โดย ดร.ธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย (ECONTHAI)
โปรดเกล้าฯ ครม.ภายใต้นายกรัฐมนตรี “อุ๊งอิ๊ง” นางสาวแพทองธาร ชินวัตร ซึ่งทั้งตรวจสอบและกลั่นกรองคุณสมบัติของผู้ตำรงตำแหน่งรัฐมนตรีอย่างเข้มข้นเพื่อไม่ให้ประวัติศาสตร์ซ้ำรอยถูกสอยด้านคุณสมบัติจริยธรรม มีการเปลี่ยนชื่อรัฐมนตรีที่มีโอกาสเสี่ยงโดยเปลี่ยนเป็นคนใกล้ชิดเปลี่ยนเป็นลูกมาแทน บางรายนำน้องเข้ามาเป็นรัฐมนตรีหรือคนในครอบครัว ทำให้ครม.ชุดนี้กลายเป็น “Nominee Cabinet” สำหรับใครดำรงตำแหน่งอะไรคงรู้อยู่แล้วจึงไม่ขอกล่าว ขณะที่ทีมเศรษฐกิจซึ่งนายกฯ อุ๊งอิ๊ง รับเป็นหัวหน้าทีมเนื่องจากมีแบ็คและคลังสมองชั้นดีอย่างอดีตนายกฯ
ทักษิณ ชินวัตร เป็นประกันคุณภาพ รัฐมนตรีเศรษฐกิจดูจากรายชื่อหน้าเดิมๆ ล้วนเป็นเหล้าเก่าในขวดใหม่หากจะเดินหน้าประเทศคงต้องเขย่าขวดแรงๆ โดยเฉพาะนักการเมืองขิงแก่ซึ่งส่วนใหญ่เป็นรุ่นลายครามใกล้ชิดตระกูลชินวัตรมาช้านาน
ความท้าทายของรัฐบาลใหม่คือการแก้ปัญหาเศรษฐกิจไทยที่ทรงกับทรุดท่ามกลางเศรษฐกิจโลกที่ไม่เอื้อและปัญหาความขัดแย้งในภูมิภาค เศรษฐกิจในประเทศที่เป็นโจทย์ยากและต้องแก้ปัญหาเฉพาะหน้าแบบ “Quick Win” คือเศรษฐกิจระดับชาวบ้านที่ติดกับดักหนี้ครัวเรือน ขณะที่ธุรกิจโดยเฉพาะรายเล็ก-รายน้อยและ SMEs ขาดสภาพคล่องและภาระหนี้ที่พุ่งสูงแค่ส่งดอกเบี้ยก็แย่แล้ว ปัญหากับดักหนี้แก้กันมาตั้งแต่สมัยนายกฯ ลุงตู่ต่อเนื่องมาจนถึงรัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน ยังแก้กันไม่จบปัจจุบันข้อมูลเครดิตบูโรระบุว่าหนี้เสียหรือ NPL ทั้งระบบประมาณ 1.16 ล้านล้านบาท บวกกับหนี้ที่กำลังจะเน่าหรือหนี้ที่ติดระดับ “Special Mention” อีกประมาณ 5.0 แสนล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นหนี้รถยนต์-หนี้บ้านและบัตรเครดิต
รัฐบาลใหม่ “อุ๊งอิ๊ง 1” มาพร้อมกับวิกฤตน้ำท่วมครั้งใหญ่จากภาคเหนือน้ำหลากเข้ามาถึงอยุธยาและวิตกว่าจะเข้ามาท่วมกรุงเทพฯ ผลที่ตามมาจะยิ่งซ้ำเติมเศรษฐกิจที่ทรงกับทรุดมาก่อนหน้านี้เป็นโจทย์ยากจำเป็นที่ต้องการทีมเศรษฐกิจที่มี “กึ๋น” รู้ปัญหาเข้ามาแก้ ลำพังอาศัยนักการเมืองอาชีพเข้ามาตามโควต้าบ้านใหญ่หรือมีส.ส.ในกำกับกี่คนรวมถึงโควต้าพรรค รัฐมนตรีบางคนอายุเลยวัยประเภทยาหมดอายุ (Expiry Date) ต้องรับมือกับเศรษฐกิจที่อิงกับการเปลี่ยนแปลงของโลกจะเอาอยู่หรือไม่ แค่เห็นชื่อความเชื่อมั่นแทบไม่เหลือ
โจทย์ของประเทศที่กำลังเผชิญขณะนี้คือกำลังซื้อของประชาชนและแรงงานทั้งในระบบและนอกระบบที่ลดลงรวมถึงกำลังการผลิตอุตสาหกรรมที่ยังอยู่ในระดับต่ำจากภาคส่งออกที่เพิ่งฟื้นตัวในเดือนกรกฎาคม ฉากทัศน์ภาคธุรกิจโดยเฉพาะ SMEs ขณะนี้ขายของยากเพราะชาวบ้านไม่มีสตางค์ สต็อคสินค้าอยู่ในระดับสูง ขาดสภาพคล่อง แบกดอกเบี้ยและค่าใช้จ่ายต้องแข่งขันลดราคา บางครั้งต้องยอมขาดทุนเพื่อความอยู่รอดของธุรกิจและหาเงินมาเลี้ยงลูกน้องแถมยังต้องเจอสินค้าราคาถูกจากจีนทั้งออฟไลน์และออนไลน์เข้ามาถล่มราคาต่ำกว่าต้นทุน โดยที่ประเทศไทยไม่มีมาตรการอะไรที่จะปกป้องสินค้าที่ผลิตในประเทศเหมือนกับหลายประเทศที่เขาทำกัน
ที่จะบอกกล่าวไปถึงรัฐบาลกล่าวคือธุรกิจตัวเล็กตัวน้อยรวมถึง SMEs ส่วนใหญ่ช่วงเวลานี้สาหัสที่สุดเพราะเมื่อขายสินค้าหรือบริการได้น้อยลงหรือต้องขายขาดทุนผลที่ตามมาคือขาดสภาพคล่อง การเข้าถึงแหล่งเงินจากสถาบันการเงินแทบเป็นไปไม่ได้เนื่องจากแบงค์ระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อไตรมาส 2 ของปี 2567 สินเชื่อ SMEs ที่ค้างชำระมีมากกว่า 6.5 หมื่นกิจการ หนี้เสียของ SMEs สูงถึงร้อยละ 10.8 ทำให้ที่ผ่านมาการปล่อยสินเชื่อให้กับธุรกิจรายย่อยและ SMEs ขยายตัวติดลบร้อยละ 8.5 ก่อนอื่นต้องเข้าใจว่าธุรกิจประเภท SMEs เป็นแหล่งจ้างงานร้อยละ 88 ของการจ้างงานทั้งหมดรวมกัน ในช่วง 7 เดือนแรกของปีนี้การจ้างงานสุทธิในระบบประกันสังคมเพิ่มขึ้นเพียง 216,366 คน เป็นตัวเลขที่ไม่มากส่วนใหญ่ไปทำงานอิสระหรือทำอาชีพออนไลน์ที่รายได้ไม่แน่นอน อัตราการว่างงานของแรงงานในระบบประกันสังคมเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาสัดส่วนร้อยละ 2.03 เปรียบเทียบกับอัตราการว่างงานเดือนมกราคมอยู่ที่ร้อยละ 1.67 สะท้อนถึงปัญหาทางโครงสร้างเศรษฐกิจได้เป็นอย่างดี
การแก้ปัญหาของรัฐบาลโดยเฉพาะทีมเศรษฐกิจที่ท่านนายกรัฐมนตรีนั่งเป็นหัวโต๊ะในช่วงเวลานี้ การแก้ปัญหาประเภทยาดม-ยาหอมหรือขายความฝันหรือวิสัยทัศน์โก้ๆ คงเอาไม่อยู่ โจทย์แก้ปัญหาเศรษฐกิจเฉพาะหน้าหรือ “Quick Win Policy” ที่รัฐบาลควรเร่งดำเนินการ ได้แก่
ข้อแรก : โครงการแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ตที่เปลี่ยนเป็นจ่ายเงินสดผ่านแอปพลิเคชั่นและปรับลดวงเงินเหลือ 1.45 แสนล้านบาท ให้เฉพาะกลุ่มคนเปราะบางจำนวน 14.5 ล้านคน ถึงเวลานี้รัฐบาลเดินหน้าจนถอยไม่ได้เพราะประชาชนไม่มีทางเลือกโดยเฉพาะผู้ที่ประสบปัญหาน้ำท่วม ทราบว่าจะมีเฟสต่อไป ที่ต้องระมัดระวังหากให้ทุกปีจะไปสร้างให้ประชาชนเสพติดหากไม่ได้จะออกมาประท้วงชุมนุมจะหาเงินที่ไหนมาให้โดยเฉพาะไทยเข้าสู่สังคมสูงอายุในแต่ละปีจะมีคนกลุ่มเปราะบางเพิ่มขึ้นหลายแสนคน
ข้อที่สอง : เร่งแก้หนี้ปรับโครงสร้างหนี้ทั้งภาคครัวเรือนและหนี้ธุรกิจโดยเฉพาะ SMEs ให้สามารถกลับมาเดินหน้าได้ อาจตั้งกองทุนเฉพาะกิจเพื่อมาอุ้มหนี้หรือผลักดันให้ธนาคารพาณิชย์ลดวงเงินส่งเข้ากองทุน FIDF เหลือลดลงครึ่งหนึ่ง (จากที่ต้องส่งร้อยละ 0.46 – 0.47) เป็นกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 ปัจจุบันมีหนี้คงค้างประมาณ 5.908 แสนล้านบาท ระยะเวลาที่ลด 5 ปีโดยนำเงินไปลดหนี้และชะลอการยึดทรัพย์เพื่อให้ธุรกิจที่พอมีศักยภาพสามารถเดินหน้าหรือปล่อยสินเชื่อเพิ่มเติม
ข้อที่สาม : แพ็คเกจช่วยเหลือเยียวยาผู้ประกอบการ SMEs และรายเล็ก-รายน้อยรวมถึงประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมซึ่งกลายเป็นวิกฤตครั้งใหญ่ เบื้องต้นความเสียหายเฉียดหมื่นล้านบาทกระทบทั้งภาคเกษตรกรรม บริการและอุตสาหกรรมมีผลต่อการประกอบอาชีพและกระทบต่อกำลังซื้อของประเทศในสภาวะซึ่งเศรษฐกิจเปราะบางอยู่ก่อนแล้วให้ทรุดหนักกว่าเดิม
ข้อที่สี่ : ชะลอการปรับค่าจ้าง 400 บาท ในวันที่ 1 เดือนตุลาคม จากการที่ รมว.กระทรวงแรงงานหลังจากตั้งรัฐบาลชุดใหม่ประกาศจะเดินหน้านโยบายค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาททั่วประเทศตามกำหนดการเดิมตั้งแต่รัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน แต่อาจจะมีการพิจารณาปรับบางกลุ่มอาชีพหรือตามขนาดสถานประกอบการ ในสภาวะเศรษฐกิจที่เปราะบางจากกำลังซื้อในประเทศที่ชะลอและการส่งออกที่ขยายตัวยังไม่ได้อยู่ในระดับสูง อีกทั้งภาวะน้ำท่วมครั้งใหญ่ทำให้ภาคธุรกิจมีความอ่อนแอควรจะมีการชะลอการปรับค่าจ้างไปก่อน เนื่องจากจะยิ่งเป็นการซ้ำเติมให้สถานประกอบการแข่งขันได้ยากโดยเฉพาะด้านส่งออกและสินค้าจีนราคาถูกจะเข้ามาแย่งตลาดในประเทศ
ข้อที่ห้า : ปกป้องธุรกิจและอาชีพคนไทยจากการทุ่มตลาดสินค้าจีนที่ Over Supply จากภาวะเศรษฐกิจในประเทศที่ชะลอตัวอัตราการว่างงานคนหนุ่ม-สาวสูงถึงร้อยละ 17 รวมถึงการกีดกันนำเข้าจากสหรัฐฯ และยุโรป ทำให้สินค้าล้นตลาดทะลักเข้ามาในไทยทั้งออฟไลน์และออนไลน์ควรมีมาตรการตอบโต้ทุ่มตลาดและมาตรการปกป้องนำเข้าสินค้าราคาถูก (Anti-Dumping & Safeguard Measures) เช่น การซื้อ-ขายออนไลน์ต้องผ่านแอปในประเทศซึ่งทราบว่ากระทรวงพาณิชย์กำลังจะออกประกาศแพลตฟอร์มออนไลน์ต่างประเทศต้องจดทะเบียนนิติบุคคลในประเทศไทยเพื่อควบคุมการเก็บภาษีและใบอนุญาตนำเข้า รัฐบาลจีนนอกจากกระตุ้นและผลักดันสินค้าราคาถูก (ต่ำกว่าทุน) เข้ามาทุ่มตลาดยังสนับสนุนให้คนจีนเข้ามาเปิดร้านขายสินค้า-ร้านอาหาร ธุรกิจขนส่ง บ้านเช่า-คอนโดรวมถึงไกด์เถื่อน เป็นภาพที่พบเห็นอยู่ทั่วไป ควรมีมาตรการเข้มงวดเอาผิดเจ้าหน้าที่รัฐที่มีส่วนรู้เห็นโดยเฉพาะบทลงโทษนอมินีไทยที่ถือหุ้นแทนต่างชาติ