ในวงกาแฟวันหนึ่ง เพื่อนผู้เขียนเอ่ยถามขึ้นมาว่า กาแฟตัวไหนแพงที่สุดตอนนี้?
ก็ขอตอบแบบชี้ชัดๆลงไปเลยว่า คือ กาแฟ “ปานามา เกอิชา” (Panama Geisha) ของ “เอลิด้า เอสเตท” ไร่กาแฟเล็กๆจากเมืองโบเกเต ในชิริกี จังหวัดท่องเที่ยวชื่อดังของประเทศปานามา ซึ่งมีครอบครัว “ลามาสตัส” เป็นเจ้าของ ประมูลขายอย่างเป็นทางการกันไปเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา ในราคากิโลกรัมละ 13,518 ดอลลาร์สหรัฐ ประมาณ 450,000 บาท ตกเกือบๆครึ่งล้านบาทนั่นแหละครับ
นี่คือ “แชมป์กาแฟ” ที่ทำสถิติราคาต่อกิโลกรัมสูงสุดของโลกประจำปีค.ศ. 2024 เรียกว่าแพงสุดในปฐพีแล้ว ณ ตอนนี้
ลองคำนวณดูเล่นๆนะครับ ถ้าผู้เขียนเกิดประมูลขึ้นมาได้ คิดว่าจะลองเอามาทำเป็นกาแฟดริปจำหน่ายให้ลูกค้า ถ้าใช้เมล็ดกาแฟ 20 กรัม ราคาขายต่อหนึ่งดริปก็ตกในราว 270 ดอลลาร์สหรัฐ หรือเกือบๆ 9,000 บาท
นี่ยังไม่นับต้นทุนอื่นๆอีกนะ เช่น ค่าการตลาด,ค่าโฆษณา,ค่าเช่าร้าน,ค่าน้ำค่าไฟ,ค่าแรง และค่าที่เป็นกาแฟหายากและมีชื่อเสียงสุดๆของโลกกาแฟซึ่งไม่รู้ว่ารอบหน้าจะประมูลได้อีกหรือไม่ เพราะแย่งชิงกันเหลือเกิน

อ้อ… ลืมบอกไปว่า รายการ “ประมูลกาแฟ” ในทุกๆประเทศ ประมูลกันในรูปแบบสารกาแฟหรือกรีนบีนนะครับ ซึ่งต้องเข้าสู่กระบวนการคั่วอีกทีเพื่อเป็นเมล็ดกาแฟคั่ว นิยมกันมากก็ระดับคั่วอ่อน ก่อนนำไปบดละเอียดแล้วเสิร์ฟตามร้านที่ขายกาแฟแบบพิเศษ หรือจะจำหน่ายเป็นเมล็ดกาแฟบรรจุถุงก็ได้
ส่วนใหญ่จัดประมูลกันแบบออนไลน์ มีการนัดแนะวันเวลากันเรียบร้อย ถึงกับลงรายละเอียดเวลากันเป็นรายประเทศรายทวีปเลยทีเดียว ป้องกันผู้ร่วมประมูลดูเวลาผิด แต่ก็มีบางประเทศเช่น ไทย จัดประมูลกันตามเทศกาลกาแฟต่างๆ ไปดูแล้วเห็นบรรยากาศคึกคักมากทีเดียว
เพื่อความคุ้นหูของคอกาแฟไทย ผู้เขียนขอใช้ว่า ปานามา เกอิชา ก็แล้วกันครับ ความจริงกาแฟมหาเทพตัวนี้เรียกกันอีกชื่อว่า “ปานามา เกสชา” ต้นกำเนิดจริงๆนั้นอยู่ที่เอธิโอเปีย แดนกาแฟป่าของโลกจากแอฟริกา แต่กลับเป็นประเทศเล็กๆในอเมริกากลางอย่างอย่างปานามา ที่ทำให้โด่งดังรู้จักกันไปทั่วโลก
ผู้เขียนเห็นว่า ปานามา เกอิชา น่าจะเป็นสายพันธุ์กาแฟที่มี “ชื่อเสียง” มากที่สุดแล้วในตลาดกาแฟพิเศษ และมีราคาแพงสุดๆแล้วเมื่อเทียบกับกาแฟสายพันธุ์อื่น
จากหลายๆ มุมมอง… บางคนบอกว่าเป็นเพราะชื่อเสียงนั่นแหละที่ทำให้มีราคาแพง บางคนบอกว่าผลผลิตมีน้อยในแต่ละฤดูกาล ทำให้หายาก ราคาเลยพุ่ง บางคนก็บอกว่าเป็นเพราะกลิ่นรสชาติของกาแฟต่างหาก ซึ่งมีความซับซ้อนของผลไม้ตระกูลส้ม,มะนาว,ส้มโอ,มะกรูด,ชาเขียว,น้ำผึ้ง และผลไม้กลุ่มสโตนฟรุ๊ต ทำให้รสชาติออกโทนหวานจนน่าทึ่ง ตามด้วยกลิ่นดอกไม้ชวนหลงใหล

ปานามา เกอิชา เป็นหนึ่งในสายพันธุ์กาแฟที่เก่าแก่ที่สุดในโลก มีต้นกำเนิดจากเขตป่าฝนของเทือกเขา “เกชา” (Gesha) ทางตะวันตกเฉียงใต้ของเอธิโอเปีย เชื่อว่าบริเวณนี้เองเป็น “บ้านเกิด” ของกาแฟป่าหลายสายพันธุ์ที่เติบโตขึ้นตามธรรมชาติ ค้นพบครั้งแรกในทศวรรษ 1930 ก่อนจะมีการส่งเมล็ดพันธุ์ไปปลูกยังอเมริกากลาง เช่น คอสตาริก้า ในปีค.ศ.1953 และเข้าสู่ปานามาในปีค.ศ. 1960
แต่ต้องรอจนถึงต้นทศวรรษ 2000 นั่นแหละ กาแฟสายพันธุ์นี้จึงปรากฎโฉมหน้าอีกครั้งสู่สายตาชาวโลกอย่างเป็นทางการ
ปูมประวัติกาแฟโลกให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ระหว่างการลำเลียงเมล็ดกาแฟออกจากทวีปแอฟริกาเข้าสู่อเมริกากลางนั้น เจ้าหน้าที่กงศุลอังกฤษได้ระบุชื่อบริเวณที่ค้นพบต้นกาแฟผิดเพี้ยนจาก “Gesha” มาเป็น “Geisha” พอกาแฟเดินทางไปถึงประเทศปลายทาง ชื่อ Geisha ก็ติดตามไปด้วย ในที่สุดเกิดเป็นสายพันธฺุ์กาแฟสองชื่ออย่างที่เรียกกันในปัจจุบัน
ปีค.ศ. 2004 ไร่กาแฟ “ฮาเซียนด้า ลา เอสเมอรัลดา” ของครอบครัวปีเตอร์สัน นำกาแฟสายพันธุ์เกอิชาที่เติบโตในปานามา เข้าสู่การประมูลกาแฟในรายการ “เบสท์ ออฟ ปานามา” (Best of Panama) ปรากฎว่า มีคนประมูลไปในราคากิโลกรัมละ 46.30 ดอลลาร์สหรัฐ ถือเป็นสถิติราคาสูงสุดตั้งแต่เปิดประมูลเบสท์ ออฟ ปานามา ในปีค.ศ. 1996 จนเป็นที่มาของชื่อกาแฟปานามา เกอิชา ในปัจจุบัน และกลายเป็นที่แสวงหากันมากของตลาดกาแฟพิเศษในฐานะกาแฟคุณภาพสูงและหายากมาก

จากวันนั้นถึงวั้นนี้อีก 20 กว่าปีต่อมา ราคาประมูลก็ทุบสถิติเก่าพังยับในแทบทุกปี จนมาทะลุหลัก 10,000 ดอลลาร์สหรัฐ ในปีค.ศ. 2023 หลังบริษัทกาแฟนิวซีแลนด์ชื่อ “คอฟฟี่ เทค” (Coffee Tech) ชนะประมูลปานามา เกอิชา ในแบบวอลช์ โพรเซส จากไร่ “คาร์เมน เอสเตท” ในราคา 10,005 ดอลลาร์สหรัฐต่อกิโลกรัม
ในเบสท์ ออฟ ปานามา ครั้งนี้ มีร้านและโรงคั่วกาแฟจากเอเชียเข้าร่วมประมูลกันอย่างคึกคัก และก็เป็นผู้ซื้อรายใหญ่ทีเดียว อันที่จริงบริษัทกาแฟเอเชียเหล่านี้เริ่มเป็นตัวหลักในการประมูลกาแฟมหาเทพมาตั้งแต่ปีค.ศ. 2018 แล้ว
ในการประมูลสุดยอดกาแฟปานามาประจำปีนี้ซึ่งจัดขึ้นในเดือนสิงหาคม ปานามา เกอิชา แบบเนเชอรัล จาก “เอลิด้า เอสเตท” หนึ่งในไร่กาแฟของครอบครัวลามาสตัส มีผู้ชนะประมูลสูงสุดในราคา 10,013 ดอลลาร์สหรัฐ สร้างสถิติใหม่อีกเช่นเคย มีร้านและโรงคั่วกาแฟอิสระในญี่ปุ่นเป็นผู้ซื้อ ชื่อ “ซาซ่า คอฟฟี่” (Saza Coffee)
ครอบครัวลามาสตัสโดย “โรเบิร์ต ลามาสตัส” หนุ่มอเมริกันจากมลรัฐเคนตักกี้ สหรัฐอเมริกา เริ่มต้นปลูกกาแฟที่ไร่เอลิด้า เอสเตท บนที่ลาดชันของภูเขาไฟบารุในย่านโบเกเต มาตั้งแต่ปีค.ศ. 1918 จากนั้นก็ไปซื้อไร่กาแฟอีกแห่งชื่อเอล เบอร์โร เอสเตท ในปีค.ศ. 1925 และครอบครองไร่กาแฟอีกแห่ง คือ ลุยโต เกอิชา เอสเตทส์ จนบัดนี้ทำไร่กาแฟเป็นรุ่นที่ 4 จนเลยหลักร้อยปีเข้าไปแล้ว เริ่มมีชื่อเสียงจากการผลิตกาแฟปานามา เกอิชา ตั้งแต่ปีค.ศ. 2019

เดือนกันยายนปีนี้เอง กาแฟของไร่เอลิด้า เอสเตท ก็ทำสถิติสูงสุดในการประมูลได้อีกครั้งแบบชิลๆ คราวนี้เป็นรายการประมูลแบบไพรเวทที่จัดขึ้นเองโดยครอบครัวลามาสตัส กาแฟปานามา เกอิชา แบบฮันนี่โพรเซส มีร้านกาแฟเกาหลีใต้ “เดอะ คิปปิ้ง โพสต์” (The Cupping Post) ชนะประมูลไปในราคา 13,518 ดอลลาร์สหรัฐต่อกิโลกรัม รวมล็อตนี้ทั้งหมด 3 กิโลกรัม ตก 40,554 ดอลลาร์สหรัฐ
มีรายงานข่าวว่า ร้านเดอะ คิปปิ้ง โพสต์ นำกาแฟที่ประมูลได้ทั้งหมด 3 กิโลกรัม ชงขายเป็นกาแฟดริปจำนวน 150 ชุด ใช้กาแฟ 20 กรัมต่อหนึ่งดริป ตกราคาละ 270 ดอลลาร์สหรัฐ หรือ 9,000 บาท ขาดอีกพันเดียวก็ครบหมื่น!
ดูรายชื่อผู้ชนะประมูลกาแฟล็อตต่างๆแล้วทั้งแบบวอลช์และเนเชอรัล โพรเซส เต็มไปด้วยชื่อบริษัทในธุรกิจกาแฟจากเอเชีย เช่น จีน, ญี่ปุ่น, เกาหลีใต้, ไต้หวัน, ฮ่องกง และซาอุดิอาระเบีย แต่ “รายใหญ่” จริงๆ ก็จะเป็นจากสามชาติแรกที่บิดราคากันอย่างไม่เกรงใจใคร มีบริษัทจากยุโรป,อเมริกา และออสเตรเลีย สอดแทรกเข้ามาบ้างเป็นระยะๆแต่ไม่เยอะ
ชัดเจนยิ่งแล้วว่าบรรดาผู้ซื้อในเอเชียตะวันออกอยู่เบื้องหลังการจุดพลุราคากาแฟเกอิชา ปานามา ให้ทะลุจุดสูงสุดของโลกเป็นว่าเล่นในแต่ละปี ไม่ใช่แค่กาแฟมหาเทพนี้เพียงตัวเดียว แต่รวมถึงกาแฟสายพันธุ์ดังๆตัวอื่นๆด้วย

เมื่อมีการแข่งขันสูงมาก ก็ชนะประมูลมาแพง แน่นอนก็ต้องขายแพง ไม่งั้นก็ขาดทุน แต่ประเด็นคือราคาสูงแบบโหดมากๆ ก็ยังมีคนซื้อจนหมด แสดงว่ากาแฟแบบ “ซูเปอร์พิเศษ” มีตลาดอยู่ แม้ไม่ใหญ่โต เป็นตลาดเล็กๆ แต่มีกำลังซื้อมหาศาล
บรรดาผู้รู้ฟันธงลงไปว่า นอกเหนือจากความเป็นสุดยอดกาแฟหายากของโลกแล้ว ยังเกี่ยวข้องกับเทรนด์ของ “Premiumization” ที่หมายถึงกระแสการบริโภคที่นิยมจับจ่ายซื้อสินค้าที่มีความเป็นพรีเมียม เพื่อแสดงถึงรสนิยมหรือฐานะ ประมาณว่ากล้าจับจ่ายในราคาที่สูงกว่าเพื่อสิ่งที่ชอบและในสิ่งที่ใช่ของกลุ่มคนรุ่นใหม่ๆในเอเชียตะวันออก ไม่ต่างหากอะไรกับการควักเงินเป็นหมื่นเป็นแสนเพื่อชิมไวน์ราคาดีหรืออาหารรสเลิศราคาแพง
เมื่อพิจารณาจากแง่มุมนี้แล้ว เราสามารถฟันธงลงไปได้เลยหรือไม่ว่า “เกอิชา ปานามา” จะทำลายสถิติสูงสุดได้อีกในปีหน้าและปีต่อๆไป จนกว่าจะไปเจอเข้ากับกาแฟตัวใหม่ที่มีราคาแพงกว่า
ปัจจุบัน นอกจากอเมริกากลางและใต้ รวมทั้งแอฟริกาแล้ว กาแฟเกสชาที่ถูกต่อยอดมาเป็นเกอิชา ปานามา ยังมีปลูกกันในหลายประเทศของเอเชีย เช่น จีนในแถบยูนนานและดอยทางภาคเหนือของไทย
facebook : CoffeebyBluehill