การเลือกตั้งในครั้งนี้ ได้เข้าสู่ช่วงโค้งสุดท้าย แต่ละพรรคได้ออกหาเสียงทั่วประเทศ และได้มีการส่งตัวแทนเข้าร่วมในเวทีต่างๆ มากมาย ทำให้ประชาชนได้รับข้อมูลข่าวสารอย่างละเอียดมากยิ่งขึ้น เป็นหนึ่งในกลไกที่ทำให้ประชาชนสามารถเลือกตัวแทนที่จะเข้าไปทำหน้าที่บริหารประเทศแทนสิทธิของตน
นโยบายต่างๆ ที่ประชาชนให้ความสนใจในช่วงนี้ โดยมากจะเป็นนโยบายสวัสดิการเสียเป็นส่วนใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นการแจกเงินกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านกระเป๋าเงินดิจิทัล การแจกเงินผ่านบัตรประชารัฐ การเพิ่มเงินสวัสดิการผู้สูงอายุ ไปจนถึงการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ
แต่กระนั้น ต้องไม่ลืมว่าการดำเนินนโยบายดังกล่าว ต้องอาศัยเงินงบประมาณของภาครัฐเข้ามาเป็นจำนวนมาก ซึ่งทางสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทยได้เคยออกบทความเมื่อไม่นานมานี้เพื่อเตือนว่าการจะดำเนินนโยบายสวัสดิการต่างๆ จะต้องใช้เงินเป็นหลักล้านล้านบาท
นั่นคือ แม้ว่าพรรคที่หาเสียงด้านนโยบายสวัสดิการต่างๆ ดังกล่าวได้รับการเลือกตั้งและสามารถจัดตั้งรัฐบาลเพื่อบริหารประเทศได้ แต่หากเงินที่ต้องใช้ในการดำเนินนโยบายสวัสดิการดังกล่าวมีจำนวนมากมายมหาศาล ก็อาจจะทำให้นโยบายสวัสดิการดังกล่าวไม่สามารถเกิดขึ้นได้เพราะขาดงบประมาณ หรืออาจจะเกิดขึ้นได้แต่ต้องมีการก่อหนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นจำนวนมากซึ่งจะส่งผลเสียต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจในระยะยาวก็เป็นได้
เพื่อให้นโยบายสวัสดิการต่างๆ สามารถเกิดขึ้นได้จริงและไม่ส่งผลเสียต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ ทำให้ประเทศไทยต้องการนโยบายเพื่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ เพื่อสร้างรายได้ให้ประเทศ สร้างรายได้ให้กับภาครัฐ และเพิ่มความสามารถในการจัดสรรเงินเพื่อมาดำเนินนโยบายสวัสดิการต่างๆ ได้ดีมากยิ่งขึ้น
นโยบายเพื่อการเติบโตทางเศรษฐกิจจึงเป็นหัวใจสำคัญที่จะกำหนดอนาคตของประเทศในด้านการรักษาเสถียรภาพในระยะยาว
ผู้เขียนได้พิจารณาข้อมูลนโยบายเพื่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของพรรคการเมือง 6 พรรคหลัก ซึ่งประกาศในเว็ปไซต์ กกต. ทั้ง 6 พรรคนี้ ต่างก็มีโอกาสที่จะเข้ามามีส่วนกำหนดนโยบายเพื่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศในการเลือกตั้งในครั้งนี้ ซึ่งพบว่า ในภาพรวมหลายพรรคการเมืองยังเน้นไปที่รูปแบบการพัฒนาต่อยอดจากของเดิม เช่น การสนับสนุน SMEs ให้เข้ามามีบทบาทในเศรษฐกิจมากขึ้น การส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ และการพัฒนาภาคท่องเที่ยว
ในขณะที่บางพรรคการเมืองจะมีนโยบายเด่นเพิ่มเติม เช่น พรรครวมไทยสร้างชาติ มีนโยบายระเบียงเศรษฐกิจ 4 ภาค นโยบายการสนับสนุน Big data ในการให้สินเชื่อ และการเน้นอุตสาหกรรม BCG (Bio-Circular-Green) พรรคเพื่อไทยมีนโยบายการพัฒนารถไฟความเร็วสูง และการพัฒนารถไฟลาว-ท่าเรือแหลมฉบัง ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ในขณะที่พรรคประชาธิปัตย์ มีการพิจารณาเขตเศรษฐกิจพิเศษใหม่ๆ และการเน้นอุตสาหกรรมที่สำคัญ เช่น การสร้างไทยให้เป็น EV hub ส่วนพรรคภูมิใจไทยมีการนำเสนอโครงการขนาดใหญ่ คือ เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ หรือโครงการ Landbridge
ข่าวดีก็คือ พรรคการเมืองหลักๆ มีนโยบายเพื่อการเติบโตทางเศรษฐกิจอยู่พอสมควร และบางส่วนเป็นการต่อยอดจากของเดิมที่มีอยู่ ซึ่งการต่อยอดจากสิ่งเดิมที่มีอยู่จะทำให้การพัฒนามีความต่อเนื่อง ไม่ต้องเริ่มต้นใหม่ ในขณะเดียวกันก็เห็นโครงการใหม่ๆ ที่ถูกนำเสนอเพื่อสร้างเครื่องจักรทางเศรษฐกิจตัวใหม่ให้กับประเทศเช่นเดียวกัน
อย่างไรก็ดี สิ่งที่ผู้เขียนมีความกังวลใจก็คือ รายละเอียดการดำเนินนโยบายต่างๆ ในส่วนของนโยบายเพื่อการเติบโตทางเศรษฐกิจยังไม่ได้มีการลงรายะเอียดในเชิงลึก ทำให้ไม่ทราบถึงแหล่งที่มาของแนวคิดของโครงการ และความเหมาะสม ความคุ้มค่าของโครงการ ยิ่งไปกว่านั้น ในเวทีดีเบตต่างๆ ก็ไม่ได้เน้นในสาระสำคัญของการผลักดันนโยบาย/โครงการต่างๆ เหล่านี้เท่าที่ควร ทั้งๆ ที่นโยบายกลุ่มนี้จะมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งต่ออนาคตของประเทศ เช่น โครงการ Landbridge มีวงเงินที่ต้องใช้ลงทุนสูงถึง 1.7 ล้านล้านบาท ซี่งหากประสบความสำเร็จอาจจะช่วยให้เศรษฐกิจไทยเติบโตเพิ่มขึ้นมาก หรืออาจจะก่อภาระหนี้อย่างมหาศาลหากโครงการนี้ล้มเหลว เป็นต้น
ผู้เขียนอยากให้ประชาชน ภาควิชาการ ตลอดจนสื่อต่างๆ ช่วยกันตั้งคำถามในรายละเอียดของนโยบายเพื่อการเติบโตทางเศรษฐกิจเหล่านี้ในเชิงลึก ตลอดจนการติดตามการดำเนินนโยบายของพรรคที่ได้เป็นรัฐบาลเพื่อให้นโยบายต่างๆ เหล่านี้เกิดขึ้นจริง ก่อให้เกิดผลประโยชน์ต่อประเทศสูงที่สุด และช่วยสร้างรายได้เพื่อนำมาใช้สร้างรัฐสวัสดิการตามที่ประชาชนมุ่งหวังได้อย่างแท้จริง
ผู้เขียน : ดร.นณริฏ พิศลยบุตร
นักวิชาการอาวุโส สถาบันการวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI)