“การปลูกกาแฟใต้ร่มเงาไม้ใหญ่” (Shade-grown coffee) ไม่เพียงแต่ดีต่อธรรมชาติสิ่งแวดล้อมเท่านั้น แต่ยังดีต่อรายได้ของเกษตรกรชาวสวนอีกด้วย ถ้าลงลึกไปในรายละเอียดก็จะพบข้อดีอีกหลายประการด้วย เช่น เป็นกาแฟแนวเกษตรอินทรีย์จึงไม่มีการใช้สารเคมี, เป็นกาแฟที่มีคุณภาพทางรสชาติสูงเพราะดินมีความอุดมสมบูรณ์และอยู่ภายใต้สภาพอากาศที่เย็น และเป็นกาแฟที่มีราคาสูงซึ่งเป็นที่ต้องการของตลาดใหญ่อย่างสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรป (อียู)
ยิ่งกว่านั้น ไร่กาแฟใต้ร่มเงาไม้ใหญ่ยังมีส่วนช่วย “ฟื้นฟู” ระบบนิเวศป่าธรรมชาติโดยเฉพาะป่าต้นน้ำที่มีความสำคัญมากๆ ทั้งช่วยลดการ “พังทลาย” ของหน้าดินโดยเฉพาะตามพื้นที่ลาดชันของยอดดอยต่างๆที่มักประสบปัญหาดินถล่มจากการถางป่าเพื่อปลูกพืชเชิงเดี่ยว รวมไปถึงช่วยลด “มลพิษ” ทางอากาศ เพราะไม่จำเป็นต้องเผาไร่ซ้ำซากกันทุกปีเหมือนปลูกพืชเชิงเดี่ยวอย่างพวกข้าวโพดที่ก่อปัญหาเชิงสุขภาพตามมา เป็นต้น
นี่เป็น “ข้อดี” ของการปลูกกาแฟใต้ร่มเงาไม้ใหญ่ที่ผู้เขียนพอจะนึกภาพออกซึ่งอาจจะยังไม่ครบถ้วนรอบด้านนักในมิติทางสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ และสังคม หลังจากที่ได้รับโจทย์ยากมากข้อหนึ่งจากคอกาแฟรุ่นน้องที่ตั้งคำถามแบบอินเทรนด์มากๆว่า “ถ้าอยากเลิกปลูกพืชเชิงเดี่ยวแล้วจะหันหน้าไปทำอะไรหรือทำไร่อะไรดี”
ผู้เขียนตอบกลับรุ่นน้องแบบไม่ลังเลเลยว่า “ถ้าเป็นพี่ จะเลือกทำสวนกาแฟแทนปลูกพืชเชิงเดี่ยว” แต่ขอเป็นสวนกาแฟออร์แกนิคที่ปลูกและเติบโตใต้ร่มเงาไม่ใหญ่ตามวิถี “วนเกษตร” หรือไร่นาป่าผสม (Agro-forestry) นะ แม้จะให้ผลผลิตช้ากว่า แต่มั่นใจได้ในความยั่งยืน เก็บกินได้ในระยะยาว แบบที่เรียกกันว่าปลูกกาแฟเพื่ออนุรักษ์ป่า เพื่อชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ประมาณนั้นนั่นแหละ
เพื่อป้องกันการสื่อสารที่ผิดพลาดที่อาจเกิดขึ้นจากการสนทนา ผู้เขียนก็เลยย้ำชัดแบบเน้นๆไปว่า ที่โปรยไอเดียไปให้นี้ ไม่ได้หมายความว่าจะให้เข้าไปตัดไม้ทำลายป่าเพื่อปลูกกาแฟนะ หรือรุกเข้าไปปลูกในพื้นที่ป่าอนุรักษ์โดยไม่ได้รับอนุญาต นั่นมัน “ผิดกฎหมาย” เห็นๆ แต่ขอให้เอาพื้นที่เดิมๆนั่นแหละไปปรับปรุงฟื้นฟูให้เหมาะสมกับวิธีปลูกกาแฟใต้ร่มเงาไม้ใหญ่ เริ่มจากปลูกต้นกาแฟควบคู่ไปกับปลูกไม้พื้นถิ่นเพื่อความหลากหลายทางนิเวศ คัดเลือกไม้ที่ให้ร่มเงาในระดับที่แตกต่างกัน นอกจากกาแฟแล้วก็อาจปลูกพืชเกษตรกรอื่นๆเสริมด้วยก็ได้
แน่นอนว่าการทำสวนกาแฟก็ไม่ต่างไปการปลูกพืชเกษตรกรรมอื่นๆ มีหลายปัญหาต้องเผชิญและแก้ไข ทั้งโรคพืช, ภัยธรรมชาติ และราคาตลาด เรื่องนี้ต้องศึกษาและวางแผนให้ดี เพราะแต่ละพื้นที่ มีสภาพแวดล้อมและสภาวะอากาศต่างกันออกไป
แล้วปกติต้นกาแฟจะใช้ระยะเวลาประมาณ 3 ปี นับตั้งแต่ปลูกจนให้ผลผลิต แต่ก็ขึ้นอยู่กับสายพันธุ์และพื้นที่สภาพแวดล้อมที่เพาะปลูกด้วย ถ้ามีงบประมาณน้อย ก็เริ่มลงมือปลูกแบบค่อยเป็นค่อยไป ทำพร้อมๆกันทั้ง “ปลูกกาแฟ” และ “ปลูกป่า” การหาจุดสมดุลในการบริหารจัดการ คนทำสวนคนทำไร่จะเข้าใจดีที่สุด
ในส่วนสายพันธุ์กาแฟ ก็ควรเลือกให้เหมาะสมกับระดับความสูงของพื้นที่ปลูก ส่วนใหญ่กาแฟ “อาราบิก้า” ปลูกบนพื้นที่สูงจากระดับน้ำทะเล 1,000 เมตร ขึ้นไป ลองปลูกหลายๆสายพันธุ์ นอกเหนือจากพันธุ์สามัญประจำดอยอย่าง คาติมอร์, ทิปปิก้า, คาทูร่า และเบอร์บอน แล้ว ตัวท็อปๆดังๆเป็นที่ต้องการของตลาด ก็ควรมีไว้ แต่อาจจะหาต้นกล้ายากสักหน่อย กาแฟ “โรบัสต้า” บนที่สูงก็ไม่ธรรมดา ให้รสชาติดีทีเดียว ราคาก็ดีด้วย กำลังได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นทุกขณะ
แล้วยุคนี้ชาวไร่ชาวสวนส่วนใหญ่ปลูกเอง, ผลิตเอง, แปรรูปเอง, คั่วเอง และขายเองกันหมดแล้ว ใช้โซเชียลมีเดียที่เล่นอยู่ทุกวันนั่นแหละทำการตลาด ไม่ต้องพึ่งพ่อค้าคนกลาง องค์กรความรู้ด้านวิธีโพรเซสและการคั่วรูปแบบต่างๆ ก็มีให้เรียนรู้และค้นคว้ามากมาย ถ้าทำกาแฟออกมาดีจริง รับรองมีคนอยาก “ผูกปิ่นโต” เหมาซื้อทั้งไร่ล่วงหน้ากันเป็นปีๆทีเดียว
กาแฟเหล่านี้ถ้าผลิตอย่างพิถีพิถันในรูป “กาแฟพิเศษ” (Specialty coffee) ราคาขายก็จะสูงกว่าราคากาแฟทั่วไป นอกจากนั้นยังต่อยอดได้อีก ด้วยส่งสารกาแฟเข้าประกวดตามเวทีต่างๆที่จัดขึ้นบ่อยๆทั้งภาครัฐและเอกชน ไม่แน่ว่าถ้าได้คะแนนคัปปิ้งสกอร์สูงๆ ติดแรงกิ้งต้นๆ ราคาก็จะพุ่งขึ้นอีกหลายเท่าตัว ไม่ต้องถึงหลัก 3-4 แสนบาทต่อกิโลกรัม อย่างปานามา เกสชา/เกอิชา หรอก แค่ 2-3 หมื่นบาทต่อกิโลกรัม ก็ดีใจน้ำตาไหล เหมือนถูกลอตเตอรี่รางวัลใหญ่เข้าแล้ว
เอ…ไม่แน่ใจว่ารุ่นน้องคอกาแฟเจ้าของโจทย์ยากโจทย์ใหญ่ในวันนี้ จะมองว่าผู้เขียนพูดจาอะไรเรื่อยเปื่อยไปหรือเปล่า หลักฐานสนับสนุนแนวทางแนวคิดก็ไม่เห็นจะมีสักอย่าง จึงจำเป็นต้องเข้าไปค้นหาหลักฐานประกอบการพิจารณาในโลกอินเตอร์เน็ต ไปเจองานวิจัยฝีมือคนไทยเพียบเลย งานของนักวิจัยต่างชาติก็มาก
แต่ที่เห็นแล้วอยากนำเสนอให้รุ่นน้องและท่านผู้อ่านรับรู้ คือ งานวิจัยในหัวข้อ “ผลกระทบของร่มเงาไม้ต่อความหลากหลายทางชีวภาพภายในไร่กาแฟ: การวิเคราะห์อภิมาน” จากมหาวิทยาลัย “ออกซ์ฟอร์ด บรูกส์” (Oxford Brookes) ในประเทศอังกฤษ
ก่อนอื่นขออนุญาตอธิบายความหมายกันนิดนึง เพราะผู้เขียนเองก็งงเหมือนกันว่า “การวิเคราะห์อภิมาน” คืออะไร แล้วทำกันอย่างไร
การวิเคราะห์อภิมานหรือ meta-analysis เป็นวิธีการสังเคราะห์งานวิจัยเชิงปริมาณแบบหนึ่ง มีเป้าหมายเพื่อหาข้อสรุปอย่างเป็นระบบ จากงานวิจัยที่ศึกษาปัญหาวิจัยเดียวกัน โดยใช้รายละเอียดจากงานวิจัยและผลวิจัยเป็นข้อมูล
ดังนั้น เมื่อเป็นงานวิจัยเชิงการวิเคราะห์อภิมาน ทีมวิจัยของมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด บรูกส์ จึงเริ่มต้นด้วยการค้นหา “คำที่เป็นคีย์เวิร์ด” ในงานวิจัยทางวิชาการที่เกี่ยวข้องกับผลกระทบของร่มเงาไม้ต่อความหลากหลายทางชีวภาพในไร่กาแฟที่มีมากถึง 1,900 ฉบับ จากนั้นจึงคัดเลือกให้เหลือ 69 ฉบับ เพื่อดำเนินการประมวลผลหาข้อสรุปต่อไป
ผลการวิจัยดังกล่าวมีการเผยแพร่ตามเว็บไซต์วิชาการหลายแห่งเมื่อกลางเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมานี้เอง ได้ข้อสรุปว่า กาแฟมีศักยภาพสูง “เป็นพิเศษ” ในการผสานผสาน 3 สิ่งเข้าด้วยกัน คือ การอนุรักษ์ป่า, ความหลากหลายทางชีวภาพ และผลผลิตทางการเกษตร นอกจากนั้น ยังลงรายละเอียดเจาะลึกว่าการอนุรักษ์ป่าและเกษตรกรรม ต่างพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกันได้อย่างไร
ทีมวิจัยชุดนี้มีผลงานเข้าไปทำโครงการหนึ่งในเกาะชวาของอินโดนีเซีย ชื่อโครงการว่า “ร่มเงาไม้ใหญ่กับความอยู่รอดของสัตว์หากินกลางคืน”
ผู้อ่านท่านใดสนใจฉบับเต็มของงานวิจัยเรื่องประโยชน์ของไร่กาแฟใต้ร่มเงาไม้ใหญ่กับการอนุรักษ์ป่า สามารถเข้าไปดาวน์โหลดมาอ่านได้ที่เว็บไซต์ www.sciencedirect.com แต่เนื่องจากเป็นงานวิจัยที่ละเอียดและยาวมาก ผู้เขียนยอมรับอ่านไม่ไหวจริงๆ เลยขออนุญาตหยิบไฮไลท์ของงานวิจัยที่มีหลายเว็บไซต์สรุปไว้ให้มาเล่าสู่กันฟัง ขอขอบคุณเว็บไซต์เหล่านี้มา ณ ทีนี้ด้วย
-ต้นกาแฟที่ปลูกใต้ร่มเงาไม้ซึ่งมีร่มเงามากกว่า 30% ขึ้นไป ก่อให้เกิดความหลากหลายทางชีวภาพมากขึ้น ช่วยลดการตัดไม้ทำลายป่าจากภาคเกษตรกรรม
-กาแฟที่ปลูกใต้ร่มเงาไม้ไม่เพียงแต่ช่วยเพิ่มคุณภาพกาแฟ แต่ยังเสริมความอุดมสมบูรณ์ให้กับดิน ควบคุมศัตรูพืชตามธรรมชาติ และลดการใช้สารเคมี
-แมลง, นก, สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม และพืชอิงอาศัย จะได้รับประโยชน์สูงสุดจากร่มเงาของต้นไม้สูง
-การปกป้องสายพันธุ์ที่มีความสำคัญต่อระบบนิเวศ เช่น แมลงผสมเกสร ช่วยรักษาแหล่งอาหารของโลก ขณะเดียวกันก็สนับสนุนระบบนิเวศที่สมบูรณ์และหลากหลาย
-หัวใจของการอนุรักษ์ป่าอยู่ที่การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ควบคู่ไปกับความหลากหลายทางชีวภาพ
-ความหลากหลายทางชีวภาพมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในไร่กาแฟที่ปลูกใต้ร่มเงาไม้ของละตินอเมริกา ตรงกันข้ามกับไร่กาแฟบางส่วนในแอฟริกา
-ประโยชน์ของกาแฟที่ปลูกใต้ร่มเงาไม้แตกต่างกันไปในแต่ละภูมิภาค ดังนั้น แผนอนุรักษ์ป่าผ่านการปลูกกาแฟจึงต้องออกแบบให้สอดคล้องกับสภาพของพื้นที่นั้นๆ
-เกษตรกรรมเป็นหนึ่งในภัยคุกคามต่อทั้งสัตว์และพืช แต่ก็เป็นสิ่งจำเป็นต่อการเลี้ยงดูโลก ดังนั้น การหาวิธีเพิ่มประสิทธิภาพทั้งการผลิตอาหารและความหลากหลายทางชีวภาพ จึงถือเป็นแนวทางที่ win-win สำหรับทุกสายพันธุ์
-การผสานเกษตรกรรมเข้ากับแนวคิดริเริ่มในการอนุรักษ์ผ่านทางภาคปฏิบัติ เช่น กาแฟที่ปลูกใต้ร่มเงาไม้ จะช่วยให้ประเทศต่างๆ บรรลุเป้าหมายด้านความหลากหลายทางชีวภาพ และรักษาะระบบนิเวศอันอุดมสมบูรณ์ไว้ได้
ข้อสรุปของงานวิจัยก็ชัดเจนดีนะครับ “หัวใจ” ของการอนุรักษ์ป่าตอนนี้ อยู่ที่วิธีเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ที่ไม่ได้หมายถึงปริมาณแต่คือความยั่งยืนในการผลิต ซึ่งอยู่ร่วมควบคู่ไปกับความหลากหลายทางชีวภาพ
พอแตะไปถึงเรื่อง “กาแฟกับป่า” จะบังเอิญหรือเปล่าไม่ทราบ บทสรุปนี้ดันไปเชื่อมโยงเข้าอย่างมีนัยสำคัญต่อธุรกิจกาแฟในยุโรป รวมไปอุตสาหกรรมกาแฟทั่วโลกด้วย หลังจากอียูเตรียมออกระบบระเบียบใหม่ ห้ามนำเข้าสินค้าหรือผลิตภัณฑ์จากการตัดไม้ทำลายป่า (EUDR) ซึ่งกาแฟก็ติดโผสินค้าส่อโดนแบนด้วยเช่นกัน เป้าหมายของกฎหมายฉบับนี้อยู่ที่ความยั่งยืนของโลกและสิ่งแวดล้อมนั่นเอง
เดิมอียูมีแผนจะเริ่มประกาศใช้ในสิ้นปี 2024 นี้ แต่ดูเหมือนจำเป็นต้องเลื่อนการบังคับใช้ออกไปอีกหนึ่งปี หลังโดนกดดันหนักจากบริษัทค้ากาแฟรายใหญ่ๆเข้า
การช่วยกันรักษาป่าโดยเฉพาะป่าต้นน้ำและป่าชุมชน หรือเปลี่ยนภูเขาหัวโล้นให้เป็นป่าตามวิถีวนเกษตรหรือไร่นาป่าผสม นอกจากต้องมีจิตใจอนุรักษ์เป็นทุนเดิมแล้ว ก็ควรมีแรงจูงใจด้านรายได้เข้ามาเสริมด้วย อย่างการปลูกกาแฟใต้ร่มเงาไม้ใหญ่ ซึ่งเป็นอีกทางเลือกฟื้นฟูป่าธรรมชาติ มีประโยชน์สองทาง ทั้งการสร้างป่าและสร้างรายได้
บอกเลยว่าใครดื่มกาแฟจากสวนหรือไร่ที่ปลูกใต้ร่มเงาไม้ ใจผู้เขียนถือว่ามีส่วนช่วยสร้างป่า สร้างรายได้ให้กับชุมชนคนรักษ์ป่า ทั้งนี้ทั้งนั้นก็เพื่อความยั่งยืนของทรัพยากรธรรมชาติและป่าไม้เมืองไทยเรานั่นเอง
facebook : CoffeebyBluehill