โดย ดร.ธนิต โสรัตน์ ประธานสภาที่ปรึกษาเพื่อพัฒนาแรงงานแห่งชาติ รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย
นโยบายนายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสิน ที่กลายเป็นกระแสได้รับความสนใจอยู่ในขณะนี้มีสามเรื่องหลักๆ คือ ประเด็นแรก เงินดิจิทัลหมื่นบาท ซึ่งมีผู้เห็นด้วยและกลุ่มที่ออกมาคัดค้าน เช่น นักวิชาการบางส่วน-ธปท.แม้แต่สภาพัฒน์ฯ แต่นายกรัฐมนตรียังมุ่งมั่นเดินหน้าโครงการ เบื้องต้นหลักเกณฑ์กำหนดให้กับประชาชนสัญชาติไทยอายุตั้งแต่ 16 ปี รายได้เดือนละไม่เกิน 70,000 บาทและ/หรือเงินฝากต่ำกว่า 5 แสนบาทใช้ได้ภายในเขตอำเภอที่มีภูมิลำเนา ใช้เงินประมาณ 5 แสนล้านบาทมีผู้เข้าถึงประมาณ 50 ล้านคน แหล่งเงินรัฐบาลจะออกเป็นพรบ.ซึ่งต้องผ่านรัฐสภาเห็นชอบระยะเวลาคืนเงินสี่ปี คาดว่าชาวบ้านจะสามารถใช้เงินได้อย่างเร็วสุดเดือนพฤษภาคม หากถามความเห็นของประชาชนส่วนใหญ่คงชอบแต่คำถามเงินที่จ่ายซึ่งต้องกู้มาแจกโดยไม่แยกแยะกลุ่มรายได้น้อยเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจผลลัพธ์จะคุ้มค่าหรือไม่เมื่อต้องแลกกับหนี้สาธารณะก้อนโต ณ ปลายเดือนกันยายน 2566 รวมกันมีจำนวน 11.131 ล้านล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนต่อจีดีพีร้อยละ 62.14
หากรวมหนี้ก้อนใหม่สัดส่วนต่อจีดีพีจะเพิ่มเป็นร้อยละ 65.48 รัฐบาลหวังว่านโยบายเงินดิจิทัลห้าแสนล้านบาทที่จะแจกให้กับประชาชนคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 2.8 ของจีดีพี จะสามารถกระตุ้นการบริโภคและฉุดเศรษฐกิจให้ขยายตัว แต่ต้องเข้าใจว่าเป็นการให้เงินก้อนเดียวชาวบ้านส่วนใหญ่คงใช้เดือนเดียวหมดเศรษฐกิจอาจจะดีขึ้นระยะสั้น อีกทั้งต้องเข้าใจคือแหล่งค้าปลีกทั้งร้านสะดวกซื้อ, โมเดิร์นเทรดหรือห้างสรรพสินค้าต่างๆ สัดส่วนเกินครึ่งของระบบค้าปลีกมีลักษณะกึ่งผูกขาดอยู่ในมือของเจ้าสัวเพียงไม่กี่ตระกูลเงินที่ใช้ไปจะหมุนเวียนอย่างมีข้อจำกัด ขณะเดียวกันหนี้สาธารณะที่เพิ่มขึ้นจะกลายเป็นภาระของประเทศในระยะยาวทั้งด้านการเงิน-การคลัง-เสถียรภาพอัตราแลกเปลี่ยน-ดอกเบี้ยที่สูงและเงินเฟ้อที่จะตามมา ซึ่งเมื่อถึงตอนนั้นแล้วรัฐบาลนี้และนายกรัฐมนตรีท่านนี้จะยังอยู่สะสางหรือไม่ตรงนี้ไม่มีคำตอบ
ประเด็นที่สอง การปรับเงินเดือนข้าราชการและบุคลากรของรัฐ จำนวนประมาณ 2.9-3.0 ล้านคน (ข้าราชการ 1.686 ล้านคนและบุคลากรรัฐ 1.236 ล้านคน) อาจใช้งบประมาณเพิ่มขึ้นปีละประมาณ 7 หมื่นล้านบาท สถานะปัจจุบันท่านนายกรัฐมนตรีออกตัวว่ายังไม่ใช่มติของครม. เป็นเพียงดำริให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปศึกษาความเป็นไปได้จะทำหรือไม่ทำเป็นอีกเรื่องหนึ่ง ข้อเท็จจริงเงินเดือนข้าราชการลูกจ้าง-บุคลากรของรัฐ โดยเฉพาะรายได้ของชั้นผู้น้อยค่อนข้างต่ำและบางอัตราต่ำกว่าค่าจ้างขั้นต่ำการปรับครั้งสุดท้ายเมื่อ 9 ปีที่ผ่านมา จากภาวะเศรษฐกิจเห็นว่าควรจะปรับแต่ต้องทำพร้อมกับการเพิ่มประสิทธิภาพและลดการทำงานแบบข้าราชการที่มีคอขวด (Bottleneck) บางหน่วยงานจำนวนคนมากกว่างาน ผู้มีอายุมากบางคนทำงานแบบหมดไฟรอวันเกษียณ บางภารกิจควรจะโอนไปให้เอ้าท์ซอร์สเอกชนรับไปทำหรือควรพิจารณามีโครงการ “Early Retire” โดยให้สิทธิประโยชน์เต็มที่เพื่อจูงใจเป็นการลดจำนวนบุคลกากรจะสามารถเพิ่มรายได้ โดยที่ไม่ต้องเป็นภาระของประเทศในระยะยาวซึ่งในประเทศที่พัฒนาแล้วรายได้ของข้าราชการจะสูงกว่าภาคเอกชน
ประเด็นที่สาม การปรับค่าจ้างขั้นต่ำแบบประชานิยม นโยบายที่เกี่ยวกับการเพิ่มรายได้ให้กับมนุษย์เงินเดือนที่เป็นนโยบายของรัฐบาลซึ่งพรรคเพื่อไทยใช้หาเสียงคือการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ 600 บาทภายในปีพ.ศ. 2570 หรืออีกสี่ปีข้างหน้าซึ่งครม.ชุดนี้คงไม่ได้อยู่เพราะหมดวาระไปสียก่อน ระยะสั้นมีการผลักดันค่าจ้างขั้นต่ำวันละ 400 บาทเป็นอัตราที่ก้าวกระโดด ช่วงหลังดูจากภาวะเศรษฐกิจที่ไม่เอื้อและในแง่กฎหมายที่อาจเป็นการชี้นำแทรกแซงคณะกรรมการค่าจ้างไตรภาคีซึ่งมีกฎหมายแยกต่างหากท่านนายกฯระบุว่าเป็นตัวเลขเป้าหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะกระทรวงแรงงานไปศึกษาความเหมาะสมและศึกษาความเป็นไปได้และนำมารายงานในครม. ที่ค่อนข้างชัดเจนคือท่านรัฐมนตรีกระทรวงแรงงานออกมาระบุว่าการปรับค่าจ้างเป็นหน้าที่ของกรรมการค่าจ้างซึ่งมีกฎเกณฑ์การพิจารณาโดยใช้เกณฑ์เงินเฟ้อ-การขยายตัวทางเศรษฐกิจความสามารถของนายจ้างและความเป็นอยู่ของลูกจ้าง
เบื้องต้นฝ่ายนายจ้าง (บางส่วน) เห็นว่าควรจะใช้ค่าเฉลี่ยเงินเฟ้อทั่วไป 3 ปี ซึ่งมีค่าเฉลี่ยประมาณร้อยละ 3 หรือประมาณวันละ 10.5 บาท ตัวเลขนี้เป็นแค่เบื้องต้นเพราะจะต้องมีการใช้ค่าจ้างของอนุกรรมการค่าจ้างจังหวัดซึ่งแต่ละจังหวัดอัตราค่าจ้างจะแตกต่างกัน ในความเห็นส่วนตัวการใช้ค่าเฉลี่ยเงินเฟ้อปัจจัยเดียวคงไม่พอเนื่องจากอัตราเงินเฟ้อของไทยค่อนข้างต่ำ ปีที่ผ่านมาการปรับค่าจ้างเฉลี่ยประมาณร้อยละ 5 การปรับครั้งนี้ควรจะไม่น้อยกว่าที่ปีผ่านมาและค่าจ้างแต่ละจังหวัดต้องแตกต่างกันตามความสามารถของแต่ละพื้นที่ไม่อย่างนั้นจะทำลายการลงทุนในพื้นที่ห่างไกลจากพื้นที่เศรษฐกิจไม่เกี่ยวข้องกับความเหลื่อมล้ำใดๆ ทั้งสิ้น
นักวิชาการบางท่านรวมถึงบางพรรคการเมืองให้เหตุผลว่าการปรับค่าจ้างขั้นต่ำสูงจะทำให้เพิ่มกำลังการซื้อและเพิ่มการจับจ่ายใช้สอยทำให้มีการลงทุนเพิ่มและมีการขยายการจ้างงานซึ่งจะทำให้เกิดการเพิ่มกำลังซื้อและการจ้างงานแบบต่อเนื่องในลักษณะ “Multiplier Effect” ส่งผลให้เศรษฐกิจขยายตัวอย่างต่อเนื่อง แนวคิดดังกล่าวอาจไม่ถูกต้องไปเสียทั้งหมดเป็นทฤษฎีเศรษฐศาสตร์เมื่อสองร้อยปีก่อน บริบทเศรษฐกิจของไทยในปัจจุบันพึ่งพาการค้าและการลงทุนกับต่างชาติในสัดส่วนที่สูง ภาคส่งออกมีสัดส่วนอยู่ในจีดีพีถึงร้อยละ 54.1 โดยสัดส่วน 3 ใน 4 เป็นอุตสาหกรรมประเภทรับจ้างผลิต (OEM) หรือใช้แบรนด์ต่างชาติตลอดจนภาคการผลิตของไทยส่วนใหญ่ใช้แรงงานเข้มข้นโดยเฉพาะสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร
แปรรูป ภาคส่วนเศรษฐกิจของไทยส่วนใหญ่เป็นเอสเอ็มอีและอุตสาหกรรมใช้แรงงานจำนวนมากมีความอ่อนไหวด้านราคาเนื่องจากผู้ซื้อในต่างประเทศมีทางเลือกในการซื้อสินค้าจากประเทศเพื่อนบ้านและ/หรือประเทศอื่นที่มีอัตราค่าจ้างต่ำกว่าไทยมาก
นักวิชาการบางท่านระบุว่าไม่เคยเห็นธุรกิจหรือนายจ้าง “เจ๊ง” จากการปรับค่าจ้างซึ่งก็เห็นด้วยบางส่วนหากเป็นการปรับให้สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจ อย่างไรก็ดีการปรับแบบก้าวกระโดดเหมือนในอดีตสมัยนายกยิ่งลักษณ์ฯ ซึ่งมาจากพรรคเพื่อไทย ข้อมูลเชิงประจักษ์ผลที่ตามมาจนถึงปัจจุบันพบว่าอุตสาหกรรมจำนวนมากย้ายฐานการผลิต เช่น ประเทศเวียดนาม อินโดนีเซียและประเทศต่างๆ จนทำให้ไทยเสียแชมป์ในฐานะฐานการผลิตและส่งออกระดับโลก เช่น เสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม, รองเท้ากีฬา, อาหารทะเลบรรจุกระป๋อง, ชิ้นส่วนยานยนต์และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวกับอิเล็กทรอนิกส์และแผงวงจรไฟฟ้า ฯลฯ จากอดีต
ไทยเคยเป็นจุดหมายปลายทางการลงทุนระดับภูมิภาคแต่ปัจจุบันการส่งออกและลงทุนของไทยห่างกับเวียดนามเทียบไม่ติดและในไม่ช้าอินโดนีเซียจะแซงไทย สะท้อนจากการลงทุนทางตรง (FDI) ในช่วง 9 เดือน ที่ผ่านมามีเม็ดเงินประมาณ 3.985 แสนล้านบาทร้อยละ 44.8 ลงทุนใน EEC เกือบครึ่งเป็นการลงทุนจากประเทศจีนและสิงคโปร์
นโยบายค่าจ้างต้องเข้าใจว่าผู้ประกอบการส่วนใหญ่ร้อยละ 90 เป็นรายย่อยและเอสเอ็มอี กลุ่มเหล่านี้ส่วนใหญ่ใช้เทคโนโลยีต่ำ-สินค้าต้องแข่งขันด้านราคาธุรกิจและอุตสาหกรรมเหล่านี้หากค่าจ้างปรับสูงแบบก้าวกระโดดจะอยู่ไม่ได้ อยากให้รัฐบาลผลักดันการปรับค่าจ้างจะต้องควบคู่ไปกับการมีแผนที่ชัดเจนในการเพิ่มผลิตภาพแรงงาน (Productivity) ค่าจ้างที่เพิ่มขึ้นเกี่ยวข้องกับผลผลิตหรือชิ้นงานก็ต้องเพิ่มขึ้นในอัตราที่มากกว่า หากค่าจ้างสูงแต่ชิ้นงานทำได้เท่าเดิมส่วนต่างของต้นทุนจะไปอยู่ในตัวสินค้า หากผู้ประกอบการปรับราคาได้ภาระก็จะตกอยู่กับประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศแต่หากปรับราคาไม่ได้ ก็ต้องย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศที่มีฐานค่าจ้างต่ำกว่าหรืออาจจะต้องทยอยปิดตัว
ประเด็นสำคัญรัฐบาลจะต้องมีแผนงานที่เป็นรูปธรรมที่ทำให้สถานประกอบการทั้งอุตสาหกรรมและบริการหลุดออกจากกับดักการพึ่งพาแรงงานเข้มข้นและ/หรือผลิตภัณฑ์ที่มีคุณค่าต่ำ ทำให้ต้องแข่งขันด้านราคาส่งผลต่อการกดค่าจ้าง ทางออกคือการเพิ่มผลิตภาพแรงงานซึ่งรัฐบาลบอกว่าจะกู้เงินหนึ่งแสนล้านบาทเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ควรนำเงินนี้มาจัดตั้งกองทุนส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีและส่งเสริมทักษะให้กับแรงงานของชาติโดยจะต้องทำคู่ขนานกับการปรับค่าจ้างให้เหมาะสมเพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิตให้กับประชากรแรงงานหลุดพ้นจากกับดักค่าจ้างขั้นต่ำ
บริบทนโยบายการปรับค่าจ้างจะต้องมีการทบทวนใหม่ โดยจะต้องผลักดันให้มีกฎหมายห้ามไม่ให้ภาคการเมืองเข้ามาแทรกแซงกลไกค่าจ้าง ซึ่งมีคณะกรรมการค่าจ้างไตรภาคีประกอบด้วยผู้แทนนายจ้าง-ลูกจ้างและผู้แทนฝ่ายรัฐบาล หากมีการปรับค่าจ้างวันละ 400 บาทและอาจไปถึง 600 บาท การเลือกตั้งครั้งต่อไปอาจจะเห็นแต่ละพรรคการเมืองแข่งขันใช้นโยบายค่าจ้างไปถึงวันละพันบาทหรือมากกว่าแล้วประเทศไทยจะอยู่ได้อย่างไร จะเห็นได้ว่าการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมาพรรคการเมืองใช้นโยบายประชานิยมแบบที่ไม่คิดว่าเขาจะคิดได้ หากนำนโยบายของทุกพรรคร่วมรัฐบาลที่ชูไว้ช่วงหาเสียงมาผลักดันจริงจะใช้เม็ดเงินมากกว่า 2-3 ล้านล้านบาท เฉพาะนโยบายลงทุนเมกะโปรเจ็กต์แลนด์บริดจ์ชุมพร-ระนองใช้เงินกว่า 1.0 ล้านล้านบาทอีกทั้งโครงการเงินดิจิทัลคนละหมื่นบาทต้องกู้เงิน 5-6 แสนล้านบาทเพื่อมาแจกประชาชน อาจได้ผลระยะสั้นแต่เป็นผลเสียระยะยาว เศรษฐกิจที่ขยายตัวแบบฉาบฉวยโดยแลกกับหนี้ก้อนใหญ่คงไม่สามารถทำให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้อย่างยั่งยืน