จากเทรนด์การสั่งออเดอร์ผ่านทางแอพพลิเคชั่นไปจนถึงระบบซอฟท์แวร์หลังบ้านร้านกาแฟ ท่ามกลางคลื่นเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่กำลังพลิกโฉมการบริหารจัดการธุรกิจร้านกาแฟ วันนี้ผู้เขียนขอนำเสนอบทความจาก www.worldcoffeeportal.com เว็บไซต์ที่ให้ข้อมูลข่าวสารในอุตสาหกรรมกาแฟโลกมานานกว่า 20 ปี เพื่อสำรวจตรวจสอบดูว่าเทคโนโลยีล่าสุดตัวไหนกำลังมา มีความจำเป็นมากน้อยขนาดไหนในอนาคต
ข้อมูลของสมาคมร้านอาหารแห่งสหรัฐอเมริกา ระบุว่า กว่า 50% ของธุรกิจร้านกาแฟในประเทศ ได้ทุ่มงบประมาณและทรัพยากรมากขึ้นไปในการพัฒนาเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับ “เมนูหน้าจอแสดงผลลูกค้า” (Customer Facing) ในช่วงที่เกิดการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 เน้นแสดงข้อมูลสินค้า, โปรโมชั่น หรือสินค้าแนะนำของร้านค้า รวมไปถึงการสั่งออร์เดอร์ผ่านทางแอพพลิเคชั่น ,การชำระเงินทางออนไลน์ และบริการจัดส่งเครื่องดื่ม/อาหารทั่วไป
สื่อโฆษณาทางจอภาพในรูปแบบดิจิทัลนี้ ที่มีประโยชน์ในเรื่องการสร้างแบรนด์ และสื่อสารกับลูกค้า ถูกนำมาใช้กับธุรกิจร้านอาหารมานานหลายปีแล้ว ระยะหลังเริ่มแพร่เข้าสู่ร้านกาแฟทุกประเภทที่มีอัตราการแข่งขันสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสหรัฐอเมริกา ซึ่งว่ากันว่าเป็นผู้นำเทรนด์ใหม่ๆในด้านการบริโภคกาแฟและเครื่องดื่มต่างๆ
ข้อมูลอีกชิ้นของเวิร์ลด์ คอฟฟี่ พอร์ทัล ที่ทำการสำรวจผู้บริโภคในสหราชอาณาจักรเมื่อปี ค.ศ. 2021 บอกว่า ในจำนวนผู้บริโภคชาวอังกฤษที่สุ่มสำรวจกว่า 50,000 คน มีอยู่ 61% หรือเกินกว่าครึ่ง ดาวน์โหลด “แอพพลิเคชั่นร้านกาแฟ” มาใช้ ช่วยตอกย้ำถึงความสำคัญของพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป
ในตลาดร้านกาแฟที่มีอัตราการเติบโตสูงอย่างประเทศจีน ข้อมูลจากเวิร์ลด์ คอฟฟี่ พอร์ทัล ที่ดำเนินการสุ่มสำรวจผู้บริโภคชาวจีนจำนวนหนึ่งเมื่อปีค.ศ.2020 พบว่า ผู้บริโภคดังกล่าวมีสัดส่วนถึง 86% ที่ใช้ “บริการเดลิเวอรี่” ในการสั่งเครื่องดื่มกาแฟ ขณะที่มากกว่า 50% มีการสั่งกาแฟผ่านทางเดลิเวอรี่สัปดาห์ละ 2-3 ครั้ง
บทความจาก www.worldcoffeeportal.com พูดถึงประเด็นเทคโนโลยีล่าสุดที่กำลังเปลี่ยนแปลงธุรกิจร้านกาแฟในอนาคตอันใกล้ เป็นเทรนด์ใหญ่ๆที่่ทางเว็บไซต์นี้เห็นว่ามีผู้ประกอบการธุรกิจร้านกาแฟเริ่มนำมาใช้กัน เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และเข้าถึงกลุ่มลูกค้าได้สะดวกและครอบคลุมยิ่งขึ้น มีการสัมภาษณ์ผู้บริหารบริษัท 3 แห่ง ผู้สร้างนวัตกรรมทางเทคโนโลยีในอุตสาหกรรมกาแฟ
อันที่จริง นวัตกรรมจาก 3 บริษัทนี้ก็คงผ่านหูผ่านตาของท่านผู้อ่านมาบ้างแล้ว ไม่ว่าจะเป็น หุ่นยนต์บาริสต้า, แอพพลิเคชั่นที่จัดทำขึ้นเฉพาะร้านกาแฟ และก็ซอฟต์แวร์หรือแฟลตฟอร์มสำหรับบริหารจัดการร้านกาแฟ แต่คิดว่าเป็นเรื่องดีมีประโยชน์ สมควรแก่การอัพเดตให้ท่านผู้อ่านทราบกันอีกครั้งในช่วงข้าสู่ปีใหม่ 2023
แล้วที่น่าสนใจยิ่งก็คือ เว็บไซต์นี้บอกว่าเป็นเครื่องมือหรือแพล็ตฟอร์มที่กำลังเป็นผู้นำเทรนด์พาตลาดกาแฟโลกเข้าสู่ “คลื่นลูกที่ 5 “
1.หุ่นยนต์บาริสต้าจากสิงคโปร์ของ Crown Digital
ปัญหาขาดแคลนแรงงานอย่างบาริสต้าที่ชำนาญในการชงกาแฟซึ่งก็มาจากผลกระทบที่ไวรัสโควิด-19 ระบาดมา 3 ปีเต็มๆ เป็นประเด็นสำคัญที่ทำให้คีธ ตัน ซีอีโอของบริษัท “คราวน์ ดิจิทัล” (Crown Digital) ของสิงคโปร์ เกิดแรงบันดาลใจให้พัฒนาเทคโนโลยีที่สามารถทดแทนแรงงานมนุษย์ได้ โซลูชั่นของเขาคือ สร้าง “หุ่นยนต์บาริสต้า” ขึ้นมา
คีธ ตัน เปิดร้านกาแฟชื่้อคราวน์ คอฟฟี่ ขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อปีค.ศ. 2016 แต่ไม่ทันไร ก็เจอกับปัญหาใหญ่เข้านั่นคือพนักงานในร้านมีการเทิร์นโอเวอร์สูงมาก อีกทั้งต้นทุนในการฝึกอบรมพนักงานใหม่ก็แพงเอาการ จึงตัดสินใจทำธุรกิจร้านกาแฟให้กลายเป็นอัตโนมัติขึ้นมา โดยพัฒนาแนวคิดหุ่นยนต์บาริสต้าที่ชื่อว่า “เอลล่า” (ELLA) ตอบโจทย์เรื่องความต้องการปริมาณงานมากๆ,ชงเครื่องดื่มได้เร็ว และไม่มีคนเข้ามาเกี่ยวข้อง
คอนเซปต์ของหุ่นยนต์ตัวนี้มาจากประสบการณ์การทำธุรกิจกาแฟมานานหลายปีของคีธ ตัน ทำให้รู้ว่าลูกค้าต้องการอยู่ 3 สิ่ง คือ มาตรฐาน, ความรวดเร็ว และคุณภาพ
เจ้าหุ่นยนต์บาริสต้าเอลล่าใช้เวลาในการพัฒนามา 3 ปีครึ่ง พร้อมสร้างแพลตฟอร์มต่อเนื่องขึ้นมา เช่นระบบพีโอเอสหรือบริหารจัดการการขายหน้าร้าน และแอพลิเคชั่นออนไลน์ ถูกเขียนโปรแกรมสั่งให้ทำเครื่องดื่มเหมือนจริงในทุกขั้นตอน ชงกาแฟร้อน-เย็นได้ มีกำลังผลิตในราว 200 แก้วต่อชั่วโมง ก่อนนำไปเปิดตัวเป็นครั้งแรกในรูปแบบร้านคีออสของคราวน์ คอฟฟี่ ตามย่านที่มีคนพลุกพล่าน เช่น สถานีรถไฟฟ้า
เมื่อเร็วๆ นี้ก็มีข่าวว่าไปเปิดตัวในตลาดต่างประเทศเป็นครั้งแรกที่ญี่ปุ่น ตามแผนขยายสเกลร้านออกสู่ตลาดต่างประเทศ เช่น เอเชีย,ยุโรป ,ออสเตรเลีย และตะวันออกกลาง
เอลล่า ไม่ใช่แนวคิดหุ่นยนต์บาริสต้าตัวแรกที่เปิดตัวในตลาดกาแฟ แบรนด์อื่นๆก็มีการทำตลาดไปก่อนแล้ว เช่น คาเฟ่ เอ็กซ์ (Café X) ในสหรัฐ และ โรซัม คาเฟ่ (Rozum Café) บริษัทร่วมทุนระหว่างเบลารุสกับยูเครน
2.COFE App แอพพลิเคชั่นเฉพาะร้านกาแฟ
การทำธุรกรรมทางดิจิทัลของบรรดาร้านกาแฟทั่วโลก ซึ่งรวมถึงเดลิเวอรี่, การรับที่ร้าน(พิค-อัพ) และการสั่งออร์ล่วงหน้านั้น มีมาบ้างแล้วก่อนหน้าการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 อย่างไรก็ตาม เมื่อเกิดกรณีล็อกดาวน์ขึ้นในบางพื้นที่ ตามมาด้วยการเว้นระยะห่างทางสังคม บังคับให้ผู้ประกอบการต้องปรับตัวให้เข้ากับความเป็นจริงของสถานการณ์ที่ร้านค้าไม่สามารถให้บริการได้ตามปกติ การสั่งซื้อเครื่องดื่มผ่านแอพพลิเคชั่นจึงได้รับความนิยมอย่างรวดเร็วไปทั่วโลก
ผู้บุกเบิกเทคโนโลยีแอลพลิเคชั่นร้านกาแฟ เช่น “ลัคอิน คอฟฟี่” (Luckin Coffee) ของจีน และ “แฟลช คอฟฟี่” (Flash Coffee) ของสิงคโปร์ 2 เชนกาแฟจากเอเชีย ตอบรับการเปลี่ยนแปลงนี้อย่างรวดเร็ว
ในสหรัฐอเมริกา “สตาร์บัคส์” (Starbucks) เปิดตัวร้าน Pickup store ขึ้นเป็นครั้งแรก ลูกค้าไม่จำต้องแจ้งออร์เดอร์หรือจ่ายเงินให้กับบาริสต้าหรือแคชเชียร์เลย เพียงแค่เข้าแอพของร้าน ใช้ฟีเจอร์สั่งเครื่องดื่มล่วงหน้า พร้อมกับเลือกรับสินค้าที่ร้านสาขา จากนั้นก็เดินทางไปรอรับเครื่องดื่ม โดยสามารถติดตามขั้นตอนคำสั่งซื้อผ่านหน้าจอดิจิทัลที่เคาน์เตอร์ร้านได้
ขณะที่ผู้บริโภคในสหรัฐและยุโรปค่อยข้างคุ้นเคยกับแอพพลิเคชั่นฟู้ดเดลิเวอรี่เป็นอย่างดี เช่น เดลิเวอรู, ดอร์แดช และอูเบอร์อีสต์ แต่ส่วนใหญ่ยังไม่เคยทำความรู้จักกับแอพพลิเคชั่นเดลิเวอรี่และการรับเครื่องดื่มของร้านกาแฟโดยเฉพาะ นี่กระมังที่ทำให้บริษัทที่มีฐานอยู่ในคูเวตมองเห็นเป็นโอกาสทอง เร่งขยายการทำตลาด “โคเฟ่ แอพ” (COFE App) แอพพลิเคชั่นที่ถูกออกแบบมาสำหรับร้านกาแฟที่เพียบพร้อมด้วยฟังค์ชั่นครบครัน ทั้งการจัดส่ง,การรับสินค้า และการให้คะแนนสะสมแต้ม
ปัจจุบันมีบรรดาคาเฟ่นำแอพดังกล่าวไปใช้มากกว่า 750 แห่ง รวมไปถึง “คอสต้า คอฟฟี่” (Costa Coffee), “ดังกิ้น” (Dunkin) และ”คาริบู คอฟฟี่” (Caribou Coffee) ยังไม่นับรวมร้านกาแฟอิสระในตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ
บริษัท “โคเฟ่ แอพ” ก่อตั้งโดยนักธุรกิจชื่อ อาลี อัล-เอบราฮิม เมื่อปีค.ศ. 2018 ตอนนี้เขาดำรงตำแหน่งเป็นซีอีโอ ปัจจุบันโคเฟ่ แอพ มีฐานอยู่ในคูเวต,ซาอุดิอาระเบีย,ยูเออี และอียิปต์ พร้อมมีแผนขยายเครือข่ายเข้าสู่อังกฤษภายในปีค.ศ. 2023 นี้ ขณะที่นับจนถึงกลางปีค.ศ. 2022 มีกาแฟมากกว่า 2 ล้านแก้วที่ถูกซื้อผ่านทางโคเฟ่ แอพ ที่น่าสนใจก็คือหลังจากเปิดตัวในซาอุดิอาระเบียไม่ถึงหนึ่งปีเต็ม ปราปกฎว่ามียอดดาวน์โหลดแอพกว่า 3 ล้านครั้ง มีจำนวนยูสเซอร์ที่ใช้แอพเป็นประจำกว่า 1.5 ล้านแอพ แสดงให้เห็นว่าร้านกาแฟยุคดิจิทัลกำลังเติบโตในตะวันออกกลาง
“กาแฟมีมูลค่าตลาดทั่วโลกอยู่ในราว 100,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่ยังไม่มีใครทำแอพเฉพาะของธุรกิจกาแฟอย่างจริงจัง “ อัล-เอบราฮิม กล่าวพร้อมเสริมว่า เขายังได้รับแรงบันดาลใจในการสร้างแพลตฟอร์มสั่งซื้อในรูปแบบดิจิทัลสำหรับร้านกาแฟ มาจากประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมกาแฟที่ เข้มข้น ในตะวันออกกลาง
อัล-เอบราฮิม ยังบอกว่า ไม่ใช่งานง่ายๆที่ผู้ประกอบการธุรกิจกาแฟขนาดเล็กจะพัฒนาเทคโนโลยีเป็นของตนเอง แต่แอพพลิเคชั่นสั่งเครื่องดื่มทางออนไลน์ จำเป็นต้องมีใช้กัน หากต้องการนำสินค้าและแบรนด์ธุรกิจ กระโจนเข้าสู่สนามการแข่งขันในยุคดิจิทัล
3.Cropster Cafe แพลตฟอร์มบริหารจัดการร้าน
ว่ากันว่า ไฮไลท์ทางธุรกิจภายใต้คลื่นลูกที่ 5 ของกาแฟโลกนั้นอยู่ที่การทำให้เครือข่ายร้านมีคุณภาพและมาตรฐานในทุกช่องทางการขาย อย่างไรก็ตาม การสื่อสารผ่านทางการพูดคุยกันระหว่างพนักงานด้วยกันอาจมีประสิทธิภาพเฉพาะในร้านแบบซิงเกิ้ลสโตร์ เมื่อจำต้องขยับขยายเครือข่ายร้านสาขาออกไป ประเด็นการสร้างมาตรฐานให้เหมือนกัน กลายเป็นความท้าทายไม่น้อยทีเดียว
ในเดือนพฤษภาคม 2022 ครอปสเตอร์ (Cropster) บริษัทพัฒนาซอฟต์แวร์ในภาคธุรกิจคั่วกาแฟ ได้เปิดตัว “ครอปสเตอร์ คาเฟ่” แพลตฟอร์มออนไลน์ที่ถูกออกแบบมาให้ใช้กับการบริการจัดการร้านกาแฟแบบพิเศษเป็นการเฉพาะ ผ่านทางการร่วมมือกับบริษัท “ลา มาร์ซอคโค” (La Marzocco) ของอิตาลี ซึ่งโปรแกรมซอฟท์แวร์ตัวนี้เน้นการใช้ข้อมูลเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำธุรกิจแบบค้าปลีกและการให้คำปรึกษากับลูกค้าขายส่ง
ครอปสเตอร์ คาเฟ่ ได้รับการพัฒนาขึ้นมาโดยอิงข้อมูลจริงจากผู้ประกอบการธุรกิจ”ร้านกาแฟพิเศษ” สามารถเชื่อมต่อและประมวลข้อมูลจากเครื่องชงกาแฟที่ใช้เทคโนโลยี IoT จากนั้นก็ทำการวิเคราะห์ ,สร้างภาพข้อมูล และจัดทำเป็นรีพอร์ตที่มีความสำคัญต่อการทำธุรกิจร้านกาแฟ เช่น ความสม่ำเสมอของระบบชง , วอลุ่มของผลผลิต/สินค้า และการซ่อมบำรุงอุปกรณ์ต่างๆภายในร้าน
แอนดี้ เบเนดิกเตอร์ หัวหน้าฝ่ายขายระหว่างประเทศของครอปสเตอร์ คาเฟ่ บอกถึงจุดประสงค์ในการพัฒนาซอฟท์แวร์ขึ้นมาว่า ต้องการทำให้การบริการจัดการร้านกาแฟ ง่ายขึ้น, คล่องตัวขึ้น และมีมาตรฐานขึ้น ให้ผู้ประกอบการตัดสินใจจากฐานข้อมูลเป็นสำคัญมากกว่าชุดข้อมูลจิปาถะอื่นๆ ช่วยลดข้อมูลขยะด้วยการให้ข้อมูลการบริโภคแบบเรียลไทม์ ดังนั้นผู้บริหารก็ไม่มีความจำเป็นต้องเดินทางไปเช็คอินเพื่อตรวจสอบข้อมูลต่างๆตามร้านเครือข่าย
นั่นหมายความว่าผู้บริหารจะมีเวลามากขึ้นในการใช้ “ศิลปะ” บริหารร้านให้มีประสิทธิภาพ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องกาแฟ, ลูกค้า หรือการสร้างสรรค์เมนูใหม่ๆ
สำหรับจำนวนร้านกาแฟที่ใช้บริการแพลตฟอร์มครอปสเตอร์ คาเฟ่ นั้น เบเนดิกเตอร์ไม่ได้ให้ตัวเลขที่ชัดเจน เพียงแต่บอกว่าอยู่ในหลักหลายร้อย แล้วตอนนี้ก็โฟกัสไปที่ตลาดสหรัฐ,ยุโรป และออสเตรเลีย
“ครอปสเตอร์ คาเฟ่ ไม่ได้ใช้เฉพาะกับเครื่องชงกาแฟเอสเพรสโซเท่านั้น แต่ยังถูกออกแบบมาใช้เชื่อมต่อเข้ากับอุปกรณ์เก็บข้อมูลอีกหลายอย่าง รวมไปถึงเครื่องบดกาแฟ,เครื่องชั่ง หรือระบบขายหน้าร้าน” เบเนดิกเตอร์ กล่าวพร้อมให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า บริษัทกำลังเจรจาหาความร่วมมือกับผู้ผลิตอุปกรณ์กาแฟอยู่หลายเจ้า เพื่อช่วยให้การบริหารจัดการร้านกาแฟมีประสิทธิภาพและมาตรฐานมากยิ่งขึ้น
ธุรกิจร้านกาแฟทั่วโลกหลังยุคโควิค-19 มีการปรับตัวไปมากทีเดียว เพื่อให้ “สอดรับ” และ “สอดคล้อง” กับพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะในกลุ่มคนรุ่นใหม่ มีการพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ๆมาใช้อย่างต่อเนื่อง แน่นอนว่าเทคโนโลยีที่พลิกโฉมหน้าธุรกิจร้านกาแฟเหล่านี้ จะพัฒนาต่อไปโดยไม่มีวันสิ้นสุด
แต่เวลาเท่านั้นจะบอกได้ว่าเทคโนโลยีตัวไหน ของค่ายใด ตอบโจทย์ทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภคได้ลงตัวที่สุด ท่ามกลางตลาดกาแฟที่มีการแข่งขันอย่างรุนแรงทั่วโลก
facebook : CoffeebyBluehill