เอสซีจี เผยผลประกอบการปี 2565 ยอดขายเพิ่ม แต่กำไรลด จากต้นทุนพลังงานพุ่ง เงินเฟ้อ เศรษฐกิจจีนชะลอตัว วัฏจักรปิโตรเคมีขาลง เร่งเดินหน้าขยายธุรกิจใหม่ มุ่งสินค้ากรีน ตอบโจทย์เมกะเทรนด์โลก คว้าโอกาสเศรษฐกิจฟื้น ขณะที่กลุ่มพลังงานสะอาดโต 78% – พลาสติกรักษ์โลก ขยายตัวกว่า 5 เท่า – โซลูชันประหยัดพลังงานบวกรับตลาด 40% –พัฒนาบรรจุภัณฑ์ที่ลดการใช้ทรัพยากร ล่าสุด LSP เดินเครื่องผลิตสินค้าสู่ตลาดกลางปีนี้ มั่นใจการเงินมั่นคง จากการรักษาสภาพคล่องอย่างเคร่งครัด
นายรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี กล่าวว่า “ผลประกอบการเอสซีจีปี 2565 มีรายได้ 569,609 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 7 กำไร 21,382 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 55 สาเหตุจากเศรษฐกิจชะลอตัว ปิโตรเคมีขาลง ต้นทุนพลังงานสูง ในขณะที่ ไตรมาส 4 ปี 2565 มีกำไร 157 ล้านบาท
ทั้งนี้ หากไม่รวมการปรับมูลค่าสินค้าคงเหลือ รายการด้อยค่าสินทรัพย์ และรายการอื่น จะมีกำไร 1,070 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 66 จากไตรมาสก่อน ทั้งหมดนี้ เป็นผลจากวิกฤติซ้อนวิกฤติ ความขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครน ราคาพลังงานทั้งถ่านหินและค่าไฟพุ่งสูงขึ้นอย่างมาก เงินเฟ้อ ค่าเงินบาทผันผวน เศรษฐกิจจีนชะลอตัว และวัฏจักรปิโตรเคมีขาลงครั้งใหญ่ที่สุดในรอบ 20 ปี
แต่เอสซีจีได้เกาะติดสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และปรับตัวฉับไวเพื่อบรรเทาผลกระทบที่มีต่อธุรกิจโดยรวม โดยมุ่งเน้นรักษาเสถียรภาพทางการเงินให้มั่นคง ลดต้นทุนโดยใช้พลังงานทดแทนและเทคโนโลยีดิจิทัลในกระบวนการผลิต พิจารณาการลงทุนตามกลยุทธ์อย่างรอบคอบ ส่งผลให้เงินสดคงเหลือแข็งแกร่งอยู่ที่ 95,000 ล้านบาท
ขณะเดียวกัน ความท้าทายที่ผ่านมาก็เอื้อให้เกิดโอกาสใหม่ ๆ ของธุรกิจ โดยเฉพาะความต้องการสินค้ากรีน ซึ่งเป็นทิศทางสำคัญของโลกและมีการขยายตัวต่อเนื่อง ทั้งกลุ่มพลังงานสะอาด พลาสติกรักษ์โลก โซลูชันประหยัดพลังงาน บรรจุภัณฑ์ที่ลดการใช้ทรัพยากร
โดยในปี 2565 ยอดขาย SCG Green Choice เติบโตโดดเด่นร้อยละ 34 เกินเป้าหมายที่ตั้งไว้ หรือมียอดขายรวม ร้อยละ 51 ซึ่งทุกกลุ่มธุรกิจของเอสซีจีพร้อมเร่งเดินหน้าเต็มที่ เพื่อเสริมความแข็งแกร่งของธุรกิจให้มากยิ่งขึ้น
สำหรับปี 2566 เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มดีขึ้น จากภาคท่องเที่ยวและการบริโภคกลับมาคึกคัก ขณะที่ตลาดอาเซียนปรับตัวขึ้นตามการเปิดประเทศของจีน ราคาถ่านหินในตลาดโลกลดลงหลังจากช่วงฤดูหนาว และเงินเฟ้อเริ่มส่งสัญญาณชะลอตัว เอสซีจีเชื่อมั่นว่าจะสามารถผ่านวิกฤติในครั้งนี้ และตอบความต้องการใหม่ ๆ ได้เป็นอย่างดี”
นายธรรมศักดิ์ เศรษฐอุดม รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี กล่าวว่า “จากวิกฤติต้นทุนพลังงานทั้งถ่านหินและค่าไฟที่พุ่งสูงขึ้นอย่างมาก เอสซีจีจึงรุกธุรกิจพลังงานสะอาด โดยมีขนาดกำลังการผลิต 234 เมกะวัตต์ ในปี 2565 เพิ่มขึ้นร้อยละ 78 จากปีก่อน ด้วยระบบเครือข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ Smart Grid สำหรับนิคมอุตสาหกรรม เครือข่ายโรงงานอุตสาหกรรม โรงแรม โรงพยาบาล
ล่าสุดติดตั้งแล้วที่กลุ่มบริษัทสหยูเนี่ยน บางปะกง เชื่อมโยงพลังงานสะอาดระหว่าง 10 บริษัท ช่วยลดต้นทุนพลังงาน ร้อยละ 30 และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ 3,670 ตันคาร์บอนไดออกไซด์ต่อปี ซึ่งธุรกิจนี้ต่อยอดจากความเชี่ยวชาญด้านพลังงานสะอาดของเอสซีจี เพื่อลดผลกระทบจากต้นทุนพลังงานที่เพิ่มขึ้น ตามการปรับตัวขึ้นของราคาพลังงานในตลาดโลก
โดยปี 2565 เอสซีจีเพิ่มสัดส่วนใช้เชื้อเพลิงทดแทนเป็นร้อยละ 34 จากร้อยละ 26 ในปีก่อน และมีการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ 194 เมกะวัตต์ เพิ่มขึ้นจาก 130 เมกะวัตต์ในปีก่อน ขณะเดียวกัน ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงได้ 3 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์ เกินเป้าหมายที่ตั้งไว้
พร้อมทั้งกำลังพัฒนาเทคโนโลยีดักจับและใช้ประโยชน์คาร์บอน (Carbon Capture and Utilization – CCU) จากการผลิตปูนซีเมนต์ในไทยและอาเซียน เพื่อบรรลุเป้าหมาย Net Zero 2050 โดยร่วมกับ นิปปอน สตีล เอ็นจิเนียริ่ง และ ไทยนิปปอน สตีล เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น”
นายธนวงษ์ อารีรัชชกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทเอสซีจี เคมิคอลส์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCGC กล่าวว่า “SCGC เดินหน้าพัฒนานวัตกรรมพลาสติกรักษ์โลก “SCGC GREEN POLYMERTM” ต่อเนื่อง ซึ่งได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากตลาดโลก มียอดขายกว่า 140,000 ตัน เติบโตกว่า 5 เท่า ในปีที่ผ่านมา
อีกทั้ง ได้ขยายเข้าสู่ธุรกิจรีไซเคิลพลาสติกครบวงจร โดยลงนามซื้อกิจการของคราส (Kras) / Recycling Holding Volendam B.V. ผู้นำด้านการจัดการวัสดุเหลือใช้จากประเทศเนเธอร์แลนด์ จึงช่วยเพิ่มศักยภาพให้กับธุรกิจฯ ตั้งแต่การจัดเก็บ คัดแยก ผลิตเม็ดพลาสติกรีไซเคิล ครอบคลุมภาคครัวเรือนและอุตสาหกรรม
ทั้งนี้พลาสติกที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมจาก SCGC ได้รับมาตรฐานสากลจากหลายองค์กรชั้นนำระดับโลก อาทิ EuCertPlast จากยุโรป ซึ่งรับรองแหล่งที่มาของวัตถุดิบในการผลิตเม็ดพลาสติกรีไซเคิลว่ามาจากพลาสติกใช้แล้ว ช่วยลดปัญหาขยะ และมาตรฐาน Recyclass จากการพัฒนาสารเคลือบชั้นฟิล์มที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการรีไซเคิลให้กับบรรจุภัณฑ์พลาสติก ถือเป็นรายแรกในอาเซียน
ขณะเดียวกัน บริษัท ลองเซิน ปิโตรเคมิคอลส์ จำกัด (Long Son Petrochemicals Company Limited – LSP) โครงการปิโตรเคมีครบวงจร ที่เวียดนาม คืบหน้ากว่าร้อยละ 98 พร้อมเดินเครื่องผลิตสินค้าเข้าสู่ตลาดกลางปีนี้”
