จับตาประชุมเฟดลดดอกเบี้ยเร็วขึ้น โอกาสลงทุนหุ้นเทคโนโลยี AI “บิทคอยน์ – ทองคำ” ท็อปฟอร์มช่วงครึ่งปีหลัง

เกาะติดผลการประชุมเฟดอาจเข้าสู่จุดเปลี่ยนปรับลดดอกเบี้ยเร็วขึ้น หากตัวเลขเงินเฟ้อลดลงอย่างต่อเนื่อง ส่งผลดีต่อสินทรัพย์เสี่ยง แนะเลี่ยงลงทุนหุ้นเทคโนโลยีสหรัฐฯ กลุ่ม Big7 เหตุอัพไซด์ค่อนข้างจำกัด แต่ให้เบนเข็มเลือกลงทุนหุ้นเทคโนโลยีที่จะได้รับประโยชน์จากเอไอที่ราคายังไม่ได้ปรับตัวขึ้นสูงมากแทน ขณะที่สินทรัพย์ทางเลือก “บิทคอยน์ – ทองคำ” ยังมีโอกาสขาขึ้นในครึ่งปีหลัง

นายณพวีร์ พุกกะมาน นักลงทุนและผู้ก่อตั้ง Creative Investment Space (CIS) สถาบันให้ความรู้ด้านนวัตกรรมการลงทุนรูปแบบใหม่ เปิดเผยว่า ปัจจัยสำคัญที่กำหนดทิศทางการลงทุนในเดือนมิถุนายนนี้ จะอยู่ที่การประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐอเมริกา (FED) ที่จะมีขึ้นในสัปดาห์นี้ และเป็นวันเดียวที่จะประกาศตัวเลขเงินเฟ้อ (CPI) ของสหรัฐฯ แม้คาดการณ์ว่าคณะกรรมการนโยบายการเงินน่าจะมีมติคงดอกเบี้ยต่อในรอบนี้ แต่หากประกาศตัวเลขเงินเฟ้อปรับลดลง และความเห็นของธนาคารกลางสหรัฐฯ เปลี่ยนมุมมองมาในทางที่จะลดดอกเบี้ยเร็วขึ้นอาจทำให้ตลาดตอบรับในเชิงบวกทันที

“ขณะนี้ธนาคารกลางยุโรปและธนาคารกลางชาติอื่น ๆ เริ่มที่จะปรับทิศทางมาลดดอกเบี้ยกันแล้ว น่าจะเป็นแรงกดดันไปยังธนาคารกลางสหรัฐฯ ให้ต้องปรับลดดอกเบี้ยตาม โดย FED Fund Rate ตอนนี้ให้น้ำหนักการลดดอกเบี้ยครั้งแรกของปีนี้ ในเดือนกันยายนที่ 50% แต่ถ้ามีปัจจัยอื่นมาสนับสนุนก็มีโอกาสที่จะลดดอกเบี้ยเร็วขึ้น ซึ่งจะส่งผลดีต่อสินทรัพย์เสี่ยง ล่าสุด ดัชนี Dollar Index ก็ส่งสัญญาณเป็นขาลงครั้งแรกของปีนี้เช่นกัน”

สำหรับสินทรัพย์ที่น่าสนใจในเดือนนี้ มองว่าหุ้นเทคโนโลยีสหรัฐฯ ยังมีโอกาสในการลงทุน แต่ต้องกระจายพอร์ตไปยังหุ้นกลุ่มอื่นที่ไม่ใช่กลุ่มหุ้นเทคโนโลยีขนาดใหญ่ หรือ Big7 เพราะราคาปรับตัวขึ้นค่อนข้างสูงมากแล้ว และราคาค่อนข้างมีอัพไซด์จำกัด ประกอบกับมีความเสี่ยงเชิงพื้นฐานที่อาจเกิดขึ้น โดยเฉพาะ Nvidia ที่มีข่าวของการลดพาร์เข้ามาทำให้มีการเก็งกำไรอย่างต่อเนื่อง

ณพวีร์ พุกกะมาน นักลงทุนและผู้ก่อตั้ง Creative Investment Space (CIS)

“ตอนนี้ Nvidia กำลังเผชิญกับคู่แข่งในอุตสาหกรรมเดียวกัน อย่าง AMD และ Intel ที่ประกาศจะผลิต GPU สำหรับใช้งานด้านเอไอขึ้นมาแข่งขันด้วย ซึ่งจากความต้องการในตลาดที่สูง ประกอบกับราคาจำหน่ายที่อาจจะถูกกว่า Nvidia มีโอกาสสูงที่จะถูกแย่งตลาดบางส่วน บวกกับบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ที่มีแพลตฟอร์มเอไอ เช่น Microsoft, Alphabet, Meta และ Amazon เริ่มหันมาผลิตชิปเซ็ตของตัวเอง ทั้งหมดนี้เป็นความเสี่ยงต่อหุ้น Nvidia ที่อาจมีนักลงทุนเทขาย”

อย่างไรก็ดี นักลงทุนสามารถที่จะกระจายพอร์ตไปลงทุนในหุ้นกลุ่มเซมิคอนดักเตอร์ตัวอื่นที่ราคายังปรับตัวขึ้นมาไม่สูงมาก โดยคาดว่ากระแสของเอไอจะเป็นผลดีต่อหุ้นในกลุ่มนี้ทั้งหมดในระยะยาว รวมถึงมองหาหุ้นที่ได้ประโยชน์ทางอ้อมจากเอไอ ได้แก่ Cloud Computing และซอฟท์แวร์ จะเป็นทางเลือกในการลงทุนได้

นอกจากนี้ยังมีสินทรัพย์อื่นที่น่าสนใจ ได้แก่ บิทคอยน์ ซึ่งจะได้รับประโยชน์จากการที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ จะเปลี่ยนนโยบายเข้าสู่การลดดอกเบี้ย รวมถึงการอนุมัติ Ethereum ETF และการออกมาประกาศเชิงนโยบายจากผู้สมัครเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่จะสนับสนุนคริปโต ถือเป็นปัจจัยบวกต่อตลาดนี้ เพราะที่ผ่านมาหน่วยงานกำกับดูแลของสหรัฐฯ มีท่าทีต่อต้านคริปโตมาโดยตลอด แต่ถ้านโบายเปลี่ยนไปในเชิงบวกจะทำให้ตลาดคริปโตและบิทคอยน์ มีความน่าสนใจมากขึ้น

ขณะที่แนวโน้มทางเทคนิค ราคาบิทคอยน์เคลื่อนไหวแบบไซด์เวย์มาตั้งแต่เดือนมีนาคมที่ราคาขึ้นไปสร้างจุดสูงสุดใหม่ แม้ว่าจะยังไม่สามารถกลับไปที่แนวต้านเดิมที่ 74,000 ดอลลาร์ แต่การที่ราคาไม่ได้ทำจุดต่ำสุดใหม่ทำให้ยังมีโอกาสที่จะปรับตัวขึ้นได้ต่อ โดยมีเป้าหมายระยะสั้นที่ 84,000 ดอลลาร์ สามารถทยอยสะสมเพิ่มได้

ส่วนทองคำเป็นอีกหนึ่งสินทรัพย์ที่จะได้รับประโยชน์จากนโยบายการเงินที่ผ่อนคลาย อย่างไรก็ตามราคาได้ปรับตัวขึ้นมาค่อนข้างมาก และถึงแนวต้านเป้าหมายที่ 2,470 ดอลลาร์แล้ว ระยะสั้นอาจมีแรงเทขายทำกำไรออกมา แต่ภาพระยะยาวทองคำยังสามารถที่จะปรับตัวขึ้นต่อได้ โดยมีปัจัยหนุนจากความต้องการทองคำทั่วโลกที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะจากกลุ่มประเทศเกิดใหม่ จีน และอินเดีย ที่ต้องการลดการพึ่งพาเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ทั้งนี้หากราคาทองคำปรับตัวลงมาไม่ต่ำกว่า 2,000 ดอลลาร์ ยังสามารถเข้าสะสมได้

นายณพวีร์ กล่าวปิดท้ายว่า ในเดือนนี้ ยังมองเป็นโอกาสที่จะทยอยเข้าลงทุนในตลาดหุ้นจีนและฮ่องกง โดยมีความน่าสนใจในแง่ของแวลูเอชั่นที่ยังถูกกว่าค่าเฉลี่ยในอดีต รวมถึงกราฟเทคนิคที่เพิ่งจะปรับตัวเป็นขาขึ้น  รวมถึงตลาดหุ้นเวียดนาม มีความน่าสนใจเช่นกันจากภาวะเศรษฐกิจที่เติบโตได้ดีและกราฟเทคนิคยังยืนยันการเป็นขาขึ้นในภาพใหญ่


 

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *