“นั่งแช่ทำงานในร้าน” เคยเป็นประเด็นดราม่าในประเทศไทยหลายครั้งหลายคราด้วยกัน แต่ฝั่งยุโรปและสหรัฐอเมริกาพัฒนาไปไกลกว่า ถึงกับมีการออกกฎกติกาควบคุมกันเลยทีเดียว กลายเป็นข่าวครึกโครมกันหลายระลอกตลอดช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา เป็นปัญหาที่ต้องเร่งแก้ไขหรือหาทางออก บางร้านในอังกฤษและสหรัฐถึงกับติดป้ายห้ามหิ้ว “แล็ปท็อป” เข้าเข้าร้านไปเลยก็มี
การเลือกใช้ร้านกาแฟเป็นสถานที่ทำงานมีมานานแล้ว แต่ระยะหลังเริ่มเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้เจ้าของร้านกาแฟขนาดเล็กหลายแห่งตั้งคำถามในใจเอาว่า ความพอดีอยู่ตรงไหน? โดยเฉพาะการนำเอาคอมพิวเตอร์แบบพกพาเข้ามา “นั่งแช่” ทำงานในร้านนานๆ หลายชั่วโมงหรือทั้งวัน
การนั่งแช่หรือนั่งนานแต่ออร์เดอร์น้อยของลูกค้าตามคาเฟ่ ที่กลายมาเป็นประเด็นถกเถียงกันมาตลอดว่า “เหมาะหรือไม่เหมาะ”/ “ทำได้หรือไม่ได้” ส่วนใหญ่เป็นเคสการนัดหมายพูดคุยกันทางธุรกิจหรือจัดประชุมกลุ่มย่อยนอกสถานที่ ตามมาด้วยนัดสัมภาษณ์งานและสอนหนังสือแบบหมุนเวียนนักเรียนทั้งวัน ต่างฝ่ายต่างก็มี “เหตุผล” ของตนเอง หลายๆครั้งจึงลงเอยด้วยเหตุ “วิวาทะ” ระหว่างลูกค้ากับพนักงานร้านไป
ว่ากันว่านี้คือปัญหายอดฮิตคลาสสิคสำหรับคนทำร้านกาแฟที่ต้องเจอะเจอกันทุกคน ขณะที่ลูกค้าเองก็บอกว่า อ้าว…ก็ร้านไม่ได้ห้ามนี่ แล้วสั่งเครื่องดื่มแล้วด้วยนะ ก็เห็นร้านๆว่างอยู่นี่นา ดีกว่าไม่มีคนเข้าร้านไหมล่ะ ท่ามกลางกระแสริวิวในโลกโซเชียลมีเดียที่เต็มไปด้วยสโลแกนทำนองว่า “นั่งทำงานชิลๆ พร้อมจิบกาแฟเพลินๆ”
ในระยะหลังๆ การใช้ร้านกาแฟเป็นสถานที่ทำงานในต่างประเทศ ได้เปลี่ยนแปลงรูปแบบไปสู่อีกมิติหนึ่ง เรียกกันว่า “remote work” ทว่ารูปแบบไม่ต่างกันเท่าไหร่ในแง่ของปัญหาที่เกิดขึ้นหากมองในแง่มุมของผู้ประกอบการร้านค้า นั่นคือ นั่งนาน ไม่สั่งเครื่องดื่มและอาหารเพิ่ม ทำใหัลูกค้ารายอื่นๆไม่สามารถเข้ามาใช้บริการได้ ส่งผลกระทบต่อรายได้ของร้าน เลยจำเป็นต้องมีกฎกติกาประจำร้านออกมาป้องกันหลากหลายแนวทาง
Remote work ได้รับความนิยมมากในยุโรป ,สหรัฐอเมริกา และออสเตรเลีย ก่อนขยายตัวเข้าสู่เอเชียในเวลาต่อมา เป็นรูปแบบการทำงานสมัยใหม่ที่มาพร้อมคอนเซ็ปท์การทำงานที่ไหนก็ได้ ด้วยการปรับเปลี่ยนสไตล์การทำงานจากในสำนักงานสู่การทำงานนอกสถานที่ ไม่จำกัดว่าจะต้องทำที่สำนักงานหรือต้องทำงานที่บ้านเท่านั้น แล้วร้านกาแฟที่มีบริการเครื่องดื่มพ่วงอาหารว่าง พร้อมแอร์เย็นฉ่ำ และสัญญาณไวไฟฟรีเสร็จสรรพ คือ ตัวเลือก “อันดับแรก” ของกลุ่มคนทำงานที่ใช้รูปแบบดังกล่าว
เอาเข้าจริงๆ กรณีนั่งแช่ทำงานนานๆตามร้านกาแฟดูจะลดน้อยถอยลงไปมากในช่วงการแพร่ระบาดของเชื้อ “ไวรัสโควิด-19” แต่พอมาตรการคุมเข้มทางสังคมเริ่มผ่อนคลายลง ร้านอาหารและร้านเครื่องดื่มต่างๆทยอยกลับมาให้บริการอีกครั้งในรูปแบบที่ใกล้เคียงกับสถานการณ์ปกติ กรณีการใช้ร้านกาแฟเป็นสถานที่ทำงานก็ปรากฎเป็นข่าวอีกครั้ง
ราวปีค.ศ. 2020 เคยมีข้อมูลจากไซเบอร์ครูว์ บริษัททำวิจัยด้านเทคโนโลยี ประมาณว่า เกือบ 1 ใน 5 ของบริษัทธุรกิจในแดนผู้ดีกำลังปรับเปลี่ยนเข้าสู่การทำงานแบบ remote work พร้อมให้ตัวเลขว่า ราว 70% ของผู้ประกอบอาชีพที่ใช้ความสามารถเฉพาะทาง (professional) ในอังกฤษ ปรับตัวไปทำงานนอกสถานที่กัน แล้วก็เลือกใช้ “ร้านกาแฟ” เป็นสถานที่ทำงาน
ล่าสุด เว็บไซต์ข่าวสารในแวดวงกาแฟชั้นนำอย่าง perfectdailygrind.com ได้หยิบยกประเด็นนี้ขึ้นมานำเสนอ พร้อมกับตั้งคำถามว่า ร้านกาแฟควรแบนแล็ปท็อปหรือไม่? (Should coffee shops ban laptops?) หรือควรจะมีพื้นที่ประนีประนอมที่สามารถพบกัน “ครึ่งทาง”ระหว่างร้านกับลูกค้าหรือไม่ พร้อมกับไปสอบถามความคิดเห็นในประเด็นนี้จากร้าน “คอฟฟรา คอฟฟี่ โรสเตอร์ส” (Kofra Coffee Roasters) ร้านกาแฟชั้นนำในเมืองนอริช ประเทศอังกฤษ
ที่น่าสนใจยิ่งก็คือ ในอินสตาแกรมของเว็บไซต์กาแฟนี้ที่นำลิงก์บทความไปโพสต์ลง ปรากฎว่ามีคอมเมนต์เข้ามาจำนวนมากทีเดียว ทั้งฝ่ายที่สนับสนุนให้แบนแล็ปท็อป และแน่อนมีฝ่ายที่ไม่เห็นด้วย
ในพาดหัวเรื่องข้างต้นที่ใช้คำว่า แล็ปท็อปนั้น ผู้เขียนเองเข้าใจว่า น่าจะหมายรวมไปถึงโน๊ตบุ๊คด้วย เอาเข้าจริงๆ ตอนหลังอุปกรณ์คอมพิวเตอร์แบบพกพาทั้งสองประเภทมีความใกล้เคียงกันมาก แล้วผู้เขียนก็เคยอ่านเจอมาว่าในต่างประเทศมักเรียกคอมพิวเตอร์แบบพกพาส่วนใหญ่ว่าแล็ปท็อป
ร้านกาแฟคอฟฟรา คอฟฟี่ โรสเตอร์ส มี โฮเซ่ เดอ ลีออง กุซมัน เป็นเจ้าของและผู้บริหาร เขาบริหารร้านอยู่ถึง 4 แห่งด้วยกันในเมืองนอริช ตลอด 7 ปีของการทำร้าน ไม่เคยเสนอบริการสัญญาณไวไฟเลย
“เป็นความเชื่อกันมาตลอดว่า ร้านกาแฟที่เต็มไปด้วยผู้คนช่วยดึงดูดให้ลูกค้าเข้าร้านมากขึ้น เพราะความคึกคักของร้านบ่งชี้ได้ว่า กาแฟ, อาหาร และบริการของร้านนั้นมีคุณภาพสูง อย่างไรก็ตาม คาเฟ่ไหนมีแต่คนพร้อมแล็ปท็อปเข้ามานั่งแช่ทำงานนานๆจำนวนมาก มันก็เป็นคนละเรื่องกันโดยสิ้นเชิง เจ้าของร้านกาแฟบางคนมองว่า ความเงียบ, เสียงแตะแป้นพิมพ์คีย์บอร์ดเบาๆ และเสียงพูดคุยฝ่ายเดียวทางวิดีโอคอล ไม่มีเสน่ห์เชิญชวนเท่าเสียงสนทนาของผู้คนที่เข้ามานั่งดื่มกาแฟตามปกติ นี่เป็นสาเหตุให้มีการแบนแล็ปท็อปเกิดขึ้น” โฮเซ่ เจ้าของร้านคอฟฟราฯให้มุมมอง
โอเซ่ บอกอีกว่า เป็นเรื่อง “ไม่ยุติธรรม” เลยที่จะปฏิเสธลูกค้าอื่น ๆ โดยยอมให้ผู้ใช้แล็ปท็อปผูกขาดพื้นที่ของร้านไป ธุรกิจขนาดเล็กต้องพึ่งพาลูกค้าที่หมุนเวียนกันมาใช้บริการตลอดทั้งวันเพื่อความอยู่รอดทางธุรกิจ แต่การใช้ร้านกาแฟเป็นพื้นที่ทำงาน ทำให้การหมุนเวียนของลูกค้าลดลง โดยปกติผู้ใช้แล็ปท็อปจะนั่งในร้านกาแฟครั้งละหลายชั่วโมงในหนึ่งวัน ใช้จ่ายเงินสูงสุดประมาณ 10 ปอนด์ต่อวัน เรื่องนี้นำไปสู่ปัญหา 2 ประการ หนึ่งในนั้้นคือ กีดกันไม่ให้ลูกค้าอื่นๆ ได้โต๊ะนั่ง สองอาจส่งผลให้เกิดปัญหาทางการเงินสำหรับเจ้าของร้านอิสระขนาดเล็ก
ตัวเลขการใช้จ่ายสูงสุด 10 ปอนด์ไม่ถือว่ามากมายอะไร แค่ราคาคาปูชิโนในอังกฤษแก้วหนึ่งก็ตกเฉียดๆ 3 ปอนด์เข้าไปแล้ว
หลายๆร้านกลัวว่าลูกค้าจะมีปฏิกริยาด้านลบหากว่ามีการแบนแล็ปท็อป โดยเฉพาะอาจมีปากเสียงกันขึ้นระหว่างลูกค้ากับบาริสต้าอีกด้วย แต่สำหรับโฮเซ่ “ปัจจัยด้านการเงิน” มันสำคัญมากเกินกว่าจะเพิกเฉยได้ เคยมีคนถามเขาถึงเรื่องที่ร้านอาจสูญเสียลูกค้าไป เรื่องนี้โฮเซ่บอกว่า นับตั้งแต่เริ่มแบนแล็ปท็อป รายได้ของค๊อฟฟราฯเพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 18%
สำหรับเชนกาแฟขนาดใหญ่ อย่าง สตาร์บัคส์, คอสต้า คอฟฟี่ หรือ ทิม ฮอร์ตันส์ ปัญหาอาจจะไม่รุนแรงเท่าร้านขนาดเล็ก หรืออาจมองว่าไม่ใช่ปัญหาเลยด้วยซ้ำ เนื่องจากได้วางโครงสร้างธุรกิจและคอนเซปท์ของร้านกาแฟให้ลูกค้าเข้ามานั่งแช่ได้นานๆ แล้วก็มีพลังอำนาจทางการเงินสูงกว่าร้านเล็กร้านน้อยมากมายนัก
เจ้าของร้านกาแฟค๊อฟฟราฯ มองอีกว่า ปัญหาด้านการเงินไม่ใช่เหตุผลเดียวที่นำไปสู่การแบนแล็ปท็อป สำหรับเจ้าของร้านที่เน้นความสำคัญกับคุณภาพไม่ว่าจะเป็นกาแฟ อาหาร และการให้บริการลูกค้าแล้ว เจ้าแล็ปท็อปและอุปกรณ์อิเลกทรอนิคส์อื่นๆ อาจทำให้เป้าหมายของร้านถูกเบี่ยงเบนไป พร้อมเสริมว่า “คุณไม่มีทางได้เห็นใครก็ตามนั่งทำงานกับแล็ปท็อปในร้านอาหารติดดาวมิชลินสตาร์”
นี่คือสถานการณ์ของร้านกาแฟ โดยเฉพาะร้านอิสระขนาดเล็ก ที่ลูกค้าหลายคนอาจมองข้ามไป
ผู้เขียนเห็นว่ามีหลายแนวทางที่เจ้าของร้านนำมาใช้แก้ปัญหา ร้านที่อะลุ้มอล่วยหน่อยก็ขึ้นป้ายให้เห็นกันทั่วไป เป็นต้นว่า ห้ามนั่งแช่ทำงานในวันเสาร์-อาทิตย์ หรือไม่ก็ควบคุมการใช้สัญญาณไวไฟ,ให้รหัสไวไฟแบบจำกัดเวลา,ลดรูเสียบปลั๊กไฟลง และจัดโซนที่นั่งทำงานให้ในแบบจำนวนจำกัด นั่งเต็มแล้วเต็มเลย ห้ามไปใช้โต๊ะอื่นๆ ไปจนถึงมาตรการที่เข้มข้นมากขึ้นอย่างห้ามนำแล็ปท็อปและแท็บเล็ตเข้าร้าน พร้อมขึ้นป้ายหน้าร้านว่า “เขตปลอดแล็ปท็อป” หรือเลิกให้บริการไวไฟไปเลยก็มีในบางร้าน
หลายปีก่อน เว็บไซต์เดอะ การ์เดียน ของอังกฤษ ก็เคยลงข่าวว่า มีร้านกาแฟท้องถิ่น 3 แห่งในเมืองไบรท์ตันประกาศเลิกให้บริการสัญญาณไวไฟภายในร้าน เนื่องจากทนไม่ไหวที่มีบรรดาลูกค้าหิ้วแล็ปท็อปเข้ามานั่งทำงานในร้านนานหลายชั่วโมงติดต่อกัน แต่จ่ายเงินซื้อกาแฟและอาหารนิดเดียวเอง ทำให้ร้านสูญเสียรายได้ที่พึงมีไป
ในช่วงเดียวกันนี้ ก็มีรายงานข่าวว่า ร้านกาแฟชื่อ ออกัส เฟิร์สต์ เบเกอรี่ แอนด์ คาเฟ่ ในรัฐเวอร์มอนต์ สหรัฐอเมริกา ออกระเบียบปฏิบัติ ห้ามพกพาอุปกรณ์ดังต่อไปนี้เข้ามาในร้าน แท็บเล็ต,ไอแพด และอุปกรณ์ที่มีลักษณะคล้ายกัน รวมไปถึงแล็ปท็อปด้วย ยกเว้นโทรศัพท์มือถือที่ไม่ห้าม แน่นอนว่ามีลูกค้าบางรายรู้สึกผิดหวังที่ทางเจ้าของร้านออกกฤกติกาเช่นนี้ แต่เจ้าของร้านก็ยืนยันว่าเป็นเรื่องดี เพราะช่วยกระตุ้นยอดขาย และทำให้ร้านกลับมามีฐานะเป็น “สภากาแฟ” ของชุมชนอีกครั้ง
ข่าวชิ้นนี้เป็นรายงานจาก www.npr.org เข้าใจว่าเป็นเว็บข่าวเกิดใหม่ไม่นานมานี้ แต่สำนวนโวหารยังรักษาซึ่งมาตรฐานอันดุเดือดเลือดพล่านตามสไตล์บริษัทข่าวอเมริกันไว้ครบถ้วน ในเนื้อข่าวข่าวมีทั้งคำว่า “สงคราม” ระหว่างเจ้าของกับผู้ใช้แล็ปท็อป และ “ประกาศิต” จากทางร้าน
ในเมืองไทย อาจจะยังไม่มีกฎกติกาที่เข้มข้นออกมา ส่วนใหญ่เป็นระเบียบในลักษณะขอความร่วมมือ ประเภทแบนหรือห้ามแล็ปท็อปหรือโน้ตบุ๊คยังไม่พบเห็น อาจเพราะกลัวลูกค้าทั่วไปได้รับผลกระทบ แบบว่าพลอยโดน “ลูกหลง” ไปด้วย แต่ที่สหรัฐและอังกฤษ ร้านกาแฟอิสระขนาดเล็กเริ่มนำมาใช้กันหลายเจ้าแล้ว และทำกันมาหลายปีแล้ว
เชื่อว่าหลังจากสถานการณ์เชื้อไวรัสโควิด-19 คลี่คลายลง ร้านรวงต่างๆ กลับมาเปิดบริการตามปกติ กรณีการทำงานนอกสถานที่อย่าง remote worker ซึ่งกลายเป็นรูปแบบไปแล้ว กับผลกระทบต่อร้านกาแฟ จะถูกหยิบยกขึ้นมาถกแถลงกันถึงข้อดี/ข้อเสียกันอีกครั้ง…อย่างไม่ต้องสงสัย
facebook : CoffeebyBluehill