โดย ดร.ธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย
จบไปแล้วอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรี น.ส.แพทองธาร ชินวัตร (24-26 มี.ค.68) พรรคร่วมรัฐบาลเทเสียงรับรองท่วมท้น ไม่ใช่เป็นเรื่องเกินความคาดหมายของสาธารณะชนเพราะการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ ที่พึงเข้าใจการเมืองเป็นเรื่องเกมแห่งอำนาจ (Power of Thrones) ที่ผ่านมาในอดีตแทบไม่มีรัฐบาลใดถูกสอยจากเวทีในรัฐสภายกเว้นถูกทหารปฏิวัติ เมื่อผู้นำกองทัพที่ได้อำนาจก็ติดอำนาจเสียเองต้องการสืบต่ออยู่นานๆ มีการต่อรองทางการเมืองกับนักการเมืองอาชีพเป็นวัฏจักรการเมืองน้ำเน่าลุ่มๆ ดอนๆ ของประเทศที่ด้อยพัฒนาทางการเมือง ประเทศไทยซึ่งควรไปไกลกว่านี้กลับเป็นประเทศที่ติดอยู่ในกับดักหลุดไม่พ้นและคงเห็นการเมืองแบบนี้ไปอีกนาน
คำถามว่าได้อะไรจากการอภิปรายล้มนายกรัฐมนตรีซึ่งฝ่ายค้านนำโดยพรรคประชาชนโหมโรงก่อนหน้านี้อย่างเต็มที่ระบุว่าจะมีหมัดน็อกเล่นงานนางสาวแพทองธารฯ ซึ่งเป็นคุณหนูแห่งตระกูลชินวัตรต้องลงจากเวที ขณะซีกรัฐบาลจะสามารถสอบผ่านตอบโต้แก้ได้ตรงโจทย์หรือไม่ สำหรับคำตอบขึ้นอยู่ว่าถามใคร หากเป็นกองเชียร์ซีกฝ่ายค้านคงตอบว่าฝ่ายค้านข้อมูลชัดเจนน็อคได้ตรงจุดถูกใจกองเชียร์ แต่หากถามกองเชียร์ข้างรัฐบาลโดยเฉพาะแฟนพันธุ์แท้ประเภท “กี้…กี้” ซึ่งเป็นวลีเด็ดที่ได้จากการอภิปรายในครั้งนี้ คำตอบคงบอกว่ารัฐบาลผ่านฉลุยเนื่องจากเป็นเรื่องเก่าๆ รับรู้อยู่ในสื่อต่างๆ และบางเรื่องนานมาแล้วกลับมาพูดใหม่ ในความเห็นของผู้เขียนฝ่ายค้านควรจะมีหลักฐานให้ชัดเจน เช่น ประเด็นนักโทษชั้น 14 โรงพยาบาลตำรวจไม่เห็นมีหลักฐานเด็ดๆ มาแสดงทั้งที่รู้ๆ ว่าข้อเท็จจริงน่าจะเป็นอย่างไร
ขณะที่ประเด็นเลี่ยงภาษีซื้อ-ขายหุ้นในเครือญาติของท่านนายกฯ โดยใช้ตั๋วสัญญาใช้เงิน (P/N) ไม่กำหนดระยะเวลาชำระเงินซึ่งน่าจะเป็นหมัดน็อกเอ้าท์กลับกลายเป็น “หมัดวืด” เพราะแค่วันเดียวกรมสรรพากรออกมาการันตีว่าทำได้ไม่หลบเลี่ยงภาษีและไม่ผิดกฎหมาย สำหรับผู้เขียนโดยส่วนตัวค่อนข้างจะชอบการชี้แจงของคุณพิชัย ชุณหวชิร รองนายกฯ และรมว. การคลังที่กล่าวตรงไปตรงมาเห็นด้วยที่เศรษฐกิจไม่ดีอัตราการเติบโตต่ำประชาชนขาดสภาพคล่องและมีหนี้สูงโดยมีนโยบายในการแก้หนี้แต่ไม่ใช่ซื้อหนี้ทั้งระบบ ขณะที่ฝ่ายค้านหลายคนทำหน้าที่ได้ดีแต่การเมืองไทยอยู่ในมุมอับการเปลี่ยนขั้วรัฐบาลคงยากเพราะ “พรรคประชาชนเป็นของแสลง” คงเป็นฝ่ายค้านอีกนาน
ในมุมมองของภาคธุรกิจที่มีต่อการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลซึ่งครั้งนี้พุ่งเป้าไปที่นายกรัฐมนตรีทายาทตระกูลชินวัตร พึงต้องเข้าใจประเด็นทางการเมืองนักธุรกิจไม่ต่างกับประชาชนทั่วไปที่มีการแบ่งเป็นข้างขึ้นอยู่กับชอบใครเชียร์ใคร แต่ในอีกนัยผู้ประกอบการธุรกิจตั้งแต่รายย่อย – SMEs ไปจนถึงรายใหญ่ต้องดูแลธุรกิจเกี่ยวข้องกับการจ้างงาน การแสดงออกประเด็นการเมืองในที่สาธารณะต้องระมัดระวังหรือหลีกเลี่ยงที่จะแสดงความเห็นใดๆ เหตุผลเนื่องจากต้องอยู่ร่วมกับทุกขั้วการเมืองซึ่งผลัดเปลี่ยนกันเข้ามามีอำนาจรัฐ ภาคธุรกิจคาดหวังว่าต้องการรัฐบาลที่เข้าใจปัญหาเศรษฐกิจ มีศักยภาพในการกระตุ้นและแก้ปัญหาเศรษฐกิจทั้งในประเทศซึ่งเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจโลกโดยเฉพาะต้องการรัฐบาลที่มีเสถียรภาพ
ประเด็นเสถียรภาพทางการเมืองภาคเอกชนส่วนใหญ่อยากให้รัฐบาลอยู่ครบเทอมเกี่ยวข้องกับนโยบายที่ต่อเนื่อง การทำธุรกิจต้องเห็นแนวคิดของรัฐบาลและรัฐมนตรีที่กำกับดูแลแต่ละกระทรวงซึ่งเกี่ยวข้องกับธุรกิจของตน เนื่องจากเปลี่ยนรัฐบาลทุกครั้งส่วนใหญ่ก็เปลี่ยนนโยบายทำให้ภาคธุรกิจไปไม่ถูก รัฐบาลที่ต่อเนื่องทำให้เห็นภูมิทัศน์การดำเนินนโยบายซึ่งภาคเอกชนสามารถปรับตัวให้สอดคล้อง การเปลี่ยนรัฐบาลบ่อยๆ ทำให้นโยบายที่เคยหารือกับภาครัฐไม่ต่อเนื่องทำให้ต้องเริ่มต้นใหม่ ขณะที่ข้าราชการประจำก็จะนิ่งรอนายใหม่ เช่น นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ การแก้หนี้ มาตรการรับมือสงครามภาษี – การค้าระดับโลก นโยบายปรับค่าจ้างหรือการเพิ่มหนี้สาธารณะกระทบการเงิน-การคลังมีผลต่อตลาดทุนและอัตราแลกเปลี่ยน
การที่นักธุรกิจ-ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ไม่แสดงออกความคิดเห็นทางการเมืองต้องการรัฐบาลที่มีเสถียรภาพอาจมองเป็นเรื่องเห็นแก่ตัว ต้องเข้าใจว่านักธุรกิจไม่ใช่มนุษย์เงินเดือน-นักวิชาการหรืออาชีพอิสระซึ่งสามารถแสดงจุดยืนทางการเมืองเลือกข้างเลือกพรรคได้ชัดเจน ขณะที่ภาคธุรกิจและองค์กรเอกชนต้องรับผิดชอบการดำเนินธุรกิจและดูแลลูกจ้างจำเป็นต้องอยู่กับทุกพรรคการเมืองซึ่งผลัดเปลี่ยนเป็นรัฐบาลหรือรัฐมนตรี การแสดงความเห็นทางการเมืองในที่สาธารณะจึงต้องระมัดระวังแต่ผู้ประกอบการธุรกิจในฐานะปัจเจกบุคคลสามารถแสดงจุดยืนทางการเมืองจะเชียร์ใครพรรคใดก็ไปกาบัตรในคูหาเลือกตั้งซึ่งก็ไม่ต่างกับชาวบ้านทั่วไป…