2 อดีตรมว.คลังทีมเศรษฐกิจพรรคพลังประชารัฐ เสนอนายกฯ แก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนเร่งด่วน เผยตัวเลขหนี้ NPL และ SM พุ่งสูงต่อเนื่องรวม 12 ล้านบัญชี ผู้มีรายได้น้อยเสี่ยงถูกยึดรถ-บ้าน ชี้ทางออกกำหนดมาตรการจูงใจแบงก์พานิชย์แฮร์คัทลูกหนี้รายได้ไม่เกิน 3 หมื่นต่อเดือน และชะลอการยึดทรัพย์ลูกหนี้วงเงินไม่เกิน 3 ล้าน
ทีมเศรษฐกิจพรรคพลังประชารัฐ เปิดเผยผลการศึกษาปัญหาหนี้ครัวเรือนในประเทศไทย โดยระบุว่า สถานการณ์โควิด-19 ได้ส่งผลให้หนี้ครัวเรือนขยับสูงขึ้นเกือบร้อยละ 91 ของจีดีพี คิดเป็นมูลค่าถึง 16.2 ล้านล้านบาท (ณ ไตรมาสที่ 3/2566) สถานการณ์ดังกล่าวกำลังสั่นคลอนความมั่นคงในครอบครัวคนไทย เนื่องจากตกอยู่ในภาวะชักหน้าไม่ถึงหลัง ไม่มีเงินในการจับจ่ายใช้สอยเพียงพอ เพราะมีภาระหนี้เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง หากรัฐบาลไม่เร่งแก้ไขปัญหาโดยเร็ว สุดท้ายนอกจากจะกระทบกับเศรษฐกิจภาพรวมของประเทศแล้ว ยังเป็นชนวนเหตุให้เกิดปัญหาทางสังคมตามมารอบด้าน
ทั้งนี้จากการศึกษาภาวะหนี้ครัวเรือนไทย พบว่า สัดส่วนหนี้เพื่อการอุปโภคบริโภคสูงถึงกว่าร้อยละ 76 ประกอบด้วยหนี้เพื่อซื้ออสังหาริมทรัพย์ หนี้สินส่วนบุคคลที่ไม่อยู่ภายใต้การกำกับของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) หนี้เช่าซื้อรถยนต์และจักรยานยนต์ หนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้กำกับของ ธปท. หนี้เพื่อการศึกษา ส่วนหนี้เพื่อการลงทุนประกอบอาชีพคิดเป็นสัดส่วนเพียงร้อยละ 24
ขณะที่สถิติของบริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ (เครดิตบูโร) ในปี 2566 มีหนี้เสียในระบบถึง 1.05 ล้านล้านบาท สูงกว่าปีก่อนหน้าร้อยละ 6.6 โดยหนี้เสียเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ คือกลุ่มหนี้สินเชื่อยานยนต์ บัตรเครดิต และสินเชื่อส่วนบุคคล นอกจากนี้ในกลุ่มหนี้ที่จับตาเป็นพิเศษ (SM) หรือหนี้ที่กำลังจะกลายเป็น NPL สูงถึง 6.1 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 17.8 และจากรายงานของกรมบังคับคดี ประเมินว่าจะมีลูกหนี้ถูกพิพากษาให้ชำระหนี้และถูกบังคับคดีราว 1.05 ล้านคดี ทุนทรัพย์รวมกว่า 15 ล้านล้านบาทภายในระยะ 10 ปีข้างหน้า
เมื่อพิจารณาด้านรายได้ พบว่าภายหลังวิกฤตโควิด -19 ยุติลง ได้เกิดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจในคนไทยมากขึ้น โดยมีคนมากถึงร้อยละ 50 ที่ไม่สามารถสร้างรายได้กลับมาในระดับเดิมก่อนโควิด ในทางกลับกันมีคนเพียงร้อยละ 10 ที่สามารถสร้างรายได้สูงกว่าระดับเดิมก่อนช่วงโควิด
ผลการศึกษายังชี้ว่าผู้มีรายได้น้อย คือคนที่มีความเสี่ยงในการถูกฟ้องร้อง เข้าสู่กระบวนการยึดทรัพย์และล้มละลายมากที่สุด เนื่องจากกลุ่มรายได้น้อยมีภาระรายจ่ายและภาระหนี้สูงกว่ารายได้ในสัดส่วนสูงที่สุด โดยกลุ่มรายได้ต่ำกว่า 1.5 หมื่นบาทต่อเดือน จะมีรายจ่ายบวกภาระคืนหนี้คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 138.2 ของรายได้ กลุ่มรายได้ 1.5 – 3 หมื่นบาทต่อเดือนคิดเป็นร้อยละ 109.4 กลุ่มรายได้ 3 – 5 หมื่นบาทเดือนคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 104.7
ดร.อุตตม สาวนายน ประธานกรรมการนโยบายพรรคพลังประชารัฐ กล่าวว่า จากรายงานของ IMF ชี้ว่าสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP ของไทย อยู่ในระดับเดียวกับประเทศพัฒนาแล้ว เช่น ฮ่องกง เนเธอร์แลนด์ สวีเดน แต่ขีดความสามารถทางการแข่งขันและโครงสร้างเศรษฐกิจไทยไม่ได้อยู่ระดับเดียวกับประเทศเหล่านั้น ดังนั้นไทยจึงมีความเสี่ยงที่หนี้ครัวเรือนจะก่อปัญหาทางเศรษฐกิจสูง ซึ่งต้องได้รับการแก้ไขโดยเร่งด่วนด้วยการยกระดับเป็นวาระแห่งชาติ โดยรัฐบาลต้องจับมือกับธนาคารแห่งประเทศไทย หน่วยงานที่เกี่ยวข้องตลอดจนสถาบันการเงินเอกชนมาร่วมกันแก้ไข ส่วนมาตรการที่กำหนดขึ้นควรขับเคลื่อนภายใต้ 4 แนวคิด เพื่อให้การแก้ไขปัญหาประสบความสำเร็จ ประกอบด้วย
1.ครอบคลุม เข้าถึงประชาชนในทุกพื้นที่ทุกอาชีพด้วยความเป็นธรรมเสมอภาค
2.ครบวงจร เชื่อมโยงการแก้หนี้เดิม เติมทุนใหม่ พร้อมกับเติมทักษะเพื่อสร้างอาชีพ
3.ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี โดยให้ความสำคัญกับการใช้ AI Data สร้างฐานข้อมูลการจัดการปัญหาหนี้อย่างเป็นระบบ เพื่อนำมาใช้ประโยชน์ในการพัฒนาคนและชุมชนให้มีความเข้มแข็งต่อการรับมือวิกฤติเศรษฐกิจที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต
4.ขับเคลื่อนขบวนการต่อเนื่อง โดยกำหนดมูลค่าหนี้และกลุ่มเป้าหมายชัดเจน พร้อมทั้งประเมินผลสัมฤทธิ์ และติดตามความคืบหน้าอย่างใกล้ชิด พร้อมจัดงบประมาณที่เพียงพอ
“ทีมเศรษฐกิจพรรคพลังประชารัฐ เสนอว่าภาครัฐควรการแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนโดยเร่งด่วน เพื่อไม่ให้หนี้ครัวเรือนเป็นอุปสรรคต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ โดยการแก้ไขจะสำเร็จได้จะต้องทำพร้อมกัน 2 ด้าน คือทั้งการลดหนี้และสร้างรายได้หรือเม็ดเงินเข้ากระเป๋าประชาชนเพิ่มด้วยจึงจะเป็นการแก้ไขอย่างเบ็ดเสร็จ” ดร.อุตตม กล่าว
ด้านนายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล ประธานกรรมการวิชาการ กล่าวว่า จากการศึกษาแนวทางแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือน ภาครัฐควรใช้กลไกลบรรษัทบริหารสินทรัพย์ที่มีอยู่จัดตั้งเป็นรูปแบบกองทุนแก้หนี้ภาคครัวเรือน ส่วนเม็ดเงินที่นำมาใช้ สามารถออกมาตรการกระตุ้นให้ธนาคารพานิชย์เข้าร่วมช่วยเหลือลูกหนี้ โดยวิธีที่ทำได้คือ กระทรวงการคลังต้องทำงานร่วมกับ ธปท. กำหนดนโยบายลดการส่งเงินเข้ากองทุนฟื้นฟู (FIDF) ครึ่งหนึ่งให้กับธนาคาร เหลือ 0.23% ต่อ 6 เดือน เป็นการชั่วคราว 5 ปี และให้นำเม็ดเงินส่วนที่ลดลงนั้นมาตั้งกองทุนดังกล่าว และธนาคารจะต้องนำเอากำไรสะสมของตนเองเข้าร่วมโครงการด้วยไม่น้อยกว่าร้อยละ 25 ของหนี้ที่ลดให้แก่ลูกหนี้ด้วย
สำหรับแนวทางในการช่วยเหลือลูกหนี้ของกองทุน คือ ปรับโครงสร้างหนี้แบบตัดยอดหนี้ (hair cut) ซึ่งเป็นวิธีการแก้ปัญหาที่รวดเร็วทันกาล และสร้างโอกาสให้ลูกหนี้ตั้งตัวกลับมาเป็นลูกหนี้ที่ดีต่อไป โดยกำหนดใช้กับลูกหนี้ที่มีรายได้ไม่เกิน 30,000 บาทต่อเดือน ส่วนลูกหนี้ที่ธนาคารฟ้องคดีเสร็จสิ้นแล้ว และอยู่ระหว่างบังคับคดียึดบ้าน ยึดหลักประกัน หรืออาจถูกฟ้องล้มละลายนั้น ธนาคารที่เข้าร่วมโครงการต้องยอมสละสิทธิในการฟ้องล้มละลาย ต้องยอมชะลอการยึดหลักประกัน และต้องลดราคาขายประกันเพื่อให้ลูกหนี้มีโอกาสมาซื้อหลักประกันคืน ตามหลักเกณฑ์ที่สมาคมธนาคารไทยจะกำหนดกับ ธปท. ทั้งนี้ เฉพาะสำหรับลูกหนี้ที่มียอดหนี้ไม่เกิน 3 ล้านบาท
ทั้งนี้ทีมเศรษฐกิจพลังประชารัฐ เสนอว่าแม้จะมีการปรับโครงสร้างหนี้รวมทั้งมาตรการ hair cut จะต้องทำควบคู่ไปกับการกระตุ้นเศรษฐกิจสร้างรายได้เข้ากระเป๋าประชาชน ภายใต้ 4 มาตรการ ดังนี้
1.นายกรัฐมนตรีในฐานะรัฐมนตรีคลังควรหารือกับ ธปท. เพื่อกระตุ้นการลงทุนเอกชนขยายกำลังผลิตและเพิ่มการจ้างงาน ด้วยการเพิ่มสภาพคล่องเข้าในระบบการเงินและหรือการลดดอกเบี้ย
2.รัฐบาลควรพิจารณาค้ำประกันหนี้ให้ SMEs ที่จะกู้ใหม่ไม่เกิน 3 ล้านบาท ในสัดส่วนสูงเป็นพิเศษชั่วคราว อาจจะถึง 80% ถ้าเป็นโครงการใหม่ที่ธนาคารเห็นว่ามีศักยภาพ และไม่ใช่การกู้หนี้ใหม่ไปเพื่อใช้คืนหนี้เก่า
3.รัฐบาลควรพิจารณาจัดตั้งกองทุนเพื่อร่วมลงทุนในธุรกิจเอกชนตั้งใหม่ที่เน้นนวัตกรรมในสัดส่วนร้อยละ 20 โดยร่วมกับหน่วยงานที่ชำนาญด้านการลงทุน เช่น ตลาดหลักทรัพย์ฯ สมาคมธนาคารไทย เป็นต้น
4.สร้างรายได้เพิ่มเติมหรือลดค่าใช้จ่ายให้เอกชน เช่น สนับสนุนการผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ โดยเปิดเสรีการติดตั้งโซล่าร์รูฟท็อป และรับซื้อไฟฟ้าเข้าระบบแบบ “หักกลบลบหน่วย” โดยธนาคารของรัฐเข้าไปสนับสนุนเงินทุนแก่ครัวเรือน รวมทั้งแก่ อบต. เทศบาล เพื่อจัดทำโซลาร์ฟาร์ม และถ้าหากมีที่ราชพัสดุอยู่ใกล้ชุมชน ก็ควรพิจารณาให้ชุมชนเช่าใช้ในการทำโซลาร์ฟาร์มด้วย เป็นต้น