ์กับคนรอบข้างด้วย เพราะฉะนั้นถ้าเขาปรับเจ้าเรือนของเขาให้สมดุลก็จะทำให้ไม่ได้ดีแค่สุขภาพกายแต่มันจะดีกับสุขภาพใจด้วย
ดร.นงค์นาถ: พอมีข่าวปลดล็อกคนไทยตื่นตัวกันมาที่โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร มีคนเข้าไปใช้บริการมากขึ้นแค่ไหน
ดร.ภญ.ผกากรอง: มีคนมาเยอะ และก็อยากให้เราจัดอบรมในแง่ของการปลูก ผลิต และสกัด แต่เราก็พยายามดูว่าอะไรเป็นศักยภาพที่เราจะสามารถทำได้ อะไรที่เป็นจุดที่เราไม่ถนัดเราก็ไม่อยากทำ ให้องค์กรอื่นที่ถนัดทำไปจะดีกว่า แต่สิ่งที่อภัยภูเบศรคิดว่าเป็นความชำนาญของเราก็คือ การที่ผสมผสานเอาความรู้แบบดั้งเดิมเข้ามาและทำให้เกิดประโยชน์สูงสุด เรามีความรู้ทั้งดั้งเดิมและสมัยใหม่ที่จะเอามาผสมผสานโดยเฉพาะเรื่องของการบริการตั้งแต่การส่งเสริมสุขภาพไปจนถึงการรักษา จุดนี้เป็นจุดที่เราเด่นส่วนการผลิตและสกัดเราอาจจะไม่ได้เด่นเท่ากับภาคเอกชนหรือเกษตรกร แต่เราก็จะคุยกับกลุ่มเกษตรกรที่ผลิตให้เราว่าขอให้ช่วยจัดสักsessionหนึ่งให้กับคนที่สนใจปลูกเพราะว่าต้นกัญชาถ้าเราปลูกไม่ดีก็จะมีผลกับคุณภาพของวัตถุดิบและทำให้เกิดความเสียหายได้ เพราะฉะนั้นมันต้องมีเทคนิคในการปลูก
ดร.นงค์นาถ: รพ.อภัยภูเบศร สามารถเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ยาแผนตะวันตกของคนไทยให้หันมาใช้พืชสมุนไพรของไทยได้มากขึ้นแค่ไหนอย่างไร มีตัวชีวัดตรงนี้อย่างไรบ้าง
ดร.ภญ.ผกากรอง: เราอาจจะไม่ได้มีตัวชี้วัดที่ชัดเจนว่าไทยเรามีคนสนใจสมุนไพรมากขึ้นเท่าไร แต่เราอาจจะมองจากสถานการณ์จากช่วงโควิดที่ผ่านมา เราสังเกตเห็นว่ามีการเติบโตของสมุนไพรหรือการแชร์ข้อมูลเรื่องสมุนไพรมาก และเราก็พบว่าในช่วงการพัฒนาสมุนไพรของเราช่วง 5 ปีหลัง มีคนมาดูงานช่วง 5 ปีก่อนคนสนใจในลักษณะการนำไปใช้ และก็อยากมาฟังว่าเรานำไปใช้อย่างไร แต่ในช่วง 5 ปีหลังมาดู และอยากจะทำด้วย อยากเรียนรู้ และลงมือทำ เป็นทิศทางที่ดี เราคิดว่าจะใช้ได้ดีต้องมีทักษะคือ ต้องทำเป็น ถ้าเราฟังไม่มีทางทำเป็น เราถือว่าอาจจะไม่ได้เป็นข้อมูลเชิงปริมาณแต่เป็นข้องมูลเชิงคุณภาพที่น่าสนใจ และจะเห็นได้ว่าเดี๋ยวนี้มีคอร์สที่สอนทำสมุนไพรเยอะมากที่ราคาแพงๆ เช่น กัญชา กัญชงก็เต็มกันทุกรอบเพราะประชาชนสนใจในแง่การเอามาใช้ดูแลสุขภาพ และในแง่นำมาทำเป็นธุรกิจ