World Trade War Economic Crisis วิกฤตสงครามการค้าสหรัฐฯ คุกคามเศรษฐกิจโลกและไทย

โดย ดร.ธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย

สหรัฐฯ เลื่อนเจรจาภาษีกับไทยมีนัยอะไร

World Trade War สงครามการค้าของสหรัฐอเมริกากำลังก่อตัวยกระดับเป็นวิกฤตเศรษฐกิจโลกแห่งศตวรรษที่ 21 เกิดจากประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ประกาศนโยบายภาษีตอบโต้การค้าขาดดุล (Reciprocal Tariff Tax) เฟสแรก ปรับทุกประเทศร้อยละ 10 จากอัตราที่เรียกเก็บอยู่แล้วหรือ MFN: Most Favored Nation มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 5 เมษายนที่ผ่านมา โดยมีเงื่อนไขผ่อนปรนสำหรับสินค้าที่ยกตู้หรือระหว่างขนส่งเข้าสหรัฐฯ จนถึงเวลา 00.01 น. ของวันที่ 21 พฤษภาคม 2568  การเก็บภาษีนำเข้าเฟส 2 มีอัตราต่างกัน ของจีนถูกปรับอัตราหลายครั้งจนมาอยู่ที่ร้อยละ 245 ไทยถูกเรียกเก็บอัตราร้อยละ 36 ในอาเซียนกัมพูชาถูกเรียกเก็บร้อยละ 49 เวียดนามร้อยละ 46 อินโดนีเซียร้อยละ 32 มาเลเซียร้อยละ 24 ฯลฯ ต่อมามีการผ่อนปรน (ยกเว้นจีน) ขยายระยะเวลาออกไป 90 วันโดยจะมีผลบังคับใช้วันที่ 7 กรกฎาคม 2568

ประเทศต่างๆ มากกว่า 75 ประเทศส่งคณะเจรจาไปรอคิวเพื่อต่อรองกับสหรัฐฯ ซึ่งบางประเทศยกเว้นภาษีเป็นศูนย์ก็ยังไม่สามารถตกลงกันได้ ประเทศไทยมีการเตรียม Thailand Team” นำโดย รมว.กระทรวงการคลังเป็นหัวหน้าทีม เดิมมีกำหนดเข้าพบผู้แทนการค้าสหรัฐฯ (USTR) วันที่ 23 เมษายน ก่อนเดินทาง 1 วันมีเซอร์ไพรส์ทางสหรัฐฯ ขอเลื่อนวันเจรจาออกไปอย่างไม่มีกำหนดว่าจะประชุมหรือได้คิววันใด การเลื่อนการเจรจาของสหรัฐฯ อาจบอกเป็นนัยได้ว่าไทยไม่ได้เป็นประเทศระดับต้นๆ ที่สหรัฐฯ ต้องการเจรจา กรณีดังกล่าวประเด็นที่นำมาวิเคราะห์

ทางบวก ขณะนี้มีประเทศต่างๆ รอเจรจาคิวยาวและไม่สามารถหาข้อสรุปเนื่องจากการขึ้นภาษีนำเข้าอัตราสูงอาจไม่ใช่เป้าหมายหลักแต่มีนัยซ่อนเร้นที่สหรัฐฯ ต้องการต่อรองผลประโยชน์ด้านอื่นๆ ประเทศไทยในสายตาของปธน.ทรัมป์อาจไม่ใช่คู่ค้าหลักส่งออกเกินดุล สหรัฐฯ ต้องการเจรจากับประเทศซึ่งขาดดุลการค้าหลักและมีผลประโยชน์ด้านอื่นที่ต้องการแลกเปลี่ยนให้จบดีลก่อน เช่น ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ เวียดนาม อินเดีย ฯลฯ ประเทศไทยหากสามารถตกลงได้อาจอยู่ในกลุ่มที่สหรัฐฯ อาจปรับลดอัตราภาษีอัตราร้อยละ 10 ซึ่งเรียกเก็บไปแล้ว ด้านการแข่งขันคงต้องดูว่าประเทศคู่แข่ง เช่น เวียดนาม อินโดนีเซียจะถูกเรียกเก็บภาษีเท่าใด

ทางลบ อาจเป็นไปได้ว่าข้อเสนอของไทยที่เตรียมไปเจรจาแลกเปลี่ยนอาจน้อย เช่น สินค้าเกษตรบางประเภท เร่งซื้อฝูงบินโบอิ้ง การนำเข้าแก๊สธรรมชาติและอีเทน ทราบว่ามี “Request”กลับมาให้ไทยทบทวนเงื่อนไขและข้อเสนอเพิ่มเติมดังเช่นที่ทำกับหลายประเทศ  ประเด็นที่สหรัฐฯ กังวลคือการสวมสิทธิ์สินค้าจีนเพื่อส่งเข้าสหรัฐฯ เช่น แผงโซล่าเซลล์ที่ปรับขึ้นภาษี 375% ข้อกังวลของสหรัฐฯ คือกล่าวหาว่าไทยเข้าแทรกแซงอัตราแลกเปลี่ยนทำให้เงินบาทอ่อนค่าเพื่อส่งออกไปสหรัฐฯ ได้ง่ายขึ้น

วิกฤตสงครามการค้าสหรัฐฯ ภัยคุกคามเศรษฐกิจครั้งใหญ่

นโยบายของโดนัลด์ ทรัมป์ ด้วยการปรับขึ้นภาษีนำเข้าโดยไม่สนใจการค้าโลกแบบเสรีและกติกา WTO หากไม่ยกเลิกหรือไม่สามารถเจรจาตกลงกันได้จะยกระดับเป็นวิกฤตครั้งใหญ่ของโลกและของไทยโดยเฉพาะกับจีนที่กลายเป็นสงครามการค้าเต็มรูปแบบ (Extreme Trade War) จนถึงขณะนี้ประเทศต่างๆ เช่น สหภาพยุโรป อังกฤษ ญี่ปุ่น แคนาดา เกาหลีใต้ ซึ่งเป็นพันธมิตรใกล้ชิดยังเจรจาไม่ลงตัว ผลกระทบนอกจากภาคส่งออกซึ่งเป็นหัวจักรขับเคลื่อนประเทศไทยมีสัดส่วนอยู่ใน GDP ร้อยละ 56.74 โดยสหรัฐอเมริกาเป็นคู่ค้าอันดับหนึ่งมูลค่า 1.928 ล้านล้านบาท สัดส่วนร้อยละ 18.28 ปีที่ผ่านมาอัตราการขยายตัวร้อยละ 15.64 และไตรมาสแรกยังขยายตัวได้ดีประมาณร้อยละ 19.62 โดยไทยได้ดุลการค้า 35,649 ล้านเหรียญสหรัฐหรือเท่ากับ 2.85 เท่าของการส่งออก

การขึ้นภาษีนำเข้าแบบ “ทุบโต๊ะ” ส่งผลกระทบต่อทุกประเทศโดยเฉพาะคู่ค้าของประเทศไทย เช่น จีน ซึ่งมีมูลค่า 1.239 ล้านล้านบาท ตามด้วยอาเซียน อียู ญี่ปุ่น ฯลฯ ซึ่งการค้าโลกเป็นห่วงโซ่อุปทานการผลิตเชื่อมโยงกันเมื่อกระทบประเทศหนึ่งย่อมส่งผลกระทบกว้าง กลุ่มบริษัทวี-เซิร์ฟ กรุ๊ป ได้จัดทำโพลสำรวจผลกระทบการส่งออก มีบริษัทส่งออกจำนวน 104 บริษัท (n) ส่วนใหญ่เป็นขนาดกลางไปจนถึงขนาดใหญ่ตอบผลสำรวจโดยจำแนกออกเป็น 12 คลัสเตอร์ พบว่าค่าเฉลี่ยสัดส่วนการส่งออกไปสหรัฐอเมริกาอยู่ที่ร้อยละ 30.8 ประมาณการค้าว่าหากสหรัฐฯ ยังคงเก็บอัตราภาษีไทยร้อยละ 36 จะส่งผลกระทบต่อรายได้และ/หรือปริมาณส่งออกลดลงร้อยละ 35.3 กลุ่มที่ได้รับผลกระทบรุนแรง
เช่น ผลไม้บรรจุกระป๋อง สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้าโดยเฉพาะเครื่องปรับอากาศ เฟอร์นิเจอร์ แพคเกจจิ้ง ล้อยางรถยนต์ อาหารทะเลบรรจุกระป๋อง ฯลฯ

ดังที่กล่าวภาคการส่งออกเกี่ยวข้องกับห่วงโซ่อุปทานการผลิตเชื่อมโยงตั้งแต่ภาคการผลิตเพื่อสนับสนุนการส่งออก ภาคบริการ ภาคเกษตรกรรม-ประมง-ปศุสัตว์ ตลอดจนโลจิสติกส์/ขนส่ง โดยมีแรงงานเกี่ยวข้องอย่างน้อย 1 ใน 3 ของแรงงานทั้งประเทศ ผลที่ตามมาคือการลดลงของการจับจ่ายใช้สอยมีผลต่อภาคการบริโภค ตามมาด้วยสุญญากาศการลงทุนทั้งในประเทศและ FDI ตลอดจนกระทบไปถึงภาคการท่องเที่ยวโดยรัฐบาลปรับลดจำนวนนักท่องเที่ยวและรายได้ท่องเที่ยวต่างชาติไม่เป็นไปตามเป้า

เนื่องจากทรัมป์ขยายระยะเวลาการเรียกเก็บภาษีออกไปถึงต้นเดือนกรกฎาคม ขณะนี้ความเสียหายหรือผลกระทบอาจยังไม่เห็นและความไม่แน่นอนสูง เนื่องจากปธน.ทรัมป์คงไม่ยกเลิกมาตรการง่ายๆ เพราะมีผลต่อการเมืองในประเทศ ผลกระทบทางเศรษฐกิจขึ้นอยู่กับความสำเร็จของทีมไทยแลนด์ว่าจะสามารถเจรจาจนสหรัฐฯ ผ่อนปรนหรือยกเลิกมาตรการเก็บภาษีกับไทย ผลกระทบครึ่งปีแรกอาจทรงตัวหรือผู้ส่งออกบางรายอาจมียอดขายเพิ่มขึ้นเนื่องจากผู้นำเข้าสหรัฐฯ เร่งการสั่งซื้อเพื่อสต็อกป้องกันความไม่แน่นอนของภาษี อย่างไรก็ดีผลกระทบต่อตลาดทุนและตลาดค้าล่วงหน้าเริ่มชัดเจน เช่น ราคาน้ำมันตลาดโลก WTI อยู่ในอัตราต่ำทรงตัวอยู่ที่ระดับ 64.5 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล

ผลกระทบทางเศรษฐกิจเชิงมหภาคจากวิกฤตสงครามการค้า กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) โดยใช้สมุมติฐานอัตราภาษีนำเข้าสหรัฐฯ ร้อยละ 10 คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจโลกปี 2568 จะเติบโตที่ร้อยละ 2.8 ลดลงจากเดิมที่คาดว่าจะเติบโตร้อยละ 3.3 โดยลดการเติบโตเศรษฐกิจของไทยต่ำสุดในอาเซียนจากร้อยละ 2.9 เหลือร้อยละ 1.8 ละปีหน้าลดเหลือร้อยละ 1.6 ขณะที่กระทรวงการคลังและ
ธปท.เห็นตรงกันว่ามีผลต่อ GDP ลดลงร้อยละ 1.0 มีการปรับประมาณการขยายตัวเศรษฐกิจปี 2568 จากร้อยละ 3.0 เหลือร้อยละ 1.8 – 2.0 สำหรับศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจของสถาบันการเงินชั้นนำ (6 แห่ง) ประเมิน GDP ขยายตัวเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 1.40 – 1.65 เศรษฐกิจไทยมีพื้นฐานที่แข็งแรง กอปรทั้งมีเงินทุนสำรองระหว่างประเทศ จำนวน 270,183.6 ล้าน USD (ณ มี.ค. 68) ทำให้อัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทยังมีเสถียรภาพ จากการที่ค่าเงินดอลลาร์อ่อนค่าส่งผลทำให้อัตราแลกเปลี่ยนเงินบาททรงตัวอยู่ในอัตราแข็งค่า (ณ 23 เม.ย. 68 ราคา 35.5 บาท/USD)

ข้อกังวลของภาคเอกชนต่อวิกฤตสงครามการค้าของสหรัฐฯ

1.ผลกระทบจะชัดเจนในครึ่งปีหลัง เนื่องจากสหรัฐฯ ขยายระยะเวลาในการเรียกเก็บภาษีกับประเทศต่างๆ รวมทั้งไทยออกไปจนถึงต้นเดือนกรกฎาคม 2568 อย่างไรก็ดีภาษีตอบโต้การค้าในอัตราที่สูงมีผลกระทบต่อดีมานด์ความต้องการสินค้าจากการที่ราคาสินค้าในตลาดสหรัฐฯ สูงทำให้การจับจ่ายสินค้าลดลงกระทบต่อการส่งออกซึ่งเชื่อมโยงไปกับทุกประเทศที่เป็นคู่ค้าไทย เช่น จีน อาเซียน อียู และญี่ปุ่น

2.การส่งออกจะได้รับผลกระทบช่วงเดือนมิถุนายน ขึ้นอยู่กับผลเจรจาของทีมไทยแลนด์ เนื่องจากการส่งออกสินค้าส่วนใหญ่มีการเจรจาต่อรองซื้อขายล่วงหน้าบางรายเป็นไตรมาส เมื่อมีความไม่แน่นอนจากอัตราภาษีนำเข้าทำให้ผู้นำเข้าชะลอคำสั่งซื้อทำให้ผู้ส่งออกต้องแบกรับสินค้าคงคลังหรือสต็อกสูงกระทบต่อสภาพคล่องธุรกิจ

3.ผู้นำเข้าสหรัฐฯ เริ่มเจรจาให้ผู้ส่งออกไทยลดราคาเพื่อชดเชยภาษีที่ปรับสูง ทำให้ผู้ส่งออกโดยเฉพาะที่เป็น “OEM” รับจ้างการผลิตและไม่มีแบรนด์มีปฏิสัมพันธ์เชิงอำนาจด้านการต่อรองต่ำต้องยอมขายในราคาต่ำกว่าทุนซึ่งระยะยาวกระทบต่อสภาพคล่องและ NPL

4.ผลกระทบต่อเศรษฐกิจทั้งระบบ ภาคการส่งออกเชื่อมโยงโซ่อุปทานทั้งภาคอุตสาหกรรม บริการและบริการที่สนับสนุนการส่งออกตลอดจนภาคเกษตรกรรมและประมง-ปศุสัตว์ ผลกระทบภาคส่งออกทั้งด้านยอดขายที่ลดลงตลอดจนสภาพคล่องจะกระทบเป็นลูกโซ่จะกระทบไปในทุกภาคส่วน จากการประเมินพบว่าผู้ส่งออกที่มีการส่งสินค้าไปสหรัฐฯ โดยเฉลี่ยอาจมีสัดส่วนอยู่ในรายได้ประมาณร้อยละ 30.8 หากการเจรจาไม่สามารถตกลงกันได้อาจกระทบยอดขายและหรือปริมาณตู้สินค้าลดลงประมาณ
ร้อยละ 35.3 กระทบไปถึงการบริโภคและการลงทุนที่จะหดตัวอย่างรุนแรง

5.ความเสี่ยงด้านแรงงาน ผลกระทบหากกลายเป็นวิกฤตเศรษฐกิจผลที่ตามมาคือกำลังการผลิตอุตสาหกรรม (CPU) ที่ทำให้ชั่วโมงการทำงานลดลงส่งผลต่อการจ้างงานลดลงทั้งภาคการผลิตและบริการ กรณีเลวร้ายสุดอาจมีการเลิกจ้างคล้ายช่วงวิกฤตโควิด-19

6.สภาพคล่องและหนี้ครัวเรือน-หนี้สาธารณะพุ่งสูง โดยใช้สมุมติฐานอัตราภาษีร้อยละ 36 จะส่งผลต่อสภาพคล่องธุรกิจทั้งระบบตามด้วยสภาพคล่องครัวเรือนซึ่งปัจจุบันหนี้เสียหรือ NPL รอปรับโครงสร้างหนี้ประมาณ 1.12 ล้านล้านบาท เศรษฐกิจที่หดตัวรุนแรงจะทำให้ NPL พุ่งสูงรัฐบาลต้องใช้จ่ายงบประมาณเยียวยาเศรษฐกิจทำให้หนี้สาธารณะสูงอาจเกินกว่าร้อยละ 70 (ช่วงวิกฤตโควิด-19 รัฐบาลเสริมสภาพคล่อง 5.0 แสนล้านบาท)

มาตรการในการเยียวยาเศรษฐกิจ

1.ทบทวนแผนการใช้จ่ายงบประมาณ เพื่อกันเม็ดเงินให้เพียงพอต่อการเยียวยาทางเศรษฐกิจ โดยจะต้องมีการประเมินผลกระทบโดยใช้จำลองสภาวการณ์เลวร้ายสุด “Worst Case Scenario” ว่าการเจรจาล้มเหลวสหรัฐฯ ยังคงปรับภาษีร้อยละ 36 โดยนำมาประเมินว่าจะกระทบต่อระบบเศรษฐกิจมากน้อยเพียงใดเพื่อที่จะได้วางมาตรการรองรับล่วงหน้า

2.มาตรการเสริมสภาพคล่องธุรกิจและครัวเรือน จำเป็นที่รัฐบาลจะต้องใช้มาตรการทางการเงินเสริมสภาพคล่องให้กับภาคธุรกิจเพื่อรักษาการจ้างงาน ตลอดจนเสริมสภาพคล่องให้กับครัวเรือนเพื่อให้มีการจับจ่ายใช้สอยเป็นการกระตุ้นกำลังซื้อในประเทศเพื่อทดแทนการส่งออก จำเป็นที่จะต้องเร่งปรับโครงสร้างหนี้ประมาณ 1.12 ล้านล้านบาทที่ยังค้างมาแต่วิกฤตโควิด -19 เนื่องจากหากยังติดเครดิต
บูโรการเสริมสภาพคล่องผ่านธนาคารพาณิชย์จะทำไม่ได้

3.ออกมาตรการรักษาการจ้างงาน ผลกระทบจากการส่งออกซึ่งจะเป็นสึนามิไปในภาคส่วนของเศรษฐกิจมีผลต่อการจ้างงาน จำเป็นที่จะต้องออกมาตรการที่จำเป็นให้สถานประกอบการสามารถรักษาการจ้างงานไม่ให้มีการเลิกจ้างหรือมีก็น้อยที่สุด

4.รัฐบาลเตรียมการโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ 5.0 แสนล้านบาท แบ่งเป็นกระตุ้นการบริโภคการลงทุนในประเทศและการออกซอฟต์โลนให้แบงค์ของรัฐปล่อยสินเชื่อควรทบทวนงบประมาณปีพ.ศ. 2568 หากไม่จำเป็นควรกันเงินไว้เพื่อการเยียวยาเศรษฐกิจโดยไม่ควรเป็นประชานิยม

5.ความเป็นไปได้ที่จะเกิดเป็นวิกฤตเศรษฐกิจยังไม่แน่นอนและโอกาสต่ำ เนื่องจากไทยไม่ได้เป็นประเทศหลักที่สหรัฐฯ จะเล่นงาน อีกทั้งการขึ้นภาษีอัตราสูงส่งผลกระทบต่อประชาชนสหรัฐฯ อาจทำให้ปธน.ทรัมป์ถอยรวมถึงการยุติสงครามการค้าสหรัฐฯ กับจีนจะเป็นปัจจัยสำคัญ


 

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *