โดย ดร.ธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย
ปรับค่าจ้างขั้นต่ำรอบ 2 ปีพ.ศ. 2567 หลังชักคะเย่อกันมาหลายรอบ ฝ่ายการเมืองกดดันหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องโดยตั้งเป้า 400 บาทเป็นตัวตั้งวิธีการค่อยไปว่ากันภายหลัง ก่อนหน้ามีการปรับค่าจ้างขั้นต่ำรอบแรกไปเมื่อ 1 มกราคม ในการประชุมไตรภาคีครั้งนั้นภาครัฐพยายามดันค่าจ้างให้สูงตามที่พรรคการเมืองหาเสียงแต่ด้วยมีพรบ.คุ้มครองแรงงานพ.ศ. 2560 ออกมาในสมัยรัฐบาลที่แล้วกำหนดแนวทางในการปรับจะต้องพิจารณาตามสูตรที่อิงตามหลักเศรษฐศาสตร์โดยนำปัจจัยต่างๆ เช่น อัตราสมทบของแรงงาน (Labor Contribution) ผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัด (GPP) ผลิตภาพแรงงาน (Productivity) อัตราเงินเฟ้อและตัวแปรเชิงคุณภาพซึ่งสูตรที่ใช้ในการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ ประกอบด้วย
อัตราค่าจ้างขั้นต่ำปัจจุบัน x [1+[( L รายจังหวัด x อัตราการเปลี่ยนแปลงของค่าเฉลี่ยผลิตภาพจังหวัด) + ค่าเฉลี่ยอัตราเงินเฟ้อ ] ] + ตัวแปรเชิงคุณภาพตาม พรบ. คุ้มครองแรงงานฯ มาตรา 87
ค่าจ้างปัจจุบันที่ปรับไปก่อนหน้านี้ใช้สูตรดังกล่าวไปจบที่ 17 อัตรา จังหวัดที่เพิ่มต่ำสุด 330 บาท (นราธิวาส, ปัตตานี, ยะลา) จังหวัดที่เพิ่มสูงสุด 370 บาทคือภูเก็ต สำหรับกทม.และปริมณฑลวันละ 363 บาท อัตราค่าจ้างที่ปรับอยู่ระหว่าง 2 – 16 บาท ค่าเฉลี่ยเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.37 พรรคการเมืองซึ่งเป็นขั้วใหญ่ในรัฐบาลมีความพยายามกดดันให้มีการพิจารณาปรับสูตรการคำนวนเพื่อให้ค่าจ้างตามเป้าที่กำหนดเป็นการแสดงชัดเจนว่าพรรคการเมืองเข้ามาแทรกแซงกลไกปรับค่าจ้างซึ่งกฎหมายกำหนดเป็นหน้าที่ของคณะกรรมการค่าจ้างหรือ “ไตรภาคี” มีการแต่งตั้งอนุกรรมการเป็นนักวิชาการพิจารณาแก้ไขสูตร ในที่สุดได้นำเข้ามาประชุมในบอร์ดค่าจ้างเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา
ผลการพิจารณาในครั้งนั้นยังยืนยันใช้สูตรเดิมเพราะเหมาะสมดีอยู่แล้วเพียงแต่ปรับเปลี่ยนให้ใช้เงินเฟ้อ (Inflation) เดิมใช้ค่าเฉลี่ย 4 – 5 ปี เปลี่ยนเป็น 1 ปี ในปีที่ปรับค่าจ้างเพื่อให้สอดคล้องกับค่าครองชีพจริง ในความเป็นจริงเห็นว่าค่าเฉลี่ยน่าจะดีกว่าเพราะเงินเฟ้อของไทยค่อนข้างต่ำ ปีพ.ศ. 2567 ไตรมาสแรกเงินเฟ้อติดลบทั้งปีอาจโตได้เพียงร้อยละ 1 – 1.5 นอกจากนี้มีการต่อรองเกี่ยวกับปัจจัยเชิงคุณภาพ เช่น ปัญหาเศรษฐกิจ ดัชนีผู้บริโภค สภาวะของนายจ้างและและความเดือดร้อนของลูกจ้าง ประเด็นที่แทรกเข้ามาทางกระทรวงแรงงานให้พิจารณาปรับค่าจ้างขั้นต่ำแยกตามพื้นที่ เขต เทศบาลและประเภทกิจการ แต่ติดขัดทำไม่ได้เนื่องจากการเก็บข้อมูลของหน่วยงานรัฐต่างๆ ไม่ได้ลงลึกถึงระดับนั้น การรอมชอมไปจบที่การปรับค่าจ้างรอบ 2 ให้เฉพาะภาคท่องเที่ยวนำร่องเฉพาะ 10 จังหวัด เหตุผลเนื่องจากภาคท่องเที่ยวมีการฟื้นตัวชัดเจน ปีที่ผ่านมาพื้นตัวได้เกือบ 80 % รายได้ 2.38 ล้านล้านบาท จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามา 28.042 ล้านคน คาดว่าปีนี้ตั้งเป้ารายได้ไว้ 3.0 ล้านล้านบาท จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ 35 ล้านคน เกือบเท่ากับก่อนวิกฤตโควิด-19
การประชุมไตรภาคีครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 26 มีนาคมที่ผ่านมาได้มีการพิจารณาประเด็นปรับค่าจ้างท่องเที่ยว 10 จังหวัดเฉพาะโรงแรมระดับ 4 ดาวขึ้นไปซึ่งเป็นโรงแรมหรูและขนาดใหญ่ต้องมีลูกจ้างตั้งแต่ 50 คนขึ้นไปอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาท เป็นการปรับเฉพาะบางพื้นที่มีเพียงภูเก็ตที่ปรับเหมายกจังหวัด ขณะที่จังหวัดอื่นๆ เช่น กทม.เฉพาะเขตปทุมวันและเขตวัฒนา อนาคตอาจขยายไปโรงแรมริมแม่น้ำเจ้าพระยาและเขตอื่นๆ จังหวัดเชียงใหม่เฉพาะเทศบาลเมือง จังหวัดกระบี่เฉพาะตำบลอ่าวนาง จังหวัดชลบุรีเฉพาะเขตเมืองพัทยา จังหวัดประจวบคีรีขันธ์เฉพาะเขตหัวหิน จังหวัดสงขลาเฉพาะหาดใหญ่ จังหวัดสุราษฎร์ธานีเฉพาะเกาะสมุย จังหวัดพังงานเฉพาะตำบลคึกคัก จังหวัดระยองเฉพาะเขตตำบลบ้านเพ จะเห็นได้ว่าจังหวัดที่กล่าวเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของประเทศมีรายได้สูงและมีการจ่ายค่าจ้างแรงงานไทยเฉลี่ยประมาณ 465 บาท ขณะที่ค่าใช้จ่ายของแรงงานตามอัตภาพเฉลี่ยอยู่ที่ 412 บาท แรงงานกลุ่มที่ได้รับอานิสงส์คือแรงงานต่างด้าวซึ่งธุรกิจโรงแรมอาจใช้จำนวนไม่มาก
ไทม์ไลน์การปรับค่าจ้างรอบ 2 ทางกระทรวงแรงงานจะนำเสนอครม.เป็นวาระเพื่อทราบโดยจะประกาศใช้วันที่ 13 เมษายนเป็นของขวัญวันสงกรานต์ เป็นการปรับเฉพาะบางจังหวัดและบางพื้นที่ มีการแย้มเป็นนัยว่าค่าแรงที่ปรับ 400 บาทจะมีการติดตามผลและเตรียมศึกษาเพื่อที่จะประกาศไปพื้นที่อื่นและอาจขยายไปสาขาอาชีพและธุรกิจอื่น เช่น ภาคการผลิตและบริการ แสดงให้เห็นว่าพรรคใหญ่ในขั้วรัฐบาลยังคงเดินหน้าปรับค่าจ้างซึ่งจะกลายเป็นบรรทัดฐานว่าการปรับค่าจ้างปีหนึ่งอาจมีได้หลายรอบโดยไม่มีหลักเกณฑ์ใดๆ รองรับ อาจจะกระทบต่อการกำหนดต้นทุนราคาสินค้าโดยเฉพาะภาคส่งออกและนักลงทุนต่างชาติลังเลที่จะลงทุนในไทย
การแทรกแซงค่าจ้างของพรรคการเมืองจะไปว่าเขาก็ไม่ได้เพราะ “กกต.” ซึ่งมีหน้าที่โดยตรงในการกำหนดกติกาหาเสียงไม่ได้ออกมาห้ามหรือส่งสัญญานว่า “ผิดกฎหมายหรือทำไม่ได้” เลือกตั้งครั้งหน้าจะเห็นสโลแกนของพรรคการเมืองต่างๆ นำค่าจ้างสูงมาใช้หาเสียง ค่าจ้างขั้นต่ำอาจโดดไปวันละ 1,000 บาทใกล้เคียงกับสิงคโปร์แต่ภาวะเศรษฐกิจของไทยต่างกันลิบลับ พรรคการเมืองหรือรัฐบาลเข้ามาระยะสั้นๆ จึงหวังผลแบบเร็วๆ ประเภท “Quick Win” ค่าจ้างขั้นต่ำเป็นต้นทุนที่พรรคการเมืองไม่ได้จ่ายแต่เป็นต้นทุนของชาติ ไทยเป็นประเทศพึ่งพาการส่งออกในสัดส่วนที่สูง เกือบครึ่งหนึ่งของอุตสาหกรรมส่งออกและโซ่อุปทานเกี่ยวข้องกับการใช้แรงงานเข้มข้น ค่าแรงที่สูงเกินความพอดีจะส่งผลต่อการแข่งขันด้านราคาและไม่จูงใจให้เกิดการขยายการลงทุนทั้งในประเทศและจากต่างประเทศ อุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้นจำนวนมากอาจย้ายฐานการผลิตไปประเทศเพื่อนบ้านหรือประเทศที่ค่าแรงต่ำเหมือนที่เคยเกิดหลังปีพ.ศ. 2557 ขณะที่สินค้าราคาถูกจากจีน เวียดนาม อินโดนีเซีย ฯลฯ ใช้สิทธิ FTA นำเข้าในอัตรา “ภาษีศูนย์” เข้ามาแย่งตลาดจะทำให้อุตสาหกรรมและภาคการผลิตโดยเฉพาะ SMEs ที่แข่งขันไม่ได้อาจทยอยปิดตัว… นึกไม่ออกว่าถึงตรงนั้นแล้วประเทศไทยจะอยู่ได้อย่างไร