ซีอีโอ เบนซ์ บีเคเค เผย การศึกษายุคใหม่ “1 ปริญญา 2 มหาวิทยาลัย” เรียนทั้งในไทยและต่างประเทศ ขณะที่ต่างประเทศมี “elective course” เปิดให้ดีไซน์สร้างหลักสูตรเรียนเอง
เป็นคนที่สนใจเรื่องการศึกษา และยังเป็นคณะกรรมการส่งเสริมกิจการมหาวิทยาลัยแม่โจ้มาแล้ว 4 ปี นอกจากนี้ ยังส่งลูกสาวไปเรียนที่ประเทศสหรัฐอเมริกา ทำให้ อนุพล ลิขิตพฤกษ์ไพศาล ซีอีโอ เบนซ์ บีเคเค เห็นความแตกต่างของระบบการศึกษาในบ้านเรากับระบบการศึกษาของต่างประเทศ ซึ่งในบ้านเรานั้น ในปี 2520 รัฐบาลเริ่มมีนโยบายส่งเสริมการศึกษา มีโรงเรียนชั้นนำของภาครัฐ เช่น เตรียมอุดมศึกษา เทพศิรินทร์ สวนกุหลาบวิทยาลัย ที่เปิดโรงเรียนในเครือ คล้ายแฟรนไชส์ เช่น โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัยนนทบุรี เตรียมอุดมศึกษาน้อมเกล้า เทพศิรินทร์ร่มเกล้า ซึ่งก็ประสบความสำเร็จมาจนถึงทุกวันนี้ มีดีมานด์มากกว่าที่จะรับนักเรียนได้ทุกปี เป็นความสำเร็จที่เป็นตัวอย่างที่ดี แต่สมัยนี้ ในช่วง 20 ปีหลัง คนเริ่มเข้าสู่ระบบเอกชนมากขึ้น ทั้งโรงเรียนเอกชนธรรมดา และระบบเอกชนธรรมดาที่ปรับมาเป็นไบลิงกัว
“20 ปีที่ผ่านมา เอกชนเข้มแข็งมาก เดี๋ยวนี้โรงเรียนอินเตอร์แถวบ้านตนเองที่สมุทรปราการ เปิดนับไม่ถ้วน เป็นการเอาระบบการศึกษาเข้าสู่ระบบตลาด เหมือนโรงพยาบาลที่คนรอโรงพยาบาลรัฐไม่ไหว รอโรงเรียนรัฐไม่ไหว วันนี้ โรงเรียนรัฐบาล ถ้าคิดค่าใช้จ่ายต่างๆ ทั้งค่าเรียนพิเศษ ค่ากิจกรรม บางแห่งแพงกว่าโรงเรียนนานาชาติก็มี”
อนุพลให้ลูกเรียนโรงเรียนนานาชาติใกล้บ้าน ที่ผ่านการคัดเลือกมาอย่างดีแล้ว และบอกกับลูกว่า ถ้าลูกเรียนจบชั้น ม.3 แล้วไม่อยากเรียนหนังสือต่อ ก็ให้ไปเข้าสายวิชาชีพ แต่ถ้าจะขึ้น ม.4 ขึ้นไฮสกูล เป้าหมายต้องไปมหาวิทยาลัยอย่างเดียว ซึ่งการที่พ่อแม่ส่งลูกเรียนโรงเรียนอินเตอร์ เอาเงินมาจ่ายแพงๆ เพื่อให้ลูกได้ภาษา โดยไม่ไปต่างประเทศ ก็ถือว่าคุ้มค่าในระดับหนึ่ง
แต่วัฒนธรรมที่หล่อหลอมเขามา 12 ปีในโรงเรียนอินเตอร์นั้น จะไปต่อเนื่องกับต่างประเทศมากกว่าจะต่อเนื่องกับมหาวิทยาลัยของไทย ปัจจุบันมหาวิทยาลัยไทยก็ปรับตัวเยอะ ทั้งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ก็ไปโคคอร์สการเรียนกับต่างประเทศ คือเรียนแบบ 1 ปริญญา 2 มหาวิทยาลัย เช่น เรียนเมืองไทย 2 ปี แล้วไปเรียนต่อต่างประเทศที่โคด้วย 2 ปี
“เช่น เราจะเรียนรัฐศาสตร์ที่ไทย 2 ปี แล้วไปเรียนรัฐศาสตร์ที่สเปน สหรัฐอเมริกา หรืออังกฤษ อีก 2 ปีแล้วจบปริญญาตรี แต่สิ่งใหม่ในยุคดิจิทัล สามารถเรียน 1 ปริญญา 3 มหาวิทยาลัยลัยก็ได้ เช่น มีโครงการหนึ่งของฮ่องกงยูนิเวอร์ซิตี้ โคกับโคลัมเบีย โคกับลอนดอนบิสเนสสกูล คือเรียนในฮ่องกง 1 เทอม โคลัมเบีย 1 เทอม แล้วมาเรียนที่ลอนดอน 1 เทอม”
นอกจากนี้ ยังมีความน่าสนใจในการเรียนที่ต่างประเทศอีกอย่างที่เรียกว่า “elective course” คือ เขาจะเปิด 200 สาขาวิชา ให้เราเลือกเรียน 60 หน่วยกิตแล้วจบ ในอนาคตปริญญาจะเป็นแบบนี้ ตอนนี้ลูกชายที่ไปเรียนก็สร้างหลักสูตรเอง เขาให้ดีไซน์เองว่าอยากเรียนอะไร แต่ขอให้เรียนพื้นฐานก่อนสัก 1 เทอม ซึ่งลูกชายสนใจเรื่องสัตว์ อยากเป็นนักเพาะพันธุ์ เขาก็ไปนำเสนอแผน ทางมหาวิทยาลัยก็ให้คำแนะนำและให้ลูกจัดคอร์สที่สนใจจะเรียนเอง
อนุพลมองว่า การที่มีโรงเรียนอินเตอร์เปิดขึ้นมากมายในบ้านเรา สะท้อนถึงความผิดหวังจากโรงเรียนภาครัฐ รวมทั้งพ่อแม่สมัยนี้มีกำลังที่จะส่งลูกเรียนได้ และยังสะท้อนว่าเราเป็นคอมมูนิตี้หนึ่งของโลก ไม่ได้ตกเทรนด์
แต่เรื่องที่น่ากลัวของการศึกษาก็คือในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ทุกมหาวิทยาลัยไทย หลายคณะเริ่มไม่มีคนเรียน และบางคณะถูกยุบไปแล้ว เนื่องจาก 30 ปีที่แล้ว นโยบายรัฐส่งเสริมการศึกษา ทำให้มีการสร้างมหาวิทยาลัยมากขึ้น มีคณะมากขึ้น
แต่ปัจจุบันเป็นสังคมผู้สูงอายุเข้ามาแทน อัตราการเกิดของเด็กน้อยลง ซึ่งคณะที่ยุบไปก็เป็นพวกเกษตรศาสตร์ ศิลปกรรมศาสตร์ สังคมศาสตร์ บริหาร เพราะมีมหาวิทยาลัยเยอะ สาขาย่อยบางสาขาหางานยาก ล้าสมัยไปแล้ว
มหาวิทยาลัยจะต้องทำเหมือนธุรกิจที่ต้องวิเคราะห์ว่าคณะไหน สาขาไหนที่จะต้องเอาออกไป หรือใส่เข้ามา เหมือนมาร์เก็ตติ้ง ที่ต้องวางโพสิชั่นนิ่ง ยกตัวอย่างคณะนิเทศศาสตร์ สื่อสารมวลชน จะปรับหลักสูตรอย่างไรเพื่อให้อยู่ได้ เพราะการผลิตสื่อทุกวันนี้ง่ายกว่าอดีต และก็ทุกคนเป็นผู้สื่อข่าวได้ ซึ่งตนเองมองว่าวิชาสื่อสารมวลชน อาจให้นักศึกษาเป็นคนออกแบบการศึกษาของตัวเองก็ได้
“การศึกษาตอนนี้เป็นเรื่องปัจเจกบุคคล อัตลักษณ์แต่ละคนเด่น ทุกคนก็สามารถแสดงตัวตนของตัวเองผ่านช่องทางออนไลน์ได้หมด แล้วก็ไปสร้างสังคมตัวเอง เพราะฉะนั้น วิชาชีพในอนาคต อย่าไปดูถูกคนที่คิดนิช เล็กๆ แต่ดี มีอัตลักษณ์ มีตัวตน การเรียนวันนี้ สังคมนิยามใหม่แล้ว เขาไม่ใช้คำว่า education แต่เขาใช้ learning คือเรียนรู้ทั้งชีวิต”
อนุพล กล่าวว่า หน่วยงานรัฐคือผู้วางโครงสร้างและวางแผน รัฐต้องรู้ว่าถ้าประชาชนจะเข้มแข็ง โครงสร้างที่ดี การวางแผนหรือวิสัยทัศน์ ยุทธศาสตร์ที่จะวางให้ประชาชนเข้าสู่การศึกษาได้อย่างกว้างขวาง เรียนรู้ได้ทั่วถึงอย่างเท่าเทียมเป็นเรื่องสำคัญซึ่งโครงสร้าง คุณสมบัติและหลักการให้คนเรียนหนังสือในยุคดิจิทัลนั้นเปลี่ยนไปแล้ว เด็กทุกคนต้องเรียนคณิตศาสตร์ เพราะเป็นพื้นฐานสู่ยุคดิจิทัล ดังนั้นรัฐจะต้องส่งเสริมหาวิธีการให้คนสนใจคณิตศาสตร์ หาวิธีการเรียนรู้คณิตศาสตร์แบบใหม่ๆ @