แก้วถือเป็นส่วนผสมสำคัญที่ขาดไปไม่ได้สำหรับผู้ชอบดื่มกาแฟเป็นชีวิตจิตใจ ว่ากันว่า แก้วกาแฟที่ออกแบบมาอย่างเหมาะสม มีส่วนช่วยเพิ่มรสชาติกาแฟให้กลมกล่อมมากขึ้นน โดยเฉพาะยิ่งได้แก้วที่สวยถูกใจด้วยแล้ว ยกกาแฟขึ้นจิบเมื่อไหร่ สุนทรียะก็เกิดขึ้นเมื่อนั้น
ปีนี้เป็นช่วงเวลาแห่งการครบรอบ 30 ปีของโปรเจ็กต์ “คอลเล็กชั่นงานศิลปะแก้วกาแฟโดยอิลลี่” (illy Art Collection) ซึ่งเป็นโครงการรังสรรค์งานศิลปะลงบนถ้วยเอสเพรสโซที่ “อิลลี่คัฟเฟ่” (illycaffè) แบรนด์กาแฟยักษ์ใหญ่ของอิตาลี ทำมาตั้งแต่ปีค.ศ.1992 ผ่านทางการนำผลงานใหม่ของศิลปินและดีไซเนอร์ที่มีชื่อเสียงจากหลากหลายประเทศ มาพิมพ์ลายลงบนแก้วเอสเพรสโซสีขาวของอิลลี่ ตามไสตล์ของตนเอง เพื่อเพิ่มเติมสุนทรียะในการดื่มกาแฟเอสเพรสโซ ในแบบฉบับของคอกาแฟที่คลั่งไคล้ทั้งการจิบเอสเพรสโซและหลงใหลการเสพงานศิลป์
อย่างที่ทราบกันดีว่า อิลลี่คัฟเฟ่ มีความเชี่ยวชาญในทุกกระบวนท่าของกาแฟ “เอสเพรสโซ” ตั้งแต่การผลิตเครื่องชงเอสเพรสโซทั้งแบบพาณิชย์และแบบครัวเรือน, เมล็ดกาแฟคั่วบดสำหรับเอสเพรสโซ ,แก้วกาแฟเอสเพรสโซ ไปจนถึงเทคนิคในการจิบตามแบบฉบับของอิตาเลี่ยนขนานแท้และดั้งเดิม และฯลฯ
เรียกว่าอะไรที่เกี่ยวข้องกับเครื่องดื่มกาแฟหอมเข้มข้นอย่างเอสเพรสโซที่หลายคนตกหลุมรักในรสชาติ ต้องถือว่าอิลลี่คัฟเฟ่ ยืนอยู่แถวหน้าของวงการ
ไอเดียของคอลเล็กชั่นงานศิลปะโดยอิลลี่นั้น อยู่ที่ต้องการสร้างสรรค์ถ้วยกาแฟที่ใช้ดื่มในชีวิตประจำวันให้เป็นงานศิลปะบนผืนผ้าใบจากผลงานของศิลปินระดับโลก ผสมผสานกันระหว่าง “ความสวยงาม” และ “ความดีงาม” (Beauty and Goodness) ตามที่อิลลี่คัฟเฟ่ให้คำยามไว้ก็คือ เปลี่ยนการจิบเอสเพรสโซให้เป็นประสบการณ์ที่เข้าถึงประสาทสัมผัสและจิตใจได้อย่างเต็มที่
นี่เป็น…จุดเริ่มต้นของคอลเล็กชั่นแก้วกาแฟเอสเพรสโซพิมพ์ลายงานศิลปะ ที่มาถึงวันนี้ก็มีผลงานจากศิลปินและดีไซเนอร์ทั่วโลกถึง 125 คน
ปีนี้งานจัดขึ้นที่ สวนรอยัลการ์เดน ในเวนิส เมืองแห่งสายน้ำและความโรแมนติกของอิตาลี ระหว่างวันที่ 20 เมษายน ถึง 30 มิถุนายน 2022 รวมระยะเวลานานกว่า 2 เดือน มีผลงานศิลปะถ้วยเอสเพรสโซจากศิลปินระดับไอคอนในศตวรรษที่ 21 มาโชว์ถึง 6 คนด้วยกัน
แล้วใครเป็นผู้คัดเลือกศิลปิน คนทำธุรกิจกาแฟถนัดงานศิลปะด้วยหรือ…?
เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือให้กับงานคอลเล็กชั่น อิลลี่คัฟเฟ่ ได้มอบหมายให้ ภัณฑารักษ์ชาวอิตาลี ชื่อ เซซิเลีย อเลมานี หัวหน้าฝ่ายดูแลพิพิธภัณฑ์และนิทรรศการงานศิลปะในนิวยอร์ค เป็นผู้ดำเนินการคัดเลือกจากบรรดาศิลปินที่มีผลงานแสดงในเทศกาลศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ เวนิส เบียนนาเล่ ครั้งที่ 59 ประจำปี 2022 ซึ่งเซซิเลีย เป็นผู้อำนวยการอยู่ด้วย
คอลเล็กชั่นงานศิลปะแก้วเอสเพรสโซโดยอิลลี่ ไม่ได้นำออกแสดงโชว์ต่อสาธารณชนเพียงอย่างเดียวเท่านั้น ยังเปิดจำหน่ายในเว็บไซต์ทางการของอิลลี่อีกด้วย
แก้วกาแฟพร้อมจานรองอยู่ในแพคเกจจิ้งอย่างสวยที่ออกแบบมาตามงานศิลปะของเจ้าของผลงาน ในเว็บไซต์ทางการของอิลลี่ยังบอกประวัติของศิลปิน และเบื้องหลัง,การตีความ และความหมายของงานศิลปะที่ถูกรังสรรค์ขึ้น รวมไปถึงสนนราคาด้วย
นอกจากนั้นแล้ว แก้วกาแฟทุกคอลเล็กชั่น ยังมี “ลายเซ็น” ของศิลปินแต่ละคนกำกับไว้ อีกทั้งมีการระบุถึงจำนวนแก้วที่ผลิตขึ้นด้วย วัสดุที่ใช้ผลิต ส่วนใหญ่เป็นเซรามิคชั้นดี แต่ในบางปีก็มีโลหะมีค่าอย่างอื่นเข้ามาร่วมด้วย เช่น แพล็ตตินั่ม และทองคำ
“อิลลี่คัฟเฟ่” แบรนด์กาแฟชั้นนำที่โลโก้มีคำว่า “illy” เป็นตัวอักษรสีขาวอยู่ในกรอบสี่เหลี่ยมสีแดงที่คุ้นหน้าคุ้นตากัน ก่อตั้งขึ้นในปี 1933 โดย ฟรานเซสโก้ อิลลี (Francesco Illy) นักธุรกิจชาวฮังกาเรียน ซึ่งโยกย้ายไปพำนักยังอิตาลี เขาเป็นผู้ประดิษฐ์เครื่องชงเอสเพรสโซอัตโนมัติขึ้นเป็นครั้งแรกขึ้นในปี ค.ศ.1935 อาศัยแรงดันไอน้ำผ่านกาแฟคั่วบดละเอียด กลายเป็นตัวต้นแบบของเครื่องชงเอสเพรสโซในปัจจุบัน
ต่อมา เออร์เนสโต้ อิลลี่ นักเคมีและนักธุรกิจด้านอาหารชาวอิตาลี ลูกชายของฟรานเซสโก้ ก็รับหน้าที่บริหารงานกิจการของครอบครัวต่อ หลังจากบิดาเสียชีวิตลง
ปัจจุบัน อิลลี่คัฟเฟ่ อยู่ในเจนเนอเรชั่นที่ 3 ของช่วงอายุธุรกิจ ลูกชายและลูกสาวของเออร์เนสโต้ เข้ามาอยู่ในธุรกิจกาแฟของครอบครัวไม่ทางหนึ่งก็ทางใด ลูกชายคนโต อันเดรอา อิลลี่ ดำรงตำแหน่งประธานบริษัท ส่วนลูกชายคนที่สาม ฟรานเซสโก้ อิลลี่ ซึ่งตั้งชื่อตามคุณปู่ที่ดูเหมือนจะเป็นธรรมเนียมของอิตาลี เป็นผู้ที่ให้กำเนิดโปรเจ็กต์คอลเล็กชั่นงานศิลปะแก้วกาแฟของบริษัท
ฟรานเซสโก้ อิลลี่ หลานปู่ผู้ก่อตั้งอิลลี่คัฟเฟ่ เป็นทัพหน้าในการนำศิลปะเข้ามาประยุกษ์ใช้ในธุรกิจของบริษัท ตามคอนเซปท์ “ความสวยงามและความดีงาม” แนวคิดที่นำไปสู่การออกแบบผลิตภัณฑ์ที่สามารถตอบสนองต่อความรู้สึกพึงพอใจให้กับลูกค้าในหลายๆด้าน ผ่านทางการนำศาสตร์แห่งศิลป์ไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น แก้วกาแฟ และอุปกรณ์ชงกาแฟ เป็นต้น
– ค.ศ. 1991 อิลลี่คัฟเฟ่ มอบหมายให้ “มัตเตโอ ทูน” ดีไซเนอร์และสถาปนิกชื่อดังชาวอิตาลี ออกแบบแก้วกาแฟเอสเพรสโซขึ้นมา ตามที่เออร์เนสโต้ อิลลี่ ทายาทรุ่น 2 เคยสรุปไว้ เพื่อให้กลายเป็นหนึ่งในสัญลักษณ์ของแบรนด์อิลลี่ นี่เป็นที่มาของแก้วเอสเพรสโซ่เซรามิกสีขาวพร้อมจานรอง พิมพ์โลโก้ ILLY ติดอยู่ข้างแก้ว กลายเป็นแก้วซิกเนเจอร์สุดคลาสสิคของแบรนด์นี้มาจนถึงปัจจุบัน
– ค.ศ. 1992 โครงการคอลเล็กชั่นงานศิลปะแก้วกาแฟโดยอิลลี่ เกิดขึ้นเป็นครั้งแรก มีฟรานเซสโก้ อิลลี่ เป็นเจ้าภาพ ถือเป็นโปรเจ็กต์ต่อยอดแก้วเอสเพรสโซที่ออกแบบโดย “มัตเตโอ ทูน” เป้าหมายคือให้บรรดาศิลปินนักวาดภาพนำแก้วเอสเพรสโซสีขาวนี้ไปตีความและผลิตงานศิลปะออกมาเพื่อนำไปพิมพ์ลายลงในแก้วและจานรอง ชื่อของคอลเล็กชั่นชุดแรกก็คือ “Arts and Crafts”
– ค.ศ 1995 ผลิตเครื่องชงเอสเพรสโซแบบใช้ในบ้านที่เปี่ยมด้วยสีสันและทรวดทรวงสุดล้ำ จากการออกแบบของ “ลูก้า ทราซซี” ดีไซเนอร์และสถาปนิกชื่อดังชาวเมืองเวโรน่า มีฟรานเซสโก้ อิลลี่ เป็นจ้าของโปรเจ็กต์อีกเช่นกัน ใช้ชื่อเรียกผลิตภัณฑ์รุ่นนี้ว่า “FrancisFrancis! X” ที่ปัจจุบันก็มีจำหน่ายตามเว็บค้าปลีกบ้านเรา
– ค.ศ. 1996 มอบหมายให้ “เจมส์ โรเซนควิสต์” ศิลปินอาร์ทป๊อปชาวอเมริกัน ออกแบบโลโก้ใหม่ให้กับบริษัท ตามคอนเซปท์ที่ว่า “เอสเพรสโซ่เป็นทั้งศิลปะและวิทยาศาสตร์ในเวลาเดียวกัน”
– ค.ศ. 2006 เริ่มนำคอลเล็กชั่นงานศิลปะโดยอิลลี่ มาประยุกต์ใช้กับบรรจุภัณฑ์แบบกระป๋องของบริษัท
ผู้เขียนเป็นผู้ชื่นชอบกาแฟและงานศิลป์ แต่ขอสารภาพตามตรงว่า รู้จักเฉพาะกาแฟ งานศิลป์นั้นมีความรู้น้อยมาก ยิ่งศิลปินหรือดีไซเนอร์ดังๆแทบไม่รู้จักเลย ตอนเข้าชมผลงานศิลปะแก้วเอสเพรสโดยอิลลี่ในเว็บไซต์ www.illy.com ก็ไล่เรียงดูไปทุกปี มาสะดุดตาในคอลเล็กชั่นปี 2015 เห็นชื่อ “โยโกะ โอโนะ” ศิลปินสื่อผสมชาวญี่ปุ่น ภรรยาของจอห์น เลนนอน นักร้องนักแต่งเพลงวงเดอะบีเทิลส์ผู้วายชนม์ ปรากฎเป็นหนึ่งในผู้ออกแบบแก้วเอสเพรสของอิลลี่ด้วย
ผลงานของโยโกะเป็นชุดแก้วเอสเพรสโซสีขาว ออกแบบโดยอุปมาอุปมัยตามเทคนิคโบราณของญี่ปุ่นในการซ่อมเครื่องปั้นดินเผาที่หักหรือร้าวโดยใช้พู่กันสีทองและเงินที่เป็นตัวเชื่อมประสาน มีทั้งสิ้น 7 ชุดด้วยกัน สะท้อนถึง “สันติภาพ” และ “ความหวัง” โดยแก้ว 6 ชุดแรกดูแล้วเหมือนเป็นแก้วที่มีรอยร้าว ใช้ชื่อคอลเล็กชั่น ว่า “Mended cup” ส่วนแก้วชุดที่ 7 เป็นแก้วที่ปราศจากรอยแตก ใช้ชื่อคอลเล็กชั่นว่า “Unbroken cup” ทุกแบบมีลายมือและลายเซ็นของโยโกะกำกับเอาไว้ด้วย
คอลเล็กชั่นที่ผู้เขียนชื่นชอบก็คือ ชุดแก้วเอสเพรสโซทำจากเซรามิคของ “ลูก้า ทราซซี” อยู่ในคอลเลกชั่นปี 1997 ดูสวยและอลังการมากๆ เพราะตรงส่วนหูจับแก้วออกแบบตาม “หัวเรือกอนโดลา” (gondola) เรือพายพื้นบ้านของชาวเวนิส ที่ปัจจุบันกลายมาเป็นเรือนำเที่ยว สื่อถึงรากวัฒนธรรมและความงดงามของเมืองนี้ในอดีต โดยลูก้า แม้เป็นชาวเมืองเวโรน่า แต่ก็มาศึกษาศาสตร์แห่งสถาปัตยกรรมที่เมืองเวนิสเสียหลายปี
แก้วกาแฟชุดเรือกอนโดลานี้ ผลิตจากวัสดุ 3 ประเภทด้วยกัน แยกเป็นเซรามิคสีขาวจากเมืองเวนิสเอง 2,500 ใบ และแพล็ตตินั่มกับทองคำ อีก 250 ใบ
ผลงานของศิลปินและดีไซเนอร์ทั้ง 2 คน จะจัดแสดงโชว์ในงานคอลเล็กชั่นงานศิลปะแก้วกาแฟโดยอิลลี่ ณ สวนรอยัลการ์เดน ในเวนิส ร่วมกับศิลปินและดีไซเนอร์รวมสมัยทั่วโลกอีก 124 คน รวมทั้งสิ้น 114 คอลเล็กชั่น ประกอบด้วยชุดแก้วเอสเพรสโซพร้อมจานรองถึง 459 ชุด ที่ทั้งหมดผ่านการ “ตีความหมาย” จากแก้วเอสเพรสโซเซรามิคสีขาวสุดคลาสสิคซึ่งออกแบบโดยมัตเตโอ ทูน เมื่อ 30 กว่าปีก่อน
ถือเป็นหนึ่งในคอลเล็กชั่นงานศิลปะร่วมสมัยที่ใหญ่สุดในโลก ตามที่อิลลี่คัฟเฟ่ บอกเอาไว้
facebook : CoffeebyBluehill