แม้ชาได้รับการยกย่องว่าเป็นเครื่องดื่มประจำชาติจีน แต่กาแฟไม่ใช่ของใหม่ในแดนมังกรแต่อย่างใด เมื่อเร็วๆนี้มีการค้นพบซองบรรจุเมล็ดกาแฟที่ระบุว่าเป็นสินค้านำเข้าเมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม ค.ศ. 1844 หรือ 178 ปีผ่านมาแล้ว
“ชุมนุมมังกรซ่อนพยัคฆ์” สำนวนในนิยายกำลังภายของบู๊ลิ้มตงง้วน ที่ปัจจุบันนำมาใช้กับเมืองเซี่ยงไฮ้ได้เป็นอย่างดี หลังจากที่มีข้อมูลระบุว่ามหานครศูนย์กลางด้านเศรษฐกิจของจีนแห่งนี้ ก้าวขึ้นเป็นเมืองที่มีร้านกาแฟมากที่สุดในโลกไปแล้ว ในจำนวนคอฟฟี่ช็อปทั้งจากแบรนด์ต่างชาติและแบรนด์ท้องถิ่นที่เข้ามาเปิดร้าน สูงกว่ามหานครอย่างโตเกียว, ลอนดอน และนิวยอร์ก ขึ้นแท่นเป็นเมืองหลวงกาแฟของโลกรายล่าสุดโดยสมบูรณ์แบบ
รายงานว่าด้วยการบริโภคกาแฟของเหม่ยถวน ยักษ์ใหญ่ด้านธุรกิจฟู้ดดิลิเวอรี่ของจีน ระบุว่า ในประเทศที่มีวัฒนธรรมการดื่มชามายาวนาน แต่ขณะนี้ร้านกาแฟกำลังผุดขึ้นราวกับดอกเห็ดไปทั่ว โดยเฉพาะ “เซี่ยงไฮ้” ศูนย์ปกลางทางด้านเศรษฐกิจที่ตั้งอยู่บนชายฝั่งตะวันออกของประเทศ มีจำนวนร้านกาแฟสูงถึง 7,857 แห่ง เมื่อนับจนถึงวันที่ 30 มิถุนายน ค.ศ. 2022
สำหรับตัวผู้เขียนเอง เห็นว่า ไม่ใช่เรื่องแปลกที่เซี่ยงไฮ้จะผงาดขึ้นเป็นมหานครที่มีร้านกาแฟจำนวนตัวเลขสูงๆ ขึ้นอยู่กับว่าจะช้าหรือเร็วเท่านั้น “องค์ประกอบ” และปัจจัยหนุนส่งล้วนเอื้ออำนวยทั้งสิ้น ตั้งแต่พลวัตการเติบโตทางเศรษฐกิจ, ความหลากหลายทางวัฒนธรรม, พลังซื้อของคนจีนรุ่นใหม่ และคลื่นการลงทุนจากต่างประเทศ ทำให้กลายเป็นตลาดกาแฟที่บูมสุดๆ ของโลกไปแล้ว
จำนวนร้านกาแฟเฉียดๆ 8,000 แห่งในเซี่ยงไฮ้ ณ เวลานี้นั้น เป็นตัวเลขที่สูงมากเมื่อเทียบกับจำนวนร้านกาแฟในมหานครอื่นๆของโลก เช่น โตเกียว 3,826 แห่ง, ปักกิ่ง 3,722 แห่ง, ลอนดอน 3,233 แห่ง, ซีแอตเทิล 1,640 แห่ง, เมลเบิร์น 1,600 แห่ง และนิวยอร์ก 1,591 แห่ง
อย่างไรก็ตาม ข้อมูลจากทางสื่อจีนซึ่งก็มาจากหลายแห่งด้วยกันที่ให้ตัวเลขตรงกันว่านครเซี่ยงไฮ้ มีจำนวนร้านกาแฟมากที่สุดเหนือกว่านครอื่นๆนั้น เป็นร้านกาแฟแบบสแตนด์-อโลน ไม่นับรวมร้านสะดวกซื้อที่ขายกาแฟและเชนฟาสต์ฟูดที่มีเมนูกาแฟด้วยเช่นกัน ขณะที่รายงานจากเอเชีย นิคเกอิ เว็บไซต์ข่าวธุรกิจของญี่ปุ่นก็รายงานตัวเลขตรงกับสื่อจีนเช่นกัน
แต่ก็มีข้อมูอีกชุดที่บอกว่า “โซล” เมืองหลวงของเกาหลีใต้ต่างหากที่เป็นเมืองที่มีร้านกาแฟมากสุดในโลกด้วยจำนวน 18,000 แห่ง นี่เป็นข้อมูลจากเว็บไซต์เอเชียเอ็กเชนจ์ ก็เลยอดสงสัยไม่ได้ว่ามีการตีความคำว่าร้านกาแฟตรงกันหรือไม่ แล้วร้านกาแฟที่ว่านี้ก็ใช้คำในภาษาอังกฤษว่า coffee shop ซึ่งก็เป็นที่รับรู้กันว่าร้านกาแฟนั้นมีอยู่หลายรูปแบบด้วยกัน ตั้งแต่ร้านแบบฟูลเซอร์วิส, ร้านขนาดเล็กแบบตู้หรือเค้าน์เตอร์, ร้านกาแฟแบบเชน/แฟรนไชส์, ร้านกาแฟแนวอินดี้, ร้านสไตล์คอฟฟี่ทรัค และฯลฯ
กระนั้นก็ดี จำนวน “คอฟฟี่ช็อป” ในเซี่ยงไฮ้นั้นยังคงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ค่อนข้างชัดเจนเนื่องจากแบรนด์กาแฟข้ามชาติทยอยเข้ามาดเปิดสาขาใหม่อยู่เนื่องๆ ล่าสุดก็เป็น “บลู บอทเทิ่ล คอฟฟี่” (Blue Bottle Coffee) เชนร้านกาแฟจากแคลิฟอร์เนีย ที่เปิดสาขาแรกบนแผ่นดินจีนในเซี่ยงไฮ้ ไปเมื่อต้นปีนี้เอง หลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เริ่มคลี่คลายลง
ส่วนแบรนด์ดังระดับโลกอย่าง “สตาร์บัคส์” มีร้านสาขาทั่วจีนประมาณ 3,000 แห่ง ในจำนวนนี้อยู่ในเซี่ยงไฮ้กว่า 600 แห่ง เป็น Starbucks Reserve Roastery เสียหนึ่งแห่ง ซึ่งล่าสุดของล่าสุด ก็ประกาศว่าจะเพิ่มจำนวนร้านกาแฟในจีนให้เป็น 9,000 แห่ง ภายในปีค.ศ. 2025
ผู้เขียนไปค้นเจอข้อมูลความหนาแน่นร้านกาแฟในเซี่ยงไฮ้จากบริษัทวิจัยชื่อ เดอะ ไรซิ่ง แล็บ ในเครือยี่ไช่ กลุ่มมีเดียรายใหญ่ของจีน ที่ให้ข้อมูลว่า ย่านถนนไฮว์ ไห่จงลู่ เป็นถนนที่มีร้านกาแฟอยู่มากที่สุดจำนวน 49 แห่ง,ถนนนานกิงตะวันตกตามมาเป็นอันดับสอง 41 แห่ง และอันดับสาม คือถนนเหวินฮุ่ย 37 แห่ง
นอกจากนั้นยังมีข้อมูลอีกว่า ในจำนวนถนน 15 สายในเซี่ยงไฮ้นั้น ทุกๆ 100 เมตร จะมีร้านกาแฟอย่างน้อย 1 แห่ง ขณะที่ถนนเฟิงจิ้ง ที่อยู่ใกล้กับ “เดอะบันด์” จุดแลนด์มาร์คที่สำคัญมากของเมือง มีร้านกาแฟถึง 5 แห่งทุกๆ 100 เมตร
…นี่เป็นข้อมูลเมื่อต้นปีที่แล้ว มาถึงตอนนี้ จำนวนน่าจะเพิ่มขึ้นไม่ก็มากก็น้อย
รายงานจากสถาบันวิจัยอุตสาหกรรมเฉียนเจิ้น ระบุว่า ทั้งๆที่เผชิญกับปัญหาไวรัสโควิดแพร่ระบาด ทว่าตลาดกาแฟของจีนมีแนวโน้มพุ่งผ่านระดับ 300,000 ล้านหยวน (42,158 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) ในปีค.ศ. 2023 เพิ่มขึ้นราว 30% จากปีค.ศ. 2020 แถมมีทีท่าว่าจะทะยานไปแตะหลัก 1 ล้านล้านหยวน (140,528 ล้านดอลลาร์ ในปีค.ศ.2025
ขณะเดียวกัน เมื่อปีที่แล้ว จีน “นำเข้ากาแฟ” จำนวน 122,700 ตัน เพิ่มขึ้น 74% จากปีก่อนหน้านั้น ที่น่าสนใจคือตัวเลขนี้เป็นการนำเข้าสารกาแฟ 106,000 ตัน คิดเป็นสัดส่วน 86% จากยอดนำเข้ากาแฟ ส่วนตัวเลขบริโภคกาแฟก็พุ่งขึ้นมากกว่า 44% ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา
ในแง่มุมเศรษฐกิจ นักเศรษฐศาสตร์จากกรุงปักกิ่งมองว่า ตลาดกาแฟเป็นตัวชี้วัดสัญญาณการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของนครเซี่ยงไฮ้ ซึ่งเป็นฮับเศรษฐกิจระหว่างประเทศที่มีประชากรวัยหนุ่มสาวเพิ่มมากขึ้น และตลาดแรงงานที่คึกคัก สะท้อนจากตัวเลขยอดสั่งซื้อกับร้านกาแฟในเซี่ยงไฮ้ ในเดือนมิถุนายน ที่เพิ่มขึ้น 5,273% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้านั้น
ตลาดกาแฟในเซี่ยงไฮ้ถือว่ามีการแข่งขันกัน “ดุเดือด” ยิ่งนัก นอกจากแบรนด์กาแฟยักษ์ใหญ่จากต่างประเทศที่แห่แหนกันเข้าไปปักหมุดแล้ว ธุรกิจกาแฟท้องถิ่นจีนเองก็ชูธงรบขึ้น เปิดศึกแย่งชิงส่วนแบ่งตลาดอย่างถึงพริกถึงขิง เรียกว่า ในยุทธจักรตลาดกาแฟโลก เซี่ยงไฮ้ กลายเป็นแหล่ง “ชุมนุมมังกรซ่อนพยัคฆ์” ที่ต่างงัดกลยุทธ์การตลาดต่างๆนานาหวังครองใจผู้บริโภค
ภาวะเฟื่องฟูของธุรกิจกาแฟ โน้มน้าวให้บรรดาคนรุ่นใหม่เข้ามาเปิดร้านกาแฟกันมากขึ้น สานฝันสร้างกิจการเป็นของตนเอง แล้วบริษัทกาแฟสายเลือดมังกรที่ว่านี้ก็มีศักยภาพไม่หยิ่งหย่อนไปกว่าแบรนด์ต่างชาติเลย เช่น “ลัคอิน คอฟฟี่” (Luckin Coffee) ที่มีข่าวว่าเตรียมกลับเข้าไปจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แนสแด็กอีกครั้ง หลังจากตกอยู่ในภาวะล้มละลาย จากปัญหาตกแต่งตัวเลขบัญชี
นอกจากนั้น บรรดาร้านกาแฟลูกหม้อของเซี่ยงไฮ้ที่ขายกาแฟคุณภาพสูงซึ่้งค่อยๆขยับขยายสาขาออกไปทั่วประเทศ อาทิ “แมนเนอร์ คอฟฟี่” (Manner Coffee),“เอ็ม แสตน คอฟฟี่” (M Stand Coffee) และ “ซีซอว์ คอฟฟี่” (Seesaw Coffee) ล้วนแล้วแต่เป็นแบรนด์หัวหอกบุกเบิกธุรกิจกาแฟพิเศษในจีน
ข้อมูลของบริษัทวิจัย เดอะ ไรซิ่ง แล็บ ยังระบุว่า เชนกาแฟต่างชาติชื่อดังอย่าง “สตาร์บัคส์” และ “คอสต้า คอฟฟี่” (Costa Coffee) ครองสัดส่วนร้านกาแฟในเซี่ยงไฮ้อยู่ประมาณ 35% นี่เป็นตัวเลขที่ไม่นับรวมเชนกาแฟชั้นนำอย่าง “อิลลี่ คาเฟ่” (illycaffe), “ลาวาซซา” (Lavazza) และ “ทิม ฮอร์ตันส์” (Tim Hortons)
ขณะที่มากกว่า 50% ของร้านกาแฟในเซี่ยงไฮ้ เป็นร้านกาแฟพิเศษกึ่งร้านกึ่งโรงคั่วในแนวบูติคหรืออาร์ติซาน เช่น “พีทส์ คอฟฟี่” (Peet’s Coffee) จากซานฟรานซิสโก, “อาราบิก้า” (ARABICA) ร้านกาแฟชื่อดังจากเกียวโตที่มีโลโก้แบรนด์เป็นเครื่องหมาย % ซึ่งไม่ใช่เปอร์เซนต์แต่คือสัญลักษณ์ของผลเชอรี่กาแฟ 2 ลูกต่างหาก รวมไปถึงร้าน “สุเมเรียน คอฟฟี่” (Sumerian Coffee) ผู้ก่อตั้งเป็นชาวแคลิฟอร์เนียที่มาลงหลักปักฐานที่เซี่ยงไฮ้ เปิดร้านกาแฟพิเศษในจีนมาตั้งแต่ปีค.ศ. 2011 ถือว่ามีชื่อเสียงมากทีเดียวในอุตสาหกรรมกาแฟจีน และ “ปารัส คาเฟ่” (Paras Café) ที่ตกแต่งร้านด้วยสีฟ้า-ขาวในสไตล์เมดิเตอร์เรเนียน
สำหรับเมนูกาแฟในเซี่ยงไฮ้ค่อนข้างมีความหลากหลายเช่นเดียวกับนครกาแฟอื่นๆ ความนิยมไม่ได้จำกัดเฉพาะพวกเมนูดาวค้างฟ้าอย่างเอสเพรสโซ ,อเมริกาโน่,คาปูชิโน, คาราเมล มัคคิอาโต หรือคาเฟ ลาเต้ แต่เมนูที่กำลังมาแรงซึ่งว่ากันว่าอาจเป็นต้นทางที่นำเข้าสู่คลื่นลูกที่ 4 แห่งโลกกาแฟโลก เช่น กาแฟค็อกเทลกับกาแฟผสมน้ำผลไม้ต่างๆ รวมไปถึงการนำเสนอกาแฟและบริการที่สร้างความยั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
แล้วเมนูตัวที่ดูเหมือนจะฮิตติดตลาดมากที่สุดในปีนนี้ ก็ได้แก่ กาแฟเหมาไถ ซึ่งเป็นกาแฟดำหยอดด้วยเหล้าขาวของจีน, ลาเต้กลิ่นดอกหอมหมื่นลี้ และลาเต้งาดำ
ในแง่รูปแบบการให้บริการแล้ว ความแตกต่างย่อมเป็นจุดขายดึงความสนใจได้เสมอมา รวมไปถึงกลยุทธ์การตลาดเพื่อสังคม อย่างร้าน Hinichijou หรือ “คาเฟ่อุ้งตีนหมี” (Bear Paw Cafe) ในนครเซี่ยงไฮ้ ได้กลายเป็นไวรัลในหมู่เน็ตซิตี้เซนของจีนอย่างรวดเร็ว หลังผุดไอเดียแปลกแหวกตลาด เสิร์ฟกาแฟผ่านอุ้งตีนหมีตั้งแต่เปิดร้านมาเมื่อ 2 ปีก่อน
ลูกค้าสามารถสั่งซื้อเครื่องดื่มกาแฟและเมนูอื่นๆ ผ่านการสแกนคิวอาร์โค้ดที่แขวนไว้ที่กำแพงด้านหน้าร้าน จากนั้นพนักงานจะสวมถุงมือรูปอุ้งตีนหมีสีน้ำตาลอ่อนขนปุกปุย ยื่นมือออกมาเสิร์ฟกาแฟผ่านรูกำแพงเล็กๆ ตอนเสิร์ฟนี่แหละครับเป็นไฮไลท์เลย มีการถ่ายภาพลงแชร์ในโซเชียลมีเดียจำนวนไม่น้อยเลยทีเดียว
คาเฟ่อุ้งตีนหมีนี้ มีคนหูหนวกและเป็นใบ้ทำงานในร้านนี้ราว 70% ของจำนวนพนักงานทั้งหมด นอกจากทำงานบริการเพื่อสังคมอีกหลายด้านแล้ว ยังเสิร์ฟกาแฟฟรีแก่คนพิการอีกด้วย
ภูมิทัศน์ทางธุรกิจกาแฟ ที่มีการแข่งขันกันรุนแรงในเซี่ยงไฮ้ สะท้อนถึงอุตสาหกรรมภาคบริการที่เฟื่องฟู ทั้งๆที่ตลาดถูกครอบงำโดยเชนยักษ์ใหญ่ต่างชาติเกือบๆ 40% แต่ก็มีข้อมูลที่บ่งชี้ว่า บรรดาผู้บริโภคชาวจีนที่เป็นชนชั้นกลางและคนรุ่นใหม่กำลังให้ความสนใจกับแบรนด์กาแฟสายเลือดมังกรเพิ่มขึ้นทุกขณะ
ตัวเลขในปีค.ศ.2021 ของบริษัทวิจัยไอไอมีเดีย พบว่า ผู้บริโภคกาแฟชาวจีน 44.7% ชอบแบรนด์ในประเทศ เทียบกับเพียง 25% ที่เลือกแบรนด์ต่างประเทศ ส่วนที่เหลืออีก 30% บอกว่าดื่มได้หมด ไม่สนใจว่าเป็นแบรนด์กาแฟของประเทศใด
ภาวะเฟื่องฟูแบบสุดๆของตลาดกาแฟในจีนที่นำโดยมหานครเซี่ยงไฮ้ ได้รับการคาดหมายว่าจะส่งอานิสงส์ไปถึงเมืองอื่นๆให้เจริญรอยตามไปด้วย หนึ่งในนครที่เชื่อว่าจะฮ็อตมากๆเป็นสถานีต่อไป ก็คือ “เฉิงตู” เมืองเอกของมณฑลเสฉวน ที่มีจุดแข็งด้านแหล่งท่องเที่ยวจำนวนมาก และจุดเด่นในเซกเมนท์บันเทิงที่ผสมกลมกลืนกับวัฒนธรรมท้องถิ่นได้อย่างลงตัว
facebook : CoffeebyBluehill