นายนิธิ ภัทรโชค กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง เอสซีจี กล่าวว่า “เอสซีจี เร่งผลักดันธุรกิจสมาร์ท ลิฟวิ่ง โดยเฉพาะโซลูชันเพื่อประหยัดพลังงานและค่าไฟ ซึ่งกำลังเป็นที่ต้องการของตลาดในช่วงค่าไฟปรับตัวสูง โดยในปี 2565 เติบโตกว่าร้อยละ 40
อาทิ “SCG Air Scrubber” นวัตกรรมประหยัดพลังงานระดับโลก สำหรับอาคารขนาดใหญ่ ศูนย์ประชุม หรือห้างสรรพสินค้า มีประสิทธิภาพสูง ประหยัดพลังงานได้ถึงร้อยละ 20-30 ติดตั้งแล้ว 7 อาคารขนาดใหญ่ เช่น ศูนย์การค้า Terminal 21 สาขาพัทยา, Kloud by Kbank สยามสแควร์ ซึ่งได้รับการตอบรับที่ดี จึงจะมีโครงการลงทุนขยายรุ่นสินค้าตามความต้องการที่หลากหลายมากขึ้น
นอกจากนี้ ได้พัฒนา “SCG Built-in Solar Tile” นวัตกรรมแผงโซลาร์สำหรับบ้านสไตล์โมเดิร์น ที่ออกแบบเนียนเรียบไปกับผืนหลังคา ช่วยลดค่าไฟได้ร้อยละ 60”
นายวิชาญ จิตร์ภักดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทเอสซีจี แพคเกจจิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ SCGP กล่าวว่า “SCGP กำหนดกลยุทธ์ในการพัฒนานวัตกรรม เพิ่มโซลูชันบรรจุภัณฑ์ ตั้งงบลงทุนและค่าใช้จ่ายในการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมในปี 2566 รวม 800 ล้านบาท
โดยพัฒนานวัตกรรม “เส้นใยนาโนเซลลูโลส” จากวัตถุดิบเหลือใช้ทางการเกษตร เพื่อนำไปใช้เป็นวัตถุดิบในกระบวนการผลิตกระดาษบรรจุภัณฑ์ บรรจุภัณฑ์อาหาร พร้อมขยายไปยังอุตสาหกรรมเพื่อสุขภาพ และวัสดุคอมโพสิต รวมถึงต่อยอดความเชี่ยวชาญด้านการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ สู่การปลูกพืชและสมุนไพรมูลค่าสูง ตลอดจนมุ่งพัฒนาวัสดุเหลือใช้จากกระบวนการผลิตมาเป็นพลังงานหมุนเวียน โดยอยู่ระหว่างการพัฒนา “เทคโนโลยี Torrefaction” เพื่อใช้พลังงานชีวมวล (Biomass) ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เสริมการดำเนินงานด้าน ESG”
นายรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี เปิดเผยว่า “งบการเงินรวมก่อนตรวจสอบของเอสซีจี ประจำปี 2565 มีรายได้จากการขาย 569,609 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 7 จากปีก่อน จากธุรกิจแพคเกจจิ้ง และธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง โดยมีกำไรสำหรับปีอยู่ที่ 21,382 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 55 จากปีก่อน
สาเหตุหลักจากส่วนต่างราคาขายสินค้าเคมีภัณฑ์ปรับลดลง ต้นทุนพลังงานที่ปรับตัวสูงขึ้น รวมทั้งส่วนแบ่งกำไรจากบริษัทร่วมลดลง ทั้งนี้ หากไม่รวมการปรับมูลค่าสินค้าคงเหลือ รายการด้อยค่าสินทรัพย์ และรายการอื่น จะมีกำไรสำหรับปีอยู่ที่ 23,270 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 50 จากปีก่อน
สำหรับไตรมาส 4 ปี 2565 เอสซีจีมีรายได้จากการขาย 122,190 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 14 จากไตรมาสก่อน สาเหตุหลักจากราคาและปริมาณขายสินค้าเคมีภัณฑ์ปรับตัวลดลงตามความต้องการของตลาดที่ลดลง โดยมีกำไรสำหรับงวด 157 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 94 จากไตรมาสก่อน
สาเหตุหลักจากส่วนต่างราคาขายของสินค้าเคมีภัณฑ์ปรับตัวลดลงประกอบกับต้นทุนพลังงานทั้งถ่านหินและค่าไฟที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างมาก ทั้งนี้ หากไม่รวมการปรับมูลค่าสินค้าคงเหลือ รายการด้อยค่าสินทรัพย์ และรายการอื่น จะมีกำไรสำหรับงวดอยู่ที่ 1,070 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 66 จากไตรมาสก่อน
เอสซีจีมียอดขายสินค้าและบริการที่มีมูลค่าเพิ่ม (High Value Added Products & Services – HVA) ปี 2565 อยู่ที่ 195,520 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 34 ของยอดขายรวม ทั้งนี้ ยังมีสัดส่วนของการพัฒนาสินค้าใหม่ (New Products Development – NPD) คิดเป็นร้อยละ 17 และ Service Solutions คิดเป็นร้อยละ 6 ของยอดขายรวม
รายได้จากการดำเนินธุรกิจในต่างประเทศ รวมการส่งออกจากประเทศไทยในปี 2565 ทั้งสิ้น 257,880 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 45 ของยอดขายรวม ใกล้เคียงกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
สินทรัพย์รวมของเอสซีจี ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2565 มีมูลค่า 906,490 ล้านบาท โดยร้อยละ 45 เป็นสินทรัพย์ในอาเซียน (นอกเหนือจากไทย)
ผลการดำเนินงานในปี 2565 แยกตามรายธุรกิจ ดังนี้
ธุรกิจเคมิคอลส์ (SCGC) มีรายได้จากการขาย 236,587 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 1 จากปีก่อน เนื่องจากราคาและปริมาณขายสินค้าที่ลดลง โดยมีกำไรสำหรับปี 5,901 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 80 จากปีก่อน เนื่องจากส่วนต่างราคาขายสินค้าและส่วนแบ่งกำไรจากบริษัทร่วมลดลง
ขณะที่ไตรมาส 4 ปี 2565 มีรายได้จากการขาย 43,285 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 25 จากไตรมาสก่อน และลดลงร้อยละ 34 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากอุปสงค์ที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ราคาขายสินค้าปรับตัวลดลง โดยมีขาดทุนสำหรับงวด 1,052 ล้านบาท สาเหตุจากส่วนต่างราคาขายสินค้าลดลง
ธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง มีรายได้จากการขาย 204,594 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 12 จากปีก่อน โดยมีกำไรสำหรับปี 3,789 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 11 จากปีก่อน ขณะที่ไตรมาส 4 ปี 2565 มีรายได้จากการขาย 49,265 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 7 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากกลยุทธ์การปรับราคาขายสินค้าส่งผลให้รายได้เพิ่มขึ้นทั้งในประเทศและในภูมิภาค
โดยมีขาดทุนสำหรับงวด 717 ล้านบาท ทั้งนี้หากไม่รวมรายการด้อยค่าสินทรัพย์และรายการสำคัญ (Key Items) จะมีขาดทุนสำหรับงวดอยู่ที่ 157 ล้านบาท สาเหตุหลักจากต้นทุนวัตถุดิบรวมทั้งพลังงานที่ยังคงปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง
SCGP มีรายได้จากการขายเท่ากับ 146,068 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 18 จากปีก่อน โดยมีปัจจัยหลักมาจากการขยายธุรกิจผ่านการควบรวมกิจการ (M&P) และการขยายกำลังการผลิต (Organic expansion) โดยมีกำไรสำหรับปี 5,801 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 30 เมื่อเทียบกับปีก่อน เป็นผลมาจากต้นทุนพลังงานที่เพิ่มสูงขึ้น และการหดตัวของปริมาณการขายกระดาษบรรจุภัณฑ์ท่ามกลางอุปสงค์ที่ลดลงทั่วโลก
ขณะที่ไตรมาส 4 ปี 2565 SCGP มีรายได้จากการขาย 33,509 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และลดลงร้อยละ 12 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน
โดยมีปัจจัยหลักมาจากปริมาณการขายที่ลดลงตามความต้องการที่ชะลอตัวลงทั้งตลาดในประเทศ และตลาดส่งออก และมีกำไรสำหรับงวดเท่ากับ 450 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 79 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และลดลงร้อยละ 76 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน เนื่องจากปริมาณและราคาขายที่ลดลงของกระดาษบรรจุภัณฑ์”
นายรุ่งโรจน์ กล่าวปิดท้ายว่า “ในปีนี้ เอสซีจี ยังคงมุ่งรักษาความมั่นคงทางการเงินและสภาพคล่อง ลงทุนตามกลยุทธ์อย่างรอบคอบ รัดเข็มขัด รวมทั้งลดต้นทุนพลังงาน ขณะเดียวกัน เร่งเดินหน้าธุรกิจเพื่อตอบโจทย์ความต้องการใหม่ ๆ ลงทุนในนวัตกรรม คว้าโอกาสเศรษฐกิจฟื้น
สร้างโซลูชันรองรับเมกะเทรนด์โลก เสริมความแข็งแกร่งให้ธุรกิจ ซึ่งตลาดในภูมิภาคเริ่มฟื้นและมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง นอกจากนี้ เอสซีจี พร้อมช่วยเสริมสร้างความเข้มแข็งให้สังคม โดยปี 2565 สร้างอาชีพให้ผู้ที่เผชิญวิกฤติเศรษฐกิจรวม 9,000 คน ให้มีรายได้ ลดเหลื่อมล้ำในสังคม”
คณะกรรมการบริษัทฯ ได้มีมติให้เสนอที่ประชุมผู้ถือหุ้นเพื่ออนุมัติจ่ายเงินปันผลประจำปี 2565 ในอัตราหุ้นละ 8.0 บาท รวมเป็นเงินประมาณ 9,600 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 45 ของกำไรสำหรับปีตามงบการเงินรวม ทั้งนี้ บริษัทได้จ่ายเป็นเงินปันผลระหว่างกาลสำหรับครึ่งปีแรกในอัตราหุ้นละ 6.0 บาท เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2565 และจะจ่ายเงินปันผลงวดสุดท้ายในอัตราหุ้นละ 2.0 บาท
การจ่ายเงินปันผลดังกล่าวให้จ่ายแก่ผู้ถือหุ้นเฉพาะผู้มีสิทธิได้รับเงินปันผลตามข้อบังคับของบริษัท ตามที่ปรากฏรายชื่อ ณ วันกำหนดรายชื่อผู้ถือหุ้นที่มีสิทธิรับเงินปันผลในวันที่ 10 เมษายน 2566 (จะขึ้นเครื่องหมาย XD หรือวันที่ไม่มีสิทธิรับเงินปันผลในวันที่ 7 เมษายน 2566) โดยมีกำหนดจ่ายเงินปันผลในวันที่ 25 เมษายน 2566 และให้รับเงินปันผลภายใน 10 ปี