รายงานพิเศษ : อัตราว่างงานไทยลดต่ำสุด….สวนทางเศรษฐกิจโลกชะลอตัวต่ำสุดในรอบทศวรรษ
โดย ดร.ธนิต โสรัตน์ ประธานกรรมการบริษัทในเครือวี-เซิร์ฟกรุ๊ป และรองประธานองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย
รายงานภาวะการทำงานของประชากรเดือนพฤศจิกายน 2565 ระบุว่า ผู้มีงานทำมีจำนวน 39.815 ล้านคนเพิ่มมากสุดในรอบ 5 เดือนอัตราการว่างงานลดลงร้อยละ 1.2 เป็นอัตราที่ต่ำสุดนับตั้งแต่เกิดวิกฤตโควิด-19 โดยอัตราว่างงานสูงสุดอยู่ในไตรมาส 3 ปี 2564 ที่ร้อยละ 2.29 หลังจากนั้นก็ลดลงมาตามลำดับ อัตราการว่างงานที่ลดลงสวนทางกับสภาวะชะลอตัวของภาคอุตสาหกรรมในช่วงเวลาเดียวกัน สาเหตุสำคัญมาจากการส่งออกหดตัวมาตั้งแต่ต้นไตรมาสสุดท้ายของปีที่แล้ว (เดือนพ.ย.65 หดตัว -5.96%) และคาดว่าจะ หดตัวอย่างน้อยไปถึงต้นไตรมาส 2 ปี 2566 ภาคส่งออกเป็นเซคเตอร์สำคัญเกี่ยวข้องกับครึ่งหนึ่งของแรงงานทั้งหมดผลกระทบของเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวแสดงออกผ่านทางการหดตัวของภาคส่งออกอย่างชัดเจน
ปัจจัยด้านบวกคือภาคท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวอย่างมีนัยยะโดยเฉพาะการเปิดประเทศของจีนทำให้แนวโน้มการท่องเที่ยวฟื้นตัว ปีที่ผ่านมาคาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติมีถึง 11.5 ล้านคนและปีนี้อาจเพิ่มเป็น 25-28 ล้านคนจนแรงงานขาดอย่างรุนแรง ด้านการลงทุนปีที่ผ่านมาเฉพาะที่ผ่าน BOI จำนวนโครงการเพิ่มขึ้นร้อยละ 41 มูลค่าขอบัตรส่งเสริม 6.646 แสนล้านบาทเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 39 โดยส่วนใหญ่เป็นการลงทุนทางตรง (FDI) คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 65.3 ซึ่งกว่าครึ่งของการลงทุนเป็นการลงทุนในพื้นที่ EEC สำหรับ ปีพ.ศ. 2566 จากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวอาจทำให้การลงทุนลดลงคาดว่าอาจถึงขั้นหดตัวซึ่งจะมีผลโดยตรงต่อตลาดแรงงาน
เป็นที่ทราบอยู่แล้วว่าเศรษฐกิจของไทยพึ่งพาเศรษฐกิจโลกในสัดส่วนที่สูงทั้งด้านพลังงาน การนำเข้า-การส่งออก ท่องเที่ยวและการลงทุนทางตรงยังไม่รวมเงินทุนไหลเข้าในตลาดตราสารหนี้และตลาดหุ้น ปัจจัยของโลกโดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา, อียู, จีนและญี่ปุ่นส่งผ่านมาในด้านราคาสินค้าจากภาวะเงินเฟ้อ, การสะดุดของซับพลายเชน, อัตราแลกเปลี่ยนที่ผันผวนภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวมีผลต่อการบริโภคของโลกซึ่งไทยเป็น “Export Oriented Country” จึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะรับผลกระทบโดยตรง
เศรษฐกิจโลกที่ทรุดตัวสามารถสะท้อนราคาทองคำซึ่งเป็นสินทรัพย์ที่เสี่ยงน้อยที่สุดราคาทำสถิติล่าสุด (26 ม.ค.66) อยู่ที่ 1,936 เหรียญสหรัฐ/ออนซ์ (หรือประมาณ 2 บาท) สูงสุดในรอบ 9 เดือน นอกจากนี้อุปสงค์ที่ลดลงส่งผลให้อัตราค่าระวางเรือหรือ “Freight Charge” เดือนมกราคมลดต่ำสุดในรอบหนึ่งปี เช่น ค่าขนส่งไปท่าเรือเซี่ยงไฮ้ลดลงจาก 450 USD/TEU เหลือ 180 USD/TEU รวมถึงสินค้าที่ไปสหรัฐและยุโรปค่าระวางเรือลดเฉลี่ยมากกว่าร้อยละ 30 ข้อมูลนี้แสดงเห็นถึงอุปสงค์-อุปทานของการค้าโลกมีการทรุดตัวอย่างชัดเจน
เศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มชะลอตัวมากกว่าปีที่ผ่านมาล่าสุดการประชุม “WEF : World Economic Forum” ที่เมืองดาวอส ประเทศสวิตเซอร์แลนด์เมื่อกลางเดือนมกราคมที่ผ่านมา ระบุว่าเศรษฐกิจโลกปีนี้จะอยู่ในภาวะที่ย่ำแย่ที่สุดในรอบสิบปี ปัจจัยสำคัญคือภาวะเงินเฟ้อที่ทำให้ราคาสินค้ายังคงสูงทำให้กำลังซื้อของโลกลดลง ความผันผวนของราคาพลังงานรวมถึงราคาสินค้าโภคภัณฑ์ตลอดจนอัตราแลกเปลี่ยนเป็นผลจากความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์จากสงครามรัสเซีย-ยูเครนที่แนวโน้มอาจขยายตัว โดยเนื้อหาและสาระสำคัญที่ได้จากการประชุมของ WEF สอดรับกับการคาดการณ์ของ IMF หรือกองทุนการเงินระหว่างประเทศและธนาคารโลกที่มีการตัดลดการเติบโตทางเศรษฐกิจของโลกหลายครั้ง
ข้อกังวลขององค์กรระดับโลกเกี่ยวกับเศรษฐกิจโลกปี พ.ศ. 2566 ยังคงให้น้ำหนักภาวะเงินเฟ้อยังคงเป็นปัจจัยที่น่ากังวลในแต่ละระดับภูมิภาคมีความแตกต่างกันโดยสหรัฐค่อนข้างควบคุมได้ดีกว่าของยุโรปซึ่งคาดว่าค่าเฉลี่ยทั้งปีเงินเฟ้ออาจอยู่ที่ร้อยละ 5.7 และเงินเฟ้อจีนอาจอยู่ที่ร้อยละ 5.0 สำหรับราคาพลังงานผ่านจุดสูงสุดมาแล้วแต่ก็ยังมีความผันผวนโดยราคาน้ำมันโลกยังอยู่ช่วงขึ้นลงระหว่าง 75-80 เหรียญสหรัฐ/บาเรล (NYNEX) นอกจากนี้ความกังวลความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ซึ่งเกิดจากสงครามยูเครน-รัสเซียอาจยืดเยื้อส่งผลกระทบต่อการสะดุดของซับพลายเชนแต่สถานการณ์มีการคลี่คลายปัจจุบันราคาแป้งสาลีในตลาดโลกราคาลดลง สถานการณ์ยูเครนอาจทำให้ลุกลามกลายเป็นความขัดแย้งของชาติตะวันตกกับรัสเซียขยายตัวซึ่งไม่เป็นผลดีต่อการค้าโลก
ปัจจัยภายนอกที่ไม่อาจมองข้ามช่วงต้นเดือนมกราคม “IMF” ส่งสัญญาณเตือนอย่างเป็นทางการระบุว่าปี พ.ศ.2566 เศรษฐกิจจะอยู่ในภาวะชะลอตัวมากกว่าในปีที่ผ่านมาโดย 1 ใน 3 ของเศรษฐกิจโลกจะได้รับผลกระทบถึงแม้เศรษฐกิจสหรัฐอเมริกามีแนวโน้มสามารถหลีกเลี่ยงภาวะเศรษฐกิจถดถอยได้จากตลาดแรงงานที่ยังมีความแข็งแกร่งแต่ท่าทีของธนาคารกลางสหรัฐ (FED) และธนาคารกลางสหภาพยุโรป (ECB) ส่งสัญญาณการปรับดอกเบี้ยนโยบายอย่างต่อเนื่อง ประเด็นที่ไอเอ็มเอฟกังวลคือภาวะขัดแย้งในภูมิรัฐศาสตร์ทำให้เศรษฐกิจของประเทศในอียูครึ่งหนึ่งอาจเข้าสู่ภาวะถดถอย
ด้านธนาคารโลกหรือ World Bank ในช่วงเวลาใกล้เคียงกันได้ออกมาเตือนเศรษฐกิจโลกอาจเข้าสู่วิกฤต หลายประเทศอาจถึงถดถอยโดยเฉพาะในกลุ่มอียูซึ่งจะทำให้อุปสงค์ความต้องการสินค้าลดลงซึ่งจะกระทบเป็นโดมิโนไปสู่ประเทศที่กำลังพัฒนา แม้แต่ประเทศจีนซึ่งมีเศรษฐกิจขนาดใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลกเศรษฐกิจอาจจะขยายตัวช้ากว่าที่คาด โดยปีที่ผ่านมาเศรษฐกิจของจีนขยายตัวได้เพียงร้อยละ 3 เป็นผลจากมาตรการสกัดการระบาดของโควิด-19 ที่เรียกว่า “ZERO COVID” การฟื้นตัวของภาคบริโภคจีนอาจต้องไปถึงปลายไตรมาสหนึ่ง โดยเฉพาะภาคอสังหาริมทรัพย์ ขณะที่อัตราการว่างงานเดือนธันวาคมที่ผ่านมาอยู่ที่ร้อยละ 5.5 ส่วนใหญ่เป็นแรงงานใหม่
ทั้งเวิร์ดแบงค์และไอเอ็มเอฟมีการปรับตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจหลายครั้งโดยเห็นตรงกันว่า ปัจจัยสำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจโลกชะลอตัวคือปัจจัยจากเงินเฟ้อสูง การเพิ่มขึ้นของอัตราดอกเบี้ยซึ่งสอดรับกับการขึ้นดอกเบี้ยของสถาบันการเงินไทย โดยช่วงที่ผ่านมาปรับดอกเบี้ยเงินกู้ร้อยละ 0.75-1.0 มากกว่าดอกเบี้ยนโยบายของแบงค์ชาติ ประเด็นที่ขัดแย้งกับทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวแต่ระดับเงินเฟ้อกลับพุ่งสูงและทรงตัวเป็นสัญญาณความไม่ปกติของระบบเศรษฐกิจโลก
กรณีประเทศไทยได้กล่าวแต่เบื้องต้นว่าพึ่งพาการค้าโลกในระดับที่สูงมากทั้งด้านส่งออก, นำเข้าพลังงานและวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิต, การท่องเที่ยว, ฯลฯ คงหลีกเลี่ยงผลกระทบได้ยากอีกทั้งอยู่ในช่วงรอยต่อของสุญญากาศทางการเมืองซึ่งรอเวลายุบสภาในช่วงจังหวะที่หัวเลี้ยวหัวต่อรัฐบาลกลับไม่มีเวลาให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาเศรษฐกิจอย่างเป็นระบบตรงนี้เป็นความเสี่ยง ปัญหาของไทยคือโครงสร้างเศรษฐกิจมีความอ่อนแอจากการถูกการเมืองเข้าแทรกแซง เช่น นโยบายประชานิยม, การปรับค่าจ้าง-ค่าแรงในอัตราที่สูงอย่างไม่มีเหตุและผลรัฐบาลขาดเสถียรภาพอาจทำให้การลงทุนใหม่ชะลอตัวเพราะมีทางเลือกที่ดีกว่า อีกทั้งการเปลี่ยนแปลงทางด้านภูมิรัฐศาสตร์ เศรษฐกิจที่แปรปรวนจะทำให้มีการจัดระเบียบเศรษฐกิจโลกใหม่มีการแบ่งค่ายหรือแบ่งขั้วเกิดสงครามเย็นแห่งศตวรรษที่ 21
ความท้าทายของไทยภายใต้ภาวะเศรษฐกิจโลกและภาคส่งออกมีแนวโน้มทรุดตัวเศรษฐกิจไทยจะสามารถสวนกระแสรักษาการจ้างงานและรักษาอัตราการว่างงานที่ต่ำสุดในรอบเกือบ 3 ปีรวมถึงการบริโภคของประชาชนที่ช่วงตรุษจีนแห่กันออกมาจับจ่ายใช้สอยประมาณ 4.5 หมื่นล้านบาท อีกทั้งกระแสการยุบสภารวมถึงสุญญากาศทางการเมืองที่ไม่เอื้อต่อเศรษฐกิจ ภาวะเช่นนี้ภาคเอกชนโดยเฉพาะ SMEs คงต้องช่วยตัวเองปรับกลยุทธ์ธุรกิจให้สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญต้องรักษาสภาพคล่องควบคู่ไปกับการรักษาคนเก่ง เศรษฐกิจไทยผ่านจุดต่ำสุดไปแล้วแต่การที่จะก้าวผ่านยังคงเป็นความท้าทาย