มหกรรม “พลังงานแห่งอนาคต” ระดมสมองขับเคลื่อนนวัตกรรม สู้วิกฤติโลกร้อน “จัดใหญ่ในไทย”

สัมภาษณ์: คุณนภปฎล สุขเกษม Co-founder บริษัท แกท อินเตอร์เนชั่ลแนล จำกัด

โดยดร.นงค์นาถ ห่านวิไล

พลังงานแห่งอนาคต” เป็นเรื่องใกล้ตัวเรามากขึ้นๆ เนื่องจากพลังงานที่เราใช้กันอยู่นอกจากมีวันจะต้องหมดไปแล้ว ยังก่อมลภาวะให้กับโลกใบนี้ จนเกิดปัญหาโลกร้อน โลกรวน ที่นับวันจะรุนแรงขึ้นทุกขณะ ซึ่งแน่นอนหากเราไม่คิดมองหาทางออกใหม่ ๆ นวัตกรรมใหม่ๆ หายนะอาจมาถึงตัวเราเร็วขึ้นจนอาจรับมือกันไม่ทัน

จึงเป็นที่มาแห่งการรวมตัวครั้งประวัติศาสตร์ ของ Enlit Asia 2022 ร่วมกับงาน SETA 2022 และ SOLAR+STORAGE ASIA 2022 เพื่อสร้างเวทีระดับผู้นําด้านอุตสาหกรรมการผลิตพลังงานไฟฟ้าและพลังงานในทุกรูปแบบ รวมไปถึงผู้ใช้พลังงานในทุกระดับ ได้มีโอกาสมาร่วมพบปะ แลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ ในการร่วมกันสร้างการเปลี่ยนผ่านของอุตสาหกรรมพลังงาน ทั้งภูมิภาคเอเชียและอาเซียน

ในงานนี้ จะได้พบกับผู้นําทางด้านอุตสาหกรรมผลิตพลังงานไฟฟ้า พลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือกระดับนานาชาติที่จะมาร่วมพูดคุยถึง ปัญหา อุปสรรค และวิธีการแก้ไข เพื่อนําเสนอ ทางเลือกในการผลิตพลังงานทดแทนด้วยแสงอาทิตย์ และระบบกักเก็บพลังงาน พร้อมกับการแสดงเทคโนโลยีและการประชุมนานาชาติที่รวบรวมหัวข้อการพูดคุยด้านพลังงานที่หลากหลาย

ติดตามความน่าสนใจและรายละเอียดได้ จากบทสัมภาษณ์ ผู้จัดงานนี้

ดร.นงค์นาถ : วิกฤติโลกร้อนถึงขั้นไหนแล้วในขณะนี้ ช่วยฉายภาพจากข้อมูลที่ได้ศึกษามา ซึ่งดูเหมือนว่าจะเป็นเรื่องใกล้ตัวเรามากขึ้นทุกขณะ

คุณนภปฎล : ตอนนี้ มีวิกฤติซ้อนวิกฤติ วิกฤติที่เราเผชิญร่วมกัน จะเห็นได้ว่าทำไม ฝนตกหนักมากกว่าเดิม ในขณะเดียวกัน บางมุมของโลก ก็จะเห็นว่าร้อนหนัก เช่นกัน เพราะฉะนั้นจะเห็นได้ว่าสิ่งที่เราเผชิญร่วมกันตอนนี้ก็คือ วิกฤติภาวะโลกร้อน จากวิกฤติภาวะโลกร้อนก็จะไปสะท้อนวิกฤติพลังงาน

เพราะฉะนั้นหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะเจอปัจจัยเสี่ยงที่เรากำลังจะกระทบไม่ว่าจะเชิงของทางภูมิศาสตร์ รัฐศาสตร์ และเศรษฐกิจก็คือ พลังงาน ถ้าจะสรุปให้เห็นก็คือ ปัจจัยทางด้านบวก มีมากขึ้นไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยี และถึงเวลาที่นวัตกรรมหลายๆ อย่างซึ่งคิดมานานแล้ว คิดมามากกว่า 30 ปี กำลังจะเป็นรูปเป็นร่างแล้วเราก็มาดำเนินการให้มันเกิดขึ้นจริง นี่เป็นปัจจัยด้านบวก

ขณะเดียวกันปัจจัยด้านลบก็มารุนแรงเหลือเกินเพราะว่าเราเจอโควิดมา 2 ปี และก็จะต้องเจอภาวะของเศรษฐกิจถดถอยซึ่งต้องเรียกว่าถดถอยต่อเนื่องจนถึงปีหน้า อันนี้เป็นปัจจัยด้านลบ อีกเรื่องหนึ่งเป็นปัจจัยด้านลบ ของความไม่แน่นอน ในเรื่องของสงคราม รัสเซีย-ยูเครน และก็ไม่แน่ใจว่าจีนพี่ใหญ่จะว่าอย่างไรบ้าง จะเห็นว่าวิกฤติพลังงานจากที่เราเจอกันตอนนี้มี 2 ตัว คือ

วิกฤติในเรื่องราคาพลังงาน ถ้าเราพูดเรื่องราคาพลังงาน จะเข้าใจใน 2 มุม คือ 1.น้ำมัน  2.คือ ค่าไฟฟ้า อันนี้คือ เรื่องของวิกฤติราคา หมายถึงว่าราคาสูงขึ้นจากเดิม นอกจากราคาที่วิ่งขึ้นไปแล้ว ก็เชื่อได้เลยว่ามันไม่มีทางวิ่งลง ถึงแม้ค่า FT จะผันแปรตามเชื้อเพลิงก็ตาม

เราคาดการณ์กันว่าแหล่งก๊าซธรรมชาติในเอราวัณที่สัมปทานเจ้าใหม่ที่เข้าไปแทนเชฟรอนคือ ปตท.สผ. ยังไม่สามารถเข้าไปดำเนินการได้อย่างเต็มรูปแบบ ดังนั้นเราจะมีปัญหา จึงต้องนำเข้าก๊าซธรรมชาติ ต้นทุนก็จะสูงขึ้น จะว่าไปปัญหาเรื่อง พลังงานมีมากมายหลายเป็นประเด็น ที่จะต้องหาทางออกร่วมกัน

ดร.นงค์นาถ: งาน Sustainable Energy Technology Asia 2022(SETA) งานSolar+Storage Asia 2022 (SSA) และงาน Enlit Asia 2022 3 งานนี้เกี่ยวข้องกับเรื่องพลังงานหมดเลยใช่ไหม แต่ละงานจุดเด่นเป็นอย่างไร และทำไมต้องมาผนึกกันถึง 3 งาน ที่จะจัดขึ้นในประเทศไทยเรา

คุณนภปฎล : ประเด็นแรกคือ Enlit Asia เป็นงานใหญ่  จัดทั่วโลก Enlit America, Enlit Asia, Enlit Europe, Enlit North-America Enlit ก็คือ เป็น Energy to energy ย่อมาซึ่งก็จะเป็นงานใหญ่ที่เขาจัดทั่วโลกเป็นเรื่องของพลังงานล้วนๆ มาจับมือกับงาน SETA ซึ่งจะเป็นงานที่ประเทศไทย เราจัดเป็นเจ้าภาพทุกปี ยกเว้นตอนเราเจอโควิด 2 ปีเราก็เว้นไป

คราวนี้เรากลับมาพร้อมผนึกกำลังกัน ก็เกิดเป็นงานใหม่ขึ้นมาที่ประเทศไทย เราคิดว่าเราสามารถผลิตพลังงานเองได้ ทำเลภูมิศาสตร์ที่ตั้งเราอยู่ในทำเลดีมาก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของคลื่นความร้อน คลื่นแสงอาทิตย์เราสามารถจะรับได้เยอะ เพราะฉะนั้นงาน Solar ก็ควรจะเป็นงานหนึ่งที่มีธงปักที่ประเทศไทย ถ้าอธิบายงาน SETA งานSolar+Storage และมาบวก Enlit

ลองนึกภาพตั้งแต่หน่วยผลิตไฟฟ้า คุยในเรื่องการผลิตพลังงาน จากการผลิตพลังงานถัดมาก็จะเป็นการแปรรูปพลังงาน ไม่ว่าจะเป็นการแปรรูปจากพลังงานแสงแดดให้มาเป็นพลังงานไฟฟ้า ถ้าเราเอาชีวมวล ไม่ว่าจะเป็นไม้ เศษไม้ พวกนี้เราจะเรียกว่าการแปรรูปให้มาเป็นพลังงานไฟฟ้าได้ก็คือ ชีวมวล ชีวก๊าซ งานโรงไฟฟ้าเหล่านี้เราเรียกว่าการแปรรูปพลังงาน

หลังจากนั้นก็มาในโหมดการส่งกำลังแล้ว พอแปรรูปเป็นไฟฟ้าได้ก็ต้องมีระบบส่งจำหน่าย แล้วระบบส่งจำหน่ายนี้จะทำอย่างไรให้ประหยัด ให้ครอบคลุมพื้นที่กระจายมากขึ้น และสูญเสียน้อยที่สุด เป็นเรื่องของงาน loss ที่เกิดในระบบจำหน่าย อันนี้ต้องทำอย่างไร ก็ได้ให้ loss น้อยที่สุด หลังจากนั้นเมื่อส่งไปถึงผู้ใช้ไฟฟ้า ก็จะมีการพูดคุยกันเรื่องประหยัดอย่างไร หลายคนก็บอกว่าให้ปิดไฟ แต่เมื่อจำเป็นจะต้องใช้การปิดไฟ ก็ไม่ใช่คำตอบอย่างเดียว ก็มีการปิด-การเปิด แต่ในขณะเดียวกันจะทำอย่างไรให้ ในขณะที่เราใช้ สามารถที่จะอยู่คู่กับพฤติกรรมของการใช้เราเรียกว่า demand response คือ

ความต้องการของผู้ใช้จะต้องเป็นตัวกำหนดการ supply อันนี้จะเป็นเรื่องของ demand ยกตัวอย่างเราพูดกันถึงเรื่อง EV ในทั้ง 3 งานที่มาจัดก็จะมีเรื่องยานยนต์ไฟฟ้าด้วยแต่จะไม่ใช่เรื่องงานโชว์ที่จะขายรถ EV แต่เราคุยกันเรื่องความพร้อมของประเทศที่พร้อมจะมี EV fleet ทั้งระบบ พร้อมกับทำอย่างไร ให้ระบบนั้นมีความมั่นคง มีความปลอดภัย มีความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมแล้วค่อยมานึกถึง Economy หรือเศรษฐกิจ

เพราะฉะนั้นขาดไม่ได้เลยคือ ต้องนึกถึง Safety ก่อน Safety สิ่งแวดล้อม และความคุ้มค่า ในงานทั้งหมดจากที่กล่าวมาจะอยู่ในเนื้องานทั้งหมด 3 งานใหญ่ นิทรรศการมีทั้งหมด 4 Exhibition halls เรื่องพลังงานล้วนๆ 20,000 กว่าตารางเมตร เรื่องวิกฤติพลังงานที่เราเห็นอยู่นี้ไม่เพียงแค่รู้แล้วแต่เราต้องเตรียมความพร้อมรับมือ ไม่อย่างนั้นเราจะเป็นแถวผู้รับฟังแต่ลงมือทำอะไรไม่ได้เลย อีกเรื่องหนึ่ง คือ ประเทศเรามีความพร้อมในหลายๆ เรื่อง ตอนนี้มี new energy หรือ แหล่งพลังงานใหม่ นอกเหนือจากก๊าซ จากถ่าน จากแสงอาทิตย์ จากลม พลังงานใหม่ที่มาแน่ๆ คือ ไฮโดรเจน เป็นพลังงานสะอาดด้วยตัวของไฮโดรเจนเอง

ดร.นงค์นาถ : ในงาน มีการเผยแพร่องค์ความรู้เรื่องการนำพลังงานสะอาด มาใช้ด้วยใช่ไหม ทั้งเครื่องยนต์ รถยนต์ เครื่องบิน

คุณนภปฎล : ใช่ มีการเสวนาภาคภาษาไทย และอังกฤษ มีประมาณ 130 session ทั้งหมด 3 วัน

ดร.นงค์นาถ: จุดเด่นที่ทั้ง 3 งานมาอยู่ด้วยกันคืออะไร

คุณนภปฎล : ถ้าสนใจเรื่อง Solar cell บนหลังคาบ้านตัวเอง เราก็จะมีมุมช่างรู้ Solar ถ้าเดินเข้าไปที่งานแล้วบอกว่าจะไปหาช่างรู้Solar ก็จะได้ความรู้ทันทีว่า ต้องติดกี่กิโลวัตต์ อะไรบ้าง ติดเองได้หรือไม่ สำหรับคนที่เป็นผู้ประกอบการรายใหญ่ เช่น โรงงานอุตสาหกรรม ก็ต้องมองเรื่องของติด solar บนหลังคาขนาดใหญ่ เขาก็จะไปดู solar rooftop, solar farm ก็ตาม จะมีผู้ประกอบการมาออกบูธ รวมทั้งหมด 3 งาน มีผู้ประกอบการทั้งหมด 400 รายจากทั่วโลกที่มาร่วมกัน มีให้ชมตั้งแต่เรื่องการผลิตไฟฟ้า รูปแบบของการผลิตไฟฟ้ามีกี่ประเภท

นอกจาก exhibition แล้ว ยังมีการเสวนาภาษาไทย ซึ่งได้รับความร่วมมือจากกระทรวงพลังงาน และการไฟฟ้าทั้ง 3 การไฟฟ้า จะจัดงานวันที่ 21 กันยายน เป็นภาคภาษาไทย ใช้คำย่อๆ ว่าผ่าแผนพลังงาน ทำไมต้องผ่า มันเป็นเรื่องใกล้ตัว ถ้าเรารู้เรื่องผ่าแผนเราจะวางแผนถูกแล้วว่ากระทรวงพลังงาน กำหนดทิศทางแผนอย่างไร ถ้าเราจะประกอบธุรกิจเราก็วางแผนธุรกิจให้สอดคล้องกับแผนพลังงาน ถ้าเราเป็นผู้ใช้ไฟเราก็ต้องปรับพฤติกรรมเราให้สอดคล้องกับแผนพลังงานเช่นกัน

ดร.นงค์นาถ : PDP แผนพลังงานล่าสุด เกี่ยวข้องกับทุกคนเลยใช่ไหมไม่เพียงแต่รัฐบาล และผู้ลงทุนในธุรกิจพลังงาน

คุณนภปฎล : ใช่ โลกเปลี่ยนไปมาก ถ้าย้อนกลับไปเมื่อ 10 ปีที่แล้ว เราคุยกันเรื่อง EV ตอนนั้น ส่วนใหญ่มองว่า EV ไม่มาหรอก อีกนานเลย แต่ในที่สุด EV เติบโตภายใน 3 ปีนี้เอง มันมาเร็ว และเติบโตเร็วมาก เช่นเดียวกันกับพลังงานใหม่ๆ เช่น ไฮโดรเจน ถ้าไฮโดรเจนเข้ามาก็จะเหมือนกับ EV ที่เข้ามาเร็ว

ดร.นงค์นาถ :งานนี้ มีการจับคู่ธุรกิจไหม และมี Hydrogen forum ด้วยใช่ไหม

คุณนภปฎล : Hydrogen forum ทางผู้จัดงานเป็นกระทรวงพลังงาน และเศรษฐกิจของญี่ปุ่น ย่อๆ คือ METI ซึ่งร่วมกับ SETA มาต่อเนื่อง 5 ปีแล้ว กระทรวงพลังงานญี่ปุ่น เขามองประเทศไทยเป็นศูนย์กลางของอาเซียนจริงๆ เรื่องของ new energy เขามองว่าประเทศไทย มีเขื่อน มีแหล่งน้ำการทำไฮโดรเจนในรูปแบบดังกล่าวก็จะสามารถสร้าง green hydrogen ได้ นอกจากนี้ก็มีpetro chemical เป็นโรงงานที่เอาก๊าซหรือน้ำมันมาแปรรูปพลาสติก ซึ่งกระบวนการนี้ก็จะเกิดไฮโดรเจนขึ้นมาด้วย ปกติเราก็จะเผาทิ้ง

ดร.นงค์นาถ : คาดว่าจะมีผู้เข้าร่วมงานนี้ประมาณเท่าไหร่ และจัดบนพื้นที่ทั้งหมดกี่ฮอลล์

คุณนภปฎล : เราเปิดทั้งหมด 4 ฮอลล์ ลงทะเบียนจุดใดก็ได้ ในงานไม่มีการกั้น เดินได้ทั้งหมด คาดว่าจะมีผู้เข้าชมจากทั้งไทยและต่างประเทศเป็นหมื่นคน นักวิชาการที่เข้ามาเสวนาให้องค์ความรู้ทั้งภาคภาษาไทย และอังกฤษ น่าจะมากกว่า 1,300 คน

ดร.นงค์นาถ : งานนี้เหมาะกับกลุ่มใด ใครบ้างที่ควรมาร่วมงานนี้

คุณนภปฎล : คิดว่าน่าจะครอบคลุมทุกภาคส่วน  รวมทั้งวัดด้วย เพราะมีพระอาจารย์หลายรูป ที่ผลิตไฟฟ้าเองใช้ในวัด ถ้าท่านพัฒนาวัด ให้ผลิตไฟฟ้าใช้เองแล้ว ก็ยังแบ่งปันให้กับชุมชนรอบวัดด้วย เราคิดว่าอันนี้ดี

ดร.นงค์นาถ : งานนี้จัดที่ไหน จะเข้าร่วมได้อย่างไรบ้าง

คุณนภปฎล : งานจะจัดขึ้นในวันที่  20–22 กันยายนนี้ พิธีเปิดจะมีขึ้นในวันอังคารที่ 20 กันยายน เวลา 09.00 น.ที่ ไบเทค บางนา เดินทางสะดวกมาก ถ้ามารถไฟฟ้า ลงถานี BTS บางนา เดินเข้า exhibition halls ได้เลย

ดร.นงค์นาถ : ลงทะเบียนเข้าร่วมงานได้อย่างไร และ walk-in ได้ด้วยใช่ไหม

คุณนภปฎล : ได้เลย สามารถเข้าไปคลิก www.setaasia.com ไม่มีค่าใช้จ่าย ถ้าไม่ได้ลงทะเบียนออนไลน์ก็สามารถ walk-in เข้าที่งานได้เลย


 

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *