โดย ดร.ธนิต โสรัตน์ ประธานสภาที่ปรึกษาเพื่อพัฒนาแรงงานแห่งชาติ รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย
ฉากทัศน์เศรษฐกิจไทยปี 2567/68
การพยากรณ์ทิศทางเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้มากน้อยเพียงใดจำเป็นจะต้องเห็นภาพรวมทิศทางเศรษฐกิจโลก เนื่องจากไทยเป็นประเทศที่พึ่งพาการค้าและบริการระหว่างประเทศในสัดส่วนที่สูงประมาณร้อยละ 1.31 เท่าของ GDP การเปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์เศรษฐกิจโลกจึงมีผลต่อเศรษฐกิจไทย ด้านปัจจัยภายในเกี่ยวข้องกับการบริโภคของภาคธุรกิจและประชาชนซึ่งมีความสัมพันธ์เป็นนัยกับสภาพคล่องและกับดักหนี้ครัวเรือนไปจนถึงหนี้ธุรกิจ นอกจากนี้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและนโยบายมหภาค รวมถึงเสถียรภาพทางการเมืองของรัฐบาลเกี่ยวข้องกับความเชื่อมั่นการบริโภคและการลงทุนโดยมีสัดส่วนอยู่ใน GDP ประมาณร้อยละ 58 และร้อยละ 17.3 ตามลำดับซึ่งมีความสัมพันธ์โดยตรงกับการจ้างงานของตลาดแรงงาน
บริบทไทยเป็นประเทศที่ติดกับดักเศรษฐกิจขยายตัวในอัตราที่ค่อนข้างต่ำกว่าศักยภาพการขยายตัวเศรษฐกิจไทยช่วง 3 ปี (พ.ศ. 2564 – 2566) หลังวิกฤตการแพร่ระบาดโควิด-19 เศรษฐกิจไทยขยายตัวเฉลี่ยเพียงร้อยละ 2.0 เป็นอัตราต่ำสุดในภูมิภาคอาเซียนและเอเชียแปซิฟิก รายงานฉบับนี้ประเมินเศรษฐกิจหรือ GDP รวมทั้งดัชนีขับเคลื่อนเศรษฐกิจของไทยด้วยการใช้ค่าเฉลี่ยของหน่วยงานรัฐ 3 หน่วยงาน (สศช., ธปท., สศค.) ปีพ.ศ. 2567 เศรษฐกิจไทยอาจขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 2.67 โดยช่วง 9 เดือนแรกขยายตัวได้เพียงร้อยละ 2.36 ประเมินว่าในปีพ.ศ. 2568 GDP ไทยจะขยายตัวได้ร้อยละ 2.9 – 3.0 (ตัวเลขนี้เข้าใจว่ารวมงบกระตุ้นเศรษฐกิจเฟส 2) สะท้อนว่าเศรษฐกิจขยายตัวใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมาสอดคล้องกับผลสำรวจความเชื่อมั่นเศรษฐกิจและเชื่อมั่นธุรกิจของสถานประกอบการส่วนใหญ่เห็นว่าใกล้เคียงกับปี 2567 ยกเว้นภาคส่งออกผลสำรวจพบว่าส่วนใหญ่เชื่อมั่นว่าการดำเนินธุรกิจขยายตัวได้ดี
ปัจจัยที่มีผลต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญคือ ภาคการส่งออกเชิงเงินบาทมูลค่าประมาณ 10.610 ล้านล้านบาท มีสัดส่วนอยู่ใน GDP ร้อยละ 57.70 การขยายตัวปี 2567 (เชิงเหรียญสหรัฐ) คาดว่าน่าจะขยายตัวได้ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 4.5 – 5.0 สำหรับปี 2568 ภายใต้ความไม่แน่นอนของนโยบายปธน.โดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐอเมริกาซึ่งอาจมีมาตรการกำแพงภาษีนำเข้าที่จะใช้ตอบโต้กับจีนในอัตราร้อยละ 60 และประเทศต่างๆ รวมทั้งไทยซึ่งได้เปรียบดุลการค้ากับสหรัฐฯ ในอัตราร้อยละ 10 – 20 อาจกระทบการค้าโลกอาจทำให้การส่งออกขยายตัวได้เพียงร้อยละ 3.14 ห่วงโซ่อุปทานของภาคส่งออกเกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมนำเข้า-ภาคบริการ-โลจิสติกส์และแรงงานจำนวนมากมีผลต่อการบริโภคและการลงทุนต่อเนื่อง
ภาคการท่องเที่ยวโดยรวมในเชิงปริมาณขยายตัวได้ร้อยละ 9.3 จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติประมาณ 35.75 ล้านคนคาดว่ารายได้ (รวม) จากภาคท่องเที่ยวปี 2567 ประมาณ 2.328 ล้านล้านบาทคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 13.59 ของ GDP สำหรับปีถัดไปคาดว่าในภาพรวมจะขยายตัวได้ร้อยละ 12.2 จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติประมาณ 39.5 ล้านคนใกล้เคียงช่วงก่อนโควิด-19 การที่ภาคส่งออกและภาคท่องเที่ยวขยายตัวได้ดีเป็นเครื่องจักรสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยทำให้การบริโภคภาคเอกชนขยายตัวได้ร้อยละ 4.53 ซึ่งต่ำกว่าปีพ.ศ. 2566 ที่ขยายตัวได้ร้อยละ 7.1 แสดงให้เห็นที่ผ่านมาการบริโภคมีการชะลอตัวลง หากปีถัดมาการกระตุ้นเศรษฐกิจแจกเงินเฟส 2 และเฟส 3 ใช้งบประมาณรวมกัน 1.8 แสนล้านบาทและมาตรการแก้หนี้ครัวเรือนอาจทำให้การบริโภคฟื้นตัวได้เล็กน้อย
การที่ภาคส่งออกและท่องเที่ยวมีการฟื้นตัวส่งผลทำให้มีการลงทุนทั้งด้านขยายกิจการและลงทุนใหม่เพิ่มขึ้นเล็กน้อยโดยปี 2567 การลงทุนภาคเอกชนขยายตัวได้เพียงร้อยละ 1.73 การลงทุนผ่าน BOI ที่อนุมัติแล้วขยายตัวได้ร้อยละ 42 มูลค่าการลงทุนประมาณ 8.962 แสนล้านบาทสูงสุดในรอบทศวรรษโดยร้อยละ 75.6 เป็นการลงทุนโดยตรง (FDI) ซึ่งจะเป็นอานิสงค์ต่อการลงทุนภาคเอกชนปีพ.ศ. 2568 อาจขยายตัวได้ร้อยละ 4.6 การที่เศรษฐกิจไทยเริ่มมีการฟื้นตัวมีผลเป็นนัยต่อตลาดแรงงานและการจ้างงานอัตราการว่างงานของประเทศ (ต.ค. 67) มีจำนวน 3.9 แสนคน คิดเป็นอัตราการว่างงานร้อยละ 1.0 ขณะที่แรงงานในระบบประกันสังคมมาตรา 33 (ต.ค.67) มีจำนวน 11.986 ล้านคน ในช่วง 10 เดือนแรกการจ้างแรงงานสุทธิจำนวน 160,088 คน อัตราการว่างงานของแรงงานในระบบประกันสังคมมาตรา 33 อยู่ที่ร้อยละ 1.80 จำนวนคนว่างงานขอรับประโยชน์ทดแทน 2.162 แสนคน
ตลาดแรงงานและการจ้างงาน
การขยายตัวหรือหดตัวทางเศรษฐกิจมีผลต่อตลาดแรงงานอย่างเป็นนัย หากภาวะเศรษฐกิจมีการขยายตัวได้ดีจะทำให้เกิดการบริโภคตามด้วยการขยายกิจการและการลงทุนส่งผลต่อเสถียรภาพการจ้างงาน ปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อการจ้างงาน เช่น การขับเคลื่อนการส่งออกซึ่งเป็นหัวจักรขับเคลื่อนเศรษฐกิจหลักของประเทศไทย โซ่อุปทานการส่งออกเกี่ยวข้องตั้งแต่อุตสาหกรรมนำเข้า-อุตสาหกรรมผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศรวมถึงภาคเกษตรกรรมและภาคโลจิสติกส์ นอกจากนี้กิจกรรมทางเศรษฐกิจต่างๆ เช่น ภาคท่องเที่ยวค้าส่ง-ค้าปลีก-ก่อสร้างและภาคบริการ ปัจจัยเหล่านี้ล้วนส่งเสริมให้มีการจ้างงานผลที่ตามมาคือการบริโภคและจับจ่ายใช้สอยของภาคแรงงานซึ่งเป็นทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภค
1.ภาพรวมตลาดแรงงานและสภาวะการจ้างงาน
1) อัตราการว่างงาน ตลาดแรงงานของไทย ณ เดือนตุลาคม 2567 ประกอบด้วยผู้มีงานทำ 39.63 ล้านคน มีผู้ว่างงานประมาณ 3.87 – 3.9 แสนคน อัตราการว่างงานของประเทศร้อยละ 0.97 – 1.0 ในจำนวนนี้ร้อยละ 41.3 ของผู้ว่างงานจบระดับอุดมศึกษาและสูงกว่า อีกทั้งผู้ว่างงานใหม่ซึ่งไม่เคยทำงานมาก่อนมีสัดส่วนถึงครึ่งหนึ่งของผู้ว่างงานทั้งหมดรวมกัน อัตราว่างงานของไทยอาจไม่สะท้อนความเป็นจริงเนื่องจากยังไม่รวมผู้ที่ทำงานไม่เต็มเวลาเฉลี่ย 4 ชั่วโมงต่อวันจำนวนประมาณ 1.84 แสนคน คิดเป็นร้อยละ 0.46 ของผู้มีงานทำ ด้านอัตราการว่างงานของแรงงานในระบบประกันสังคมมาตรา 33 ณ เดือนตุลาคม 2567 มีจำนวน 216,213 คนสัดส่วนร้อยละ 1.80 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีพ.ศ. 2566 อัตราการว่างงานร้อยละ 1.93 ในจำนวนนี้มีผู้ที่ว่างงานรายใหม่จำนวน 75,885 คน สูงสุดในรอบ 6 เดือน ภาพรวมอัตราว่างงานไตรมาสสุดท้ายปี 2567 ไปจนถึงไตรมาสแรกปี 2568 อาจมีผู้ว่างงานมากขึ้นเนื่องจากภาวะเศรษฐกิจอยู่ในภาวะนิ่ง การจ้างงานใหม่ชะลอตัวเนื่องจากธุรกิจจำนวนมากขาดสภาพคล่องจนต้องเข้าโครงการปรับโครงสร้างหนี้ จากการสำรวจของสภาที่ปรึกษาเพื่อพัฒนาแรงงานแห่งชาติช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน 2567 พบว่าสถานประกอบการซึ่งเป็นตัวอย่าง 591 กิจการส่วนใหญ่สัดส่วนร้อยละ 52.8 ระบุว่าการจ้างงานคงเดิม ขณะที่กลุ่มตัวอย่างระบุว่าอาจลดจำนวนแรงงานลงร้อยละ 24.2 สอดคล้องกับสถานประกอบการอาจมีการปิดตัวมากขึ้น (รายละเอียดดูจากหน้า 4)
2) การจ้างงาน
– แรงงานในระบบประกันสังคมมาตรา 33 ภาวะการจ้างงานของตลาดแรงงานกลับมาฟื้นตัวหลังจากวิกฤตแพร่ระบาดโควิด-19 สิ้นสุดลง ข้อมูลที่ชัดเจนคือการจ้างแรงงานในระบบประกันสังคม
มาตรา 33 ข้อมูลล่าสุดเดือนตุลาคม 2567 มีจำนวน 11,986,943 คน ต่ำสุดในช่วง 5 เดือน ในช่วง
10 เดือน (ม.ค. – ต.ค.) การจ้างแรงงานในระบบประกันสังคมมาตรา 33 เพิ่มขึ้น (สุทธิ) 160,088 คน เพิ่มขึ้นคิดเป็นร้อยละ 1.35 ในมิติการจ้างงานสุทธิลดลงร้อยละ 0.49 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้านั้น อย่างไรก็ตามแรงงานใหม่ที่จบการศึกษาในช่วงไตรมาสแรกปี 2567 มีจำนวนประมาณ 373,488 คน ส่วนใหญ่จบระดับปริญญาตรีร้อยละ 44.2 คำถามคือแรงงานส่วนที่เหลือไปอยู่ที่ไหนและแต่ละปีที่ผ่านมาจะมีแรงงานที่จบใหม่ที่ไม่มีงานสะสมอยู่เป็นจำนวนเท่าไร ตัวเลขเหล่านี้อยู่นอกสำรวจอัตราการว่างงาน
– แรงงานต่างด้าว เป็นแรงงานไร้ทักษะทำงานในอุตสาหกรรมหรือภาคบริการซึ่งใช้แรงงานเข้มข้น ข้อมูล ณ เดือนตุลาคม 2567 แรงงานต่างด้าวถูกกฎหมายมีจำนวน 3,348,080 คน ในช่วง 10 เดือนที่ผ่านมาการจ้างงาน (สุทธิ) ลดลงจำนวน 67,694 คน คิดเป็นร้อยละ 2.0 แรงงานต่างด้าวส่วนใหญ่เป็น
สัญชาติเมียนมามีสัดส่วนถึงร้อยละ 70.25 ตามด้วยสัญชาติกัมพูชาสัดส่วนร้อยละ 13.69 ที่เหลือเป็นแรงงานสปป.ลาวและสัญชาติอื่นๆ ทั้งนี้แรงงานต่างชาติที่มีทักษะจำนวน 186,603 คน โดยร้อยละ 31.2 เข้ามาทำงานตามกฎหมายส่งเสริมการลงทุน
– การจ้างงานแรงงานตามคลัสเตอร์ที่สำคัญ ข้อมูล ณ ตุลาคม 2567 โดยการเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2566 จากภาวะเศรษฐกิจที่ทรงตัวต่อเนื่องมาจากปีก่อนหน้าส่งผลทำให้จำนวนการจ้างงานในแต่ละคลัสเตอร์ในแต่ละธุรกิจส่วนใหญ่มีการจ้างงานลดลง เช่น ภาคค้าส่ง-ค้าปลีกและภาคการผลิต สำหรับคลัสเตอร์ธุรกิจที่ฟื้นตัวและมีการจ้างงานเพิ่มขึ้นคือภาคท่องเที่ยว
ภาวะเศรษฐกิจของไทยปีพ.ศ. 2567 ต่อเนื่องไปจนถึงอย่างน้อยครึ่งปีพ.ศ. 2568 เศรษฐกิจยังอยู่ในสภาวะค่อนข้างนิ่ง เศรษฐกิจไทยทั้งภาคส่งออกและท่องเที่ยวรวมถึงการบริโภคและการลงทุนเกี่ยวข้องกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก World Bank ปรับลดการเติบโตของเศรษฐกิจโลกคาดว่าขยายตัวได้เพียงร้อยละ 2.7 จากการสำรวจของสภาที่ปรึกษาฯ พบว่าความเชื่อมั่นการจ้างงานอยู่ในสภาพเปราะบาง รายละเอียดสามารถติดตามได้จากผลสำรวจความเชื่อมั่นเศรษฐกิจและการจ้างงาน (หน้าถัดไป)
ผลสำรวจความเชื่อมั่นเศรษฐกิจ-การจ้างงาน-การปรับค่าจ้างปี 2568
เพื่อให้เห็นภูมิทัศน์เศรษฐกิจและการจ้างงานปี 2568 ทางคณะกรรมการสภาที่ปรึกษาเพื่อพัฒนาแรงงานแห่งชาติ กองยุทธศาสตร์และแผนงาน สำนักงานปลัดกระทรวงแรงงานได้จัดทำการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นช่วงเวลาระหว่างวันที่ 1 – 22 พฤศจิกายน 2567 โดยกลุ่มตัวอย่างที่ตอบแบบสอบถาม นิติบุคคล 852 กิจการ แยกสำรวจเป็น 2 กลุ่มคือ สภาที่ปรึกษาเพื่อพัฒนาแรงงานแห่งชาติ 591 กิจการ และสถาบันวิชาการ
วี-เซิร์ฟแยกสำรวจเฉพาะอุตสาหกรรมส่งออกจำนวน 261 กิจการ ครอบคลุม 31 จังหวัดทั้ง 5 ภาคและกทม. การสำรวจแยกเป็นคลัสเตอร์ที่สำคัญทั้งภาคอุตสาหกรรม-บริการ-ค้าปลีก-ค้าส่ง ฯลฯ และแยกขนาดการจ้างงานตั้งแต่ขนาดเล็ก ขนาดกลางและขนาดใหญ่ โดยภาพรวมดัชนีความเชื่อมั่นที่สำรวจมีดังนี้
สรุปดัชนีชี้วัดเศรษฐกิจและการจ้างงานปี 2568
ดัชนี | สัดส่วน | สัดส่วน | สัดส่วน |
ความเชื่อมั่นเศรษฐกิจ | ดีขึ้นร้อยละ 28.3 | คงเดิมร้อยละ 44.3 | แย่ลงร้อยละ 27.4 |
ความเชื่อมั่นแนวโน้มธุรกิจ | ดีขึ้นร้อยละ 35.7 | คงเดิมร้อยละ 42.5 | แย่ลงร้อยละ 21.8 |
ความเชื่อมั่นอุตสาหกรรมการส่งออก | ดีขึ้นร้อยละ 70.11 | คงเดิมร้อยละ 25.67 | แย่ลงร้อยละ 4.22 |
ความเชื่อมั่นการจ้างงาน | เพิ่มขึ้นร้อยละ 23.0 | คงเดิมร้อยละ 52.8 | ลดลงร้อยละ 24.2 |
ความเชื่อมั่นแนวโน้มการปรับค่าจ้าง | เพิ่มขึ้นร้อยละ 42.1 | ไม่ปรับร้อยละ 46.4 | ไม่แน่ใจร้อยละ 11.5 |
ความเชื่อมั่นการจ่ายโบนัสปี 2567 | มีการจ่ายร้อยละ 41.1 | ไม่จ่ายร้อยละ 31.1 | ไม่แน่ใจร้อยละ 27.8 |
ความยาก/ง่ายการสรรหาบุคลากร : ต่ำกว่าปริญญาตรีสรรหาได้ตามปกติร้อยละ 68.0
: ระดับปริญญาตรีสรรหาได้ตามปกติร้อยละ 64.5 |
|
ความเชื่อมั่นเศรษฐกิจ : ภาพรวมธุรกิจเอกชนเชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจจะดีขึ้นร้อยละ 28.3 เศรษฐกิจ
คงเดิมร้อยละ 44.3 และแย่ลงร้อยละ 27.4 หากแยกตามขนาดธุรกิจตามจำนวนการจ้างงานธุรกิจ ขนาดเล็กเชื่อมั่นเศรษฐกิจดีขึ้นร้อยละ 22.1 ขนาดกลางดีขึ้นร้อยละ 32.5 และขนาดใหญ่ดีขึ้นร้อยละ 31.8
ความเชื่อมั่นแนวโน้มการดำเนินการของธุรกิจ : ภาพรวมธุรกิจเอกชนเชื่อมั่นแนวโน้มธุรกิจดีขึ้น
ร้อยละ 35.7 คงเดิมร้อยละ 42.5 แย่ลงร้อยละ 21.8 หากแยกตามขนาดธุรกิจตามจำนวนการจ้างงาน ธุรกิจขนาดเล็กเชื่อมั่นดีขึ้นร้อยละ 27.2 ขนาดกลางดีขึ้นร้อยละ 39.4 และขนาดใหญ่ดีขึ้นร้อยละ 43.9
สำหรับความเชื่อมั่นอุตสาหกรรมส่งออกซึ่งมีการแยกสำรวจต่างหาก ส่วนใหญ่เชื่อมั่นว่าการดำเนินธุรกิจปี 2568 ยอดขายจะเพิ่มขึ้นสัดส่วนร้อยละ 70.11 คงเดิมร้อยละ 25.67 และแย่ลงร้อยละ 4.22 แสดงให้เห็นว่าภาคส่งออกยังเป็นเครื่องจักรขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญ
ความเชื่อมั่นการจ้างงาน : ภายใต้เศรษฐกิจอยู่ในภาวะซบเซาสถานประกอบการจำนวนมากขาดสภาพคล่องจนรัฐบาลต้องจัดโครงการปรับโครงสร้างหนี้มีผลต่อการจ้างงานปี 2568 จากแบบสอบถามภาพรวมธุรกิจเอกชนเชื่อมั่นการจ้างงานจะเพิ่มขึ้นมีสัดส่วนเพียงร้อยละ 23.0 ส่วนใหญ่ไม่จ้างเพิ่ม/คงเดิมสัดส่วนร้อยละ 52.8 และอาจลดลงสัดส่วนร้อยละ 24.2 หากแยกตามขนาดธุรกิจตามจำนวนการจ้างงาน ธุรกิจขนาดเล็กเชื่อมั่นการจ้างงานเพิ่มขึ้นร้อยละ 15.3 ขนาดกลางเพิ่มขึ้นขึ้นร้อยละ 26.0 และขนาดใหญ่เพิ่มขึ้นร้อยละ 31.1
แนวโน้มการปรับค่าจ้าง : สถานการณ์เศรษฐกิจปี 2568 ไม่เอื้อต่อการปรับค่าจ้างและอุปสงค์ความต้องการงานมีมากกว่าอุปทานของตลาดแรงงาน ภาพรวมสถานประกอบการส่วนใหญ่ระบุไม่ปรับค่าจ้างคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 46.4 แนวโน้มการปรับเพิ่มค่าจ้างสัดส่วนร้อยละ 42.1 (เฉลี่ยค่าจ้างปรับขึ้นร้อยละ 4 – 5) และไม่แน่ใจร้อยละ 11.5
แนวโน้มการปรับโบนัส : ปี 2568 สถานประกอบการส่วนใหญ่ที่สำรวจระบุว่ามีการจ่ายโบนัสคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 41.1 ที่ตอบว่าไม่จ่ายโบนัสสัดส่วนร้อยละ 31.1 และไม่แน่ใจสัดส่วนร้อยละ 27.1 หากจ่ายโบนัสเฉลี่ย 1.0 – 1.5 เท่าของเงินเดือน ส่วนหนึ่งกำหนดไว้ในข้อบังคับการทำงาน
ผลสำรวจผลกระทบการปรับค่าจ้างอัตรา 400 บาททั่วประเทศ จากการสำรวจตัวอย่าง 586 กิจการ ธุรกิจส่วนใหญ่ร้อยละ 74.9 กระทบมากไปจนถึงปานกลาง โดยมีรายละเอียดดังนี้ ได้รับกระทบมากสัดส่วนร้อยละ 43.2 กระทบปานกลางร้อยละ 31.7 ธุรกิจที่กระทบน้อยสัดส่วนร้อยละ 12.6 และไม่กระทบร้อยละ 12.5
ตารางดัชนีชี้วัดเศรษฐกิจปี 2568 (ค่าถัวเฉลี่ย)
ข้อมูลณ 2 ธ.ค. 2567
ดัชนี | พ.ศ.2566 | พ.ศ.2567 | พ.ศ.2568 | หมายเหตุ |
อัตราการขยายตัว (GDP/ร้อยละ)
– GDP ภาคอุตสาหกรรม – GDP ภาคบริการ – GDP ภาคเกษตร |
1.9
-2.4 4.3 2.0 |
2.67
0.7 3.56 -1.7 |
2.90–3.0
– – – |
ช่วง 9 เดือนแรกขยายตัวร้อยละ 2.36 |
มูลค่าการส่งออก (ล้านUSD) | -0.82 | 4.94 | 3.14 | ข้อมูล ต.ค. 67
ค่าถัวเฉลี่ย ก.พาณิชย์ + ธปท. + สศค. |
มูลค่าการนำเข้า (ล้านUSD) | -4.16 | 6.55 | 3.47 | |
จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ (ล้านคน) | 28.2 | 35.75 | 39.5 | รายได้ท่องเที่ยว (รวม) 2.328 ล้านล้านบาท |
การบริโภคเอกชน (ขยายตัวร้อยละ)
การนำเข้าสินค้าอุปโภค-บริโภค (บาท) |
7.1
0.94 |
4.53
8.78 |
2.8
– |
|
การลงทุนเอกชน (ขยายตัวร้อยละ)
การนำเข้าสินค้าทุน-เครื่องจักร |
3.2
3.69 |
1.73
14.71 |
2.67
– |
ปี 2567 การลงทุน FDI 7.288 แสนล้านบาท ขยายตัว 3.8 % |
การบริโภคภาครัฐ (ขยายตัวร้อยละ) | -4.6 | 1.93 | 2.3 | |
การลงทุนภาครัฐ (ขยายตัวร้อยละ) | -4.6 | 2.4 | 5.2 | |
เงินเฟ้อทั่วไป | 1.2 | 0.46 | 1.0 | |
ดัชนีเชื่อมั่นผู้บริโภค | – | -1.1 | – | ข้อมูลไตรมาส 3/67 |
อัตราว่างงานทั่วประเทศ | – | 1.0 | >1.0 | |
อัตราว่างงานแรงงานประกันสังคมม.33 | 2.24 | 2.1 | – | ข้อมูลเดือนกันยายน 67 |
ดัชนีเชื่อมั่นการจ้างงาน (หน่วย : ร้อยละ) | เพิ่มขึ้น 23.0, คงเดิม 52.8, ลดลง 24.2 | |||
ดัชนีเชื่อมั่นเศรษฐกิจ (หน่วย : ร้อยละ) | เพิ่มขึ้น 28.3, คงเดิม 44.3, ลดลง 27.4 |
หมายเหตุ : ข้อมูลที่ปรากฏส่วนใหญ่เป็นการถัวเฉลี่ยจากข้อมูลของหน่วยงานรัฐ 3 หน่วยคือ สศช., ธปท., และ สศค. ข้อมูลส่งออก-นำเข้าใช้ตัวเลขของกระทรวงพาณิชย์และดัชนีเชื่อมั่นเศรษฐกิจใช้ข้อมูลการสำรวจของสภาที่ปรึกษาเพื่อพัฒนาแรงงานแห่งชาติ จำนวนตัวอย่าง 591 กิจการ