นักวิชาการธรรมศาสตร์ เผยไทยต้องผลักดัน ‘ความรู้ทางการเงิน’ เป็นวาระแห่งชาติ แก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนพุ่ง-ตัวเลขการออมคนไทยต่ำ รัฐต้องแบกรับภาระงบอุดหนุน-ช่วยเหลือ แนะเร่งจัดทำหลักสูตรความรู้การเงิน ตั้ง ป.1 – ป.ตรี ทันที ไม่ต้องรอรัฐบาลใหม่!
รศ.ดร.วิชัย วิทยาเกียรติเลิศ อาจารย์ประจำภาควิชาคณิตศาสตร์และสถิติ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) เปิดเผยว่า รัฐบาลไทยจำเป็นต้องผลักดันเรื่องการให้ความรู้ทางการเงิน (Financial Literacy) เป็นวาระแห่งชาติ เพื่อแก้ไขปัญหาเรื่องคนไทยขาดทักษะทางการเงินพื้นฐาน ไม่มีวินัยทางการเงิน ตลอดจนขาดความรู้ในการออม การลงทุน และการวางแผนชีวิตทางการเงิน ซึ่งทั้งหมดนี้จะช่วยแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนและหนี้เสีย (NPL) ได้อย่างยั่งยืน
สำหรับการให้ความรู้ทางการเงินดังกล่าว ควรกำหนดเป็นหลักสูตรความรู้ทางการเงินเพื่อชีวิตมั่นคงและยั่งยืน (Financial Literacy for Sustainable Living) บรรจุเป็นวิชาภาคบังคับ ตั้งแต่ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ถึงมหาวิทยาลัยชั้นปริญญาตรี รวมระยะเวลา 16 ปีเต็ม เพื่อเปลี่ยนทัศนคติทางการเงินของคนไทยทั้งประเทศ โดยในช่วง ป.1 – ป.3 ควรมุ่งเน้นให้รู้จักเงินออมก่อนใช้ ซึ่งต้องแยกแยะให้เห็นถึง ‘ความจำเป็น’ กับ ‘ความอยาก’ และเริ่มบันทึกรายรับ-รายจ่าย
ขณะที่ การเรียนรู้ในระดับชั้น ป.4 – ป.6 ต้องทำให้นักเรียนเข้าใจว่าดอกเบี้ยคืออะไร และต้องฝึกการวางแผนงบประมาณ พร้อมทั้งเปิดพื้นที่ความเข้าใจองค์ความรู้เรื่องประกันภัย เมื่อเข้าสู่ระดับชั้นมัธยมศึกษา ม.1 – ม.3 ก็สามารถที่จะเสริมสร้างความเข้าใจเรื่อง ‘หนี้ดี-หนี้เสีย’ ดอกเบี้ยเงินกู้ สวัสดิการ เช่น ประกันสังคม กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เป็นต้น
ถัดมาในระดับชั้น ม.4 – ม.6 เรียนรู้สิ่งซับซ้อนขึ้น อย่างเรื่อง ภาษี หุ้น กองทุนรวม สินทรัพย์ดิจิทัล การวางแผนเกษียณ ฯลฯ สุดท้าย คือผู้ที่อยู่ในระดับอุดมศึกษา และอาชีวะ ต้องยกระดับองค์ความรู้เรื่องการวางแผนภาษี การเงินทั้งชีวิต การลงทุนอย่างมีเป้าหมาย และการสร้างรายได้ที่เกิดจากการเป็นเจ้าของทรัพย์สิน (Passive Income) ไปจนถึงการรู้เท่าทันเศรษฐกิจและวิกฤตการเงิน
รศ.ดร.วิชัย กล่าวว่า หนี้ครัวเรือนไทยในไตรมาส 3 ปี 2566 อยู่ที่ 16.5 ล้านล้านบาท หรือ 90.9% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือ GDP ซึ่งสูงติดอันดับต้นๆ ของโลก และสูงต่อเนื่องมาตลอดในระยะ 10 ปีหลัง นอกจากนี้ หนี้สาธารณะของไทยเมื่อปลายปี 2566 อยู่ที่ 10.6 ล้านล้านบาท หรือ 61.4% ของ GDP และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากภาระใช้จ่ายเพื่อสังคมและเศรษฐกิจ ตัวเลขการออมของคนไทยในปี 2566 พบว่า คนไทยออมเฉลี่ยเพียง 7-8% ของรายได้เท่านั้น ซึ่งต่ำกว่าประเทศพัฒนาแล้วหลายเท่า อย่างประเทศ สิงคโปร์ ที่มีอัตราการออมเฉลี่ยเกิน 20% ของรายได้
ทั้งนี้ หากปล่อยสถานการณ์นี้ไว้อีก 5-10 ปี โดยไม่เร่งแก้ไขอะไรเลย จะทำให้ภาครัฐต้องแบกรับภาระเพิ่มขึ้นมหาศาล ทั้งเงินอุดหนุน เงินช่วยเหลือ เงินบำนาญ และภาวะเศรษฐกิจเปราะบางและความเหลื่อมล้ำก็จะถ่างออกอย่างรุนแรงมากกว่าที่เป็นอยู่ ทางออกระยะยาวของเรื่องนี้จึงหนีไม่พ้นการผลักดันเรื่อง Financial Literacy ให้เป็นวาระแห่งชาติ และต้องเริ่มต้นตั้งแต่ระบบการศึกษา เพราะการปลูกฝังพฤติกรรมทางการเงิน ต้องใช้เวลาและความต่อเนื่อง
นักวิชาการธรรมศาสตร์ จึงเสนอว่า หากรัฐและสังคมเห็นถึงความสำคัญและร่วมมือกันลงมือทำอย่างจริงจัง ผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้นกับประเทศไทยจะได้คือครัวเรือนและหนี้เสีย (NPL) จะลดลงอย่างต่อเนื่องเพราะประชาชนมีวินัยทางการเงิน ไม่ตกเป็นเหยื่อแชร์ลูกโซ่ หรือเป็นหนี้นอกระบบ คนไทยจะมีทักษะในการวางแผนอนาคตได้ มีเงินออม มีแผนเกษียณ อีกทั้งภาครัฐจะสามารถลดภาระหนี้สาธารณะจากการที่ประชาชนเข้มแข็งทางการเงิน ซึ่งส่งผลต่อเสถียรภาพเศรษฐกิจประเทศระยะยาวโดยตรง
“กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องทำทันทีไม่ต้องรอรัฐบาลใหม่ ไม่ต้องรอใคร เพราะนี่คือการลงทุนสร้างภูมิคุ้มกันให้ประเทศ ลงทุนวันนี้ดีกว่าเสียหายวันหน้า ต้องสร้างคนรุ่นใหม่ที่มีวินัยทางการเงิน รู้จักใช้รู้จักออมรู้จักลงทุนเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจในระยะยาว” นักวิชาการธรรมศาสตร์ กล่าว