เศรษฐกิจไตรมาสสุดท้ายอ่อนแรง….รอรัฐบาลหน้าแก้คงไม่ทัน

โดย ดร.ธนิต โสรัตน์ ประธานกรรมการในเครือบริษัทวี-เซิร์ฟ กรุ๊ป และรองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย

สภาวะเศรษฐกิจไทยไตรมาสสุดท้ายต่อเนื่องในปีหน้าปัจจัยทางบวกมาจากส่งออกที่เป็นภาคส่วนเดียวขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ตามมาด้วยช่วงปลายปีภาคการท่องเที่ยวฟื้นตัวจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเริ่มเข้ามาแต่ปริมาณและรายได้ยังห่างไกลจากก่อนเกิดวิกฤตโควิด ธุรกิจส่วนใหญ่เปิดดำเนินการและประชาชนออกมาจับจ่ายใช้สอยโดยเฉพาะช่วงวันหยุดยาวที่ผ่านมาโรงแรม-ห้องพักพื้นที่ท่องเที่ยวสำคัญเต็มหมด การพยากรณ์เศรษฐกิจ ปีหน้าไปโลดคงไม่สามารถใช้ปรากฏการณ์ที่กล่าวคงไม่พอเนื่องจากเศรษฐกิจไทยเชื่อมโยงพึ่งพาการค้าโลกในสัดส่วนที่สูงมากๆ

สถานการณ์เศรษฐกิจโลกช่วงเวลาจากนี้ไปจนถึงปี พ.ศ.2566 หลายภาคส่วนวิเคราะห์ว่าเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มทรุดตัวมากกว่าที่คาดปีนี้การขยายตัวคงไม่เกินร้อยละ 3 แถลงการณ์องค์กรการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ล่าสุดระบุว่าเศรษฐกิจโลกกำลังเข้าสู่โหมดถดถอย “Dangerous New Normal” สอดคล้องกับธนาคารโลกที่มีการปรับการเติบโตของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าหลักส่งออกไทยโดยเฉพาะจีนเศรษฐกิจทรุดตัวครั้งใหญ่สุดในรอบหลายทศวรรษ

ก่อนอื่นต้องเข้าใจว่าจีนเป็นคู่ค้าส่งออกหลักของไทยโดยในช่วงแปดเดือนแรกของปีนี้มูลค่าการค้าลดต่ำสุดในรอบห้าปีจำนวนนักท่องเที่ยวก่อนโควิดมี 11.14 ล้านคน คาดว่าปีนี้ไม่เกิน 2.0 แสนคน หลังจากปธน.สี จิ้นผิง กลับมาเป็นผู้นำสมัยที่ 3 ว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงนโยบายอย่างไรการขยับตัวของจีนย่อมมีผลต่อเศรษฐกิจโลก

ปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อเศรษฐกิจทั้งของโลกและไทยคือเงินเฟ้อซึ่งเรื้อรังและฝังลึกมีความซับซ้อนในการแก้ปัญหาเพราะไม่ได้มาจากด้านอุปสงค์แต่เกิดจาก “Supply Chain Disruptionที่เกิดจากสงครามรัสเซีย-ยูเครนกระทบราคาพลังงานและวัตถุดิบทุกประเทศโดยเฉพาะสหรัฐอเมริกาใช้มาตรการดอกเบี้ยนโยบายสูงเพื่อแก้ปัญหา ส่งผลให้อัตราแลกเปลี่ยนเงินสกุลต่างๆ ผันผวนจากเงินทุนไหลออกไปพักสกุลที่ปลอดภัยคือ “U.S. Dollar” ผลที่มีต่ออัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทอ่อนค่าถึงร้อยละ 14 (ณ 17 ต.ค. 38.215/USD.)

กล่าวได้ว่าโลกเข้าสู่ “Global Inflation” ส่งผลต่อต้นทุนสินค้าสูงทำให้ความต้องการสินค้าและบริการลดลง แม้แต่ภาคส่งออกของไทยจะได้แต้มต่อจากบาทอ่อนค่าแต่สินค้าส่งออกส่วนใหญ่มี “Import Content” มาก-น้อยแตกต่างกันอีกทั้งค่าเงินของประเทศคู่ค้าต่างก็อ่อนค่า เช่น จีน สหภาพยุโรป และญี่ปุ่นเงินอ่อนค่ามากกว่าไทยส่งผลให้การส่งออกในช่วงปลายปีจะเริ่มชะลอตัว ทั้งนี้การขยายตัวส่งออกผ่านจุดสูงสุดไปแล้วจากสถานการณ์โลกที่เริ่มดิ่งเหวทำให้คำสั่งซื้อลดลง

สัญญาณการค้าระหว่างประเทศที่ลดลงสะท้อนจากปริมาณตู้คอนเทนเนอร์ (Container) ทั้งนำเข้าและส่งออกที่ก่อนหน้านั้นขาดแคลนรุนแรงกลับมามีจำนวนเหลือเกิดความต้องการ ค่าระวางเรือขนส่งระหว่างประเทศหรือ “Freight Charge” ราคาปรับลง 1.5 ถึง 3.0 เท่าเช่น ค่าขนส่งไปประเทศสหรัฐอเมริกาฝั่งตะวันตกเดือนเมษายนราคาตู้ละ 18,000 USD./TEU เดือนตุลาคมเหลือเพียง 5,650 USD./TEU ค่าขนส่งไปยุโรปจาก 8,950 เหรียญลดเหลือ 4,950 เหรียญ ค่าขนส่งไปท่าเรือเซี่ยงไฮ้จาก 800 เหรียญลดเหลือ 450 เหรียญ และขนส่งไปประเทศเวียดนามจากตู้ละ 650 เหรียญสหรัฐลดเหลือเพียง 250 เหรียญสหรัฐ กรณีศึกษาตัวเลขค่าระวางเรือระหว่างประเทศที่ลดลงมากบ่งบอกถึงปริมาณการค้าโลกในรูปของอุปสงค์จำนวนตู้คอนเทนเนอร์ที่ลดลง

ปัจจัยเสี่ยงเศรษฐกิจไทยช่วงไตรมาสสุดท้ายไปถึงอย่างน้อยครึ่งปีแรกของพ.ศ.2566 มีหลายปัจจัย ขอยกตัวอย่างเป็นสังเขปได้แก่

(1) ความเสี่ยงจากเศรษฐกิจโลกและประเทศคู่ค้าทรุดตัวแรงไปถึงถดถอยหนักสุดในรอบ 4 ทศวรรษ คงเป็นเรื่องยากที่จะไม่กระทบถึงไทยดังนั้นที่หวังว่าปีหน้าเศรษฐกิจจะขับเคลื่อนแบบ “Smooth Take-off” คงต้องมีปาฏิหาริย์

(2) Global Hyper Inflation เป็นปัญหาต่อเนื่องไปถึงปีหน้าถึงแม้เดือนกันยายนลดลงจากร้อยละ 7.86 เหลือร้อยละ 6.41 ขณะที่เงินเฟ้อของสหรัฐและ EU ขึ้นไปถึงร้อยละ 9 โดยการปรับดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐแทบไม่มีผลต่อเงินเฟ้อแต่กลับทำให้เกิดเศรษฐกิจหดตัวจนไปถึงถดถอย

กรณีประเทศไทยผลพวงจากการสะดุดของห่วงโซ่อุปทานโลกถึงแม้จะเริ่มดีขึ้นบ้างแต่ก็ยังเป็นปัญหาสำคัญ การที่หน่วยงานรัฐระบุจะให้เงินเฟ้อเฉลี่ยไม่เกินกรอบร้อยละไม่เกิน 1.5 -2.0 ภายใต้ประเด็นความขัดแย้งสงครามรัสเซีย-ยูเครนยังไม่จบและกลุ่มประเทศ “OPEC” ลดปริมาณซัพพลายน้ำมันลงร้อยละ 2.0 ซ้ำเติมวิกฤตพลังงานส่งผลทำให้ราคาน้ำมันโลกกลางเดือนตุลาคมขยับตัวสูงและผันผวนขึ้นลงไม่แน่นอนตามการเก็งกำไรของตลาดค้าน้ำมันระดับโลกแต่มีผลต่อราคาน้ำมันในประเทศ ถึงแม้ราคาดีเซล (B7) รัฐบาลตรึงราคาไว้ 34.94 บาท/ลิตร ขณะที่ราคาหน้าโรงกลั่นไม่รวมภาษีและค่าการตลาด ณ วันที่ 17 ตุลาคม อยู่ที่ 32.79 บาท/ลิตร โดยกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเข้าไปอุดหนุนลิตรละ 4.690 บาท ประเด็นเงินเฟ้อสูงยังคงเป็นปัญหาทำให้ราคาสินค้าอุปโภคและบริโภคแพงไปจนถึงปีหน้า

(3) สภาพคล่องธุรกิจลดลง-หนี้ครัวเรือนสูงและคนจนมีจำนวนมากขึ้น เป็นประเด็นที่พูดกันมากมาหลายปีแต่ยังแก้ไม่ได้แถมเป็นปัญหามากขึ้น กล่าวคือไตรมาส 2 ปีนี้หนี้ครัวเรือนมีมูลค่า 14.764 ล้านล้านบาท ในช่วงหนึ่งปีหนี้ครัวเรือนสูงขึ้นถึง 492,502 ล้านบาทคิดเป็นร้อยละ 3.46 หากถึงสิ้นปีอาจเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า เจ็ดแสนล้านบาท หนี้ครัวเรือนที่สูงขึ้นมีความสัมพันธ์อย่างเป็นนัยกับปริมาณคนจนที่เพิ่มมากขึ้นสะท้อนจากการขึ้นทะเบียนผู้มีรายได้น้อยรัฐสวัสดิการของรัฐหรือ “บัตรคนจน” ช่วงหนึ่งปีเพิ่มจาก 13.65 ล้านคนเป็น 20.105 ล้านคนเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 47.25

แสดงให้เห็นถึงความเปราะบางทางโครงสร้างของไทยที่ประชากรเกือบ 1 ใน 3 เป็นคนจนจะเป็นคนจนทางเทคนิคหรือเป็นคนจนจริงๆก็ตาม ปัญหาสำคัญมาจากรายได้ไม่พอรายจ่ายเมื่อมาเจอปัจจัยเงินเฟ้อสูงเป็นการซ้ำเติมกำลังซื้อให้ลดลงเมื่อเงินไม่พอก็ต้องไปเป็นหนี้โดยร้อยละ 21.0 เป็นเงินกู้นอกระบบ ขณะที่หนี้ในระบบมีหนี้ตกชั้นถึง 3.9 ล้านบัญชีมูลหนี้ประมาณ 2.9-3.0 ล้านล้านบาท หนี้ครัวเรือนสูงหากต้องการเห็นภาพชัดต้องแยกหนี้ธุรกิจที่จดทะเบียนนิติบุคคลออกจากหนี้ชาวบ้าน การที่คนจนของประเทศเพิ่มขึ้นมากในอัตราที่น่ากังวลมีผลต่อกับดักการบริโภคและการจ้างงานรวมถึงสภาพคล่องของภาคธุรกิจที่กำลังเป็นปัญหาคลื่นใต้น้ำอยู่ในขณะนี้ การแก้หนี้ครัวเรือนกลายเป็นวาระแห่งชาติที่ต้องแก้ทั้งโครงสร้างไม่ใช่ไม่เพียงแต่แบงค์พาณิชย์ไปปรับโครงสร้างหนี้หรือยืดหนี้โดยยังคิดดอกเบี้ยทำให้กำไรของแบงค์และหุ้นพุ่งสูง

(4) Forex Fluctuates หรืออัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทมีความผันผวนที่จะอ่อนค่าต่อเนื่อง จากการศึกษาเปรียบเทียบพบว่าเงินบาทอ่อนค่าเป็นผลอย่างเป็นนัยกับเงินทุนสำรองระหว่างประเทศ (Foreign exchange reserves) ทุนสำรองระหว่างประเทศเดือนมกราคม ปี 2565 มีมูลค่า 276,112 ล้านเหรียญสหรัฐอัตราแลกเปลี่ยนเฉลี่ยในเดือนนั้นอยู่ที่ 33.431 บาท/USD. จากการเปรียบเทียบ ณ เดือนกันยายนเงินทุนสำรองลดลงเหลือ 228,174 ล้านเหรียญสหรัฐ อัตราแลกเปลี่ยนเฉลี่ยอยู่ที่ 37.915 บาท/USD. และล่าสุด ณ 17 ตุลาคม อัตราแลกเปลี่ยนเฉลี่ยอยู่ที่ 38.215 บาท/USD.

จากที่กล่าวช่วงเก้าเดือนครึ่งของปีนี้อัตราแลกเปลี่ยนบาทอ่อนค่าถึงร้อยละ 14.33 และมีแนวโน้มที่ยังอ่อนค่า ขณะที่ช่วงต้นปีถึงกลางเดือนตุลาคม “Reserve” ลดลง 47,937 ล้านเหรียญสหรัฐคิดเป็นร้อยละ 17.4 ในจำนวนนี้เป็นการขาดดุลการค้า 14,137 ล้านเหรียญสหรัฐ เงินที่เหลือหายไปไหนเพราะแบงค์ชาติแจงว่าเงินทุนไหลออกไม่มากพร้อมทั้งแจงว่าเป็นการตีมูลค่าทรัพย์สินในรูปสกุลเงินอื่นที่อ่อนค่าเมื่อเทียบกับเหรียญสหรัฐ ทั้งนี้ทุนสำรองระหว่างประเทศของไทยอยู่ในเกณฑ์ดีเป็นอันดับ 12 ของโลกสามารถมีศักยภาพรับมือเศรษฐกิจมีสัดส่วนต่อหนี้ต่างประเทศระยะสั้น 3.2 เท่าและรับมือการนำเข้าโดยไม่ส่งออกได้เก้าเดือนเศษ น 12.172 ฌ

แต่ปริมาณเงินไหลออกในระดับนี้ไม่ว่าจะเกิดจากการตีราคาเงินสกุลอื่นในระยะยาวย่อมไม่ดีแน่นอน ช่วงเวลาจากนี้ไปเกี่ยวข้องกับการบริหารทุนสำรองที่ลดลงมากเป็นประวัติการณ์จะสามารถประคับประคองเงินบาทไม่ให้อ่อนค่าเกินจุดความสมดุลได้อย่างไร

ตารางเงินทุนสำรองระหว่างประเทศของไทย (ปี 2565) 

เดือน ล้านเหรียญ/USD. อัตราแลกเปลี่ยนเฉลี่ยบาท/USD.
ม.ค. 276,112.41 33.431
มี.ค. 272,930.46 33.305
เม.ย. 260,639.49 34.338
พ.ค. 260,002.83 34.189
มิ.ย. 250,942.25 35.287
ก.ค. 248,489.13 36.822
ส.ค. 242,390.41 36.497
ก.ย. 228,174.53 37.915
ต.ค. < 22X,XXX > 38.215

ที่มา: ธปท.

ทิศทางเศรษฐกิจของไทยเกี่ยวข้องกับความท้าทายในการรับมือกับความเสี่ยงซึ่งส่วนใหญ่เป็นปัจจัยภายนอกเป็นปัญหาระดับโลก จากการวิเคราะห์รายงานของหน่วยงานรัฐ ภาคเอกชนและข้อมูลจากต่างประเทศล้วนชี้ไปในทิศทางเดียวกันว่าเศรษฐกิจโลกปลายปีนี้ถึงครึ่งปีแรกของปีหน้ามีความเสี่ยงจะชะลอตัวรุนแรงบางประเทศอาจถึงขั้นถดถอย ขณะที่หน่วยงานรัฐและกูรูที่ยึดโยงกับหน่วยงานรัฐออกมาให้ “ยาหอม” และให้กำลังใจว่าปีหน้าเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวแน่นอนแต่ก็ทิ้งท้ายระบุว่าเศรษฐกิจของไทยพึ่งพาเศรษฐกิจโลกในสัดส่วนที่สูงโดยเศรษฐกิจหรือ GDP ที่เปลี่ยนแปลงทุกร้อยละ 1 มีผลต่อเศรษฐกิจไทยร้อยละ 0.6

เศรษฐกิจไทยยังต้องนำปัจจัยผลกระทบจากน้ำท่วมใหญ่ในหลายพื้นที่ของประเทศซึ่งยังไม่ได้มีการประเมินผลเสียหายซึ่งจะซ้ำเติมความยากจนและหนี้ครัวเรือนรวมถึงความสามารถในการจับจ่ายใช้สอยของประชาชน นอกจากนี้ปัจจัยที่มีผลต่อเศรษฐกิจคือเสถียรภาพของรัฐบาลและสุญญากาศทางการเมืองสู่โหมดการเลือกตั้งที่จะมีในช่วงต้นไตรมาส 2 ปีหน้าหรือหากมีการยุบสภาระยะเวลาก็จะเร็วขึ้น ภายใต้ภาวะเศรษฐกิจซึ่งมีความเสี่ยงจากวิกฤตเศรษฐกิจโลกในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อคงไม่สามารถรอรัฐบาลหลังเลือกตั้งมาแก้ปัญหาได้ทัน เพราะทั้งก่อนและหลังเลือกตั้งกว่าที่จะฟอร์มรัฐบาลใหม่คงใช้เวลาพอควรอาจทำให้เกิด “ช่องว่าง” หรือเกียร์ว่างในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ

ความหวังเดียวคือองค์กรภาคเอกชนที่ใกล้ชิดกลไกรัฐจะต้องผลักดันให้รัฐบาลเร่งออกมาตรการที่จำเป็นระยะสั้นแบบเป็น “Short Term Package Policy” มีงบประมาณที่เพียงพอกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อให้ข้าราชการและหน่วยงานรัฐสามารถนำไปแก้ปัญหาเศรษฐกิจโดยไม่ต้องรอรัฐบาลซึ่งมัวยุ่งอยู่กับเรื่องของตัวเองหรือชิงไหวชิงพริบทางการเมือง

มาตรการที่ออกมาต้องไม่เลื่อนลอยควรเป็นการรับมือเศรษฐกิจระยะเฉพาะหน้าด้วยการกระตุ้นกำลังซื้อพร้อมไปกับการแก้ปัญหาหนี้ชาวบ้านและสภาพคล่องให้กับธุรกิจ รัฐบาลอย่ามัวแต่ให้ความสำคัญกับเวที APEC ซึ่งไทยเป็นเจ้าภาพเป็นเพียงได้หน้าตาหรือจับมือกับผู้นำของประเทศใหญ่ๆ แต่เขามองเราเป็นตัวเล็กๆ หรือมัวแต่สาละวนยุ่งกับการจัดทัพสู้เลือกตั้งที่พรรคฝ่ายค้านทำท่าจะ “Landslide”

ขณะเดียวกัน องค์กรภาคเอกชนในเวลาเช่นนี้ควรมีข้อเสนอแนวทางแก้ปัญหาเศรษฐกิจที่ธุรกิจส่วนใหญ่โดยเฉพาะ SME กำลังจะรอดหรือไม่รอดไม่ใช่มาบอกว่าแก้ปัญหาเศรษฐกิจในช่วงทรุดตัวด้วยการเปลี่ยนไปทำธุรกรรมแบบ “Green Economy” หรือ ECG Business platform ที่เน้นสิ่งแวดล้อม ชุมชนและธรรมภิบาล….เอาไว้พ้นปากเหวแล้วค่อยไปปรับเปลี่ยนคงไม่สายเกินไป


 

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *