Coffee on Flight! สายการบินใหญ่ เสิร์ฟกาแฟอะไรกันบ้าง

ระยะนี้การเดินทางทางอากาศกลับมาเปิดดำเนินการแบบเต็มรูปแบบกันอีกครั้ง หลังจากชะงักงันไปประมาณ 2 ปีจากวิกฤติเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ระบาดไปทั่วโลก  ดังนั้น การอัพเดตข้อมูลของเครื่องดื่มกาแฟที่เสิร์ฟบนสายการบินระดับชาติน่าจะเป็นประโยชน์ต่อท่านผู้อ่านไม่มากก็น้อย

เพราะประเภทของกาแฟที่ให้บริการบนเครื่องบินในระดับความสูง 30,000 ฟุตเหนือพื้นดินนั้น มีการเปลี่ยนแปลงไปมากทีเดียวตลอดช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ซึ่งนอกจากจะสะท้อนถึงการแข่งขันกันอย่างรุนแรงในธุรกิจสายการบินแล้ว ยังแสดงให้เห็นถึงการปรับตัวเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้โดยสารในอีกทางหนึ่งด้วย

ก่อนหน้านี้ ปฏิเสธไม่ได้ว่าในอดีตนั้น “สายการบิน” จำนวนมากไม่ได้ความสำคัญกับ “คุณภาพ” ของเมล็ดกาแฟและ “รสชาติ” กาแฟมากเท่าที่ควร อาจเพราะมีข้อจำกัดอยู่เยอะพอควร ตั้งแต่การบริการที่ทำได้ไม่เท่าร้านกาแฟบนภาคพื้นดิน และอุปกรณ์การชงไม่ได้ถูกจัดเตรียมให้พร้อมสมบูรณ์แบบ ไปจนถึงระดับความสูงของการเดินทางก็อาจเป็นอีกปัจจัยหนึ่ง เนื่องจากอุณหภูมิที่เย็นขึ้นส่งผลกระทบต่อการรับรู้รสชาติอาหารและเครื่องดื่ม

อีกประการหนึ่งนั้น จากประสบการณ์ของผู้เขียนพบว่า บนที่ซึ่งยิ่งสูงยิ่งหนาวทำให้กาแฟร้อนๆเย็นตัวลงเร็วขึ้นด้วย

สองเมนูเด็ดของออสเตรียน แอร์ไลน์ส ซ้าย Wiener Melange กาแฟดำเติมนมร้อนหยอดหน้าด้วยฟองนม และขวา Wiener Eiskaffee เอสเพรสโซใส่ไอศกรีมหยอดหน้าด้วยวิปครีม ภาพ : facebook.com/AustrianAirlines

น่าสนใจว่าทำไมช่วง 10 ปีหลัง อุตสาหกรรมการบินจึงพร้อมใจกันเพิ่มเงินลงทุนในเครื่องดื่มกาแฟ อย่างไรก็ตาม การปรับตัวตรงส่วนนี้ยังกระจุกตัวอยู่เฉพาะสายการบินขนาดใหญ่ระดับโลก แล้วส่วนใหญ่ก็เป็นการให้บริการเฉพาะในชั้น “เฟิร์สต์คลาส” กับชั้น “บิสซิเนสคลาส” ยังไม่กระจายไปสู่สายการบินต้นทุนต่ำในอีกเซกเมนต์หนึ่งแบบทั่วถึง แต่ไม่ใช่ไม่มีเอาเสียเลย อย่างสายการบินราคาประหยัดในสหรัฐอเมริการะยะหลังก็เสิร์ฟกาแฟที่ส่งตรงมาจากโรงคั่วกาแฟชั้นแนวหน้าเช่นกัน

การเสิร์ฟกาแฟดีมีคุณภาพถูกสายการบินหลายแห่งนำมาใช้เป็น “กลยุทธ์การตลาด” เพื่อเพิ่มความได้เปรียบทางการแข่งขัน บางแห่งเสิร์ฟด้วยกาแฟจากแหล่งปลูกภายในประะเทศ ช่วยสร้างภาพลักษณ์ธุรกิจในด้านการส่งเสริมและสนับสนุนผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น เป็นการนำกาแฟภายในออกสู่ตลาดภายนอกได้ในอีกทางหนึ่ง

อย่างไรก็ตาม สายการบินซึ่งเปิดที่ยืนทางธุรกิจให้กับแบรนด์กาแฟท้องถิ่นยังมีจำนวนน้อย ส่วนใหญ่นิยมใช้บริการแบบ “ผูกปิ่นโต” กับเชนกาแฟยักษ์ใหญ่จนกลายเป็นเจ้าประจำ แล้วก็ไม่ค่อยเปลี่ยนเจ้ากันง่ายๆเสียด้วย

ข้อมูลจากเว็บไซต์ www.drippedcoffee.com ระบุว่า “เนสเพรสโซ” (Nespresso) ผู้นำด้านกาแฟแคปซูลแถวหน้าของโลก ถือว่าครองเจ้าตลาดธุรกิจกาแฟบนเครื่องบินโดยสาร นับจากปีค.ศ.1994 เป็นต้นมา มีสายการบินดังๆทั่วโลกจำนวนไม่น้อยใช้บริการกาแฟจากค่ายนี้ เช่น  ลุฟท์ฮันซ่า, สวิส อินเตอร์เนชั่นแนล แอร์ไลน์ส, กาตาร์ แอร์เวย์ส, มาเลเซีย แอร์ไลน์ส, เวอร์จิ้น ออสเตรเลีย แอร์ไลน์ส, แอล อัล อิสราเอล แอร์ไลน์ และเอทิฮัด แอร์เวย์ส ส่วนนอร์วีเจียน แอร์ ชัทเทิล สายการบินต้นทุนต่ำใหญ่เป็นอันดับ 3 ในยุโรป ใช้บริการของ “เนสกาแฟ” (Nescafe)

เดลต้า แอร์ไลน์ส จับมือค่ายสตาร์บัคส์ เพิ่มสิทธิประโยชน์ใหม่ให้ลูกค้าทั้ง 2 บริษัท ภาพ : facebook.com/delta

“อิลลี่” (Illy) แบรนด์กาแฟชั้นนำอิตาลี ก็ไม่ธรรมดา ได้รับความไว้วางใจจาก ยูไนเต็ด แอร์ไลน์ส, แอร์ ฟรานซ์, สิงคโปร์ แอร์ไลน์ส, คาเธ่ย์ แปซิฟิค, ออล นิปปอน แอร์เวย์ส, ฮ่องกง แอร์ไลน์ส และอีซี่ย์ เจ็ต ซึ่งข้อมูลจากเว็บดังกล่าวข้างต้นบอกไว้ว่า กาแฟแบรนด์อิลลี่นั้น เสิร์ฟบนยูไนเต็ด แอร์ไลน์ส เพียงสายการบินเดียว ก็มียอดสูงถึง 72 ล้านแก้วในแต่ละปีเข้าไปแล้ว

ถ้าใครบินไปกับสายการบินเดลต้า แอร์ไลน์ส, อะแลสกา แอร์ไลน์ส และฟลาย ดูไบ ก็จะได้ดื่มกาแฟจากเชนกาแฟหมายเลข 1 ของโลกอย่าง “สตาร์บัคส” (Starbucks) มีข้อมูลอีกเช่นกันว่า เดลต้า แอร์ไลน์ส และกลุ่มสายการบินพันธมิตรในนามเดลต้า คอนเนคชั่น พาร์ตเนอร์ส เสิร์ฟกาแฟของสตาร์บัคส์ มากกว่า 5,000 ไฟลท์ในแต่ละวัน

“คอสต้า คอฟฟี่” (Costa Coffee) เชนกาแฟชั้นนำของอังกฤษที่ถูกซื้อกิจการไปโดยบริษัทโคคา-โคลา แบรนด์เครื่องดื่มยักษ์ใหญ่ระดับโลก เป็นพันธมิตรทางกาแฟกับเอมิเรตส์ แอร์ไลน์ ด้าน “ลาวาซซา” (Lavazza) ที่โด่งดังมากับเอสเพรสโซต้นตำรับดั้งเดิมจากอิตาลี ได้รับเลือกให้เสิร์ฟกาแฟบนไรอันแอร์ สายการบินต้นทุนต่ำของไอร์แลนด์

การบินไทยจับมือโครงการพัฒนาดอยตุง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ เปิดตัวกาแฟดริป “แบล็ค ซิลค์ เบลนด์” ภาพ : facebook.com/ThaiAirways.TH

ช่วงไตรมาสแรกของปีนี้เอง  “บริษัทการบินไทย” จับมือ “โครงการพัฒนาดอยตุง (พื้นที่ทรงงาน) อันเนื่องมาจากพระราชดำริ”  เปิดตัวกาแฟดริประดับพรีเมี่ยม “แบล็ค ซิลค์ เบลนด์” (Black Silk Blend) เพื่อให้บริการบนเที่ยวบินของการบินไทย ในโซนของผู้โดยสารชั้นหนึ่งและชั้นธุรกิจ ในเส้นทางบินสู่ยุโรป, ออสเตรเลีย, ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้

นอกจากนี้ การบินไทยยังมีเมนูกาแฟพิเศษอื่นๆหมุนเวียนมาบริการอย่างต่อเนื่อง เรียกได้ว่าเป็นการยกเมนูที่มีอยู่หลากหลายจากร้านกาแฟบนพื้นดินมาให้บริการบนเที่ยวบินของการบินไทยแบบครบรสชาติ มีทีมลูกเรือที่ได้รับการอบรมมาโดยเฉพาะ ให้ทำหน้าที่เป็นเสมือน “บาริสต้าบนเวหา”

การฝึกฝนและเพิ่มเติมทักษะแก่พนักงานบริการบนเครื่องบินให้ทำหน้าที่คล้ายๆกับบาริสต้าบนภาคพื้นดินนั้น มีการทำกันอย่างจริงจังและเป็นระบบมากทีเดียวในหลายๆสายการบิน ยกตัวอย่างเมื่อปีค.ศ 2018 เคแอลเอ็ม โรยัล ดัตช์ แอร์ไลน์ สายการบินดังของเนเธอร์แลนด์ ประกาศจับมือเป็นพาร์ทเนอร์ธุรกิจกับ “ดาวเออร์ เอ็กเบิร์ตส์” (Douwe Egberts) บริษัทกาแฟรายใหญ่สัญชาติดัตช์ เพื่อนำกาแฟเกรดพรีเมี่ยมจากค่ายนี้มาเสิร์ฟให้ผู้โดยสาร จุดเด่นของกาแฟตัวนี้อยู่ที่ถูกออกแบบมาให้ยังคงกลิ่นรสตามธรรมชาติเอาไว้ได้ แม้อยู่บนที่สูงมากๆอย่างบนเครื่องบิน

ตามความร่วมมือนั้น ดาวเออร์ เอ็กเบิร์ตส์ ได้จัดส่งบาริสต้าระดับมืออาชีพไปอบรมให้กับพนักงานของเคแอลเอ็ม เพื่อรสชาติกาแฟที่ได้มาตรฐาน

เจเอแอล คาเฟ่ ไลน์ส แบรนด์กาแฟที่ตั้งขึ้นโดยเจแปน แอร์ไลน์ส ภาพ : facebook.com/JapanAirlinesWorldwide

เจแปน แอร์ไลน์ อาจเป็นสายการบินเพียงเจ้าเดียวที่พัฒนาแบรนด์กาแฟเป็นของตนเอง โดยตั้งแต่ค.ศ.2011 สายการบินแดนซามูไรรายนี้ ก่อตั้งหน่วยงานในเครือชื่อว่า “เจเอแอล คาเฟ่ ไลน์ส” (JAL Cafe Lines) รับหน้าที่คอยป้อนเมล็ดกาแฟสำหรับชงและเสิร์ฟให้ผู้โดยสาร ซึ่งเมล็ดกาแฟคุณภาพสูงชุดนี้ คัดสรรโดยผู้เชี่ยวชาญด้านกาแฟระดับเกจิของญี่ปุ่น 2 คนคือ โฮเซ่ โยชิอากิ คาวาชิม่า คอฟฟี่ ฮันเตอร์ชื่อดัง กับ โตโมะฮิโร่ อิชิวากิ มือคั่วกาแฟชั้นแนวหน้า

อันที่จริงก็มีสายการบินหลายแห่งเหมือนกันที่เสิร์ฟกาแฟจาก 2 แบรนด์ที่ต่างกันให้ผู้โดยสาร เช่น สวิส อินเตอร์เนชั่นแนล แอร์ไลน์ส มีทั้งเนสเพรสโซและ “บลาสเซอร์คาเฟ่” (Blasercafé) โรงคั่วกาแฟที่มีฐานอยู่ในกรุงเบิร์น เมืองหลวงสวิส หรืออย่างฟลาย ดูไบ มีบริการทั้งกาแฟจากสตาร์บัคส์และเนสเพรสโซ

ส่วนสายการบินแควนตัส แอร์เวย์ส เสิร์ฟกาแฟจากค่าย “โบดุม” (Bodum) ในชั้นบิสซิเนสคลาส และจาก “วิตตอเรีย คอฟฟี่” (Vittoria Coffee) แบรนด์กาแฟดังแดนจิงโจ้ ในชั้นเฟิร์สต์คลาส

สายการบินเตอร์กิช แอร์ไลน์  มีอ็อปชั้นให้เลือกสั่งกาแฟรากวัฒนธรรมของประเทศอย่าง “กาแฟตุรกี” อันเข้มข้นด้วย

การนั่งดื่มกาแฟก็เป็นวัฒนธรรมมาอย่างยาวนานของชาวเวียนนาเช่นกัน แล้ว “เวียนนา คอฟฟี่ เฮ้าส์” แต่ละแห่งก็ล้วนตกแต่งอย่างหรูหราอลังการและเต็มไปด้วยเมนูกาแฟคลาสสิคทั้งร้อนและเย็น อย่างกระนั้นเลย สายการบินออสเตรียน แอร์ไลน์ส จึงหยิบเอาความพิเศษตรงนี้มานำเสนอให้ผู้โดยสารในระดับความสูงเป็นหมื่นฟุตกันทีเดียว  แต่ละเมนูไม่ว่าจะเป็น Wiener Melange, Einspänner หรือ Wiener Eiskaffee ล้วนถูกเสิร์ฟมาในแก้วเซรามิคสีขาวและแก้วทรงสูง ไม่ต่างไปจากการเสิร์ฟกาแฟของคอฟฟี่ เฮ้าส์ บนภาคพื้นดิน

กาแฟและเบเกอรี่ที่เสิร์ฟบนสายการบินเคแอลเอ็ม โรยัล ดัตช์ แอร์ไลน์ ภาพ : facebook.com/KLM

เป้าหมายของสายการบินที่ให้บริการกาแฟมีคุณภาพมากขึ้น ก็คือ ใช้กาแฟอร่อยๆเป็น “แม่เหล็ก” ดึงดูดผู้โดยสารที่ชื่นชอบดื่มกาแฟและพร้อมควักเงินจ่ายเพื่อเครื่องดื่มที่ดีขึ้นทั้งกลิ่นและรสชาติ มีส่วนช่วยเพิ่มผลกำไรให้สายการบินได้ในอีกช่องทางหนึ่ง ยิ่งในปัจจุบัน อยู่ภายใต้คลื่นกาแฟลูกที่ 3 ของโลก ที่มีกาแฟพิเศษเป็นหัวหอกที่สำคัญและกำลังเติบโตอย่างรวดเร็วในกลุ่มผู้บริโภครุ่นใหม่ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีอำนาจซื้อสูงทีเดียว

เมื่อกลางเดือนตุลาคมที่ผ่านมา เดลต้า แอร์ไลน์ส ซึ่งผูกปิ่นโตอยู่กับค่ายสตาร์บัคส์มานานแล้ว เสิร์ฟกาแฟแบรนด์นี้ให้ผู้โดยสารบนเครื่องและห้องรับรองในสนามบิน มารอบนี้ประกาศกระชับความสัมพันธ์ในฐานะพาร์ทเนอร์ทางธุรกิจร่วมกันให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น  ผ่านทางการเพิ่ม “สิทธิประโยชน์” แบบใหม่ให้ลูกค้าทั้ง 2 บริษัทที่เป็นสมาชิกโปรแกรมสะสมไมล์เดินทางของเดลต้าฯ และสมาชิกโปรแกรมสะสมดาวของสตาร์บัคส์  บอกเลยว่าตอนนี้สามารถเชื่อมโยงโปรแกรมทั้งสองเข้าด้วยกันได้แล้ว

ทั้งนี้ ลูกค้าที่สมัครโปรแกรมสะสมดาวของสตาร์บัคส์  เมื่อใช้จ่ายทุก ๆ 1 ดอลลาร์สหรัฐในร้านสตาร์บัคส์ที่สหรัฐอเมริกา จะได้รับไมล์สะสมของเดลต้าฯ 1 ไมล์ และสำหรับลูกค้าสายการบินเดลต้าฯ หากซื้อสินค้าของสตาร์บัคส์ในวันที่เที่ยวบินออกเดินทาง จะได้สิทธิ์สะสมดาวของสตาร์บัคส์เพิ่มเท่าตัวเช่นกัน

ซัน คันทรี่ แอร์ไลน์ส สายการบินต้นทุนต่ำของสหรัฐ ทุ่มเงินอัพเกรดอุปกรณ์ชงกาแฟบนเครื่องบินทั้งหมด ภาพ : facebook.com/suncountryair

กลยุทธ์การตลาดอีกเคสที่น่าสนใจ ก็คือ ซัน คันทรี่ แอร์ไลน์ส สายการบินต้นทุนต่ำของสหรัฐ ซึ่งมีเส้นทางบินมากกว่า 80 เส้นทางในสหรัฐ,อเมริกากลาง,แคนาดา,เม็กซิโก และแถบแคริบเบียน เดิมจับคู่เป็นพันธมิตรธุรกิจอยู่กับ “แคริบู คอฟฟี่” (Caribou Coffee) โรงคั่วกาแฟจากรัฐมินนิโซต้ามาตั้งแต่ต้นปี  มีการเสิร์ฟกาแฟโคลด์บรูว์แบบบรรจุกระป๋องของแคริบูบนสายการบิน แต่ภายใต้ความร่วมมือใหม่ จะมีบริการเพิ่มเติมเป็นกาแฟร้อนด้วย และเพื่องานนี้โดยเฉพาะ ซัน คันทรี่ แอร์ไลน์ส ทุ่มเงินกว่า 250,000 ดอลลาร์สหรัฐ อัพเกรดอุปกรณ์ชงกาแฟบนเครื่องบินทั้งหมด

มีหลายคนตั้งคำถามว่า ปรากฎการณ์ที่สายการบินหันมาเสิร์ฟกาแฟที่ทั้งคุณภาพดีขึ้นและราคาก็แพงขึ้นนั้น เป็นแค่เทรนด์หรือเปล่า ผ่านมาแล้วผ่านไปหรือไม่ ตอนนี้ราคากาแฟตลาดโลกยิ่งสูงๆอยู่

แม้ผู้เขียนไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญในเชิงชั้นธุรกิจ แต่มั่นใจว่า ตราบใดที่ผู้บริโภคส่วนใหญ่มองว่ากาแฟเป็นสิ่งจำเป็น แล้วก็มีคนพร้อมจ่ายเงินซื้อกาแฟดีๆมาดื่มในราคาที่สูงกว่าเดิม ตราบนั้นกาแฟดีมีคุณภาพยังเป็นที่ต้องการของตลาดเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ  แล้วอันที่จริง เรื่องการตลาดกาแฟบนเครื่องบินนั้น ก็ไม่ต่างกันกับการขยายช่องทางขายสินค้าจากภาคพื้นดินมาอยู่บนเวหาอีกช่องทางหนึ่ง เหมือนสินค้าหรูหรารูปแบบอื่นๆ เพียงแต่กาแฟเกรดดีมีคุณภาพมาเสิร์ฟช้ากว่าเพื่อนเท่านั้น

หมายเหตุ : ข้อมูลสายการบินเสิร์ฟกาแฟ เรียบเรียงจาก www.drippedcoffee.com,www.businessclass.com และ travelseason.com


facebook : CoffeebyBluehill

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *