ส่องภารกิจความร่วมมือด้านอวกาศในภาคการศึกษาไทย สู่มิชชั่นต้นแบบห้องปฏิบัติการอาหารอวกาศหนึ่งเดียวในเอเชีย ก้าวล้ำไปกับมาตรฐาน NASA

นายสุภกิต เจียรวนนท์ ประธานกรรมการ เครือเจริญโภคภัณฑ์ นำทีมคณะผู้บริหารบริษัทในกลุ่มฯ เข้าร่วมรับฟังการนำเสนอผลงานจากทีมวิจัยเพื่อผลักดันการเดินหน้าโครงการด้านอวกาศของสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ (PIM) ร่วมกับเครือข่ายพันธมิตร พร้อมเข้าเยี่ยมชมห้องปฏิบัติการอาหารอวกาศ KEETA หรือ The KEETA Space Food Laboratory ห้องปฏิบัติการต้นแบบหนึ่งเดียวในเอเชียที่ผ่านและใช้มาตรฐานนาซ่า ของทีมคีตะ หรือ KEETA

ซึ่งเป็นผลงานความร่วมมือครั้งสำคัญของทีมวิศวกรรมอวกาศรุ่นใหม่ในประเทศไทย เกิดจากการรวมตัวของสมาชิกหลากหลายหน่วยงานอาทิ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์, สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, มหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยอลงกรณ์, สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง และหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง

ภายในงานนำทีมโดย ดร.ธันยวัต สมใจทวีพร ผู้อำนวยการศูนย์นวัตกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ คณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ (PIM) พร้อมด้วย ดร.โพธิวัฒน์ งามขจรวิวัฒน์ อาจารย์ประจำสาขาวิชาวิศวกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ คณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี (PIM) ตัวแทนทีมวิจัย KEETA ได้นำเสนอถึงที่มาของทีมในการเข้าร่วมแข่งขันพัฒนาเทคโนโลยีอาหารอวกาศ “Deep Space Food Challenge” ซึ่งจัดขึ้นโดย NASA CSA และ Methuselah Foundation เป็นการแข่งขันฉีกกฎการเตรียมอาหารให้นักบินอวกาศจำนวนมากถึง 4 คน ให้สามารถทำงานอยู่นอกโลกนานถึง 3 ปี โดยไม่ต้องพึ่งพาการเติมเสบียงใหม่จากพื้นโลกเลยแม้แต่ครั้งเดียว  สำหรับใช้ในภารกิจการสำรวจอวกาศระยะยาวโดยเฉพาะ

ห้องปฏิบัติการอาหารอวกาศ KEETA

โดยทีม KEETA เป็นตัวแทนประเทศไทยเพียงหนึ่งเดียว ในการแข่งขันพัฒนาเทคโนโลยีอาหารอวกาศนี้ โดยนำระบบการผลิตอาหารแบบครบวงจร ผ่านการใช้หนอนด้วงสาคู พืชถั่วเขียว และระบบจัดการของเสีย เพื่อแก้ปัญหาการผลิตอาหารอวกาศสำหรับภารกิจสำรวจนอกโลกที่มีระยะเวลายาวนานขึ้น อาทิ การเดินทางไป-กลับดาวอังคาร ที่ใช้เวลารวมตลอดภารกิจนาน 34 เดือน ให้มีประสิทธิภาพ ยั่งยืน และเหมาะสมกับนักบินอวกาศแห่งยุคอนาคต โดยอาหารที่ได้ต้องมีคุณค่าและสารอาหารที่ครบถ้วน พร้อมด้วยรสชาติและรูปลักษณ์ถูกปากผู้บริโภคในสภาวะอวกาศ จากผลงานในการแข่งขันครั้งนี้ ทีม KEETA มุ่งหวังส่งต่อองค์ความรู้ แรงบันดาลใจให้กับนักวิจัยด้านต่าง ๆ และบุคลากรที่สนใจนำไปพัฒนาต่อยอดได้

ต่อด้วยการนำเสนอข้อมูลด้านสภาพอากาศในอวกาศ หรือ Space Weather โดย ดร.วิรินทร์ สนธิ์เศรษฐี อาจารย์ประจำคณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ (PIM)  ที่กล่าวถึงการเฝ้าระวังพิบัติภัยทางอวกาศ โดยเฉพาะรังสีและอนุภาคจากอวกาศ ที่จะส่งผลกระทบโดยตรงกับเทคโนโลยีอวกาศที่กำลังจะเกิดขึ้นอย่างแพร่หลายและรวดเร็ว

โดยทาง PIM ได้ร่วมกับศูนย์ความเป็นเลิศทางด้านฟิสิกส์ และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในการเตรียมพร้อมเฝ้าระวัง และเตือนภัย (Alerts, Watches, and Warnings) ผลกระทบจากสภาพอวกาศ (Space Weather) อันเนื่องมาจากรังสีและอนุภาคจากอวกาศ เช่น พายุสุริยะ เพื่อวางแผนโครงการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์เชิงลึกเพื่อรองรับการเติบโตของเทคโนโลยีอวกาศที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้

อาหารอวกาศ KEETA

หลังจากนั้น นายสุภกิต เจียรวนนท์ ประธานกรรมการ เครือเจริญโภคภัณฑ์ พร้อมด้วย นายวิเชียร จึงวิโรจน์ กรรมการผู้จัดการ (ร่วม) บมจ.ซีพี ออลล์, นายวิเศษ วิศิษฏ์วิญญู กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีพีแรม จำกัด, รศ.ดร.สมโรตม์ โกมลวนิช รองอธิการบดี ฝ่ายวิชาการและวิจัย สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ (PIM) และคณะผู้บริหารบมจ.เจริญโภคภัณฑ์อาหาร เข้าเยี่ยมชมห้องปฏิบัติการอาหารอวกาศ KEETA และทดลองชิมอาหารสำหรับนักบินอวกาศ ณ อาคารกลุ่มนวัตกรรม 1 (INC1) อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ หรือ สวทช.

สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ (PIM) สถาบันการศึกษาเพื่อสังคมในกลุ่มซีพี ออลล์ ในฐานะองค์กรที่มุ่งมั่นในปณิธาน “ร่วมสร้างสรรค์และแบ่งปันโอกาสต่อกัน” เล็งเห็นถึงความสำคัญในการผลักดันเทคโนโลยีของประเทศไทยจึงให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการศึกษาพัฒนาเยาวชนผ่านโครงการดังกล่าว พร้อมเชื่อมโยงหน่วยงานต่างๆ เพื่อร่วมกันสร้างความก้าวหน้า พร้อมยกระดับการวิจัยและพัฒนาด้านอวกาศของไทยให้ทัดเทียมกับนานาชาติต่อไป


 

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *