นโยบายทรัมป์… กระทบเศรษฐกิจโลกปั่นป่วนและคาดเดาได้ยาก

โดย ดร.ธนิต โสรัตน์ ประธานกรรมการบริษัทในเครือวี-เซิร์ฟ กรุ๊ป

บทความนี้บางส่วนได้จากการสัมมนา “AEC Business Forum” ซึ่งจัดเมื่อกลางเดือนมกราคม 2568 การเข้ามารับตำแหน่งของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ มาพร้อมกับนโยบายสุดโต่งเน้นผลประโยชน์ของสหรัฐฯ ที่เรียกว่า “The American First” นอกเหนือการเล่นงานกับประเทศจีนทั้งมาตรการทางภาษีและการกดดันด้านต่างๆ และนำมาใช้กับประเทศที่ได้ดุลการค้าโดยไม่สนใจประเทศต่างๆ แม้แต่พันธมิตร เช่น สหภาพยุโรปรวมถึงอาเซียน นโยบายดังกล่าวเป็นสิ่งที่ท้าทายและคาดเดาทิศทางได้ค่อนข้างยาก ความท้าทายของเศรษฐกิจโลกรวมถึงเศรษฐกิจไทยทั้งจากการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยี ปัญหาความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ตลอดจนการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศที่นับวันสถานการณ์รุนแรงมากขึ้น ทั้งหมดเป็นความเสี่ยงที่ไทยทั้งระดับภาคนโยบายและภาคเอกชนต้องให้ความสำคัญและต้องตระหนักถึงปัจจัยเหล่านี้โดยนำเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของกลยุทธ์ธุรกิจและบริหารความเสี่ยงให้สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงและปรับตัวอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะผลกระทบจากนโยบายของประธานาธิบดีทรัมป์ที่จะเข้ามาในระยะข้างหน้าที่อาจส่งผลให้เกิดการกีดกันทางการค้าในรูปแบบต่างๆ มากขึ้น อาจส่งผลกระทบต่อการส่งออกและการย้ายห่วงโซ่อุปทานที่จะเร่งขึ้นต่อเนื่องในช่วง 5 ปีนับจากนี้

ในปีที่ผ่านมาและปีนี้อุตสาหกรรมที่ได้รับการกระทบมากสุดคืออุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ซึ่งยอดผลิตในปีพ.ศ. 2567 ลดลงประมาณร้อยละ 20 ส่งผลกระทบต่อโซ่อุปทาน
ยานยนต์ซึ่งมีมากกว่า 2,348 กิจการและแรงงานประมาณ 4.4 แสนคน ในช่วง 3 ทศวรรษที่ผ่านมาเศรษฐกิจไทยพึ่งพาการลงทุนจากญี่ปุ่นเป็นสำคัญ ปีที่ผ่านมาสัดส่วนการลงทุนของญี่ปุ่นติดรั้งท้ายเหลือเพียงร้อยละ 6 ประเทศที่ลงทุนเป็นอันดับหนึ่งคือ สิงคโปร์สัดส่วนร้อยละ 42.9 ตามด้วยจีนสัดส่วนร้อยละ 21 ฮ่องกงสัดส่วนร้อยละ 9.8 ไต้หวันสัดส่วนร้อยละ 6.01 ส่วนใหญ่การลงทุนจากต่างชาติ (FDI) ซึ่งขยายตัวสูงถึงร้อยละ 51 ส่วนใหญ่ลงทุนในพื้นที่ EEC สัดส่วนร้อยละ 68.9 ตามด้วยภาคกลางร้อยละ 47.1 และภาคตะวันออกเฉียงเหนือร้อยละ 8.6 (การลงทุนจากสิงคโปร์สูงเนื่องจากบริษัทสหรัฐอเมริกา จีนและอียูจดทะเบียนที่สิงคโปร์เพื่อลดผลกระทบจากสงครามการค้า)

อย่างไรก็ดีภายใต้ปัจจัยท้าทายจากความไม่แน่นอนแต่ก็แฝงด้วยโอกาสอยู่มากซึ่งส่งผลให้ช่วงปีที่ผ่านมาการลงทุนพุ่งสูงสุดเป็นประวัติการณ์ สะท้อนจากการขอส่งเสริมการลงทุนผ่าน BOI สูงสุดในรอบสิบปี มูลค่าการลงทุนกว่า 1.13 ล้านล้านบาท ซึ่งจะมีผลต่อการจ้างงานมากกว่า 2.1 แสนตำแหน่งและการใช้วัสดุในประเทศประมาณ 1.0 ล้านล้านบาทตลอดจนเพิ่มมูลค่าการส่งออกประมาณ 2.6 ล้านล้านบาท อุตสาหกรรมที่มีการลงทุนเรียงตามลำดับคือ อุตสาหกรรมดิจิทัล อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์-แผงวงจร อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน อุตสาหกรรมเกษตรและอาหารแปรรูป อุตสาหกรรมปิโตรและเคมี

การส่งออกของไทยยังคงเป็นเครื่องมือกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจในปีที่แล้วตัวเลขการส่งออกสูงสุดเป็นประวัติการณ์และคาดการณ์ว่าการส่งออกสินค้าในปี 2568 จะยังขยายตัวท่ามกลางความเสี่ยงจากความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลกโดยเฉพาะมาตรการขึ้นภาษีนำเข้าของประธานาธิบดีทรัมป์ ภาคท่องเที่ยวปริมาณนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้าไทยจะเพิ่มขึ้นจาก 35.5 ล้านคนเป็น 40 ล้านคน ในปีนี้มีการประเมินว่าเศรษฐกิจไทยอาจเติบโตได้ร้อยละ 3 บวกลบจากมาตรการรัฐที่จะออกมากระตุ้นเศรษฐกิจ ทั้งนี้เศรษฐกิจไทยแม้จะมีความเสี่ยงจากเศรษฐกิจโลกแต่ด้วยปัจจัยบวกด้านส่งออก-ท่องเที่ยว-การลงทุน (BOI) สามารถทุบสถิติสูงสูงสุดในรอบสิบปี ส่งสัญญาณว่าไทยกำลังเข้าสู่ช่วงของการเปลี่ยนแปลงและเชื่อว่าอีก 3-5 ปีข้างหน้าจะเห็นผลการลงทุนต่างๆที่เกิดขึ้นแต่ประการสำคัญคือภาคธุรกิจโดยเฉพาะ SMEs ต้องมีการปรับตัวและมีความพร้อมทันต่อโอกาสและปิดความเสี่ยงที่จะเข้ามา

มาตรการที่รัฐบาลจะต้องผลักดัน

1.ผลักดันให้เกิดการลงทุนภาคเอกชน ไม่ใช่แค่คำขออนุมัติออกบัตรแต่ต้องเป็นการลงทุนจริงเพราะทุกๆ 1 แสนล้านบาทจะทำให้ GDP ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.25 โดยเร่งอนุมัติออกบัตรส่งเสริมการลงทุน ประการสำคัญต้องกระชับกลไกให้เกิดการลงทุนจริงถ้าเม็ดเงินลงทุนใหม่นี้ลงทุนจริงราวร้อยละ 80 ของ 1 ล้านล้านบาทภายในสองปีจากทางแบบจำลองจะดัน GDP ได้ถึงร้อยละ 2 ภายในสองปีข้างหน้า

2.กระตุ้นการท่องเที่ยว ปัจจุบันพฤติกรรมการท่องเที่ยวเปลี่ยนเป็นเที่ยวระยะสั้นและจ่ายน้อยต้องแก้เกมโดยเน้นนักท่องเที่ยวเชิงคุณภาพมากกว่าปริมาณ ต้องหาทางเพิ่มมูลค่าการใช้จ่ายโดยการเพิ่มจำนวนการเพิ่มระยะเวลาพำนักในประเทศ ทั้งนี้ทุกการเพิ่มขึ้นของนักท่องเที่ยวต่างประเทศ 1 ล้านคนจะทำให้ GDP ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.4 ในปี 2568 หากมีนักท่องเที่ยวต่างประเทศ 40 ล้านคนจะทำให้ GDP ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.4

3.เร่งรัดรายจ่ายลงทุนภาครัฐให้ได้ตามเป้าหมาย โดยให้มีการเบิกจ่ายและงบลงทุนให้ได้ร้อยละ 80 ของรายจ่ายลงทุน 9 แสนกว่าล้านบาท หากยิ่งพลาดเป้าไป 1 แสนล้านบาทอัตราการเติบโตของ GDP ก็จะหายไปร้อยละ 0.25

4.สนับสนุนให้อัตราแลกเปลี่ยนค่อนไปทางอ่อนค่า (หากทำได้) เพื่อสนับสนุนให้การส่งออกเข้ามาช่วยขับเคลื่อนอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจหากปล่อยให้ค่าเงินบาทต่อดอลลาร์เฉลี่ยแข็งขึ้นเพียง 50 สตางค์ต่อดอลลาร์จะทำให้อัตราการเติบโตของ GDP จะหายไปอีกร้อยละ 0.15 ในทางกลับกัน ทุกๆ การอ่อนค่าลง 50 สตางค์ต่อดอลลาร์อัตราการเติบโตของ GDP ก็จะเพิ่มขึ้นอีกร้อยละ 0.5 แต่พึงเข้าใจว่าอัตราแลกเปลี่ยนที่อ่อนค่าจะมีผลต่อราคาสินค้าอุปโภค-บริโภคโดยเฉพาะราคาน้ำมันให้สูงขึ้นกระทบต่อการใช้จ่ายของประชาชน ทั้งนี้อัตราแลกเปลี่ยนช่วงเดือนมกราคมมีความผันผวน อัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทเฉลี่ย 3.548 บาท/USD ขณะที่ราคาน้ำมันตลาดโลก (WTI) ช่วงครึ่งเดือนมกราคมปรับตัวสูงร้อยละ 11.16


 

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *